กระจกไทยดิ้นเพื่อความอยู่รอด


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในยุคฟองสบู่แตก ที่ทุกวงการธุรกิจต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ด้วยการนำยุทธวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลดเงินเดือน ลดพนักงาน ลดกำลังการผลิต และถ้าไม่ไหวจริงๆ ต้องงัดไม้เด็ดมาใช้ คือปิดกิจการ

อุตสาหกรรมกระจกก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับความบอบช้ำจากวงจรอุบาทว์ ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมกระจกในอดีต คือ ธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยให้กับผู้ประกอบการเป็นกอบเป็นกำ เพราะมีผู้ประกอบการไม่มากและนโยบายรัฐบาลเอื้ออำนวย ในการทำธุรกิจ ก่อนปี 2506 ไทยต้องนำกระจกเข้าจากยุโรป โดยเฉพาะกระจกฝรั่งเศส หลังจากนั้นปริมาณการนำเข้าจึงได้ลดลง เมื่อบริษัท กระจกไทย จำกัด เป็นบริษัทแรกที่เริ่มผลิตใช้เองได้ และปีต่อมาได้ร่วมทุนกับบริษัท อาซาฮีกลาส จำกัด ประเทศญี่ปุ่น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กระจกไทยอาซาฮี จำกัด (TAG)

ยุคแรกๆ อุตสาหกรรมกระจกไทยมีโครงสร้างการผลิตและการตลาดเป็นแบบผูกขาด (Monopoly) ส่งผลให้ผู้ผลิตมีอำนาจในการกำหนดราคาได้อย่างเต็มที่ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากรัฐบาลต้องการมีนโยบายให้ความคุ้มครอง มาตรการที่รัฐนำมาใช้ คือ ภาษีศุลกากร โดยตั้งไว้ที่ระดับ 50% และการจำกัดจำนวนโรงงานเพื่อต้องการรักษาระดับปริมาณ การผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการภายในประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุ่ม ตลาดจากต่างประเทศ

ต่อมาในปี 2533 รัฐบาลได้เปิดเสรีในการผลิตและตั้งโรงงานกระจก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากบริษัท บางกอกโฟลทกลาส จำกัด (เริ่มผลิตตุลาคม 2534) และบริษัท กระจกสยาม จำกัด (เริ่มผลิตตุลาคม 2534) บริษัท สยามการ์เดียน จำกัด (เริ่มผลิตตุลาคม 2535) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)

นับจากนั้นเป็นต้นมา โครงสร้างตลาดกระจกไทยได้เปลี่ยนจากตลาดผูกขาดเป็นตลาดที่มีผู้แข่งน้อยราย (Oligopoly) การแข่งขันเริ่มมีสูงมากขึ้น อีกทั้งการลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 30% อย่างไรก็ตาม ราคาจำหน่ายยังไม่สามารถ ลดลงได้ เพราะยังผูกติดกับผู้ผลิตรายใหญ่อยู่และการนำเข้ากระจกจากต่างประเทศ ก็ไม่สามารถสั่งโดยตรงได้ ต้องผ่านผู้ผลิตภายในประเทศอยู่

ยุคโชติช่วงของกระจกไทย เริ่มในช่วงที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ความต้องการกระจกภายในประเทศมีสูง เฉลี่ยอัตราการเติบโตกระจกไทยปี 2534-2539 มีสูงถึง 10.15% ถือว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรม กระจกไทย

สูงสุดสู่สามัญเมื่อสถานการณ์ตลาดกระจกเริ่มสั่นคลอนเพราะภาวะเศรษฐกิจในปี 2540 ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง อีกทั้งปัญหาทางการเงินที่ขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้สภาพการแข่งขันเกิดขึ้นอย่างรุนแรง เนื่องจากอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจกระจก โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างอาคาร สำนักงาน ปัจจุบันแทบจะไม่มีการก่อสร้าง เชื่อว่าธุรกิจก่อสร้างหดตัวลงไปมากกว่า 80% แล้ว ทำให้กระทบต่อตลาดกระจกโดยตรง ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตกระจกต้องแก้ปัญหาด้วยการลดกำลังการผลิตบางส่วนลง

จากข้อมูลของกระจกไทยอาซาฮีปรากฏว่าปี 2540 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตกระจกแผ่นทั้งสิ้น 640,200 ตันเพิ่มขึ้นจากปี 2539 จำนวน 102,800 ตัน ขณะนี้ความต้องการมีเพียง 302,400 ตัน ลดลงจากปี 2539 จำนวน 43,400 ตัน ส่วนปี 2541 มีกำลังการผลิต 687,000 ตัน ด้านความต้องการมีจำนวน 199,200 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 103,200 ตัน

