เงินยูโร : นวัตกรรมแห่งโลกยุควิกฤตการเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินยูโรในฐานะนวัตกรรมปลายศตวรรษที่ 20 จะแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 1999 และจะถูกใช้เป็นสื่อกลางเพื่อการชำระหนี้ตามกฎหมายใน 11 ประเทศสมาชิกแห่งสหภาพยุโรป (อียู) และในปี 2002 เงินยูโรจะเข้าแทนที่บทบาทของเงินสกุลต่างๆ ของประเทศสมาชิกอียูเต็มตัว ซึ่งหมายถึงการปิดฉากบทบาทของเงินมาร์ก, เงินฟรังค์, เงินลีร์, เงินกิลเดอร์, เงินเปเซต้า ฯลฯ อีกทั้งยังหมายถึงการสถาปนาระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียว ที่ประกอบด้วยประชากร 290 ล้านคน ผู้สร้างสรรค์ 19% ของผลผลิตโลก ผู้ประกอบการพาณิชย์ 19% ของการค้าโลก และผู้ครอบครองหลักทรัพย์มูลค่ากว่า 3.6 ล้านล้านดอลลาร์

ความใหญ่โตของระบบเศรษฐกิจใหม่นี้เกินหน้าระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในทุกแง่มุม พร้อมกับที่เกินหน้าระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในแง่ของจำนวนประชากรและสัดส่วนการค้าโลก มันหมายถึงความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่จะกระทบไม่เฉพาะแต่ผู้คนภายในยูโรแลนด์แห่งนี้ แต่ยังแผ่ออกไปถึงการผลิต, การค้า, การบริการ และการบริโภคของผู้คนทั่วโลก


เงินยูโรในหลายหลากมุมมอง

เงินยูโรเป็นอะไรได้มากกว่าแค่สื่อกลางที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร

สำหรับผู้บริโภค ยูโรคือเงินตราสากลที่ใช้ในประดาประเทศสมาชิกแห่งสหภาพยุโรป (อียู) โดยขั้นแรกจะใช้กันเฉพาะใน 11 ประเทศก่อน ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน โดยจะมีประเทศสมาชิกของอียูอีก 4 ประเทศที่ยังไม่ร่วมกระบวนในทันที ได้แก่ เดนมาร์ก กรีซ สวีเดน และอังกฤษ

สำหรับอดีตนายกรัฐมนตรี เฮล มุต โคห์ล แห่งเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญผู้หนึ่งในการผลักดันให้เกิดเงินยูโร ตลอดจนการก้าวสู่การรวมยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียว เงินยูโรก็คือหนทางหนึ่งที่จะช่วยประกันให้เกิดสันติภาพขึ้นในยุโรป มันถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นก้าวแรกบนเส้นทางสู่การที่ประเทศสมาชิก จะรวมรัฐบาลแห่งชาติของพวกเขาเข้าด้วยกัน

ส่วนสำหรับบริษัทธุรกิจรายใหญ่ของยุโรป เงินยูโรเป็นหนทางหนึ่งในการลดต้นทุนการทำธุรกรรม และส่งเสริมให้เกิดการควบรวมกิจการระหว่างธุรกิจต่างๆ ที่อยู่คนละประเทศสมาชิก อันจะทำให้ยุโรปสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ทั่วโลก

ว่าที่จริง เงินยูโรแสดงบทบาทดังกล่าว ตั้งแต่ยังไม่ทันที่จะเริ่มใช้เงินยูโรอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ มันได้มีส่วนกระตุ้นให้คู่แข่งขันซึ่งเคยเป็นปรปักษ์กันอย่างรุนแรงมาก่อน ยอมหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกันแข่งกับผู้ประกอบการรายยักษ์จากทวีปอื่น

** กรณีตัวอย่างอันลือลั่น เห็นจะเป็นการตกลงสร้างความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน และตลาดหลักทรัพย์แฟรงเฟิร์ต สองตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของยุโรปซึ่งเคยเป็นคู่แข่งขับเคี่ยวกันมาเก่าแก่ยาวนาน เมื่อต่างตระหนักว่า เงินยูโรจะทำให้ตลาดหุ้นระดับรายประเทศประคองตัวอยู่ลำพังได้ยาก จึงตกลงกันไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า จะทำการซื้อขายหุ้นรายใหญ่ข้ามกันด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มาตรฐานเดียวกัน โดยจะเริ่มความร่วมมือกันตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 1999 อันเป็นวันแรกที่จะเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์กันด้วยเงินสกุลยูโร ทั้งนี้ในขั้นต้นจะเสนอบริการให้โบรกเกอร์สามารถสั่งซื้อขายในทั้ง 2 ตลาดร่วมกัน และรวมเอาสภาพคล่องในหุ้นต่างๆ ที่เวลานี้ซื้อขายกันอยู่ในตลาดทั้ง 2 เข้าด้วยกัน


