แปลงสัมปทานเดิมพันครั้งนี้เล่นไม่ยาก


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

การแปลงสัมปทานเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดของการแปรรูป เพราะต้องเดิมพันกันด้วยผลประโยชน์ก้อนมหึมา งานนี้อาจทำให้ทุนสื่อสารหลายรายรอดตาย แต่ ทศท.และ กสท.อาจเหลือแต่ตัว เกมนี้จึงลึกลับและซับซ้อนขึ้นทุกทีๆ อยู่ที่ว่าใครจะถือไพ่ได้เหนือกว่าและแยบยลกว่ากันเท่านั้น!

การว่าจ้างกลุ่มธนสยาม ซี.เอส.เฟิร์สท์บอสตัน และแบริ่ง มาเป็นที่ปรึกษาการแปลงสัมปทานของ ทศท. และ กสท.

การที่สุเทพ เทือกสุบรรณส่งมือการเงินทั้ง 4 มานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจสื่อสาร

การลุกจากเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ในบริษัททีทีแอนด์ทีของอดิศัย โพธารามิก เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

การที่ทูตญี่ปุ่นเข้าพบสุเทพ เพื่อขอความชัดเจนและเร่งให้มีการแปลงสัมปทาน

ถัดจากนั้นไม่ถึงเดือนก็ตามมาด้วย ฑูตจากฝรั่งเศสเข้าพบสุเทพด้วยเรื่องเดียวกัน

หรือแม้แต่การที่บริษัทเซ้าท์อีสเอเซียอีริเดียม ส่งเรื่องถึงสุเทพเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องทำสัญญาอนุญาตให้สิทธิในรูปแบบสัมปทาน BTO (BUILD TRANSFER AND OPERATE) ในการจัดตั้งสถานีภาคพื้นดินระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมกับ ทศท.และ กสท.

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้แม้จะต่างกรรมต่างวาระ แต่ก็มีจุดหมายปลายทางที่เหมือนกันทั้งสิ้น

การแปลงสัมปทาน เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากที่สุดของการแปรรูป เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล ที่มาจากมูลค่าของสัมปทานที่ ทศท.และ กสท.ให้สิทธิกับเอกชนไปดำเนินการ โดยเอกชนจะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทศท.และ กสท.ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในรูปแบบของสัมปทานบีทีโอ คือ เอกชนลงทุนสร้าง ส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้กับรัฐ และรัฐก็ให้สิทธิกับเอกชนรายนั้นไปให้บริการตามอายุสัมปทานที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 10-20 ปีขึ้นไป

เรื่องจะไม่ยุ่งยาก ไม่มีการแปรรูป และเปิดเสรีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหลังจากการแปรรูปแล้ว อำนาจในการให้บริการด้านสื่อสารของ ทศท.และ กสท.จะถูกโอนไปให้กับคณะมนตรีสื่อสารแห่งชาติ (มสช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้ง จะทำหน้าที่เป็นองค์กรกลาง วางกฎกติกา และให้ใบอนุญาต (ไลเซนส์) ในการให้บริการสื่อสาร ทศท.และ กสท.จะกลายเป็นบริษัทเอกชนทำหน้าที่ให้บริการรายหนึ่งเท่านั้น

จึงเกิดมีแนวคิดขึ้นว่า สัมปทาน ที่มีอยู่เดิมควรแปลงไปใช้กฎกติกาเดียวกับรายใหม่ เพื่อความเป็นธรรมกับเอกชนเดิม เพราะเมื่อเปิดเสรีแล้วก็จะต้องมีเอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการ

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้ ทศท. กสท. กระทรวงคมนาคม ไปรษณีย์ และเอกชนผู้รับสัมปทานแบ่งเค้กก้อนมหึมานี้อย่างเป็นธรรมมากที่สุด

แต่ดูเหมือนว่า เหตุการณ์จะไม่ง่ายเหมือนอย่างที่คิด !

