อุตสาหกรรมรถยนต์จากต่างประเทศ
ที่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีแนวโน้มในการให้ความสำคัญ
หรือเพิ่มบทบาทกับผู้บริหาร ที่เป็นคนไทยมากขึ้น
ก่อนหน้าที่ฟอร์ดจะตั้งฉัตรชัย บุนนาค ขึ้นเป็นประธาน บริษัทฟอร์ด โอเปอเรชั่น
(ประเทศไทย) โตโยต้าก็เพิ่งแต่งตั้งประมนต์ สุธีวงศ์ ให้เป็นประธานคณะกรรมการ
บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย โดยรับตำแหน่งต่อจากโยชิอะคิ มูรามัตซึ
ที่รับบทบาทประธานบริษัทเพียงตำแหน่งเดียว
มีการวิเคราะห์กันว่า การที่ยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์ 2 แห่ง ให้ความสำคัญในการผลักดันคนไทย
เข้ามารับตำแหน่งบริหารสูงสุด นอกจากมองผลดีใน ด้านการเพิ่มยอดขายภายในประเทศแล้ว
ยังมองถึงผลต่อการส่งออกด้วย
เพราะ ที่ผ่านมา การที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำจากต่างประเทศหลายแห่ง กล้านำเงินเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยนั้น
มิได้มองแค่ตลาดในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าแต่ละแห่งจะอ้างเหตุผลที่คล้ายคลึงกันว่าเห็นทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มดีขึ้นแล้ว
แต่บริษัทเหล่านี้มองไกลถึงตลาดทั้งภูมิภาค เพราะตามพันธะ ที่มีในเขตการค้าเสรีอาเซียน
จะมี การเปิดให้มีการส่งออกรถยนต์ระหว่างภูมิภาคนี้ได้อย่างเสรี โดยไม่มีกำแพงภาษีมาขวางกั้น
ซึ่งย่อมเป็นตลาดที่กว้างใหญ่กว่าเฉพาะในประเทศไทย
เพียงแต่ประเทศไทยอยู่ในชัยภูมิ ที่เหมาะสมในการลงทุนตั้งโรงงาน เพราะอยู่ในศูนย์กลางของการขนส่ง
และรัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุน โดยผ่านกลไกการให้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
และ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าว การเจรจา ประสานงาน เพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ
ทั้งทางด้านการลงทุน และการต่อรองทางการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
การชูบทบาทคนไทยขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดในบริษัท อาจเป็นข้อได้เปรียบในการเจรจาประสานงาน
ที่บริษัทเหล่านี้มองเห็น เพราะคนไทยน่าจะคุยกับคนไทยด้วยกันเองง่ายกว่า