เงินยูโรนั้นสำคัญไฉน

การที่เงินยูโรได้เป็นเงินตราสากลภายในอียูตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญามาสทริชต์ มันคือความสำเร็จขั้นตอนสุดท้ายในการสถาปนา ความเป็นสหภาพหนึ่งเดียวในด้านเศรษฐกิจและการเงินของอียู แม้ว่าจะมีบางประเทศสมาชิกอียูซึ่งยังไม่พร้อมร่วมใช้เงินยูโรกับเขา ได้แก่ กรีซ ซึ่งยังไม่สามารถทำตามมาตรฐานทางการคลังและเศรษฐกิจ ที่กำหนดเอาไว้ในสนธิสัญญามาสทริชต์ สำหรับสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และสวีเดนนั้น ตัดสินใจที่จะยังไม่เข้าร่วมในตอนต้น แต่อาจจะเข้าไปในภายหลัง

เมื่อเงินยูโรเริ่มทำงานในวันที่ 1 มกราคม 1999 นั้น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินยูโรกับเงินตราของชาติที่เข้าร่วม จะถูกตรึงตายตัวชนิดไม่อาจแก้ไขได้อีกแล้ว แม้ในขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนได้ จนกว่าจะถึงช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าเงินยูโรน่าจะมีมูลค่าประมาณ 2 มาร์กเยอรมัน

บริษัทยุโรปจำนวนมากกำลังวางแผนที่จะเปลี่ยนระบบบัญชีของพวกเขา ไปเป็นสกุลเงินยูโรกันตั้งแต่ปีหน้าแล้ว พวกธนาคารพาณิชย์ก็กำลังเสนอบริการทำบัญชีลูกค้าให้สอดรับกับธุรกรรมเงินยูโรเช่นเดียวกัน และเป็นที่แน่นอนด้วยว่าเงินตราสกุลใหม่นี้จะเข้าครอบครองตลาดการเงินของ 11 ชาติที่เข้าร่วมเงินยูโรด้วย หลักทรัพย์ทุกอย่างและหนี้สินรัฐบาลเกือบทั้งหมด จะซื้อขายกันเป็นเงินยูโรตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 1999


ธ.กลางแห่งยุโรปภายใต้แรงกดดัน

ธนาคารกลางแห่งยุโรป (European Central Bank หรือ ECB) เป็นองค์กรที่กำหนดนโยบายการเงินของสหภาพการเงินอียู ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในแดนดินที่ใช้เงินยูโร อีซีบีได้เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 1998 และจะค่อยๆ เข้ามาแทนที่ธนาคารกลางของประเทศสมาชิก

สภาผู้ว่าการอีซีบี ซึ่งเป็นสถาบันหลักได้มีการประชุมพบปะกันเป็นประจำมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อจัดวางกฎเกณฑ์ชัดเจนในการปฏิบัติงาน อาทิ จะประชุมกันเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันบ่อยแค่ไหน และจะใช้สัญญาณทางเศรษฐกิจอะไรมาเป็นเครื่องชี้นำการกำหนดนโยบายการเงินของตน

อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านการคลังของแต่ละประเทศยังเป็นอิสระจากกัน โดยขึ้นอยู่กับรัฐบาลของแต่ละประเทศ อีซีบีจึงต้องรับมือกับนโยบายการคลังของรัฐบาล 11 ชาติ แต่บรรดารัฐบาลของยุโรปมีมาตรการ 2 ประการมารองรับในเรื่องนี้ ประการแรก พวกเขาเห็นพ้องกันในสิ่งที่เรียกว่า ข้อตกลงเสถียรภาพและการเติบโต อันมีจุดหมายที่จะทำให้นโยบายการคลังของชาติสมาชิกอยู่ในแนวเดียวกัน ภายหลังจากเริ่มใช้เงินยูโรแล้ว โดยประเทศซึ่งขาดดุลงบประมาณมากมายเกินไป ก็จะถูกลงโทษด้วย

อีกประการหนึ่ง รัฐมนตรีคลังของ 11 ชาติอียูที่เข้าร่วมสหภาพเงินตรากันตั้งแต่เริ่มแรก จะจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกันเป็นประจำโดยใช้ชื่อว่า ยูโร-11 ถึงแม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนเต็มที่นักว่ากลุ่มนี้จะทำหน้าที่อะไร ก็เป็นที่คาดหมายกันว่าจะเป็นเวทีสำหรับการประสานนโยบายการคลังกัน