ทศท.และ กสท.ก็ต้องพยายามปิดเซฟเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ เพราะเกี่ยวพันกับการแปรรูปในอนาคต เพราะหาก ทศท.และ กสท.สูญเสียรายได้ในส่วนนี้มากเท่าใด ก็จะส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าหุ้นของ ทศท.และ กสท.ที่จะนำออกขายในอนาคต งานนี้เรียกว่าพลาดนิดเดียวก็คงเหลือแต่ซาก

เอกชนที่รับสัมปทานเวลานี้ ก็กำลังเจอศึกหนักกับหนี้ก้อนใหญ่ที่เกิดจากค่าเงินบาทลอยตัว และการบริหารงานที่ผิดพลาด ก็หวังจะอาศัยจังหวะของการแปลงสัมปทานเป็นทางออกของปัญหา เพราะเจ้าหนี้เองก็อยากรู้ความแน่ชัดในเรื่องเหล่านี้ก่อนที่จะปล่อยกู้หรือประนอมหนี้ให้

หรืออีกนัยหนึ่ง การแปลงสัมปทานสามารถชี้เป็นชี้ตายชีวิตทางธุรกิจของทุนสื่อสารบางราย

การลาออกของ ดร.อดิศัย ในตำแหน่งซีอีโอบริษัททีทีแอนด์ที คือ คำตอบของเรื่องนี้

ทางออกเดียวของทีทีแอนด์ทีในเวลานี้คือ การจัดการกับหนี้ก้อนใหญ่ กว่า 50,000 ล้านบาท คือการแปลงสัมปทาน เพื่อลดส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้กับ ทศท.จำนวน 43.1% ลง

อดิศัยเคยเดินเกมพลาดมาแล้ว จากการยื่นเสนอขอแปลงสัมปทานมาแล้วครั้งหนึ่ง ในสมัยที่สุเมธ ตันติเวชกุล เพื่อนนักเรียนวชิราวุธของอดิศัย นั่งเป็นประธานบอร์ด ทศท. สุเมธก็อนุมัติตามข้อเสนอที่ให้ทีทีแอนด์ทีลดส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้ ทศท.ลงเหลือ 25% และให้ ทศท.มาถือหุ้น 36-38% เรื่องก็ลื่นไหลไปถึงสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมต.คมนาคม สังกัดพรรคชาติพัฒนา ที่อดิศัยสนิทสนมกลมเกลียว แต่ยังไม่ทันที่สุวัจน์จะพิจารณา ก็มีเหตุให้ยุบสภาฯ และพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล

แต่จนแล้วจนรอด สุเทพก็ไม่กล้าที่จะหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา เพราะกลัวถูกโจมตี เพราะการอนุมัติของสุเมธให้กับทีทีแอนด์ทีครั้งนี้ ก็ทำให้สุเมธและอดิศัยโดนโจมตีอย่างหนักจากรอบด้าน

บทเรียนในครั้งนั้น ทำให้อดิศัยรู้ดีว่า การอยู่ในที่โล่งแจ้ง ต้องตกเป็นเป้าโจมตี ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่ดีนัก สู้หลบอยู่ในเงามืดผลักดันการแปลงสัมปทานน่าจะดีกว่า

ผลอย่างเป็นทางการที่เกิดขึ้นก็คือ การที่ทูตจากญี่ปุ่น และฝรั่งเศสขอเข้าพบสุเทพ เพื่อความชัดเจนในเรื่องของการแปลงสัมปทาน หากมองลึกลงไปทั้งสองประเทศนี้ต่างก็เป็นประเทศเจ้าหนี้ของทีทีแอนด์ทีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเอ็นทีที และอัลคาเทล ซึ่งรายแรกนั้นเป็นผู้ร่วมทุน ส่วนรายหลังเป็นซัปพลายเออร์ ที่ทุกวันนี้ทีทีแอนด์ที ยังติดค้างหนี้ไม่ได้จ่ายเงินต้น

งานนี้จึงคาดคะเนได้ว่า ผลประโยชน์ก้อนมหึมาที่ไหลพัดผ่านจากโครงการเหล่านี้ งานนี้แม้จะเป็นเผือกร้อน แต่ก็เป็นเผือกที่น่าลองจับต้องไม่น้อย

