เบญจรงคกุลจะบินสูงหรือจะแตะรันเวย์


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ผ่านพ้นเดดไลน์ไปอย่างหวุดหวิด สำหรับแองเจิ้ลแอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติสายที่ 2 ที่จะไม่ต้องโดนรัฐบาลยึดเงินประค้ำประกัน (BID BOND) มูลค่า 500 ล้านบาทที่มีธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ค้ำประกัน

ว่ากันว่า หากไม่เป็นเพราะเงินจำนวนนี้แล้วแองเจิ้ลแอร์ไลน์ ก็อาจตัดสินใจพับโครงการใส่กระเป๋าไปแล้ว เพราะที่แล้วมาถูกจับตามองในเรื่องของความพร้อมของตัวบริษัท และระยะเวลาที่ไม่เหมาะสมที่จะเปิดให้บริการในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักเช่นนี้

ในที่สุดแองเจิ้ลแอร์ไลน์เปิดบริการด้วยเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในวันที่ 19 กันยายน และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันถัดมาด้วยแผนการบินใหม่ ที่ขอปรับลดไปกับกรมการบินพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเที่ยวบิน เส้นทางบิน และเงินลงทุน ที่ขอลดลง (ดูตารางประกอบ)

รวมทั้งในตัวของผู้บริหาร ซึ่งแต่เดิมบทบาทการบริหารงานจะเป็นของวิทยา บัณฑิตกฤษดา เจ้าของบริษัท เจวีเค ซึ่งเป็นผู้ออกหน้าและออกแรงยื่นขอสัมปทานนี้มาโดยตลอด โดยยูคอมผู้ถือหุ้นคนสำคัญคอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ จนกระทั่งเมื่อใกล้เปิดบริการ จึงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารใหม่ ส่งคนในตระกูลเข้ามานั่งเก้าอี้ใหญ่ในแองเจิ้ล แอร์ไลน์ และคนคนนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นสมชาย น้องชายคนรองของบุญชัย เบญจรงคกุล

"พอดีช่วงนั้นผมว่างอยู่พอดีไม่ได้ทำอะไร คุณบุญชัย เลยบอกให้มาทำตรงนี้ และเราก็มีการพูดจากันในครอบครัวว่านี่เป็นกิจการในอนาคต เป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่จะมีบทบาทต่อไป ไม่แพ้ธุรกิจสื่อสาร" สมชาย เบญรงคกุล ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทแองเจิ้ลแอร์ไลน์ กล่าว

แต่ในอีกด้านหนึ่งสมชายก็ยอมรับว่า เป็นการตกกระไดพลอยโจน เพราะในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้แล้ว หากเลือกได้เขาคงเลือกที่จะนำเงินสดที่ต้องลงทุนหลายพันล้านบาทไปฝากธนาคาร ดีกว่าจะมาลงทุนในธุรกิจสายการบิน ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก บรรดาสายการบินที่ให้บริการอยู่ในเวลานี้ก็ประสบปัญหาอย่างหนัก เช่น กรณีของฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ที่อยู่มากว่า 50 ปี ก็ยังต้องปิดตัวลงไปในที่สุดเพราะมีหนี้สินท่วมท้น

แต่เมื่อไม่มีทางเลือกแล้ว สมชายบอกว่าก็ต้องทำให้ดีที่สุด

สำหรับตัวเขาแล้ว สมชายเล่าว่า ต้องเปลี่ยนจากผู้ที่เคยอยู่แต่เบื้องหลังมาอยู่เบื้องหน้า ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพตัวเองใหม่หมด ให้เป็นคนที่พูดมากขึ้น

ที่แล้วมาสมชายมักทำงานเงียบๆ อยู่ในธุรกิจของครอบครัว ในยูคอมสมชายรับหน้าที่ในส่วนที่เป็นงานประมูลขายอุปกรณ์สื่อสารให้กับหน่วยงานราชการ และที่ถนัดและรับผิดชอบมาตลอด ก็คือกรมตำรวจ ในช่วงที่ยูคอมขยายธุรกิจสื่อสารออกไปมากๆ สมชายต้องรับหน้าที่ดูแลธุรกิจในเครือย่อยๆ หลายแห่ง แต่มีน้อยครั้งมากที่สมชายจะให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าว ทั้งที่อยู่ในวงการนี้มาเกือบ 20 ปีเต็ม แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงนี้เท่าใดนัก ผิดกับผู้เป็นพี่ชายที่เป็นทัพหน้ามาตลอด