ข้อตกลงในสนธิสัญญามาสทริชต์ มีการกำหนดกติกาในเรื่องนโยบายการคลังไว้ด้วย กล่าวคือ ภายในช่วงก่อนที่จะเริ่มใช้เงินยูโรอย่างเป็นทางการ ประเทศที่ร่วมกระบวนอยู่ในระบบเงินตราสกุลเดียว จะต้องปรับมาตรฐานการคลังของตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานร่วม ได้แก่ การตัดลดการขาดดุลงบประมาณ การหั่นทอนการกู้เงินภาครัฐ ไปจนถึงการปรับระดับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเท่าที่ผ่านมาธนาคารกลางของประเทศสมาชิก ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปให้ใกล้ระดับ 3.3% ของเยอรมนีและฝรั่งเศส

เท่าที่ผ่านมา ธนาคารกลางของประเทศทั้งสองนี้มีนโยบายแน่วแน่ ที่จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยของตนลง เพื่อยืนเป็นตัวหลักเอื้ออำนวยช่วยเหลือให้เพื่อนสมาชิกอื่นๆ ไม่มีภาระต้องปรับลดดอกเบี้ยของพวกตนลงลึกฮวบฮาบนัก ขณะเดียวกัน อีซีบีก็ยืนยันนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากชุมชนโลก ในวันวารที่เพิ่งเริ่มสถาปนาตัวเองขึ้นใหม่

อย่างไรก็ตาม ภายในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการว่างงานที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ ฯลฯ รัฐบาลในฐานะนักการเมืองที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงกับประชาชน ได้พยายามเรียกร้องให้ธนาคารกลางช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการปรับลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางแห่งเยอรมนี และธนาคารกลางแห่งฝรั่งเศส ซึ่งแน่นอนว่าธนาคารกลางทั้งสองนี้ไม่สามารถตอบสนองได้ และต้องตกอยู่ในความกดดันอย่างหนัก

ล่าสุด ที่ประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำรัฐบาลประเทศสมาชิกอียู ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ได้เรียกร้องให้ธนาคารกลางประเทศสมาชิกเร่งนำนโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้นมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการด่วน เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อันจะเป็นการสร้างงานและการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกหดตัว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นอีกครั้งหนึ่งในความพยายามกดดัน ให้ธนาคารกลางเทใจให้แก่ประเด็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต มากกว่าประเด็นเสถียรภาพของราคาและปัญหาเงินเฟ้อ

แต่ทางอีซีบีและบุนเดสแบงก์โต้ตอบว่า การลดดอกเบี้ยนั้นไม่อาจแก้ไขรากเหง้าของปัญหาในยุโรปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการว่างงานที่หนักหน่วงและเรื้อรัง และวิพากษ์ว่ามาตรการในเรื่องดอกเบี้ยไม่ใช่ตัวชี้ขาดที่จะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นการลดดอกเบี้ยยังจะสร้างความเสียหายต่อการปรับตัวของประเทศสมาชิกอียู ให้เข้าสู่เอกภาพเดียวกัน

ประเด็นหลักที่ธนาคารกลางทั้งสองถือเป็นบทบาทหน้าที่อันดับแรกสุดคือ การสร้างเสถียรภาพด้านราคาเพื่อควบคุมระดับของภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่บทบาทในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นถูกถือว่าเป็นบทบาทหน้าที่อันดับรอง

กระแสที่เกิดตามมาในท่ามกลางสงครามน้ำลายระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายเทคโนแครต จึงเป็นกระแสแห่งวิวาทะว่าด้วยบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็นสำหรับสถาบันอย่างธนาคารกลาง ซึ่งครอบคลุมถึงบทบาทหน้าที่ในอนาคตของอีซีบีด้วย

ออสการ์ ลาฟอนไทน์ รมว.คลังเยอรมนี เป็นหัวหอกสำคัญในการก่อกระแสวิวาทะยืดเยื้อรุนแรงกับธนาคารกลาง และเป็นหนึ่งในบุคคลแถวหน้าผู้ที่เปิดประเด็นขึ้นว่า อีซีบีควรเดินนโยบายการเงินในแนวทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้ประเด็นความแตกต่างของผู้คุมกฎทั้ง 2 แห่งนี้ ก็กลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า แนวทางใดมีประสิทธิภาพและความเหมาะสมมากกว่า

ข้อแตกต่างสำคัญที่สุดระหว่างอีซีบีกับเฟดคือ เรื่องอำนาจหน้าที่ เป้าหมายของเฟดนั้นคือ มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ราคามีเสถียรภาพ (คือคุมเงินเฟ้อ) กับจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดการจ้างงานและเศรษฐกิจมีการเติบโตขยายตัว (คือกระตุ้นเศรษฐกิจ) ส่วนสำหรับอีซีบีแล้ว ใช้แบบแผนของบุนเดสแบงก์ซึ่งมีจุดโฟกัสที่แคบกว่า นั่นคือรับผิดชอบเพียงทำให้ราคามีเสถียรภาพเท่านั้น