สุเทพและคนในพรรคประชาธิปัตย์เองรู้ดีว่า การมาเป็นรัฐบาลในยุคขอ การเมืองต้องขึ้นต่อ "คุณพ่อไอเอ็มเอฟ" นั้น นอกจากการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว เมืองไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อขายหุ้นให้ต่างชาติเอาเงินมาใช้หนี้กองทุนไอเอ็มเอฟ และเปิดเสรีตามข้อตกลงของ WTO ด้วย

สุเทพเองก็รู้มาตั้งแต่นั่งเป็นประธานกรรมาธิการคมนาคมแล้วว่า รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม คือเป้าหมายของการแปรรูปครั้งนี้ และรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นองค์การโทรศัพท์ การสื่อสาร การท่าอากาศยาน รวมทั้งการบินไทย คือรัฐวิสาหกิจชั้นนำที่มีรายได้มหาศาล แต่ก็มีเรื่องลึกลับซับซ้อนซ่อนอยู่ภายในตลอดเวลา

การดึงเอาธีระศักดิ์ สุวรรณยศ อดีตผู้บริหาร บงล.นครหลวงเครดิต เพื่อนสนิทจากรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ยังคบหากันอย่างแนบแน่นมาจนถึงทุกวันนี้ มานั่งในบอร์ด ทศท. และเป็นที่ปรึกษาบอร์ดการบินไทย

พร้อมกับเพื่อนสนิทในแวดวงการเงินอีก 3 คนของธีระศักดิ์ มานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจในอาณัติอีก 3 แห่ง ได้แก่ วิเชษฐ์ บัณฑุวงศ์ มือการเงินของยูนิคอร์ด นั่งเป็นกรรมการบอร์ดหนองงูเห่า, รัตน์ พานิชพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บงล.ธนสยาม เป็นกรรมการบอร์ดการสื่อสารฯ, และ ราชัย วัฒนเกษม กรรมการผู้จัดการ บงล. พูนพิพัฒน์ เป็นกรรมการบอร์ดการท่าอากาศยานฯ

การมาของ "4 ทหารเสือการเงิน" ในครั้งนี้ย่อมไม่ธรรมดา สุเทพต้องการให้พวกเขามาดูเรื่องการแปรรูปโดยเฉพาะ เพราะเป็นเรื่องต้องเกี่ยวข้องกับเงินๆ ทองๆ ทั้งหม ไม่ว่าจะเป็นการตีมูลค่าทรัพย์สิน, การแปลงสัมปทาน, การนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขายหุ้น

การลอยลำมาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มธนสยาม ซี.เอส.เฟิร์สท์บอสตัน และแบริ่ง เพื่อศึกษาเรื่องการแปลงสัมปทาน เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะที่มาที่ไปของกลุ่มนี้ ก็เป็นคำตอบของเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

และนี่เป็นส่วนหนึ่งของการตกผลึกทางความคิดของสุเทพ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการแปลงสัมปทาน ที่จะพลิกอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของเมืองไทยในอนาคต

ที่น่าสนใจคือ ผลศึกษาของกลุ่มธนสยาม มีความเห็นตรงกันข้ามกับผลศึกษาของกระทรวงคมนาคมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ


เปิดผลศึกษากลุ่มธนสยาม

กลุ่มธนสยามหยิบเอาสัมปทานที่ต้องแปลงมาทั้งหมด 9 สัญญา (ดูตาราง 9 สัมปทานที่ได้รับการแปลงสัญญา) จากที่มีทั้งหมด 32 สัญญา โดยให้เหตุผลไม่ต่างจากผลศึกษาของคณะทำงานของกระทรวงคมนาคมมากนัก อีก 23 สัมปทาน ไม่มีความจำเป็นต้องแปลง เพราะกำลงจะหมดอายุสัญญาอยู่แล้ว และบางสัมปทานรัฐก็ลดส่วนแบ่งไปแล้ว บางสัมปทานแม้ว่าแปลงสัญญาแล้วก็ไม่ทำให้สถานะทางการเงินดีขึ้น

เลือกเอามาเฉพาะบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่องของกระแสเงินสด และการแปรสัญญาจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะทางการเงินดีขึ้น

สังเกตให้ดีใน 9 สัญญานี้ ล้วน แต่เป็นสัมปทานหลักๆ จากเอกชนรายใหญ่ๆ ทั้งสิ้นซึ่งได้แก่ ทีเอ ทีทีแอนด์ที เอไอเอส แทค ชินวัตรแซทเทลไลท์ อคิวเมนท์ สามารถเทลคอม คอมพิวเนท แอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์

ในผลศึกษายังวิเคราะห์ให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของบริษัทเหล่านี้ไว้ทั้งหมด (ดูตารางการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ของ 9 สัมปทาน) ในจำนวนนี้ที่มีปัญหาหนักๆ ก็คือ ทีทีแอนด์ที ทีเอ และคอมพิวเนท นอกนั้นก็ยังทำกำไรอยู่

หากแบ่งประเด็นสำคัญๆ ของผลศึกษานี้ จะแบ่งได้ออกเป็น 4 ส่วน ใหญ่ ซึ่งใน 4 ส่วนนี้ล้วนแต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อ ทศท. กสท. รวมทั้งเอกชนที่รับสัมปทานเป็นอย่างมาก

ประการที่ 1 ขั้นตอนและเวลาที่เหมาะสมในการแปรสัญญา การแปรรูป ทศท.และ กสท. และการเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคม

ผลศึกษาของธนสยาม ระบุว่า รัฐบาลควรเลือกรูปแบบที่ 3 โดยการตั้งคณะมนตรีสื่อสารแห่งชาติ (มสช.) ก่อนการแปรสัญญา จากนั้นจึงแปรรูป ทศท./กสท. และเปิดเสรี (ดูตารางขั้นตอนที่เหมาะสมในการเปิดเสรี)

เหตุผลที่กลุ่มธนสยามให้ไว้ก็คือ การแปลงสัญญา ควรรอให้มีกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ใหม่ที่จะเกิดขึ้นออกมาก่อน เช่น ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (INTERCONNECTION CHARGE) ซึ่งผู้ที่จะทำ หน้าที่ออกกฎเหล่านี้ก็คือ คณะมนตรีสื่อสารแห่งชาติ (มสช.) จึงค่อยแปลงสัญญา

นั่นก็หมายความว่า อำนาจในการแปลงสัมปทานจะตกไปอยู่ในมือของ มสช. แทนที่จะเป็น ทศท.หรือ กสท.

แตกต่างไปจากแผนแม่บทโทรคมนาคมฉบับปัจจุบัน ซึ่งทำขึ้นโดยดิเรก เจริญผล ซึ่งกำหนดให้แปรรูป แปลงสัญญา เปิดเสรีในประเทศทำพร้อมกันไปในปี 2542

ช่วงเวลาของการเปิดแปรรูป การตั้ง มสช. การแปลงสัมปทาน และการเปิดเสรี เป็นจุดที่ทำให้เกิดความพลิกผันได้อย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง

สำหรับ ดร.อดิศัยไม่ยินดีนัก เพราะหากการแปลงสัมปทานไม่ได้อยู่ในมือของ ทศท. เท่ากับว่าสิ่งที่อดิศัยสู้อุตส่าห์ลงทุนลงแรง วางสายสัมพันธ์ไว้กับทุกระดับชั้นใน ทศท.ก็เท่ากับสูญเปล่า และทีทีแอนด์ทีก็คงต้องตกที่นั่งลำบาก

ตรงกันข้ามกับเอกชนบางราย ที่ยังไม่อยากให้การแปลงสัมปทานเกิดขึ้นเร็วนัก โดยเฉพาะเอกชนที่มีรายได้และผลกำไรดีๆ เพราะหากไม่อยากจ่ายเงินสดก้อนใหญ่ซื้อสัมปทานขึ้นมา หรือก็ต้องให้ ทศท.และ กสท.ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นคู่แข่งมาถือหุ้นในบริษัท