สมชายจับงานของธุรกิจของครอบครัวในหลายๆ ด้าน ทั้งประภันภัย ธุรกิจสื่อสาร และธุรกิจส่งออกกุ้ง แต่ไม่ได้ปักหลักในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง

"ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบทำอะไรอย่างเดียว และชอบเปลี่ยนไปทำอะไรใหม่ๆ เป็นคนชอบทำงานพร้อมๆ กันทีเดียว สมัยทำงานอยู่ที่ยูคอมเคยบริหารงานพร้อมกันทีเดียว 7 บริษัท"

ชีวิตในวัยเด็กของสมชาย ค่อนข้างโลดโผนไม่น้อย สมชายเล่า อย่างอารมณ์ดีว่า สมัยที่เรียน หนังสือในระดับมัธยมเขาต้องเปลี่ยน สถานที่เรียนบ่อยมาก ไล่มาตั้งแต่ โรงเรียน ศรีวิกรม์ กรุงเทพคริสเตียน สหพาณิชย์ เรียกว่าเปลี่ยนโรงเรียนทุก 1-2 ปี ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า ผมเป็นคนมีเพื่อนฝูงเยอะมาก แต่ในที่สุดเขาก็ไปคว้าปริญญาตรีทางด้านอาร์ท แอนด์ ไซน์ที่สหรัฐอเมริกา กลับมาได้

ความภูมิใจครั้งสำคัญในชีวิต ของสมชาย คือการสอบชิงทุนไปเรียน ด้านประกันภัยที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นทุนของรัฐบาลเยอรมันที่ให้กับต่างประเทศ สมชายเป็นคนไทยคนเดียวในรอบ 4 ปีที่ได้รับทุนนี้ และเป็นจุดที่ทำให้กลับมานั่งทำงานอยู่ที่นารายณ์สากลประกันภัย อันเป็นอีกธุรกิจหนึ่งของครอบครัว

แม้จะถนัดทำงานเบื้องหลังแบบเงียบ แต่ครั้งหนึ่งสมชายก็เคยได้เป็นถึงรัฐมนตรีช่วยมาแล้ว แม้ว่าจะผ่านมาเพียงแค่ 14 วันเท่านั้น

สมชายกระโดดสู่สนามการเมือง ในสังกัดของพรรคกิจสังคม และโลดแล่นอยู่ในแวดวงนี้ถึง 3 ปีเต็ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่ม ยูคอมหันมาเกาะติดกับกระแสการเมืองอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับทุนสื่อสารอื่นๆ เพราะนอกจากสมชายแล้ว ยังมี ดร.ประกอบ จีรกิตติ น้องเขยที่เข้าไปสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งมืออาชีพของกลุ่มอย่าง ภูษณ ปรีย์มาโนช ที่เดินเข้าสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัว ในสายของพรรคความหวังใหม่

สมชาย ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 2 สมัย ด้วยฉายา กระเป๋าเงินของพรรค ครั้งล่าสุดได้ลงเลือกตั้งเขตเดียวกับมนตรี พงษ์พานิช ในจังหวัดอยุธยา แม้จะพลาดหวังจากการเป็น ส.ส.ทั้งสองครั้ง แต่ก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นการปลอบใจ แต่ก็อยู่ได้เพียงแค่ 14 วันเท่านั้นพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ประกาศยุบสภา

3 ปีในถนนการเมือง วันนี้สมชายเลือกที่จะถอยออกมายืนดูอยู่ห่างๆ เขาได้ให้เหตุผลว่า การเมืองทุกวันนี้ยังมีความสับสนอยู่มาก เพราะมีการทะเลาะกันทั้งในสภา และในพรรคการเมืองเองด้วยก็ไม่เว้น

"การทำงานของระบบการเมืองของไทย แทนที่จะสร้างหรือพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงกันที่ระบบหรือโครงสร้าง แต่นี่เราต้องมาเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคน และเป็นส่วนที่ทำให้เกิดปัญหามากที่สุด" สมชายกล่าว

