เรื่องร้าวลึกของตระกูลกัมปนาทแสนยากร


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

บุญชู กัมปนาทแสนยากร - ผู้ก่อตั้งบริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ดูจะเป็นหญิงที่เก่งและมีความแกร่งอยู่ไม่น้อย ในการริเริ่มธุรกิจในแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้างในเวลานั้น เพราะเธอเริ่ม กิจการผลิตแผ่นยิบซั่มบอร์ดรายแรกในประเทศเมื่อปี 2511 ด้วยวัยถึง 42 ปีแล้ว

แต่ครั้น 21 ปีให้หลัง เธอคงไม่นึกว่ากิจการ ที่ เธอลงแรงก่อตั้งมานั้นจะเป็นตัวทำลายความรักสามัคคีของคนในครอบครัว ผู้รู้เรื่องในตระกูลนี้อย่างดีเล่าเบื้องลึกเรื่องราวทั้งหมดให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่า "บัญชาไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการบริหารนี้ตั้งแต่แม่ของเขาเสีย ความจริงเขาเป็นพี่คนโต และทำงานกับบริษัทมาตลอด ทีนี้ในช่วงนั้นเขาต้องการให้บริษัทไปขยายงานในมาเลเซีย โดยเห็นว่าหากจะขยายก็ไปขยายในต่างประเทศดีกว่า โดยการสร้างเครื่องจักร ขายโนว์ฮาวไปด้วย ได้กำไรก็เอาเงินไปลงกับผู้ลงทุนในต่างประเทศ และเอายอดส่งออกที่ได้เงินน้อยกว่านี่กลับมาขายในประเทศที่มีราคาสูงกว่า มันก็กำไรตรงนั้นด้วย"

แนวคิดของบัญชาคือไม่ได้เข้าไปตีกับผู้ผลิตในต่างประเทศ แต่เป็นการทำงานร่วมกัน โดย TGP ยกตลาดให้กับบริษัทในต่างประเทศ แต่ขอค่า royalty หรือ ค่าการตลาดที่ TGP ทำไว้ เหมือนกับยกสิทธิให้เขา ไม่ตี เขา โดยขอ 3% royalty fee เป็นการแลกเปลี่ยน แต่แนวคิดนี้ไม่ได้รับการต้อนรับจากผู้บริหารคนอื่นในบริษัท ซึ่งก็คือ กฤษฎา และ ทิพวิภา กัมปนาทแสนยากร น้อง ชายและน้องสาวร่วมสายโลหิตของเขา

เมื่อ TGP ไม่ทำตรงจุดนี้ บัญชาจึงออกหน้าไปทำเอง แต่ประสบปัญหาเรื่องการส่งสินค้าเข้าออก และหุ้นส่วนที่ ทำด้วยก็มีปัญหา นอกจากนี้ยังเจอผู้ผลิตจากสหรัฐฯ เอาสินค้าออกมาทุ่มตลาดในแถบเอเชีย เพราะในตอนนั้นค่าขนส่งจากสหรัฐฯ มาย่านเอเชียถูกมาก อุปสรรคต่างๆ ต้องเรียกว่าเป็นจังหวะและโชคที่ไม่ดีของบัญชา เขาจึงไม่ประสบความสำเร็จในโครงการนี้ และในที่สุด ก็ต้องระเห็จออกจากบริษัท ทั้งที่เข้ามาทำงานก่อนน้องชายน้องสาว

ในคราวที่แม่ของเขา-บุญชู เสียชีวิตในปี 2532 นั้น 7 วันให้หลังเขาถูกขับออกจากบริษัทในทันที แหล่งข่าวเล่าว่า "บัญชาต้องออกจากบริษัทเพราะว่าเขากันบัญชาออกมา อ้างว่าบัญชาจะไปทำแข่งกับบริษัท เอาฝรั่งเข้ามา เพราะตอนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 10 กว่าปีก่อน บัญชากำลัง restructure บริษัท กฤษฎากล่าวหาว่าบัญชาจะไปเอาบริษัทอื่นมาเทกโอเวอร์บริษัท TGP ก็ไปพูดกับพ่อแม่ อะไรทำนองนี้ ตอนนั้นโชติ โสภณพนิช ก็มาถือหุ้นอยู่ด้วย กฤษฎาก็บอกว่าเห็นไหม กลัวว่าโชติจะมาเทกโอเวอร์ อ้างว่าบัญชาเป็นคนเอาเข้ามา เสร็จแล้วเขาก็เอาคนอื่นเข้ามาสวม เอาภัทรฯ มาเป็นตัวให้กู้ ซึ่งตอนนั้นทั้งสินเอเซีย ทั้ง จีเอฟ ใครต่อใครก็พร้อมที่จะทำ restructure ให้หมดแล้ว ใช้เวลา ปีกว่าที่จะเคลียร์กับเจ้าหนี้ จริงๆ แล้ว โชติก็เข้ามาช่วยในเรื่องนี้ด้วย เสร็จแล้วก็มาหาว่ากลุ่มนี้จะพยายามเอาบริษัทไปขายคนอื่น เอาคนมาเทก โอเวอร์ ส่วนใหญ่กฤษฎาจะกลัวคนอื่นมาเทกโอเวอร์ เขาจึงกัน ทีนี้งานที่บัญชาทำไปแล้วที่มันหนักๆ กว่าจะเคลียร์ปัญหา ลดคน ลดต้นทุน อะไรต่างๆ พอตอนหลังแนวโน้มมันเริ่มดีแล้ว คนอื่นก็เห็นว่าบริษัทเริ่มจะลอยตัวดีแล้ว ก็เริ่มมีคนที่จะให้กู้ได้ แหล่งเงินทุนมันก็เยอะขึ้น กฤษฎาก็เข้ามาสวมปัง บอกว่าเขาแก้ปัญหาบริษัทนี้ บริษัทดีขึ้นมาเพราะว่าเขาเป็นคนทำ restructure ได้ ทั้งที่ก่อนจะทำอย่างนั้นได้คุณต้องใช้ เวลาเคลียร์ปัญหามากทีเดียว"