ประการที่ 2 การปรับโครงสร้างส่วนแบ่งรายได้ กลุ่มธนสยามได้เสนอไว้ทั้งหมด 3 แนวทาง (ดูตารางการปรับโครงสร้างส่วนแบ่งรายได้)

แนวทางแรก ธนสยามเสนอให้ลดส่วนแบ่งรายได้ของผู้ได้รับสัมปทานทุกรายในธุรกิจโทรคมนาคมลง ในอัตราร้อยละที่เท่ากัน เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติและชี้แจงต่อสาธารณชน แต่ข้อเสียของวิธีนี้ ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐ เพราะเอกชนแต่ละรายยังมีโครงสร้างส่วนแบ่งรายได้ต่างกัน

แนวทางที่สอง ลดส่วนแบ่งรายได้ให้เหลือเท่ากันในทุกสัญญาร่วมการงาน ธนสยามให้ความเห็นว่า มีความเสมอภาค แต่อาจมีความไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะรายที่จ่ายผลประโยชน์ในอัตราส่วนมากๆ จะได้ประโยชน์มากกว่ารายที่จ่ายผลประโยชน์ในอัตราส่วนน้อย

แนวทางที่สาม ลดส่วนแบ่งรายได้เหลือ 0 เป็นแนวทางที่กลุ่มธนสยามมีความเห็นว่า วิธีนี้จะทำให้เกิดความเสมอภาคกันหมดทุกสัมปทาน และทำให้ผู้รับสัมปทานมีความสามารถให้บริการและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยรัฐจะได้รับผลตอบแทนจากการแปรสัญญา ในจำนวนที่เท่ากับมูลค่าส่วนแบ่งรายได้ที่ลดลง

ผลตอบแทนที่ว่านี้ กลุ่มธนสยามเสนอว่าให้อยู่ในรูปต่างๆ เช่น เงินสด ตราสารหนี้ ตราสารทุน เป็นต้น

กลุ่มธนสยามเสนอให้เลือกแนวทางที่สาม นั่นก็คือ เอกชนไม่ต้องจ่ายสัมปทานอีกต่อไป ให้ซื้อสัมปทานขึ้นมาเลย หรือให้มาถือหุ้น

แนวทางนี้คงเป็นที่ชื่นชอบของเอกชนบางราย เมื่อไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนอีกต่อไปและให้เข้ามาถือหุ้นแทน แต่สำหรับ ทศท.และ กสท.คงไม่เป็นผลดีนัก โดยเฉพาะสัมปทานที่ขาดทุนอย่างบักโกรกในเวลานี้ อย่างทีทีแอนด์ทีและทีเอ เพราะการไปถือหุ้นในบริษัททั้งสองแห่งเท่ากับว่าก็ต้องแบกรับหนี้สินก้อนมหึมาไปด้วย

ประการที่ 3 การประเมินมูลค่าของสัมปทาน ประเด็นนี้สำคัญมากในการแปลงสัมปทาน เพราะกระทบโดยตรงต่อมูลค่าหุ้นของ ทศท.และ กสท.ในอนาคต เพราะรายได้กว่า 60% ของ กสท.มาจากรายได้จากสัมปทานที่ให้กับเอกชน เช่นเดียวกับ ทศท.ที่รายได้จำนวนมากมาจากผลประโยชน์ตอบแทนที่ให้สัมปทานแก่เอกชน

หากการตีมูลค่าสัมปทานน้อย ย่อมหมายถึงมูลค่าทรัพย์สินของ ทศท.และ กสท.ลดลงตามไปด้วย

ผลศึกษาของธนสยาม แบ่งวิธีการกำหนดระยะเวลาในการคำนวณมูลค่าของสัมปทานออกเป็น 4 แนวทาง

แนวทางแรก ให้คำนวณมูลค่าสัมปทานตลอดอายุสัญญาสัมปทานตามที่กำหนดไว้ เช่น สัมปทานมีอายุ 20 ปี ก็ให้คำนวณมูลค่าสัมปทานจนถึงปีที่ 20