วิวาทะในเรื่องนี้มาสะดุดที่ประเด็นว่า ธนาคารกลางทั้งสองนี้มีข้อจำกัดไม่เท่ากัน ในส่วนที่ต้องประสานงานกับนโยบายการคลังจากฝ่ายการเมือง ทั้งนี้ เฟดรับมือยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาลเพียงรัฐบาลเดียว ขณะที่อีซีบีต้องเผชิญกับรัฐบาลของ 11 ชาติ ซึ่งต่างก็มีนโยบายการคลังของตัวเอง

ปัญหาความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาลกับธนาคารกลาง มีแนวโน้มจะเป็นหนังยาว ตลอดจนอาจเป็นประเด็นอมตะเคียงคู่อยู่กับความเป็นสหภาพทางการเงิน โดยที่ว่ารัฐบาลเป็นนักการเมืองที่ต้องรักษาฐานคะแนนเสียง และผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจของอียูใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินและการคลัง ด้วยการควักกระเป๋าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างไม่อั้น ขณะที่ธนาคารกลางเป็นเทคโนแครตผู้ถือเคร่งเรื่องการเข้มงวดทางการเงิน หากธนาคารกลางเป็นฝ่ายชนะ อุตสาหกรรมในประเทศก็จะย่ำแย่ หากนักการเมืองของชาติสมาชิกเป็นผู้มีชัย เงินยูโรก็จะมีค่าหล่นฮวบเพราะนักลงทุนสูญเสียศรัทธาความเชื่อมั่น


ความรุ่งโรจน์รออยู่ข้างหน้า?

ช่วงเวลาหนึ่งปีกว่าหลังจากที่วิกฤตเอเชียปะทุขึ้นเมื่อกลางปี 1997 บรรดาตลาดการเงินทั่วโลกต่างได้รับความเสียหาย ถ้าไม่ถึงระดับว่าระบบเศรษฐกิจล่มสลาย ก็เป็นระดับหมิ่นเหม่ที่อาจล่มไปจนถึงระดับเริ่มต้นหดตัว เนื่องจากสูญเสียตลาดส่งออกและการเผชิญกับปัญหาหนี้เสียหนี้เน่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่อย่างนี้นี่เองที่นักลงทุนมองว่า ยุโรปเป็นพื้นที่ลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าย่านอื่นนับจากที่สงครามเย็นปิดฉากไป

นักวิเคราะห์ชี้ว่าความกดดันในบรรยากาศการลงทุนในยุโรปนั้น นับได้ว่าไม่สาหัส แม้สถานการณ์ในรัสเซียออกจะลูกผีลูกคน แต่อดีตประเทศบริวารของรัสเซีย 2 ราย ได้แก่ โปแลนด์ และฮังการี กลับแข็งแกร่งพอที่จะสามารถเอาตัวรอดได้ เท่าที่ผ่านมา แม้ยุโรปไม่ได้ปลอดจากพิษภัยที่แพร่มาจากวิกฤตเอเชีย แต่ยุโรปยังมีปัจจัยบวกอยู่ไม่น้อย วี่แววของอัตราขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศย่านนี้ยังมีให้เห็น และโอกาสที่อัตราเติบโตของผลกำไรและการลงทุนในบริษัทธุรกิจของยุโรปจำนวนมากก็ยังมีอยู่

โกลด์แมน แซคส์ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ไว้ว่า ตัวเลขจีดีพีของ 11 ประเทศสมาชิกอียู (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น กล่าวคือ จากอัตราเติบโต 1.5% ในปี 1996 มาเป็น 2.5% ในปี 1997 และสำหรับปีนี้ได้รับการประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.9% ส่วนสำหรับปีหน้า ทำนายกันไว้ที่ 2.6% ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ด้านเงินเฟ้อไม่อยู่ในภาวะคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจ นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ พร้อมกับที่การจับจ่ายของผู้บริโภคนั้น ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ ริชาร์ด เอ็ม ยัง นักวิเคราะห์แห่งโกลด์แมน แซคส์ จึงกล้าฟันธงลงไปว่า "มีความเห็นตรงกันอย่างกว้างขวางในชุมชนการลงทุนว่า ยุโรปเป็นแหล่งที่สามารถทำเงินได้"

เท่าที่ผ่านมา ปริมาณเม็ดเงินลงทุนในสกุลดอลลาร์สามารถยืนยันความเห็นดังกล่าวได้อย่างแจ่มชัด ในช่วงครึ่งแรกของปี 1998 เม็ดเงินดอลลาร์ที่ลงทุนอยู่ในยุโรปตะวันตกขยายตัวในอัตรา 37.9% ซึ่งเป็นอัตราโตที่สูงกว่าในภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งในสหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราขยายตัวเพียง 18.1% ส่วนใน ญี่ปุ่นแค่ 8.6% ครั้นเข้าถึงครึ่งปีหลังที่ตลาดการเงินของโลกล้วนชะลอการเติบโต ดัชนีราคาหลักทรัพย์ในตลาดต่างๆ เคลื่อนคล้อยถดถอยลง อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของยุโรปยังรักษาระดับไว้ได้ดี คือไม่ลงลึก แม้จะไม่ขึ้นสูง