ด้วยเหตุนี้เอง สมชายจึงตัดสินใจเดินออกจากเส้นทางการเมือง และเซ็นใบลาออกจากการเป็นรองหัวหน้าพรรคกิจสังคม ในวันที่เปิดแถลงข่าวเปิดตัวแองเจิ้ลแอร์ไลน์อย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

หลังจากว่างเว้นได้ระยะหนึ่ง สมชายจึงถูกมอบหมายจากพี่ชายให้มานั่งบริหารในแองเจิ้ลแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ ที่อาจเรียกได้ว่าท้าทาย ยิ่งกว่าครั้งไหนๆ

ปัจจุบันสัดส่วนการถือหุ้นของแองเจิ้ลแอร์ไลน์ ยังคงเป็นของบริษัทเจวีเค, บริษัทเวิลด์ไวด์ เทรดดิ้ง แอนด์ ซัปพลายเออร์ และบริษัท พีคแมเนจเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนท์ เซอร์วิส ถือรวมกัน 70% ที่เหลือเป็นของตระกูล เบญจรงคกุล และกลุ่มคนอื่นๆ 30%

สมชาย บอกว่า สัดส่วนการถือหุ้นนี้ก็อยู่ระหว่างเปลี่ยนแปลง จะใช้ชื่อบุคคลมาถือในนามของตัวเขาและวิทยา ถือหุ้นรวมกัน 70% และอีก 30% ที่เหลือจะขายให้กับพันธมิตรจากต่างชาติ

แต่ที่แน่ๆ สมชายบอกว่ากลุ่ม เบญจรงคกุล จะต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อที่จะได้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีสิทธิในการบริหารงาน

"ผมก็ต้องพิสูจน์ฝีมือหากทำไม่ดีผู้ถือหุ้น คณะกรรมการของบริษัทก็มีสิทธิ์โดนถอดออกจากตำแหน่งได้ พอเข้ามาตรงนี้ผมก็เริ่มสนุก ผมมองว่าเมืองไทยเป็นศูนย์ กลางการบินได้ สิงคโปร์เองเขาไม่มีอะไรเลย เขาพยายามทำทุกอย่าง ลด แลก แจกแถม แต่จริงๆ แล้วเรามีศักยภาพ มากกว่าเยอะ"

โครงสร้างของธุรกิจการบินนั้นจะต้องขาดทุนติดต่อกันหลายปี และจะขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงหนึ่งก็จะถึงจุดคุ้มทุน แต่สำหรับแองเจิ้ลแอร์ไลน์แล้วสมชายบอกว่า จะขาดทุนติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี ซึ่งมากกว่ากำหนดการเดิมที่คาดว่าจะขาดทุนเพียงแค่ 5 ปี และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้แองเจิ้ลแอร์ไลน์ถูกจับตามอง ว่าจะทนอึดไปได้นานเพียงใดกับสภาพเช่นนี้

"ผมก็คงต้องหารายได้เข้ามาเสริม ร่วมมือกับสายการบินอื่นๆ เข้าไปเสริมในเที่ยวบินของเขาเต็ม หรือหารายได้เพิ่มจากการนำอุปกรณ์สื่อสารไปขายบนเครื่อง หรือ การทำแคท เตอริ่ง เรียกว่าทำทุกอย่างเพื่อหารายได้เข้ามาเสริม" สมชายกล่าว

จะว่าไปแล้ว ธุรกิจการบินเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นมาจากการขยายธุรกิจแบบไร้ทิศทางของกลุ่ม ยูคอมในช่วงเศรษฐกิจยังเฟื่องฟู แต่เมื่อถึงยุคเศรษฐกิจตกต่ำ หลายโครงการที่ขยายไปสามารถยกเลิกหรือพับใส่กระเป๋าก่อนได้ แต่ธุรกิจสัมปทานที่ทำไว้กับรัฐก็อาจทำให้ไม่มีทางเลือกมากนัก

ก็ไม่แน่ว่าการตัดสินใจขี่หลัง เสือในวันนี้ จะทำให้ยูคอมต้องเลือกตัดสินใจใหม่อีกครั้งหรือไม่ หรือยูคอมยังมีทีเด็ดที่ยังอุบเอาไว้เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.