แนวทางที่สอง คำนวณมูลค่าสัญญาร่วมการงานจนถึงระยะเวลาที่ธุรกิจโทรคมนาคมเปิดเสรีในปี 2549 เช่น สัมปทานมีอายุ 20 ปี ดำเนินการ ไปแล้ว 5 ปี ยังเหลืออีก 15 ปี ก็ให้คำนวณส่วนแบ่งรายได้ถึงปีที่เปิดเสรีเท่านั้น นั่นก็คือ อายุสัมปทาน 8 ปีที่จะนำมาคำนวณ ไม่ใช่ 15 ปีตามอายุสัมปทาน

แนวทางที่สาม คำนวณจนถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ ในปี 2542 วิธีนี้จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะคำนวณส่วนแบ่งรายได้แค่ปีเดียวเท่านั้น

แนวทางที่สี่ คำนวณมูลค่าสัญญาร่วมการงาน จากค่าบริการเชื่อมโยงเครือข่าย (INTERCONNECTION CHARGE) และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตบริการ

ความเห็นของที่ปรึกษา ให้เลือกแนวทางที่ 2 กลุ่มธนสยามให้เหตุผลว่า จะก่อให้เกิดความเสมอภาคในการแข่งขัน และจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรายใหม่ และผู้ประกอบการรายเดิมก็ไม่เสียเปรียบ

แน่นอนว่า วิธีนี้เอกชนต้องตอบรับอย่างยินดี แต่สำหรับ ทศท.และ กสท.แล้ว หากเลือกตามแนวทางที่สองตามที่กลุ่มธนสยามเสนอ มูลค่าก็คงต้องลดลงไปมากกว่าครึ่ง เพราะสัมปทานที่ให้ไปยังเหลืออายุสัญญาอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปีทั้งนั้น หากให้คำนวณถึงแค่เปิดเสรี เท่ากับว่ามูลค่าของ ทศท.และ กสท.จะหดตามไปด้วย

ประเด็นที่ 4 ทางเลือกสำหรับผลตอบแทนจากการลดส่วนแบ่งรายได้

ธนสยาม ใช้วิธีศึกษาสถานะทางการเงินของผู้รับสัมปทาน (ดูตาราง วิเคราะห์การเงินผู้รับสัมปทาน) ได้ระบุทางเลือกสำหรับผลตอบแทนจากการลดส่วนแบ่งรายได้ ที่จะมาในรูปของเงินสด ตราสารหนี้ ตราสารกึ่งหนี้ตราสารกึ่งทุน ตราสารทุน ผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ เช่น เลขหมายโทรศัพท์ คลื่นความถี่ หรือช่องสัญญาณทรานสปอนเดอร์ (ดูตารางทางเลือกสำหรับผลตอบแทน)

กลุ่มธนสยามให้ความเห็นว่า เงินสดเป็นผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่ก็ได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าทางเลือกอื่นๆ ทางเลือกที่สอง คือ หนี้ ความเสี่ยงสูงกว่าเงินสด แต่รัฐบาลจะได้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ส่วนตราสารหนี้กึ่งทุนรัฐจะได้รับทั้งดอกเบี้ย และหุ้น (ในกรณีที่หุ้นมีราคาสูงขึ้น) แต่ดอกเบี้ยประเภทนี้จะมีอัตราต่ำกว่าปกติ ส่วนตราสารทุน จะมีความเสี่ยงสูงสุด

ส่วนผลตอบแทนอื่นๆ เช่น เลข หมายโทรศัพท์ คลื่นความถี่ ช่องสัญญาณทรานสปอนเดอร์ กลุ่มที่ปรึกษาให้ความเห็นว่า มีความเสี่ยงสูงสุด

ผลศึกษาของธนสยามในข้อนี้ จึงสวนทางกับผลศึกษาของคณะทำงานของกระทรวงคมนาคมอย่างสิ้นเชิง (ดูตารางวิธีแปลงสัมปทานของกระทรวงคมนาคม) ซึ่งให้ความเห็นว่า ในกรณีของทีเอและทีทีแอนด์ทีนั้น ควรใช้วิธีแบ่งเลขหมายไปดำเนินการเองเลย ทศท.และ กสท.ไม่มีความเสี่ยงในการที่ต้องไปถือหุ้นในบริษัททั้งสอง

จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ และผู้บริหารของ ทศท.และ กสท. และนักวิชาการต่างก็เห็นพ้องเหมือนกันว่า ผลศึกษาของธนสยามให้ประโยชน์กับเอกชนมากกว่าหน่วยงานของรัฐ

หากรัฐบาลยึดเอาแนวทางนี้ ทศท.และ กสท.ก็คงแทบไม่เหลืออะไร

"ทำไมรัฐบาลต้องแปลงสัมปทาน แปลงเวลานี้ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะยังไม่มีกฎระเบียบ ยังไม่รู้เลยว่า ค่าเชื่อมต่อวงจร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเมื่อเปิดเสรี มีมูลค่าเท่าไหร่ การแปลงสัมปทานในเวลานี้ มีเหตุผลเดียวเพื่อลดภาระของเอกชน" สุธรรม อยู่ในธรรม อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็นคณะกรรมการ กสท.ให้ความเห็น

ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ใครจะถือไพ่เหนือกว่ากันระหว่าง ทศท. กสท. และเอกชน ถ้าโชคเข้าข้าง ทศท.และ กสท. ผลศึกษาชิ้นนี้คงถูกนำไปใช้น้อยที่สุด

หากโชคร้ายเป็นของ ทศท. และ กสท. คงมีเอกชนที่รอดตายจากผลศึกษาของธนสยามเพิ่มขึ้นอีกแน่!!

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลศึกษาของกลุ่มธนสยามจะผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม ไปถึงมือคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ที่มีศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมๆ กับผลศึกษาของกระทรวงคมนาคม ที่มีกิตติ อยู่โพธิ์ เป็นประธานคณะทำงาน

แต่ศุภชัย ก็สั่งให้รอผลศึกษาของอาเธอร์แอนเดอร์สัน ที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังที่กำลังศึกษาการแปลงสัมปทาน จากนั้นก็จะทำประชาพิจารณ์ ก่อนจะมีมติว่าจะวางแนวทางการแปลงสัมปทานในแนวทางใด

ในระหว่างที่รัฐยังไม่มีความชัดเจนแปลงสัมปทานออกมา ความซับซ้อน ความพยายามใช้ประโยชน์จากการแปลงสัมปทานก็ยังคงเดินหน้า อาจทำให้ผลศึกษาทั้ง 3 ฉบับนี้ไร้ค่าไปเลยก็ได้

กรณีของบริษัทเซาท์อีส เอเซีย อีริเดียม จำกัด (SEAI) ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเกี่ยวกับการลงทุนจัดตั้งสถานีภาคพื้นดินระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมอีริเดียม ที่บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว โดยไม่ต้องทำสัญญาอนุญาตให้สิทธิในรูปแบบของสัมปทาน แบบ BTO เป็นกรณีที่สะท้อนถึงการเดินเกมลึกของเอกชนได้เป็นอย่างดี

แต่เดิม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2538 เห็นชอบให้ กสท. ร่วมลงทุนในการจัดตั้งสถานีภาคพื้นดินระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมอีริเดียม กับบริษัท SEAI

บริษัท SEAI ให้เหตุผลว่าบริษัทไทย แซทเทิลไลท์ เทเลคอม มูนิเคชั่น จำกัด (ทีเอสซี) ซึ่งเป็นบริษัทรับหน้าที่บริหารสถานีภาคพื้นดินให้แก่ SEAI เป็นผู้ลงทุนสร้างสถานีภาคพื้นดินเหล่านี้เอง และได้รับใบอนุญาตและคลื่นความถี่วิทยุจากกรมไปรษณีย์โทรเลขแล้ว

นอกจากนี้ SEAI ยังระบุอีกว่า การขออนุมัติครั้งนี้ก็เพื่อให้เดินไปตามแผนแม่บทโทรคมนาคมที่ ทศท. และ กสท.ต้องเปิดเสรีและแปลงสัญญาอยู่แล้ว