พอบุญชูเสียชีวิตไม่ถึง 7 วัน กฤษฎาก็ lobby หุ้นส่วนอื่นๆ แล้วตอนนั้นก็เอาภัทรฯ เอาธนชาติเข้ามาเป็นผู้ให้กู้แล้ว และเอาเป็นกรรม การด้วย โดยบอกว่าบัญชาจะทำโรงงานยิบซั่มแข่งที่มาเลเซีย บอกว่าบัญชาไม่มีเวลา เขาจึงถูกให้ออกไปโดยปริยาย

ตอนนั้นบัญชาก็รู้วิธีคิดของเขา จึงบอกว่า หากทำกันอย่างนี้ ก็มาซื้อหุ้นเขาไปให้หมดเลย เขาไม่อยากยุ่งด้วย เพราะหากทำกันอย่างนี้ หุ้นต่อไปจะไม่มีอะไรเหลือ ซึ่งในที่สุดมันก็ไม่เหลือจริงๆ

ผู้ที่รู้จักกฤษฎาเป็นอย่างดีให้ความเห็นเกี่ยวกับคนคนนี้ว่า "เขาเป็นประเภทลงไม่ลึกจริง ความคิดความ อ่านอาจจะดี แต่คนที่จะมาทำนั้น คนที่จะทำได้ไม่ได้นี่ หากคุณเลือกคนผิด มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล คนนี้มีความสามารถจริงไม่จริง ไม่ใช่ราคา คุยสูง เสร็จแล้วคุณแยกไม่ออก เขาทำให้คุณไม่ได้ เสร็จแล้วก็ไปทำโน่นทำนี่ ทำให้มันใหญ่ แต่ดูมันกลวง ก็เป็นปัญหา ผมบอกว่าไปตั้งโรงงานใหม่ทำไม โรงงานเก่าก็ขยายได้ ไปลงทุนทำไม ตลาดกำลังขยายตัวในอัตรา 25% ต่อปี แล้วอยู่ๆ คุณไปตั้งโรงงานใหม่ มีกำลังการผลิตมากกว่าเดิมตั้ง 4 เท่าตัว แล้วคุณต้อง run โรงงานถึง 80%-90% แล้วคุณจะไปขายใคร ส่งออกราคาก็ติดพื้น ใช่ไหม ไม่ขายแล้ว จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายคนงาน หนี้ ดอกเบี้ย คือหลักง่ายๆ แค่นี้เอง ไม่ต้องไปนั่งคิดมาก ลงทุนพันล้านบาทมียอดขาย 500 ล้าน บาท คุณไม่มีอนาคตแน่"

"แต่นี่แหละคือสไตล์ของกฤษฎา เขาชอบที่จะสร้างอะไรอย่างนี้ ลงทุนไปในสิ่งที่ไม่ค่อย productive" ผู้ที่รู้จักเขาดีให้ความเห็น

ตอนนี้บัญชาขายหุ้นที่เขาถืออยู่ใน TGP ไปหมดนานแล้ว คงเหลืออยู่แต่ในส่วนที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งของตระกูล ซึ่งได้แก่ บ.ทิพอินดัสตรีย์ กับบริษัท บี.เค.พี.กรุ๊ป และบริษัทเหมืองทิพ (ดูตารางผู้ถือหุ้นรายใหญ่ TGP) เขา กำลังทำโปรเจกต์เรื่องบ้านอยู่ ในลักษณะ ที่เป็น one stop service คือจัดทุกอย่างให้ผู้อยู่อาศัยได้ใช้งานได้ ด้วยระบบการก่อสร้างที่เอาโนว์ฮาวมาจากต่างประเทศ และการจัดเฟอร์นิเจอร์ การจัดการต่างๆ รวมทั้งเรื่องไฟแนนซ์ด้วย