ยิ่งกว่านั้น ผลการศึกษาของเมอร์ริล ลินช์ และแคป เจมิไน เอส-เอ บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่จากฝรั่งเศสให้ข้อมูลขยายภาพตรงนี้ว่า ในปีที่แล้ว มีสินทรัพย์ที่นำมาลงทุนได้มูลค่ากว่า 5.5 ล้านล้านดอลลาร์เคลื่อนย้ายอยู่ในย่านยุโรป ขณะที่ในย่านอเมริกาเหนือกลับอยู่ในอันดับสอง คือมีเพียง 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ และในเอเชียมีอยู่ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์


จับตายุโรปยุค "สหภาพการเงิน"

สำหรับภาพในอนาคตของยุโรปภายใต้ระบบเงินสกุลเดียว ดูเสมือนว่าจะดีวันดีคืน ด้วยความที่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เงินตราสกุลยูโรร่วมกันนี้ มีขนาดใหญ่โตเกือบเท่ากับระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีปริมาณของผู้บริโภครวม 290 ล้านปากท้อง เทียบกับ 267 ล้านของสหรัฐฯ และมีตลาดตราสารหนี้ใหญ่โตประมาณ 60% ของตลาดในสหรัฐฯ นักลงทุนระหว่างประเทศจึงมองเห็นโอกาสในการทำเงินอย่างมหาศาล จากพื้นที่เศรษฐกิจไร้พรมแดนแห่งสหภาพยุโรป และในทางกลับกัน เงินยูโรก็จะบังคับให้นักลงทุนระหว่างประเทศที่คุ้นเคยกับการคิดถึงยุโรปเป็นรายประเทศ ต้องยกเครื่องปรับปรุงพอร์ตลงทุนของพวกเขาเสียใหม่ หันมามองดินแดนยูโรเป็นตลาดรวมตลาดเดียว

ผลประโยชน์ในหลายหลากแง่มุมกำลังเป็นที่จับจ้องตั้งตาคอยกันอยู่ โดยพื้นๆ ที่สุดเลยคือ สำหรับนักลงทุนและนักเดินทางที่เข้าไปสัมผัสยูโรแลนด์ เงินยูโรจะเป็นความสะดวกและประหยัด เพราะความที่เงินยูโรสกุลเดียวสามารถจับจ่ายได้ใน 11 ประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องแลกเงินเป็นหลายสกุล อีกทั้งไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนของแต่ละชาติสมาชิก

ผลประโยชน์สำคัญยิ่งประการต่อมาที่ตั้งตาคอยกันมากคือ ดอกเบี้ยจะอ่อนตัวลง ทั้งนี้ ตามสนธิสัญญามาสทริชต์ ที่ประเทศสมาชิกอียูยอมรับพันธะผูกพันการสถาปนาเงินยูโรได้กำหนดว่า รัฐบาลจะหั่นลดงบประมาณที่เกินดุล ตลอดจนลดการกู้ยืมภาครัฐ ซึ่งนั่นย่อมช่วยให้อัตราดอกเบี้ยอ่อนตัวลงทั่วยุโรป

ผลประโยชน์สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ บริษัทธุรกิจที่เคยปลอดจากการแข่งขัน เพราะได้รับการ คุ้มครองจากกฎหมายภายในประเทศ และเท่าที่ผ่านมาไม่ได้รับความกดดันนักในด้านการตั้งราคา คราวนี้จะพบว่าตนเองตกอยู่ท่ามกลางตลาดที่ใหญ่โตและกว้างขวางมากกว่าเดิม และต้องปรับตัวกันขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอด ตลอดจนเพื่อแย่งขายสินค้าและบริการของตัวภายในพื้นที่ที่เปิดโล่งอยู่ต่อหน้า สิ่งที่จะตามมาคือ การแข่งขันที่ทำให้ราคาปรับตัวลดลง, การผนวกกิจการระหว่างบริษัทธุรกิจต่างๆ, ไปจนถึงการปรับให้อุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

รูปธรรมแห่งการปรับตัวในหมู่บริษัทธุรกิจชั้นนำของยุโรปได้ก่อกระแสกันอย่างเอิกเกริก กรณีตัวอย่างไซส์ยักษ์เห็นจะได้แก่ บริษัทซีเมนส์ แห่งเยอรมนี กับบริษัทยูนิลีเวอร์ กรุ๊ป ยักษ์พันธุ์ทางระหว่างอังกฤษและดัตช์ ทั้งสองรายนี้ขยับตัวทั้งหั่นทั้งปรับมานานกว่า 5 ปี อาทิ การโละบริษัทลูกที่ไม่ทำกำไร, การปิดโรงงานเก่าล้าสมัย, และการปรับลดจำนวนพนักงาน

