จุฬาฯ ซุ่มเงียบ โกยงานที่ปรึกษา


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจดูจะเป็นโอกาสของที่ปรึกษาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ปรึกษาฝ่ายไทยนั้นโอกาสแทบจะไม่มีเอาเลย

"ประสบการณ์" ในการเป็นที่ปรึกษาในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นเหตุผลสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทุกครั้ง ที่มีการคัดเลือกที่ปรึกษาในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ "ที่ต้องใช้ที่ปรึกษาจากต่างประเทศ เพราะต้องการประสบการณ์จากเขา ซึ่งเคยทำเรื่องการแปรรูปมาแล้ว ในขณะที่ปรึกษาจากเมืองไทยของเราไม่เคยมีมาก่อน" แหล่งข่าวในทศท.ให้ความเห็น

ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีต่อที่ปรึกษาจากต่างประเทศ คือเงื่อนไขที่ปิดกั้นที่ปรึกษาเมืองไทย เช่น การประเมินมูลค่าทรัพย์สินของตัวรัฐวิสาหกิจต่างๆ รวมถึงการขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุนและผู้ลงทุนเฉพาะราย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ที่ต้องเรียกใช้นักลงทุนจากต่างประเทศ

นอกจากรัฐวิสาหกิจจะดำเนินการเองไม่ได้แล้ว การเรียกใช้ที่ปรึกษาในประเทศยิ่งไม่ต้องพูดถึง

และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของเมืองไทย กลายเป็นขุมทรัพย์ของที่ปรึกษาจากต่างประเทศ ผิดกับที่ปรึกษาของเมืองไทยที่ไม่คึกคักเท่า ยกเว้นจะได้โครงการพ่วงไปกับที่ปรึกษาจากต่างแดนเหล่านี้อีกทอดหนึ่ง ตามนโยบายของแต่ละหน่วยงาน

จะว่าไปแล้วที่ปรึกษาฝ่ายไทยที่กำลังมาแรงในเวลานี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการตามมหาวิทยาลัยยุคนี้ ไม่ได้มีแค่งานสอนหนังสือ หลายคนเข้าไปมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจ บางคนเคยเป็นกรรมการในบอร์ดบริหาร เป็นที่ปรึกษา เพราะต้องศึกษาโครงการต่างๆ ของรัฐบาลอยู่แล้ว

จุดเริ่มต้นในบทบาทของที่ปรึกษาของจุฬาฯ เริ่มมาจากการตั้งเป็น "จุฬายูนิเสิร์ช" หรือสำนักงานบริการวิชาการของจุฬาฯ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์บริการวิชาการของจุฬาฯ เป็นหน่วยงานที่ทำทางด้านให้คำปรึกษา และงานด้านฝึกอบรมและวิจัย ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

ผลงานสำคัญๆ คือ เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของคูเปอร์ แอนด์ ไลแบรนด์ ที่ทำเรื่องการแปรรูปให้กับ ทศท. นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาในการวางแผนจัดระบบราชการ ให้กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และวางระบบคอมพิวเตอร์ให้กับกรุงเทพมหานคร

นอกจากนั้นจุฬาฯ ยังมี มูลนิธิทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหน่วยงานอีกแห่งของจุฬาฯ ที่ตั้งขึ้นมาในช่วง 4-5 ปีมาแล้ว มีเป้าหมายในการให้บริการด้านวิชาการ แต่ในช่วงหลังๆ มาโดดเด่นในธุรกิจที่ปรึกษา เพราะมีการตั้งบริษัทร่วมทุนกับเอกชนหลายโครงการ

มูลนิธิของจุฬาแห่งนี้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก มีเป้าหมายเพื่อให้บริการทางด้านวิชาการฝึกอบรมและทำธุรกิจที่ปรึกษา จากนั้นมูลนิธิได้ตั้งสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์ขึ้นมา เพื่อให้บริการทางด้านวิชาการคล้ายกับจุฬายูนิเสิร์ช จะต่างกันก็แค่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ลูกค้าของจุฬายูนิเสิร์ชส่วนใหญ่จะเป็นภาคราชการเกือบ 100% และจะเน้นการให้บริการด้านที่ปรึกษาเกือบ 70% อีก 20-30% จะเป็นบริการด้านการฝึกอบรม ส่วนลูกค้าหลักของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาฯ จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่เป็นเอกชนและงานทั่วไป

รัฐวิสาหกิจดังๆ หลายแห่งเคยเลือกใช้บริการของจุฬาฯ เช่น การเป็นที่ปรึกษาการแปรรูปท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งทำร่วมกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ ธนาคารทหารไทย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ และยูเนี่ยนออฟสวิส และการเป็นที่ปรึกษาในเรื่องระบบคลังสินค้าขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.)

