สหการประมูลพลาดงานประมูลบ้านของปรส.อย่างไม่ทันรู้ตัว


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมกำลังรองานของปรส.ที่จะ เอาอสังหาริมทรัพย์ของ 56 ไฟแนนซ์ออกมาประมูล โดยจะเข้าเป็นผู้ดำเนินการประมูล ซึ่งผมคาดว่าจะได้รับเลือก เพราะเราเป็นบริษัท มืออาชีพที่มีการดำเนินงานเรื่องประมูลบ้าน ประมูลรถ มาอย่างต่อเนื่อง"

เทพทัย ศิลา กรรมการผู้จัดการบริษัทสหการประมูลกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" อย่างมั่นใจ แน่นอนเทพทัยหวังไว้ว่าหากคว้างานนี้มาได้จะทำให้บริษัทของเขาเป็นที่ยอมรับ และมีชื่อเสียงในวงการเพิ่มขึ้น และเขาคาดว่าจะรู้ว่าใครเป็นผู้ดำเนินการประมูลแน่นอนในเดือนตุลาคมนี้

แต่ถัดจากวันให้สัมภาษณ์

"ผู้จัดการรายเดือน" เพียงวันเดียว ทางปรส. ก็ได้มีงานแถลงข่าวเรื่อง "ปรส.จะนำอสังหาริมทรัพย์ของ 56 ไฟแนนซ์ออกมาประมูลในวันที่ 8 พ.ย. 2541" และประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการประมูลคือ เอ็น.ซี.ซี. แมเนจเม้นท์ แอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีงานหลักคือการบริหารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในปัจจุบัน

เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่เคยสร้างผลงานเรื่องการประมูลบ้านหรือที่อยู่อาศัยอื่นๆ เคยแต่เพียงทำหน้าที่เป็นผู้จัดการประมูลรูปภาพของปรส.มาก่อนเท่านั้น จึงเกิดข้อสงสัยเล็กๆ ขึ้นว่าทำไมจึงได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้?

"ที่เราได้รับงานนี้เป็นเพราะเราไม่ได้คิดค่าคอมมิชชั่น เป็นเปอร์เซ็นต์เหมือนบริษัทอื่นๆ เราขอเพียงกำไรนิดหน่อย ให้พนักงานมีงานทำก็พอแล้ว และที่สำคัญการที่มีศูนย์ประชุมสิริกิติ์ซึ่งจะใช้เป็นที่ประมูลนั้นก็เป็นของบริษัทเราเอง บอกได้เลยผมได้ค่าบริหารในเรื่องการประมูลนี้ไม่ถึง 10 ล้านบาท" ประพันธ์ อัศวารี กรรมการบริษัทเอ็นซี.ซี. ชี้แจง เฉลยข้อสงสัยที่ว่าทำไมบริษัทที่มีประสบการณ์น้อยนิดอย่างบริษัทของเขาจึงได้รับเลือก

แม้จะพลาดงานนี้ไปอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่ทางสหการประมูล ก็ยังมีงานประมูลบ้านของลูกค้าทั่วไปในทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน ส่วนงานประมูลรถจะมีทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ขณะเดียวกันก็เตรียมทีมงานไว้พร้อมเพื่อรับงานประมูลสินค้าทั่วๆ ไปด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2534 เทพทัยตั้งบริษัทสหการประมูลด้วยความไม่มั่นใจเลยว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่ โดยมีทีมงานเพียง 10 คน เช่าพื้นที่สำหรับตั้งบริษัทและลานประมูลในเนื้อที่เพียง 2 ไร่ ในบริเวณซอยลาดพร้าว 87 เริ่มงานด้วยการประมูลรถที่สถาบันการเงินยึดจากลูกค้ามาทำการประมูล

"ผมไปเห็นแนวทางประมูลในประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา ทำให้เราสนใจที่จะตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2530-2531 แต่พอเช็กตลาดบ้านเราก็พบว่าตลาดไม่ยอมรับ เพราะว่าในสมัยนั้นตลาดเป็นของผู้ขาย มีอะไรก็ขายได้ ขายใบจองกันวุ่น รถมือ 2 เองก็ปรับราคา กันทุกเดือนพลอยขายดีไปด้วยเพราะรถใหม่ขาดตลาด เศรษฐกิจมันบูมมาก" เทพทัยอธิบาย

การประมูลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นก็จะเป็นเรื่องที่เจ้าของทรัพย์สิน เจ้าของไฟแนนซ์ทำกันเอง เปิดประมูลตรงไหนคนก็ไปประมูล ไม่ต้องอาศัยคนกลางไม่ ต้องทำการตลาด ไม่ต้องทำการประชาสัมพันธ์ จะมีคนไปซื้อกันเยอะ ขายหมด เพราะตลาดรถต้องการรถมาก

แต่ในที่สุดหลังจากที่สหการ ประมูลได้ทำงานอย่างมีระบบ มีการประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด ดึงคนให้เข้ามาร่วมการประมูลมากขึ้น ได้ราคาที่เป็นที่พอใจกันทั้ง 2 ฝ่ายก็ทำให้มีลูกค้ามากขึ้น ปี 2535 เทพทัยก็ได้มาเปิดที่ทำการแห่งใหม่ บนถนนประชาอุทิศ ในพื้นที่ถึง 30 ไร่ คราวนี้เขาพกความมั่นใจในการตั้งบริษัทเต็มเปี่ยม พร้อมกับขยายสาขาไปยังฝั่งธนบุรี และสาขาเซียร์รังสิต เพื่อสร้างความสะดวกให้ลูกค้าแต่ละย่านๆ ไป

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ สหการประมูลจะทำการประมูลเฉพาะรถยนต์เท่านั้น และได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่งในการให้เป็นผู้ประมูล รถที่ถูกยึดมา พอร์ตใหญ่ๆ ก็เช่นรถจากซิตี้แบงก์ รวมทั้งการรับงานจาก ปรส. คืองานประมูลรถยนต์ที่ยึดมาจาก 56 สถาบันการเงิน เป็นรถประจำตำแหน่งของผู้บริหารที่ไฟแนนซ์ ต่างๆ ยึดมาแต่ยังไม่ได้ขายทอดตลาดก็ถูกสั่งปิดเสียก่อน ประมาณ 4 พันคัน สหการประมูลรับมาจัดการเรื่องประมูล 2,500 คัน ขายได้ราคาไปประมาณ 600 ล้านบาท จากที่เคย ทำยอดขายต่อวันประมาณ 30 ล้านบาท แต่ในงานนี้ทำยอดเงินได้สูงถึง 180 ล้านบาทต่อวัน

จากต้นปี ถึงเดือนกันยายน 2541 นี้ บริษัททำการประมูลรถไปได้แล้วประมาณ 11,000 คันมูลค่า 2,600 ล้านบาท เป็นของปรส. 600 ล้านบาท ที่เหลือเป็นของสถาบันการเงินต่างๆ

"ราคารถปรับตัวลงไปประมาณ 10% จากปีที่แล้วกำลัง ซื้อน้อยลงแต่ผู้ประกอบการสนใจงานประมูลมากขึ้น ยอดขายต่อสัปดาห์ประมาณ 200 คัน เป็นเงินประมาณ 40-50 ล้าน ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนจะขายได้เพียง 100 กว่าคันเท่านั้น"

จากงานประมูลรถ สหการประมูลเริ่มเข้าสู่การประมูลบ้าน ซึ่งจะเป็นบ้านทั่วไป รวมทั้งบ้านที่สถาบันการเงินยึดมา โดยเริ่มเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2541 เป็นครั้งแรก ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร และได้วางแผนไว้ว่าปีนี้จะจัดประมูลบ้านเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น โดยในการประมูลต่อครั้งจะรับบ้านไม่เกิน 70 หลัง

จากสถิติที่ผ่านมา เทพทัยเปิดเผยว่า "ถ้าจะให้ฟันธงลงไปว่าราคาบ้านลดลงเท่าไหร่ ก็มองง่ายๆ ว่าปีที่แล้วราคาเท่าไหร่ก็แล้วแต่ปีนี้จะลดลง 50% แต่ถ้าเป็นรถยนต์จะลดลง10-20%"

แม้จะพลาดงานของ ปรส. แต่ตราบใดที่สถาบันการเงินต่างๆ กำลังเอาสินค้าของตัวเองมาเลหลังขายก่อนเป็นหนี้เสีย รวมทั้งการยอมรับของประชาชนที่จะซื้อสินค้าโดยผ่านระบบการประมูลมากขึ้น อนาคตของธุรกิจนี้ เทพทัยจึงมั่นใจว่าจะมีช่องทางอีกมากทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.