แม้ยุโรปจะลุกขึ้นมายกเครื่องปรับปรุงองค์กรล้าหลังบรรดาคู่แข่งในอีกซีกหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งลงมือล่วงหน้าไปตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว แต่กลยุทธ์แห่งการปรับตัวยังให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า นักวิเคราะห์ประเมินว่า ในปีนี้ผลกำไรของบริษัทธุรกิจในยุโรปจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยระหว่าง 10-15% ขณะที่ในสหรัฐฯ นั้นจะตกอยู่ที่ประมาณ 8% เท่านั้น

นอกจากนั้น บริษัทธุรกิจในยุโรปพากันตื่นตัวพัฒนาเทคโนโลยีกันขนานใหญ่ ตัวอย่างเช่น บริษัทแซป ของเยอรมนี พุ่งแรงเป็นจรวดจากการเป็นกิจการโนเนม ขึ้นแซงหน้าบริษัทดังของอเมริกันอย่างออราเคิล คอร์ป และกำลังท้าทายอภิมหายักษ์อย่างไมโครซอฟท์ ในเรื่องธุรกิจซอฟต์แวร์

อนาคตอันสดใสเกี่ยวกับยูโรแลนด์ยังมีให้เห็นในอีกด้านหนึ่ง คือความสามารถในการขยายตัว อียูมีศักยภาพการขยายตัวอยู่ในระดับสูง ด้วยการเข้าไปสู่ภูมิภาคยุโรปตะวันออก สถานการณ์ในปัจจุบันบ่งบอกแนวโน้มตรงนี้อย่างชัดเจน อาทิว่า ปริมาณการค้าระหว่างยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกับที่ตลาดเกิดใหม่ในโปแลนด์กับฮังการีกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ อียูมีประเทศจากยุโรปตะวันออกหลายประเทศจ่อคิวเข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ โปแลนด์, ฮังการี, เชค, สโลเวเนีย และเอสโตเนีย ซึ่งย่อมหมายถึงการกระตุ้นระดับการเติบโตนั่นเอง


กับระเบิดบนเส้นทางสู่ระบบเงินสกุลเดียว

ในขณะที่ตลาดการเงินในยุโรปขยายตัวอย่างคึกคัก ในช่วงเวลาที่เงินยูโรกับสถานภาพระบบการเงินหนึ่งเดียวแห่งยูโรแลนด์ กำลังเก็บเกี่ยวความเชื่อมั่นจากชาวโลก ยังมีด้านที่พึงต้องระวังเกี่ยวกับเงินยูโรซึ่งมิใช่เรื่องที่อาจมองข้ามได้ เดวิด บาวเออร์ส์ รองกรรมการผู้จัดการและนักกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งค่ายเมอร์ริล ลินช์ สำนักลอนดอน ให้ความเห็นว่า "นักลงทุนคาดหวังจากเงินยูโรไว้สูงเกินไปและใจร้อนเกินไป การสถาปนาเงินสกุลใหม่อย่างนี้น่าจะกินเวลาสัก 5-10 ปี ไม่ใช่แค่ 12 เดือน"

ภายในยูโรแลนด์นี้มีปัจจัยหลายประการที่น่าวิตกชวนให้หวั่นผวา

ในประการแรกเลย เงินยูโรเป็นการทดลองชนิดที่ไม่เคยมีตัวอย่างในอดีตมาก่อน และจึงยังไม่มีระบบป้องกันสารพันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจาก ความแตกต่างมหาศาลระหว่างระบบเศรษฐกิจของ 11 ประเทศสมาชิก อาทิ กรณีความแตกต่างด้านขนาดของระบบเศรษฐกิจของโปรตุเกสกับเยอรมนี หรือกรณีความแตกต่างด้านนโยบายการคลัง ซึ่งอิตาลีและเบลเยียมมักเดินนโยบายขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก เกินกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ อีกทั้งเกินกว่าขีดจำกัดที่ระบุในสนธิสัญญามาสทริชต์

การผนวกตัวกันเป็นระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียวนี้จึงนับเป็นเรื่องอาจหาญท้าทายมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในระยะหลายปีหลังมานี้ บรรดาชาติสมาชิกอียูได้พยายามสร้างความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพื่อให้เศรษฐกิจและการเงินของพวกตนปรับเข้าอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อาทิว่า อิตาลีได้พยายามปรับตัวอย่างขนานใหญ่ให้สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ใช้เงินยูโรตั้งแต่เริ่มต้น ถึงขนาดแสดงทีท่ายินยอมที่จะประกาศจัดเก็บภาษียูโร เพื่อให้เป็นไปได้ตามข้อกำหนดทางการคลัง สำหรับกรณีของเบลเยียม มีผู้คนจำนวนมากมองว่าเป็นเรื่องพะอืดพะอมเต็มที หากไม่รวมประเทศนี้เข้าไว้ด้วย เพราะเบลเยียมนั้นพยายามรักษาเงินตราของตนให้ผูกพันใกล้ชิดกับเงินมาร์กเยอรมันมานานช้าแล้ว อีกทั้งกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียมยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการอียูเสียด้วย

