โครงการรถไฟฟ้า ทางออกหรือทางตันของบีทีเอสซี


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมดีใจนะว่า ในที่สุดเราก็ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้ระดับหนึ่ง สามารถเอารถไฟฟ้าของจริงเข้ามาได้ หลังจากที่ใครต่อใครคิดว่าเป็นแค่ความฝันของผม" คีรี กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร บริษัทระบบขนส่งมวลชน (บีทีเอสซี) กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" เมื่อวันที่บริษัทบีทีเอสซีจัดให้มีการทดสอบระบบรถอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2

คีรีกล่าวย้ำว่าขั้นตอนต่อไปก็คือ ต้องทดสอบระบบรถให้มั่นใจจริงๆ ว่ามีความปลอดภัยจริงๆ ผิดพลาดไม่ได้ ต้องเช็กกันอย่างละเอียดจริงๆ

ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ ในการก่อสร้าง รวมทั้งเสียงคัดค้านเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2541 ที่ผ่านมา ขบวนรถไฟฟ้าขบวนแรกจากประเทศเยอรมนี ก็มาถึงประเทศไทย เพื่อเริ่มทำการทดสอบระบบรถไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยวิ่งทดสอบบนทางวิ่งรถไฟฟ้าในถนนพหลโยธิน ช่วงตั้งแต่หน้าสถานีขนส่งหมอชิตจนถึงสถานีซอยอารีย์ ซึ่งใช้เวลาวิ่งไปกลับประมาณ 5 นาที แต่เป็นเวลาที่ไม่ได้จอดสถานีไหนเลย

ส่วนรถไฟขบวนต่อไปอีก 34 ขบวนจะค่อยทยอยมาถึงเดือนละประมาณ 2-3 ขบวน ใช้เวลาทดสอบรวมทั้งสิ้น 8 เดือน

รถทุกขบวนจะต้องผ่านการทดสอบอย่างขบวนแรกทั้งสิ้น แม้ว่าแต่ละขบวนที่ผลิตออกมาจะผ่านการทดสอบระบบต่างๆ เช่น ระบบเบรก ระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งวิ่งทดสอบที่ศูนย์ทดสอบในประเทศเยอรมนีของบริษัทซีเมนส์แล้วก็ตาม แต่จะต้องนำมาทดสอบในสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศจริงอีกหลายๆ ครั้ง เพื่อความปลอดภัยสูงสุด

แน่นอน คีรีพลาดไม่ได้แล้ว จากการก้าวมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านพัฒนาที่ดิน พร้อมๆ กับอนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้เป็นพี่ชายเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงคราวตกต่ำสุดๆ รายได้หลักอย่างเดียวที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจอื่นๆ ของเขาก็คือเรื่องของรถไฟฟ้านี่เอง

"มันก็เร็ว และสะดวกดี ระบบของมันก็นุ่มนั่งสบาย แต่ทีนี้จะให้ผมขับรถจากบ้านมาหาที่จอด แล้วขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน ลงสถานีใกล้ที่ทำงานที่สุด โดยต่อรถเมล์อีกช่วงซึ่งเป็นช่วงสั้นๆ ผมก็คิดหนัก" เป็นความเห็นของแขกคนหนึ่งที่ได้ขึ้นรถไฟฟ้าในวันนั้น

"ก็คงมาใช้ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน หรือจะไปธุระย่านใจกลางเมืองเท่านั้น คงไม่ใช้เป็นทางเลือกหลัก เพราะค่าโดยสารคงแพงเหมือนกัน" เป็นความเห็นของอีกท่านหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม คีรี ก็ยืนยันว่า เขาเชื่อว่าโครงการนี้ใช้เวลาประมาณ 8-10 ปีก็จะคุ้มทุนแน่นอน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนนี้ เป็นโครงการที่รัฐให้สัมปทานแก่เอกชน เพื่อสร้างและประกอบระบบขนส่งมวลชนวิ่งบนทางยกระดับ 2 สายในกรุงเทพมหานคร โดยมีกลุ่มบริษัทธนายง ตั้งบริษัทบีทีเอสซีขึ้น เพื่อประมูลงานชิ้นนี้ไปตั้งแต่ วันที่ 9 เมษายน 2535 มีอายุสัมปทาน 30 ปี นับจากวันที่เริ่มเปิดบริการให้กับประชาชน มูลค่าในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 54,925 ล้านบาท