มาในระยะหลังๆ มูลนิธิฯ เริ่มขยับสู่ธุรกิจมากขึ้น ถึงขั้นร่วมทุนกับเอกชนและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เปิดเป็นบริษัทร่วมทุนกับเอกชนและรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อให้บริการทางด้านให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าทั่วไป เป้าหมายคือ การเป็นที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีในยุคหน้า คือ ด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านพลังงานและการจัดการมาตรฐาน ISO 9000 และ ISO 14000

"เราอยากมีงานป้อนอาจารย์ที่จุฬาฯ เพราะปกติเขาก็มีงานวิจัยทำกันอยู่แล้ว แทนที่เราจะให้เขาไปทำที่อื่น ก็ให้เขามาทำที่นี่" ดร.ประสิทธิ ประพิณมงคลกาล ผู้อำนวยการ บริษัทซีแอนด์ซีฯ กล่าว

หากดูรายชื่อของลูกค้าที่ได้มา คงต้องบอกว่าไม่ธรรมดา

ส่วนธุรกิจพลังงาน มูลนิธิฯ ร่วมทุนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค สถาบันคีแนนเอเซีย จัดตั้งบริษัทพาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ อินสติติว จำกัด เป็นที่ปรึกษาอบรมทางด้านพลังงานให้กับรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้

ด้านระบบจัดการตามมาตรฐาน ISO มูลนิธิฯ ลงทุนร่วมกับบริษัทโนโว ควอลิตี้เซอร์วิส (สิงคโปร์) จัดตั้งบริษัท โนโว ควอลิตี้ เซอร์วิส ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการระบบ ISO

มูลนิธิฯ ได้ร่วมทุนกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย, กรุงไทยธนกิจ (KTT), บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล, และบริษัทเอพีดี เอเยนซี่ ตั้งบริษัทซีแอนด์ซี อินเตอร์ เนชั่นแนล เวนเจอร์ สัดส่วนการถือ 30:30:10:10:20 ตามลำดับ

ลูกค้าที่ใช้บริการของซีแอนด์ซีไม่ใช่ใครที่ไหน สนามบินหนองงูเห่าที่กำลังโด่งดังอยู่เวลานี้ ในโครงการควบคุมราคาการก่อสร้าง มูลค่า 50 ล้านบาท

ซีแอนด์ซีคว้างานชิ้นนี้ โดยจับมือกับบริษัทแปซิฟิก คอนซัลแตนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (พีซีไอ) บริษัทที่ปรึกษาจากญี่ปุ่น

"พีซีไอเขามาชวนเรา เพราะทางโออีซีเอฟ ซึ่งเป็นผู้ให้เงินกู้กับรัฐบาลไทยในโครงการนี้ เขาระบุไว้ในทีโออาร์เลยว่า ที่ปรึกษาจะต้องเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น และจะต้องมีที่ปรึกษาท้องถิ่นของไทยเข้าร่วมด้วย เขาก็เลยมาติดต่อกับเรา"

การคว้างานชิ้นโบแดงในครั้งนั้น แม้จะเป็นเครดิตชั้นดีให้กับซีแอนด์ซี แต่ซีแอนด์ซี และพีซีไอก็ถูกโจมตีอย่างหนักว่า อาศัยสายสัมพันธ์ของผู้บริหารสนามบินหนองงูเห่า ปรีติ เหตระกูล ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการกองโทรคมนาคมทางดาวเทียมของการสื่อสารฯ ชนะผู้เข้าร่วมประมูลอีก 4 ราย จากญี่ปุ่น และยังมีแนวโน้มว่าจะได้งานที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาทไปอีก

ท่ามกลางความโชคร้ายของที่ปรึกษารายอื่นๆ แต่แล้วส้มก็หล่นใส่จุฬาอีกครั้ง เมื่อมีชัย วีระไวทยะ ประธานบอร์ด ทศท. มีมติไม่อนุมัติให้คูเปอร์เป็นที่ปรึกษาในการหาพันธมิตรร่วมทุนและผู้ลงทุนเฉพาะราย และงานปรับเปลี่ยนองค์กร และให้สถาบันการศึกษาเข้ามาทำเรื่องงานปรับเปลี่ยนองค์กรแทน

ว่ากันว่า งานนี้จุฬาฯ มาแรง เพราะนอกจากจะส่งเข้าชิงดำถึง 3 หน่วยงานแล้ว จุฬายูนิเสิร์ชเคยเป็น 1 ในทีมของคูเปอร์ศึกษาเรื่องการแปรรูปให้กับ ทศท.มาแล้ว

ไม่แน่ว่า อนาคตจุฬาฯ อาจต้องหันมาปักหลักกับธุรกิจที่ปรึกษากันแบบเต็มๆ หลังจากซุ่มเงียบกวาดงานไปเพียบ !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.