ค่ายรถอเมริกัน เปิดประเด็นสิ่งแวดล้อม ดึงรัฐซัปพอร์ตอุตสาหกรรมยานยนต์


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

เพื่อกระตุ้นตลาดรถยนต์ในประเทศให้ตื่นจากภวังค์ ค่ายรถอเมริกันนำโดย General Motors Corporation และ Ford Motor Company ร่วมกันลงขันเป็นสปอนเซอร์ให้กับสมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ (Society of Automative Engineering International : SAE) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (National Metal and Materials Technology Center : MTEC) ทำการศึกษาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยได้มีการจัดประชุมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการกันไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายนที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ ตามดำริของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้เหล่าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในประเทศมาระดมสมอง หาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในอนาคต และเมื่อกลางเดือนกันยายนนี้ ทาง SAE ได้มอบข้อเสนอแนะที่ได้รวบรวมจากการประชุมสัมมนาครั้งนั้นให้แก่หน่วยงานราชการไทย คือกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อนำไปพิจารณาประยุกต์ใช้ในการวางนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในอนาคต

โดยข้อเสนอแนะนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งไทยและอเมริการาว 70 คนเป็นผู้จัดทำ ด้วยการนำผลการประชุมมาทบทวนและใส่ความเห็นในเชิงเทคนิคที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ ให้ออกมาเป็นข้อเสนอแนะซึ่งประเด็นหลักๆ จะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยสามารถแยกออกเป็น 5 เรื่อง รวม 62 ข้อ คือ 1. ไอเสียจากรถยนต์ คุณภาพอากาศ โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง 2. เชื้อเพลิงและพลังงาน 3. การปรับให้มาตรฐาน และกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน 4. การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 5. นโยบาย และกลยุทธ์อุตสาหกรรมรถยนต์ระดับชาติ

"คอนเซ็ปต์ที่เราได้นำมาทำเวิร์คชอปและออกมาเป็นข้อเสนอแนะนี้ ถ้าเรามองการผลิตรถทั้งโลกเมื่อปี 1997 ได้ประมาณ 39 ล้านคัน สามารถสร้างเป็นเงินได้ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลก็จัดเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดอันหนึ่งของโลก ตัวอย่างคำถามที่เราต้องตอบตนเองให้ได้ก็คือว่า ในปี 1950 มีคนจำนวน 2.5 พันล้านคนทั่วโลกที่เป็นเจ้าของยานพาหนะ 50 ล้านคัน และในปี 1996 มีคน 5.5 พันล้านคนเป็นเจ้าของยานพาหนะ 500 ล้านคัน การเคลื่อนย้ายที่คล่องตัวขึ้น ช่วยทำให้ยานยนต์ต้องมีจำนวนมากขึ้น เพื่อรับกับจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10 พันล้านคน โดยที่ยังไม่มีใครคิดอะไรที่จะรับกับอนาคตนั้น ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการกำหนดบทบาทตนเองมาเป็นเวลานาน และมีจิตวิญญาณในการแข่งขันจะสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์ยุ่งยากในตอนนี้ได้ และผมก็หวังว่าข้อเสนอแนะนี้จะช่วยให้ไทยประสบความสำเร็จในอนาคต" เรย์มอนด์ แชมเปญกล่าวถึงเป้าประสงค์ของข้อเสนอแนะชุดนี้ในฐานะตัวแทนจาก SAE

เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แต่ด้วยภาวะวิกฤติเศรษฐกิจได้ฉุดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ตกต่ำลงมาก เห็นได้จากยอดขายที่หล่นฮวบฮาบลงอย่างหนัก ทำให้บางโรงงานต้องลดกำลังการผลิตไปจนถึงหยุดสายการผลิตบางส่วนไป จากข้อเสนอแนะของ SAE พบว่า อุปสรรคของอุตสาหกรรมยานยนต์สำคัญประการหนึ่งนอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจ ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหามลภาวะทางอากาศ ซึ่งมีต้นเหตุจากปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งจากรายงานการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือเอไอที พบว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลในกรุงเทพฯ สามารถวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยเพียง 24 ก.ม.ต่อชั่วโมง ขณะที่รถโดยสารวิ่งด้วยความเร็วเพียง 15 ก.ม. ต่อชั่วโมง และการที่ยานพาหนะต้องจอดนิ่งอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานาน เป็นการเพิ่มปริมาณไอเสียในอากาศมากขึ้น โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ที่ยังใช้เทคโนโลยีแบบเครื่องยนต์ 2 จังหวะ ที่ให้ควันพิษมากกว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลหลายเท่าตัว นอกจากนี้ยังมีรถบัสประเภทใช้น้ำมันดีเซล รถบรรทุกหนัก และรถที่ใช้งานผิดประเภท และจากการศึกษาของคณะทำงาน SAE ได้แนะนำว่า ในระยะสั้นไทยจะต้องจะเร่งรัดมาตรการตรวจสอบและบำรุงรักษายานยนต์ให้มากขึ้น ตลอดจนถึงการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิผลมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ต้องปรับปรุงระบบการขนส่งมวลชน และการจัดหาที่จอดรถขนาดใหญ่ในใจกลางย่านธุรกิจ ซึ่งหากสำเร็จก็จะเป็นผลดีต่อการสร้างผลผลิตในระบบเศรษฐกิจและคุณภาพอากาศ

น้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงาน เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพอากาศ ตามข้อเสนอของ SAE ผู้ผลิตน้ำมันจำเป็นจะต้องพัฒนาน้ำมันให้สะอาดและมีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อให้เหมาะกับเทคโนโลยีของรถแต่ละประเภท ซึ่งก็รวมถึงน้ำมันดีเซลประเภท RFD และก๊าซโซลีนประเภท RFG ซึ่งจะช่วยลดควันเสียที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ พร้อมกันนั้นก็ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์รถ 2 จังหวะซึ่งสร้างมลพิษทางอากาศสูงมาเป็นเครื่องยนต์ที่ให้ควันเสียต่ำ

"เป็นที่เข้าใจกันดีว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปักกิ่ง บัวโนสไอเรส และบอสตัน และนำมาเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ในตอนนี้ ก็คือเรื่องคุณภาพอากาศ ซึ่งไม่ใช่เพราะว่าเครื่องยนต์เท่านั้นที่สร้างมลภาวะ แต่การที่จราจรติดขัดจนหยุดนิ่งต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหา เพราะยานพาหนะไม่สามารถเคลื่อนที่ไปตามท้องถนนได้ แต่เครื่องยนต์ยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่เหมาะสมกับความเร็วที่เกิดขึ้น การที่ไทยยังขาดรูปแบบการควบคุมการจราจรอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงแต่กระทบต่อคุณภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความปลอดภัยและระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ซึ่งจากการวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปว่า การจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ทำความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจเป็นเงินมากกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงถึงกันทั้งนั้น จะมีก็แต่เพียง Holistic approach เท่านั้น ที่เราสามารถจะคาดหวังได้ว่าจะให้ผลลัพธ์ที่มีความหมายออกมา" เดวิด ชไนเดอร์ ประธานฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาใหญ่ของเมืองไทยซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสหรัฐฯ และข้อเสนอแนะนี้ก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัย ไม่ให้ไทยต้องเดินซ้ำรอยเดิมกับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ SAE ยังแนะให้ไทยใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นสากลแทนข้อบังคับใช้กฎเกณฑ์แบบเฉพาะตัวที่ใช้อยู่ในตอนนี้ อย่างเช่นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มควรจะเรียกเก็บในขั้นตอนสุดท้ายเพียงครั้งเดียว เพราะวิธีการที่ปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้นั้น คือเรียกเก็บทุกๆ ขั้นตอน ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ต้องทำเรื่องขอคืนภาษีในทุกๆ ขั้นตอนที่จ่ายเงินออกไป ซึ่งถือเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น ดังนั้นสิ่งที่ไทยควรจะต้องทำคือ การนำมาตรฐานกฎเกณฑ์ที่ใช้กันทั่วโลกมาใช้เพื่อให้มีความสอดคล้องกัน ขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัว โดยในส่วนของรัฐบาลจะต้องตั้งกำแพงภาษีให้สมเหตุสมผล และค่อยๆ ทยอยลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ให้หมดไป พร้อมทั้งต้องปรับปรุงกระบวนการทางศุลกากรในการส่งออกให้ง่ายขึ้น และบีโอไอก็ต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ของบริษัท ที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ต่อไปด้วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบรถยนต์ก็ต้องช่วยสนับสนุนซัปพลายเออร์ของตนให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย

อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์จะพัฒนาไปได้มากน้อยแค่ไหน SAE ชี้ว่า ยุทธวิธีและนโยบายของรัฐบาลจะเป็นเครื่องวัด เพราะหากสามารถกำหนดให้สอดประสานเข้ากับสิ่งแวดล้อม และสามารถเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางได้มากขึ้น โอกาสที่อุตสาหกรรมนี้จะก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งก็ย่อมมีสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ รัฐก็จะต้องทบทวนและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และยังต้องกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นการสร้างรากฐานให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เติบโตต่อไป

"SAE และ MTEC ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 2 ปีแล้ว และการที่ข้อเสนอแนะชุดนี้สำเร็จออกมาเป็นผลงานได้ ก็เพราะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินทั้งหมดจากฟอร์ด และจีเอ็ม และสปอนเซอร์รายอื่นในการจัดประชุมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และนำผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ มาให้ข้อคิดเห็นทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของไทย โดยทำงานร่วมกันถึง 5 วัน โดยที่ฝ่ายไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย" ดร. หริส สูตะบุตร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC ในฐานะตัวแทนผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยและมีบทบาทสำคัญในข้อเสนอแนะชุดนี้กล่าว

แม้ยานยนต์จะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย แต่จะเห็นว่า ผู้ผลิตยานยนต์เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ที่มีเงินทุนมหาศาลพร้อมกับเทคโนโลยีและโนว์ฮาวที่ทันสมัย ซึ่งคนไทยยังไม่มีสมรรถนะและความสามารถไปได้ถึงขนาดนั้น ดังนั้น คนไทยจึงทำได้แค่เพียงชิ้นส่วนประกอบรถยนต์เท่านั้น ทว่าในปี 2000 ไทยจะต้องยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (local content) ซึ่งย่อมต้องส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์โดยตรง และต้องเกี่ยวโยงมาถึงเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ก่อนที่ไทยจะหันไปพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ จำเป็นจะต้องหันมาส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ที่ถือเป็นรากฐานของยานยนต์ให้แข็งแกร่งเสียก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเอง โดยรองปลัดกระทรวง เผด็จภัย มีคุณเอี่ยม และ ดร.หริส ต่างก็มีความเห็นพ้องกันว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป็นความจำเป็นที่รัฐควรจะหันมาส่งเสริมให้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน สามารถส่งออกขายยังต่างประเทศได้ในชื่อหรือยี่ห้อของคนไทย ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้จัดตั้งสถาบันยานยนต์ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานอิสระที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในทุกๆ แง่มุมของอุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่นโยบายไปจนถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ก่อนที่ศตวรรษใหม่จะมาถึงผู้ประกอบการไทยจำต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อรับกับการแข่งขันที่จะต้องโรมรันกันในเวทีใหญ่ระดับโลกด้วยลำแข้งของตนเอง เพราะนับจากนี้ไปพลังอันแข็งกล้าของรัฐที่เคยเป็นเกราะกำบังที่ดี จะค่อยๆ อ่อนล้าลงตามกระแสทุนนิยมที่พัดแรงขึ้นทุกขณะ โดยมีเงาของดับบลิวทีโอยืนทมึนอยู่เบื้องหลัง.....



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.