นอกจากนี้ผู้ผลิตกระจกยังต้องเจอปัญหากระจกจากต่างประเทศ ได้เข้ามาทุ่มตลาดกันอย่างคึกคัก เนื่อง จากกระทรวงการคลังได้ลดภาษีนำเข้ากระจก โดยเฉพาะกระจกแผ่น เรียบจาก 50% ในปี 2538 เหลือ 40% ในปี 2539 และ 30% ในปี 2540 ประกอบกับในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) กระจกแผ่นอยู่ในกลุ่มสินค้า fast track ซึ่งไทยต้องลดภาษีนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนให้เหลือ 0-5% ภายในปี 2543 ทำให้มีการนำเข้ากระจกแผ่นเรียบราคาถูกจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น แต่ในปี 2540 เศรษฐกิจไทยเริ่มตกต่ำทำให้มูลค่าการนำเข้ากระจกมีเพียง 1,004.7 ล้านบาท หรือลดลงจากปี 2539 ถึง 22.3% ส่วนครึ่งแรกปี 2541 มูลค่าการนำเข้ากระจกมี 418.1 ล้านบาท

สำหรับภาวะตลาดกระจกปี 2541 คาดว่าปริมาณความต้องการจะลดลงเกินกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2540 โดยความต้องการจะอยู่ในระดับไม่เกิน 300,000 ตัน ทำให้ปริมาณกระจกที่ผลิตได้ในปัจจุบันเกินความต้องการ (over supply) ประมาณ 306,900 ตัน หรือ 50.6% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งกระจกที่เกินความต้องการดังกล่าวยังไม่รวมถึง ปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ

จากอุปสรรคของผู้ผลิตกระจกไทยที่เจอทั้งศึกในศึกนอก จำเป็นต้องรีบหาทางแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไป เพราะคาดว่าสภาพการแข่งขันในอนาคตจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ และอัตราการขยายตัวของกระจกนำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการแข่งขัน หนทางการแก้ปัญหาในช่วงนี้ คือ การปรับราคาจำหน่ายให้ใกล้เคียงกับกระจกนำเข้ามากที่สุด แต่วิธีนี้ทำได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้นเพราะต้นทุนการผลิตกระจกไทยสูงกว่าจากต่างประเทศ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งจะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้

นอกจากนี้ก็หันไปขยายตลาดส่งออกมากขึ้น จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกกระจกไทยสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าการนำเข้าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นการส่งออกกระจกไทยมักจะมีมูลค่าน้อยกว่าการนำเข้ากระจกมาโดยตลอด โดยตลาดการส่งออกในช่วงครึ่งแรกปี 2541 สามารถส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวม 1,207.7 ล้านบาท ขยายตัวขึ้น 87.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2540 ตลาดหลักอยู่ที่ญี่ปุ่น มีมูลค่า 188.0 ล้านบาท สิงคโปร์ 100.2 ล้านบาท ฮ่องกง 94.9 ล้านบาท ไต้หวัน 91.3 ล้านบาท และออสเตรเลีย 51.6 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็พยายามเจาะตลาดใหม่ๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว

อีกทั้งยังหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนด้วยการหันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เช่น โซดาแอช และโซเดียมคาร์บอเนต และยังมีผู้ผลิตบางแห่งได้ปรับสูตรหรือส่วนผสมวัตถุดิบ ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตให้ได้จำนวนมากขึ้น หรือหันไปสร้างมูลค่าให้กระจกมากขึ้นด้วยการผลิตกระจกโค้ง กระจกนิรภัย กระจกเงา เป็นการกระตุ้นผู้บริโภคให้มีเพิ่มมากขึ้น

สำหรับสิ่งที่ผู้ผลิตกระจกไทยต้องการให้ภาครัฐบาล เข้ามาช่วยโดยด่วน คือ ให้ยืดการลดภาษีนำเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น รวมทั้งพยายามหาทางกีดกันไม่ให้กระจกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดได้ง่าย ด้วยวิธีเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น (surcharge)

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตกระจก ราวกับจะตัดหางปล่อยวัดไปเลย แม้ว่าจะมีการเรียกร้องอยู่เรื่อยๆ แต่คำตอบที่ได้จากรัฐบาล คือ ความว่างเปล่า ดังนั้นผู้ผลิตแต่ละรายจำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าทิศทางของธุรกิจกระจกในประเทศในอนาคตจะออกหัวหรือออกก้อย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.