แง่มุมทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยประการที่สอง ที่มีศักยภาพสร้างความเสียหายแก่การสถาปนาสหภาพการเงินใหม่นี้ได้อย่างมหาศาล ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังแผ่คลุมทั่วโลก ได้สร้างความเสียหายแก่ภูมิภาคต่างๆ ไม่ใช่น้อย รัสเซียได้ไปถึงขั้นว่ากำลังดิ่งลงเหว ขณะที่ละตินอเมริกา โดยเฉพาะบราซิลนั้น ไอเอ็มเอฟและชาติร่ำรวยต่างๆ ต้องรีบเข้าไปโอบอุ้ม กระทั่งเศรษฐกิจอเมริกันซึ่งทรงพลังนักหนายังเริ่มรู้สึกถึงความเจ็บปวดจากการถดถอยของเอเชีย

ด้วยความที่ยุโรปนั้นไม่ใช่เกาะสันโดษจากชุมชนโลก แม้ว่าเท่าที่ผ่านมา อียูดูจะสามารถรับมือกับผลกระทบจากกระแสวิกฤตเอเชียได้ดีกว่าสหรัฐฯ ดังจะเห็นได้ว่า อัตราจีดีพีในปีนี้ได้รับการประเมินว่าจะลดลงไปเพียงแค่ 0.6% แต่สำหรับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น ยังเป็นอะไรที่วางใจไม่ได้ สิ่งที่หวั่นเกรงกันมากคือ เศรษฐกิจของยุโรป ไม่ว่าจะมีการใช้เงินยูโรแล้วหรือยังก็ตามที ย่อมประสบความยากลำบากที่จะประคองตัวเอง ด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง บรรดาวาณิชธนกิจทั้งหลาย อาทิ โกลด์แมน แซคส์ จึงได้ลดตัวเลขที่คาดหมายการเติบโตของเศรษฐกิจในแดนยูโรปีหน้า ตลอดจนหั่นตัวเลขพยากรณ์อัตราการขยายตัวของผลกำไรในบริษัทยุโรปปีหน้าลงด้วย

ภายในความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับสหรัฐฯ ยูโรแลนด์อาจได้รับความเสียหาย ที่ชิ่งออกมาจากแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระดับหนึ่ง และในยามที่เงินดอลลาร์อาจอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง เงินยูโรย่อมจะแข็งค่าขึ้นตามลำดับ สภาพการณ์เช่นนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแตกร้าวระหว่างชาติสมาชิกเงินยูโร ซึ่งต้องพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ สูงที่สุดกับพวกที่ต้องพึ่งพาน้อยที่สุด

นอกจากนั้น ในเรื่องของรัสเซีย ความวิบัติทางเศรษฐกิจที่อียูอาจได้รับจากรัสเซียเป็นอะไรที่น่าหนักใจทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่มุมที่บริษัทยุโรปตะวันตกจำนวนมากต่างเป็นนักลงทุนมือหนักในดินแดนแห่งนี้ รวมทั้งแบงก์ยุโรปก็ไปปล่อยกู้ไว้ถึง 88,300 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนแนะว่า เรื่องอาจไม่เลวร้ายถึงขนาดที่คาดเก็งกัน เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจโลก ขนาดเศรษฐกิจของรัสเซียยังจัดว่าเล็ก การค้าที่มีกับฝ่ายตะวันตกก็ใช่จะแน่นหนา ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากรัสเซีย น่าจะทำให้จีดีพีของอียูลดลงไปในราว 1%

หันมามองในประเด็นทางการเมืองบ้าง ประเด็นนี้เป็นกับดักหลุมใหญ่ที่อาจทำให้การรวมตัวกันกลายเป็นน้ำผึ้งขม และพาให้ยูโรแลนด์ถึงแก่กาลล่มเอาได้ง่ายๆ ตั้งแต่เริ่มแรกทีเดียว ความขัดแย้งระหว่างสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องเงินยูโรอย่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน กล่าวคือ ในช่วงการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งประธานธนาคารกลางยุโรปคนแรก ได้เกิดสงครามเย็นซึ่งกลายเป็นการต่อสู้ทางการเมืองอันอื้อฉาว ฝรั่งเศสนั้นต้องการเสนอชื่อ ฌองโคลด ตริเชต์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของตัวเอง ขณะที่เยอรมนีกับประเทศอื่นๆ หนุนหลัง ดุยเซนเบิร์ก การประนีประนอมที่ลงท้ายด้วยการให้ดุยเซนเบิร์กขึ้นมานั้น เต็มไปด้วยเรื่องวุ่นวายฉาวโฉ่ ซึ่งทำท่าจะก่อให้เกิดการท้าทายทางการเมืองต่อไปในภายภาคหน้า

