"มหากิจรับเบอร์"รุ่นที่สอง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 25 ปีที่แล้ว สุเทพ ชัยเศวตกานนท์ เด็กหนุ่มเชื้อสายจีน พร้อมกับพี่น้องของเขาได้ช่วยบิดาทำธุรกิจยางรัดของ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "หนังสติ๊ก" หรือ "ยางวง" โดยเริ่มจากโรงงานเล็กๆ ผลิตได้วันละ 4-5 กิโลกรัม ในช่วง 3 ปีแรกของการทำธุรกิจ พวกเขาแทบจะสิ้นหวัง เนื่องจากขายของไม่ได้เลย แต่แล้วพวกเขามาช่วยกันคิดว่าเมื่อขายในประเทศไม่ได้ ออกไปขายนอกประเทศน่าจะดีกว่า นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจส่งออกยางรัดของพวกเขา

ในสมัยนั้น ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าตลาดยางรัดของรายใหญ่ที่สุด ขณะที่มหากิจรับเบอร์ค่อยๆ แทรกตัวเข้าไปในตลาดยุโรป ผ่านนายหน้าผู้นำเข้าที่ประเทศสิงคโปร์ จนกระทั่งปัจจุบัน มหากิจรับเบอร์กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรัดรายใหญ่ ภายใต้การนำของ สุเทพ ที่เข้ามานั่งบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอย่างเต็มตัว

มหากิจรับเบอร์มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตประมาณ 1,200 ตันต่อเดือน เป็นระดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย จากผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกยางรัดที่มีอยู่ประมาณ 30 บริษัทในประเทศไทย และได้เบียดผู้นำตลาดอย่างมาเลเซีย จนทำให้ประเทศไทยกลายมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรัดรายใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน

กระนั้น สุเทพ กล่าวว่า ประเทศไทยจะประมาท ไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตยางพารา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยางรัดที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันรัฐบาลได้เข้ามาประกันราคายางไม่ให้ตกต่ำ แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด จึงทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งของไทย ต่างก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้ค่าเงินอ่อนลง ทำให้สินค้ามีราคาถูกลงไปด้วย ประเทศเหล่านั้นจะมีความได้เปรียบได้เรื่องของราคาและการส่งออกมากกว่าไทย ยิ่งไปกว่านั้น ยางส่วนใหญ่ที่รัฐบาลซื้อ เก็บไว้จะเป็นยางรมควัน ซึ่งนำไปใช้ในการผลิตยางรถยนต์ ซึ่งคุณสมบัติไม่เหมาะที่จะผลิตเป็นยางรัดของ ยางรัดของต้องผลิตจากยางดิบที่ไม่ได้รมควันที่มีสีออกเหลืองนวล ซึ่งหากเป็นเช่นนี้นานๆ อาจส่งผลกระทบให้ตัวเลขการส่งออกยางรัดลดลงได้

"ตามปกติที่รัฐบาลเข้ามาประกันราคา เราก็ทนไป เพราะส่วนใหญ่จะไม่นาน ช่วงที่มีการประกันราคาเราก็ต้องซื้อของแพง แต่ครั้งนี้นานมาก ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นได้หากดูยอดการส่งออกยางรัด 3 ปีย้อนหลัง จะเห็นว่าตัวเลขเราค่อยๆ ลดลงในปี 38 ลดลงประมาณ 5% ปี 39 ลดลง 3% ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องราคาวัตถุดิบ แต่มีปัญหาเรื่องค่าแรง ซึ่งหากมีปัญหาเรื่องต้นทุนบวกเข้าไปอีก ผู้ประกอบการส่งออกยางรัดไทย อาจจะแข่งขันไม่ได้ในตลาดโลก"

อย่างไรก็ดีในส่วนของมหากิจรับเบอร์ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เท่าไรนัก เนื่องจากทางบริษัทผู้ผลิตยางพาราเองด้วย โดยรับซื้อยางโดยตรงจากชาวสวน ซึ่งยางพาราที่ผลิตได้ 30% จะป้อนให้แก่โรงงานผลิตยางรัดของบริษัทเอง ส่วนอีก 70% ขายให้แก่โรงงานผลิตยางรถยนต์ ซึ่งหากโรงงานผลิตยางรัดได้วัตถุดิบในส่วน ที่รัฐบาลเก็บไว้มาเพิ่มในราคาตามตลาดโลก สุเทพเชื่อว่า กำลังการผลิตและยอดส่งออกยางรัดจะเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้กันได้ง่ายๆ เขาจึงต้องช่วยเหลือ ตัวเองก่อน ด้วยการพยายามมองหาตลาดใหม่ๆ นอกเหนือจากตลาดหลักที่มีอยู่

ปัจจุบันตลาดหลักของมหากิจรับเบอร์คือ ยุโรป ประมาณ 70% อเมริกา 20 % ที่เหลือเป็นตลาดอื่น เช่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และตอนนี้ สุเทพ กำลังเข้าเจาะตลาดในอเมริกาใต้เพิ่มขึ้นอีก

"เป้าหมายของเราในปีนี้ เราพยายามประคับประคองไม่ให้ตัวเลขของเราตกลง เนื่องจากเรามีปัญหาเรื่องต้นทุนสูงกว่าตลาดโลก และมาร์เก็ตแชร์ในประเทศ เราก็ลดลง จากเดิมที่เคยอยู่ที่ประมาณ 30% แต่ตอนนี้เหลือประมาณ 25% เนื่องจากมีบริษัทเล็กๆ รายใหม่เกิดขึ้นมาก เราจึงเสียแชร์บางส่วนไปประมาณปีละ 1,000 กว่าตัน ซึ่งเราจะประมาทไม่ได้"

อย่างไรก็ดี การที่มหากิจรับเบอร์ เป็นผู้ส่งออกยางรัดรายใหญ่ของประเทศไทยที่มีการส่งออกเกือบ 100% รวมทั้งวัตถุดิบที่ใช้ก็เป็นยางพาราในประเทศ ซึ่งยางรัดของถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ยางพาราสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากยางรถยนต์ และพื้นรองเท้ากีฬา จึงทำให้เขาได้รับการพิจารณาให้เป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัล PM AWARD ประเภทผู้ส่งออกดีเด่น ประจำปี 41 นี้

"เราไม่เคยคิดว่าเราจะได้รับรางวัลที่มีเกียรติถึงระดับชาติ เพราะเรามองตัวเราเองว่า ไม่ใช่บริษัทใหญ่โตอะไร เราไม่เคยหวัง เพราะส่วนใหญ่บริษัทใหญ่ๆ มักจะได้ พอเราได้ เราก็ภูมิใจ สิ่งที่เราจะทำเป็นอันดับแรกคือ จะนำสัญลักษณ์รางวัลที่ได้นี้ไปพิมพ์ใส่หัวกระดาษจดหมาย ให้ลูกค้าทั่วโลกได้รู้ว่าบริษัทเราได้รับรางวัลระดับชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้ายิ่งขึ้น"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.