บัญชาเห็นว่าจังหวะเวลานี้มันเป็นโอกาส เพราะ ว่าผู้ผลิตทั้งหลายไม่รู้จะไปขายใคร ก็จำเป็นที่จะต้อง creative นิดหน่อย บ้านระบบนี้ในสหรัฐฯ และออส-เตรเลียมีมาก ทำด้วยยิบซั่มทั้งนั้น มันมีความน่าอยู่ อยู่ สบาย เรียบร้อย ซึ่งเขาเชื่อว่าเมื่อมีคนเห็นตรงนี้ เขาก็อยากได้แน่นอน และธุรกิจบ้านที่อยู่อาศัยนี่เป็นตัวที่มี คนต้องการตลอดเวลา

ทั้งนี้บัญชาเป็นหนึ่งใน Fletcher Consortium ที่ได้รับเลือกเป็นที่ 1 ใน short list ของผู้ประมูล แต่แล้วขอถอนตัวเมื่อพบว่าการดำเนินการคัดเลือกผู้ชนะ ประมูลมีความอืดอาดล่าช้า และมีพยายามอย่างไม่ชอบ มาพากลในการประมูล

แต่เขาเคยกล่าวไว้ว่า "หากแบงก์พร้อมที่จะสนับ สนุน ผมก็ตั้งเป้าไว้ว่า ผมอยากจะมาแก้ไข หากเราสามารถ ทำได้ เพื่อชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ผมก็อยากทำ แต่เรื่องว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ยังไม่อยากพูดถึง มันมีหลายปัจจัย"

อย่างไรก็ดี เขาเป็นคนที่มองเห็นโอกาสหรือความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจสูงมากคนหนึ่ง อย่างกรณีเรื่องการเข้ามาฟื้นฟูกิจการ TGP นั้น เขาเคยกล่าวไว้ ว่า สิ่งที่เขาจะทำคือ โฟกัสในธุรกิจผลิตแผ่นยิบซั่ม เท่านั้น ไม่ขยายกิจการไปในแขนงอื่นๆ มากเกินไป

"แต่โอกาสที่เราจะทำได้นั้น อย่างเรื่องบ้าน หากมีปริมาณการใช้ยิบซั่มมากขึ้น มันก็คงจะแก้ไขกันได้ ก็อาจจะยังพออยู่ได้ เมื่อโครงการทั้งหลายเหล่านี้ พวกแบงก์เริ่มเห็น พวก developer เริ่มเห็นว่าบ้านมันน่าอยู่กว่า อยู่สบายกว่า ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้ทำแบบนี้ เมื่อมีดีมานด์มากขึ้น ตอนนี้เราก็อาจจะผลิตไม่ทัน ซึ่งอันนี้มันต้องเริ่ม ไม่เริ่มมันไม่มีทางไปถึงดวงดาว คือผมมองเสมอ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร มันจะมี window of opportunity ตลอดเวลา มันจะมาเมื่อไหร่ เราต้อง พยายามมองให้เห็น ว่าอันนี้ใช่แล้วนะ และเราต้องรีบคว้าหรือจับให้ได้ เพราะหากว่าคนมีปัญหาแล้วคุณสามารถแก้ปัญหาให้เขาได้นั้น เขาเปลี่ยนทันที และเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลยนะ พอเขาเริ่มหมดปัญหา ไม่ต้องการ solution จากคุณแล้ว ถามจริงเถอะว่าคุณไปเสนอเขานี่ เขาไม่มี need แล้ว แต่คุณไปบังคับให้เขาใช้นี่ คุณจะยังมีความได้เปรียบอยู่อีกหรือ

ตอนนี้ปัญหาที่เราเห็นในการก่อสร้างทั้งหลายคือ มีปัญหาเรื่องคุณภาพบ้าง การก่อสร้างไม่เรียบร้อย ผู้รับเหมาก็มีปัญหาขาดทุน เงินจมไปเยอะแยะ ทีนี้ระบบการก่อสร้างที่เราจะสร้างขึ้นมานี้ อันนี้มันเร็ว เก็บเงินได้เร็ว โอกาสที่เราเปิดหน้างานใหม่ แทนที่เงินจะจมลงไป มันจะได้เงินเข้ากระเป๋าเร็วขึ้น จ่ายช้ากว่าที่เราจะได้รับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับเหมามาก เรื่องนี้ผมคิดว่ามันกำลังจะเกิด" นี่เป็นแนวคิดของเขาในการขยาย ตลาดในประเทศ สร้างดีมานด์ขึ้นในประเทศ

แม้บัญชาจะหลุดจากวงจรการบริหารกิจการ TGP มานานเกือบ 10 ปีแล้ว แต่กิจการนี้เป็นของตระกูลที่ มารดาเขาเริ่มต้นก่อตั้งมา และเขาเองก็เคยบริหารมาก่อน มาวันนี้กิจการนี้จะถูกปล่อยให้ล้มละลายไปต่อหน้าเขาได้กระนั้นหรือ?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.