ถ้าเอ่ยชื่อบริษัท ฟูกูอิน โชไก เดนกิ เซซากุโช จำกัด คงจะไม่คุ้นหูเท่าไหร่
แต่ถ้าถามว่ารู้จัก บริษัทไพโอเนียร์ อีเล็คโทรนิคส์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด
คน ทั่วโลกน่าจะคุ้นหูมากกว่าชื่อแรกแน่นอน ชื่อแรกคือบริษัทเริ่มแรกของไพโอเนียร์
ก่อตั้งโดย โนโซมุ มัตซูโมโตะ เริ่มต้นผลิตลำโพงไฮไฟออกจำหน่าย มาบัดนี้
60 ปีแล้วที่ไพโอเนียร์ได้นำผลิตภัณฑ์ออกสู่สายตาคนทั่วโลก จนเป็นที่ยอมรับไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียง
ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ คาราโอเกะและอุตสาหกรรมมัลติมีเดีย ปัจจุบันไพโอเนียร์มีสาขาอยู่กว่า
77 แห่ง ในญี่ปุ่นและอีกกว่า 82 แห่งทั่วโลก
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไพโอเนียร์เจออุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการทำตลาดที่เผชิญกับคู่แข่งจากค่ายเกาหลีใต้
ยุโรปและอเมริกา ซึ่งกำลังมาแรงเหลือเกิน นอกจากนี้ยังต้องแข่งขันในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
ที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล ระบบเครือข่าย และระบบปฏิบัติงานโดยมนุษย์
จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ไพโอเนียร์ได้ปรับโครงสร้างองค์กรภายในใหม่ โดยบริษัทแม่ในญี่ปุ่นได้แบ่งส่วนธุรกิจออกเป็น
4 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เพื่อความบันเทิงภายในบ้าน ผลิตภัณฑ์เพื่อความบันเทิงภายในรถยนต์
การวางระบบในองค์กรธุรกิจและผลิตภัณฑ์ Display
"บริษัทแม่ได้ปฏิบัติการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยเริ่มปฏิรูปเมื่อกลางปีที่ผ่านมาเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในด้านการทำงาน
ทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าไม่แยกความอืดอาดอาจจะเพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากพนักงานไพโอเนียร์มีประมาณ 20,000 คนทั่วโลก" คาวามูระ มาซาฮิโร
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไพโอเนียร์ อีเล็คโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าว
ซึ่งภาพลักษณ์ใหม่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและวิสัยทัศน์ ที่จะผลักดันให้ไพโอเนียร์ท้าทายเป้าหมายยอดขายปี
2548 ที่ตั้งไว้สูงถึง 1.2 ล้านล้านเยนทั่วโลก ด้วยผลตอบแทนโดยรวมจะเพิ่มขึ้น
10% ขณะ ที่ปัจจุบันทำยอดขายได้แล้วครึ่งหนึ่งของเป้าปี 2548
ในช่วงแรกไพโอเนียร์จะเน้นเทคโนโลยี Digital Optical เป็นแกนหลักของธุรกิจและความสำเร็จในเทคโนโลยีบันเทิง
DVD ณ จุดนี้ทำให้บริษัทคิดตั้งเป้าหมายใหม่ให้สูงขึ้น เพราะขณะนี้ไพโอเนียร์เป็นเจ้าตลาดเครื่องเล่น
DVD ทั้งในญี่ปุ่น เอเชีย-แปซิฟิก และอเมริกา
"เทคโนโลยี DVD ของเราคาดว่าจะเติบโตอย่างมาก ในอนาคตนับจากนี้ได้วางแผนนำระบบมัลติมีเดีย
DVD ติด ตั้งในรถยนต์ ระบบนำร่อง AV เทคโนโลยีสื่อสาร เป็นตัว รุกเข้าสู่การพัฒนาระบบเดินทางอัจฉริยะในอนาคต"
คาวามูระ กล่าว
อีกทั้งยังนำผลิตภัณฑ์ Next-Generation Displays ปัจจุบันพัฒนาจอโทรทัศน์แบบพลาสมา
พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งพยายามลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย
"อีกไม่ช้าการเปลี่ยนรูปแบบจากระบบปิดแบบเดิมมาเป็นระบบเปิดแบบเครือข่าย
จะผลักดันให้เราเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้อย่างแท้จริง"
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Laser Disc และ DVD ที่สามารถแสดงผลข้อมูลและภาพวิดีโอได้ในคอมพิวเตอร์
และเป้าหมายสุดท้าย คือ ได้เตรียมการพัฒนาระบบจัดการแบบ OEM เพื่อการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีของไพโอเนียร์
สำหรับ บริษัท ไพโอเนียร์ อีเล็คโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด ที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายประมาณ
20 ปีแล้ว ก่อนที่จะก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาไพโอเนียร์ได้ให้บริษัท เซ็นทรัล
เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย แต่มาถึงปี 2534 เซ็นทรัล เทรดดิ้ง
ถูกกดดันจากบริษัทแม่ของไพโอเนียร์ ที่ต้องการให้แยกสินค้า ไพโอเนียร์ออกเป็นแผนกเครื่องเสียงโดยไม่รวมกับยี่ห้ออื่นๆ
อย่างไรก็ตามแม้ว่า เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จะทำตามที่ไพโอเนียร์ต้อง การก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจจนทำให้ไพโอเนียร์
คอร์ปอเรชั่น เข้ามาร่วมทุนกับเซ็นทรัล เทรดดิ้ง ร่วมกันเปิดบริษัทไพโอเนียร์ในไทยจนถึงปัจจุบัน
จากวันนั้นถึงวันนี้ไพโอเนียร์ในไทยสร้างรายได้ให้บริษัทแม่เป็นกอบเป็นกำ
และจากการปรับองค์กรทั่วโลกครั้งใหม่นี้ดูเหมือนว่าจะตื่นตัวกับการปรับกลยุทธ์พอสมควร
ถ้าไม่รีบอาจจะอยู่ลำบากเนื่องจากตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
ซึ่งมีผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายของผู้บริโภค (Ability to pay) ซึ่งปัจจุบันตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมหดตัวลงไปประมาณ
40-50% แล้ว
"เราเริ่มปรับตัวโดยแต่ก่อนจะเน้น สินค้า Laser Disc กับสินค้าแยกชิ้น
โดยเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน แต่ตอนนี้เราเริ่มมุ่งเข้ากลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นหรือ
ขยายตลาดลงมาระดับล่างและกลางมากขึ้น เช่น เครื่องเสียงรถยนต์ โดยจำหน่ายสินค้า
CD มากขึ้น" คาวามูระ กล่าว
ด้าน รุ่งโรจน์ เลิศอำนาจกิจเสรี ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กล่าวเสริมว่าในด้านการบริหารต้นทุนบริษัทพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด
วิธีที่สามารถทำได้ในช่วงนี้ คือ จำหน่ายสินค้าที่ผลิตในโรงงานภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
"ในอดีตเรามีสัดส่วนนำเข้าสินค้ามาขายประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ปีหน้าเป็นต้นไปสินค้านำเข้าจะเหลือเพียง
30% โดยจะเพิ่มสินค้าที่เราผลิตเองออกมาขาย 70% เพื่อความสะดวกในการดำเนินการ
ถ้ามีสินค้านำเข้ามามากๆ ความยืดหยุ่นมันไม่มี เช่น ถ้าตลาดเปลี่ยนแปลงไปก็ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ตามที่ต้องการ"
จากแผนการเพิ่มสินค้าที่ผลิตในไทยจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตและผลิตสินค้าชนิดใหม่เพิ่มขึ้น
ซึ่งปัจจุบันบริษัมมีโรงงาน 2 แห่ง แห่งแรกจะผลิตมินิ คอมโพแนนซ์ และ CD
Car โดยจะผลิตให้ไพโอเนียร์ทั่วโลก อีกแห่งผลิตลำโพง ซึ่งจะทั้งผลิต จำหน่าย
และส่งออกภายใต้ ยี่ห้อไพโอเนียร์รวมทั้งรับจ้างผลิตให้ยี่ห้ออื่นด้วย
ส่วนช่องทางการจัดจำหน่าย บริษัทได้พยายามอุดรูรั่ว ด้วยการเพิ่มช่องทางให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากที่สุด
ล่าสุดนำสินค้าประเภทมินิคอมโพแนนซ์ จำหน่ายในบิ๊กซี, โลตัส, คาร์ฟูร์ และโอชอง
"ช่องทางนี้เราไม่ได้ทำเพื่อเป็นช่องทางหลักแต่มองว่าเป็นช่องทางเสริม
โดยเป้าหมายยอดขายส่วนนี้เพียง 10% ของยอดขายรวม เพราะสินค้าที่นำไปจำหน่ายเป็นเฉพาะรุ่น
ต่างจากสินค้าที่จำหน่ายตามร้านค้าทั่วๆ ไป" รุ่งโรจน์ กล่าว
ช่องทางหลักของไพโอเนียร์ในไทยยังอยู่ที่ตัวแทนจำหน่าย ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศประมาณ
700 แห่ง แยกเป็นร้านขายเครื่องเสียงภายในบ้านและออดิโอ และร้านครื่องเสียงติดรถยนต์ในสัดส่วนเท่ากัน
และปีนี้คาดว่าจะเพิ่มตัวแทนจำหน่ายอีกประมาณ 10-20%
โครงสร้างรายได้ของไพโอเนียร์ในไทย ปรากฏว่ากลุ่ม Audio ทำได้ 40%, Car
Audio ทำได้ 40% และ Visual ทำได้ 20% ซึ่งตัวเลขรายได้งวดบัญชีปี 2541 (สิ้นสุด
31 มีนาคม 2542) คาดว่าจะทำได้ 1,000 ล้านบาท
"ถ้าเทียบกับไพโอเนียร์ที่เข้ามาทำธุรกิจในเอเชียด้วยกันแล้วในไทย
ทำรายได้ให้บริษัทแม่เป็นอันดับ 3 รองจากไต้หวันและสิงคโปร์ ส่วนรายได้ปี
2542 ตั้งเป้าไว้ที่ 1,200 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายรายได้ปี 2548 คาดว่าไพโอเนียร์ในไทยจะทำได้สูงถึง
2,000 ล้านบาท" รุ่งโรจน์ กล่าว