พูดง่ายๆ ก็คือบริษัท SEAI จะขออนุมัติไม่โอนทรัพย์สินที่สร้างสถานีภาคพื้นดินให้กับ กสท.และ ทศท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ตั้งเกตเวย์ ตามที่ตกลงกันไว้ในลักษณะของสัญญา BTO เพราะการทำสัญญาแบบ BTO กับ กสท.และ ทศท. เท่ากับว่า บริษัท SEAI จะต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดที่สร้างสถานีภาคพื้นดินให้กับรัฐวิสาหกิจทั้งสอง

เรื่องถูกส่งถึงมือสุเทพ ซึ่งก็ส่งเรื่องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กสท.ทศท. สภาพัฒน์ฯ อัยการสูงสุด กระทรวงการคลัง กรมไปรษณีย์โทรเลข ทุกหน่วยงานให้ไฟเขียวเห็นด้วยกับข้อเสนอของ SEAI อย่างเต็มที่ เช่นว่า รัฐไม่จำเป็นต้องทำ BTO เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ และโครงการอีริเดียมเป็นบริการครอบคลุมทั่วโลก ไม่ได้จำกัดเฉพาะไทยเท่านั้น สิทธิให้บริการไม่ได้เป็นของ กสท.และ ทศท.

จากนั้นกระทรวงคมนาคมเสนอผ่านวิษณุ เครืองาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งอนุมัติในหลักการให้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา

สุเทพและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ให้ความเห็นชอบ จะรู้หรือทำเป็นไม่รู้ว่า การอนุมัติให้ SEAI ไม่ใช่แค่ว่า ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในหลายประเด็นเท่านั้น แต่อาจเป็นการพลิกผันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

เพราะทันทีที่ SEAI ได้รับอนุมัติ เอกชนรายอื่นๆ ก็จะสามารถเดินตาม SEAI ได้ทันที เนื่องจากมติ ครม.ก็เห็นชอบในหลักการให้กับบริษัท และเอกชนรายอื่นๆ ที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

เท่ากับว่า เมื่อเอกชนที่ได้รับสัมปทานสื่อสารทั้งหมด ยื่นเสนอขอยกเลิกไม่ต้องทำสัญญาอนุญาตแบบ BTO ทรัพย์สินทั้งหลายที่เอกชนลงทุน และส่งมอบให้กับหน่วยงานรัฐไปแล้ว หน่วยงานรัฐจะต้องส่งมอบทรัพย์สินเหล่านั้นให้กับเอกชนกลับคืนทันที

"ผลประโยชน์ของรัฐที่จะเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งอาจทำให้รัฐต้องคืนทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากเอกชนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท และจะไม่ได้รับรายได้จากสัมปทานจากเอกชนอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท" ดร.อานุภาพ ธีระภาพ นักวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ให้ความเห็น

มูลค่าทางการค้าของ ทศท.ที่มอร์ แกนสแตนเลย์ ประเมินได้ 204,678 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นทรัพย์สินที่ให้สัมปทานกับเอกชนไป 187,193 ล้าน บาท ส่วน กสท.ซึ่งประเมินได้ 75,000 ล้านบาท เป็นทรัพย์สินที่เป็นสัมปทานให้กับเอกชนมากกว่า 60%

รัฐบาลไม่ต้องแปลงสัมปทานให้เสียเวลาอีกต่อไป แต่คงต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ด้วยว่า มูลค่าของ ทศท. และ กสท.ในอนาคตจะต้องลดน้อยลงไปกว่าครึ่ง จากทรัพย์สินที่ต้องคืนให้เอกชน

หากพลิกดูที่มาของบริษัททีเอสซี และ SEAI ก็ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นบริษัทของกลุ่มยูคอม ที่ตั้งขึ้นเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว หลังจากที่ไปร่วมลงทุนในโครงการอีริเดียมของโมโตโรล่า หมดเงินไปแล้วหลายพันล้านบาท

นี่คือ มุมมองที่แยบยลของเอกชน ที่ไม่รู้ว่ารัฐจะมองเห็นหรือไม่ก็ตาม

งานนี้ก็ต้องบอกได้คำเดียวว่าเกมนี้ยังซับซ้อนอีกมาก!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.