ไวอากร้ามาแล้ว อ.ย.อนุมัติแพทย์ 4 สาขาเป็นผู้สั่ง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือที่ใช้ ศัพท์อย่างเป็นทางการคือ Erectile Dysfunction (ED) หรือเรียกง่ายๆ อีกคำว่า Impotent นั้น เป็นอาการป่วยที่ไม่ค่อยมีการเก็บสถิติผู้ป่วยสักเท่าใด เหตุเพราะผู้ป่วยที่มาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการนี้โดยตรงนั้นมีไม่มาก ผู้ป่วยไม่ได้คิดว่านี่เป็นอาการป่วย (โดยข้อเท็จจริง อาการนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) และมักไม่ใคร่มาพบแพทย์ในโรงพยาบาล แต่จะไปปรึกษาแพทย์ตามคลินิกที่รักษาโรคนี้โดยเฉพาะ

การรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นมีวิธีรักษาหลายรูปแบบ แต่ที่ฮือฮามากในเวลานี้คือ การทานยาเม็ดไวอากร้า ซึ่งเป็นเวชภัณฑ์ล่าสุดของบริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และเพิ่งได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อ.ย.ให้ขายได้แล้วเมื่อ 18 ส.ค. โดยให้แพทย์ 4 สาขาเป็นผู้สั่งผ่านช่องทางขายโรงพยาบาลเท่านั้น

แพทย์ 4 สาขาที่ว่านี้ได้แก่ แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ แพทย์โรคหัวใจ และจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 700 คนจากจำนวนแพทย์ทั่วประเทศ 20,000 กว่าคน คาดว่าในอนาคตน่าจะมีแพทย์สาขาอื่นๆ สามารถสั่งยาไวอากร้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอายุรแพทย์ ทั้งนี้ในสหรัฐนั้นแพทย์ทุกสาขาสามารถสั่งยานี้แก่คนไข้ได้ ไม่มีข้อจำกัด

เหตุที่มีข้อจำกัดอย่างมากในการขายและการสั่งยา ก็เนื่องจากมีข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิต และข่าวเรื่องผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ อันเนื่องมาจากการใช้ยานี้ จึงทำให้ อ.ย.ระมัดระวังในการอนุมัติการขายยาไวอากร้าในประเทศอย่างมาก และการอนุมัติให้แพทย์ 4 สาขาข้างต้นเป็นผู้สั่งได้เท่านั้น เพราะโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคเครียดและโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคเหล่านี้อยู่ในความดูแลของแพทย์ 4 สาขาดังกล่าว

ด้านสรรพคุณของยาและการศึกษาวิจัยทางคลินิก (clinical trial) ทั้งในและนอกประเทศนั้นก็สามารถรับรองประสิทธิผลของการใช้ยานี้ว่าได้ผลสูงมาก ในสหรัฐนั้นผลการทดลองทางคลินิก 21 โครงการ มีผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเข้าร่วมจำนวนกว่า 4,500 คน ปรากฏว่า ยาไวอากร้าใช้ได้ผลกับผู้ป่วย 7 คนจากจำนวน 10 คน

ด้านการศึกษาวิจัยทางคลินิกในภูมิภาคเอเชียนั้น ได้จัดทำขึ้นในประเทศไทย ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 690 คน จากศูนย์รักษาโรค 23 แห่ง ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการเป็นชาย อายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และยังคงมีความสัมพันธ์กับคู่ครองที่เป็นเพศหญิงอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับในประเทศไทยนั้นมีผู้ป่วยที่เข้าโครงการรวม 125 คน ผลการวิจัยทางคลินิกในเอเชียพบว่า ยาไวอากร้ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ผลดี และชายชาวเอเชียทนต่อการใช้ยาได้ดี

ยาไวอากร้าเป็นเวชภัณฑ์ของบริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล ซึ่งเป็นสาขาของบริษัทไฟเซอร์แห่งสหรัฐ ดำเนิน ธุรกิจดูแลสุขภาพสำหรับคนและสัตว์ เวชภัณฑ์ยาสำหรับคนที่นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมี 8 กลุ่ม มียาหลักๆ เช่น เฟลดีน(ยาโรคข้อ), ไดฟลูแคน (ยาฆ่าเชื้อราในคนไข้เอดส์), นอร์วาส (ยาลดความดันโลหิตสูง), โซลอฟ (ยาลดอาการซึมเศร้า) และไวอากร้า (ยารักษาโรค ED) เป็นต้น