รถไฟฟ้า 1 ขบวนนั้นจะประกอบไปด้วยรถไฟฟ้าจำนวน 3 ตู้ พ่วงต่อกัน ตัวรถแต่ละตู้มีความกว้างประมาณ 3.20 เมตร ยาวประมาณ 22 เมตร จุผู้โดยสารได้ประมาณ 320 คน เป็นผู้โดยสารนั่ง 42 คน และยืน 278 คน มีประตูเลื่อนกว้าง 1.40 เมตร ด้านละ 4 บาน ตัวถังทำด้วยเหล็กปลอดสนิม ติดตั้งระบบปรับอากาศชนิดกันแสง รถไฟฟ้าทั้งหมดมี 35 ขบวน รวม 105 ตู้

"ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ประชาชนชาวไทยก็เลยมีความต้องการให้รถไฟฟ้าเปิดวิ่งเป็นวันแรก ถ้าเป็นไปได้จริงก็เท่ากับว่าเลื่อนมาจากกำหนดเดิมคือต้นปี 2543 ประมาณ 1 เดือน แม้เรื่องนี้ยังไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าทางใจได้ยอมรับกันหมดแล้ว"

ธวัชชัย สุทธิประภา รองประธานบริหารอาวุโส บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกำหนดเปิดเส้นทางเดินรถไฟฟ้า(บีทีเอส) หรือโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพเต็มเส้นทาง

"รถไฟฟ้าสามารถบรรทุกคนได้ 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่คาดว่าวิ่งจริงๆ ประมาณ 36 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างเช่นจากสถานีที่หมอชิต-พระโขนง ระยะทาง 17 กม. จะใช้เวลาในการเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง" ธวัชชัยกล่าว

สำหรับแนวทางรถไฟฟ้า สายแรกคือสายสุขุมวิท เริ่มจากสุขุมวิท 81 ผ่านถนนสุขุมวิท-ถนนเพลินจิต-ถนนพระราม 1-ถนนพญาไท-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สนามเป้า-สะพานควาย-จตุจักร ไปสิ้นสุดบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต ระยะทางประมาณ 17.0 กิโลเมตร โดยมีสถานีทั้งสิ้น 17 สถานี รวมสถานีร่วมเพื่อเปลี่ยนสายบนถนนพระราม 1

สายที่ 2 คือสายสีลม เริ่มจากเชิงสะพานสาธรฝั่งกรุงเทพฯ-ถนนสาธร-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนเลียบคลองช่องนนทรี)-ถนนสีลม-ถนนราชดำริ-ถนนพระราม 1 ไปสิ้นสุดบริเวณหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ รวมระยะทางประมาณ 60.5 กม. มีสถานีจำนวน 7 สถานีรวมสถานีร่วม

รถไฟฟ้าจะเปิดบริการระหว่าง 06.00 น-24.00 น.ของทุกวัน ในระยะแรกจะมีขบวนรถออกวิ่งบริการทุกๆ 2-5 นาที ทั้งนี้การจัดตารางเวลาให้บริการดังกล่าว จะคำนึงถึงจำนวนและความต้องการของผู้โดยสารเป็นสำคัญ อัตราค่าโดยสารยังไม่ได้กำหนดชัดเจน แต่คีรีกล่าวว่า ราคาจะประมาณ 15 บาทต่อ 3 สถานี และจะมีการปรับตามดัชนีราคาผู้บริโภคและปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้กำหนดในสัมปทาน

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องการก่อสร้างรางรถไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์นั้น ตามแผนเฉพาะโครงสร้างรับรางรถไฟฟ้า จะเสร็จสมบูรณ์และส่งมอบได้ภายในเดือนเมษายน 2542 ช่วงอนุสาวรีย์ผ่านสีลมถึงสาธร จะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2542 และสายสุขุมวิทจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2542 ตามลำดับ

งานก่อสร้างสถานีทั้งหมด 23 สถานี จะแล้วเสร็จกลางปี 2542 สำนัก งานโรงซ่อม และโรงจอดรถที่หมอชิตคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้

ปลายปีหน้าเราก็จะได้รู้กันว่า โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสจะเป็นทางออกหรือทางตันของคีรี กาญจนพาสน์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.