สำหรับในอนาคต ทุกฝ่ายไม่กล้าประมาทและต้องเตรียมความคิดไว้แล้วว่าจะต้องมีวิกฤตทางการเมืองอีกหลายระลอก ซึ่งในแต่ละระลอกก็อาจส่งผลร้ายต่อผู้ที่ไปลงทุนอย่างไม่ถูกจังหวะเวลาได้เสมอ

นอกจากนั้น ยูโรแลนด์เป็นหนึ่งเดียวเฉพาะด้านเศรษฐกิจการเงินเท่านั้น ขณะที่แต่ละประเทศสมาชิกยังสงวนอธิปไตยทางการเมืองไว้อย่างเหนียวแน่น หากเกิดความขัดแย้งที่เป็นประเด็นของผลประโยชน์แห่งชาติ ยูโรแลนด์จะไม่มีสถาบันทางการเมืองที่จะชี้ขาด หรือมีอำนาจบังคับใช้กฎกติกาของสหภาพได้อย่างเด็ดขาด

ประเด็นวัฒนธรรมทางการเมืองกำลังส่อเค้าว่า จะเป็นอุปสรรคสร้างความหวั่นผวาแก่นักลงทุนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ค่านิยมพื้นฐานของดินแดนนี้ยังคงโน้มเอียงไปในทางสังคมนิยมมากกว่าทุนนิยม การเลย์ออฟพนักงานและการปิดโรงงานเป็นเรื่องที่ถูกปรามไม่ให้กระทำ เป็นต้นว่า ในอิตาลีนั้น พนักงานที่ถูกปลดโดยไม่มีความผิดจะได้เงินชดเชยเฉลี่ยเท่ากับค่าแรงราว 45 สัปดาห์ อัตราภาษีที่รุนแรง ยิ่งผลักดันให้เศรษฐกิจหลายส่วนของยุโรปต้องหลบลงใต้ดิน ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินกันว่า จีดีพีราว 1 ใน 3 ของเบลเยียมเป็นส่วนที่ 'ดำมืด', ลัทธิทุนนิยมแท้ๆ แบบที่ผู้ถือหุ้นในอเมริกาชอบกันนัก ถ้าจะหาได้ในยุโรปก็แถวๆ อังกฤษเท่านั้น


Live by sword, die by sword

นวัตกรรมทุกอย่างล้วนมีทั้งคุณและโทษ ในการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่อาจกระทบประเทศต่างๆ และอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มรอยัล ดัตช์/เชลล์ และ ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ เอ็นวี อาจเจอปัญหาหุ้นราคาตก โดยไม่ได้เป็นอะไรที่เกี่ยวกับผลประกอบการ หากเป็นเพราะพวกผู้จัดการกองทุนในเนเธอร์แลนด์ มีเสรีภาพมากขึ้นที่จะไปลงทุนในบริษัทซึ่งไม่ใช่ของดัตช์ จึงอาจจะเทขายหุ้นเชลล์และฟิลิปส์ซึ่งถือไว้มหาศาลออกเสียบ้าง แล้วไปซื้อหุ้นอิตาลีหรือเยอรมันแทน ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ หุ้นในไอร์แลนด์ก็อาจย่ำแย่ได้ เมื่อผู้จัดการกองทุนของที่นั่นอาจดัมป์หุ้นท้องถิ่นได้ถึง 6,000 ล้านดอลลาร์ แล้วกระจายไปถือครองหุ้นในประเทศอียูอื่น

นอกจากนั้น ระดับราคาที่คาดกันว่า ภายหลังการใช้เงินตราสกุลเดียวแล้ว จะกลายเป็นราคาเดียวเท่ากันหมดทั่วดินแดนยูโรนั้น จะเป็นเสมือนดาบสองคม กล่าวคือ อุตสาหกรรมที่เคยมีราคาผันแปรสูงมากในแต่ละประเทศ จะได้รับผลกระทบกระเทือนหนักที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง นักวิเคราะห์จึงมองว่า บริษัทที่ขายยาสามัญประจำบ้าน รถยนต์ และอาหาร จะย่ำแย่กว่าเพื่อน ขณะที่บริษัทขายเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และรองเท้า จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

หลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาปีกว่า ใครต่อใครพยายามเสนอวาทะแห่งปัญญา คำกล่าวที่ว่า 'เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส' เป็นประโยคเพชรประโยคทองที่พูดกันเกร่อ ทั้งที่รู้อยู่ว่ามันเป็นอะไรที่พูดง่ายทำยาก แต่เงินยูโรที่กำลังจะแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 มกราคม 1999 นี้ อาจเป็นวาระสำคัญที่จะสร้างรูปธรรมขึ้นมาจากคำพูดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิสัยทัศน์ของนักการเงินระดับโลก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.