ทั้งนี้ ยาที่ขายดีมากที่สุดในไทยคือ นอร์วาส รองลงมาเป็นไดฟลูแคน ไฟเซอร์มียอดขายรวมทุกผลิตภัณฑ์ในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 500 ล้านบาท ส่วนการคาดหมายยอดขายไวอากร้านั้น ยังทำไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าจะออกมาพบแพทย์มากน้อยแค่ไหน

บริษัทไฟเซอร์มียอดขายในทั่วโลกเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 1997 ยอดขายพุ่งสูงถึงระดับ 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดย 6.8 พันล้านมาจากตลาดสหรัฐ 2.8 พันล้าน มาจากตลาดในยุโรปและ 1.67 พันล้านมาจากตลาดเอเชีย บริษัทฯมีการลงทุนด้าน R&D มากปัจจุบันมีงานวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินการ อยู่กว่า 170 โครงการ ค่าใช้จ่ายด้าน R&D เพิ่มสูงทุกปี ในปีนี้ค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับ 2 พันล้านเหรียญแล้ว

เนื่องจากมีข่าวในทางลบเกี่ยวกับยาไวอากร้าออกมาอยู่เนืองๆ ทำให้การขายยาตัว นี้ถูกจำกัดให้ขายผ่านทางโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายตามคลินิก ทั้งนี้บริษัทไฟเซอร์จะขายไวอากร้าให้กับองค์การเภสัชกรรม และองค์การฯ จะส่งต่อให้กับโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 4 สาขาข้างต้นเป็นผู้สั่งยา องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบในการบันทึกข้อมูลการจำหน่าย และส่งรายงานนี้ให้ อ.ย.หรือกระทรวงสาธารณสุข

ร.ศ. น.พ.อภิชาติ กงกะนันท์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงข้อจำกัดเรื่องการสั่งและใช้ยาว่า "ตอนนี้ทุกคนระมัดระวังเรื่องการมีอันตราย ดังนั้นก็ต้องมีการควบคุมกัน แต่ก็มีการให้ความรู้ข้อมูลกัน เพื่อให้คนมีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งในอนาคตเมื่อคนมีความเข้าใจแล้ว ยานี้ก็อาจจะออกมาจำหน่ายผ่านร้านขายยา และให้แพทย์สาขาอื่นสั่งได้มากขึ้นด้วย"

วิธีการจำหน่ายยาที่รัดกุมเช่นนี้ถูกกำหนดขึ้น เพื่อป้องกันการใช้ยาในทางที่ผิดหรือด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะยานี้มีข้อห้ามในการนำไปใช้กับผู้ป่วยที่รับประทานยาประเภทไนเตรตทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจที่มีไนโตรกลีเวอรีน และยาที่มีสารไนเตรต ซึ่งมักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก

ยาไวอากร้ามี 3 ขนาดคือ 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม แต่ในไทยนั้นมีการนำเข้ามาใน 2 ขนาดคือ 25 และ 50 มิลลิกรัม สนนราคาเม็ดละ 400 บาทสำหรับขนาด 50 มิลลิกรัม

นอกจากมีข้อกำหนดเรื่องการจำหน่ายและการสั่งยาแล้ว ไฟเซอร์ยังต้องทำการรณรงค์เผยแพร่ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการใช้ยาไวอากร้าตามนโยบายของ อ.ย. ซึ่งเรียกว่า educational programme โดยผ่าน 2 ช่องทางคือ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญโรค ED ที่ให้คำแนะนำและฝึกอบรม EDACTT และศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชาย

EDACTT ย่อมาจาก Educational Dysfunction Advisory Council and Training (Thailand) เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้น เพื่อช่วยสร้างความรับรู้ความเข้าใจและการรักษาที่ถูกต้อง เกี่ยวกับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคู่ครองของพวกเขา EDACTT จะเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนทั่วไป

ด้านศูนย์ข้อมูลสุขภาพเพศชายนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและบริษัทไฟเซอร์ได้ร่วมมือกันจัดตั้งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นกรรมการของ EDACTT และรับหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาของศูนย์ข้อมูลฯ ร่วมกับแพทย์สาขาอื่นๆ ในจำนวน 4 สาขากิจกรรม หลักของศูนย์ฯ คือการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ในเรื่องสุขภาพของเพศชาย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเพศชายและโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของเพศชาย

ในเบื้องต้น ศูนย์ฯ จะให้คำปรึกษาผ่านทางจดหมาย โดยผู้ป่วยสามารถเขียนมาสอบถามปรึกษาได้ที่ ตู้ ป.ณ. 2513 กรุงเทพฯ 10501 ในอนาคตจะเพิ่มให้คำแนะนำทางโทรศัพท์ และจะเริ่มเพิ่มงบประมาณเพื่อการจัด public seminar และกิจกรรมอื่นๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.