US ASEAN มั่นใจเศรษฐกิจไทยเดินหน้าลงทุนต่อ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางความลังเลใจของนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนระยะยาวที่ยังมีค่อนข้างมาก เนื่องจากยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทยโดยรวม แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้เริ่มผ่อนคลายลงบ้างแล้ว อาทิ อัตราดอกเบี้ย ภาวะตลาดหุ้น แต่หลายคนมีความคิดติดอยู่ว่า นี่คือของแท้หรือของปลอม

อย่างไรก็ตามสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (US-ASEAN) กลับมองว่า ถึงเวลาแล้วที่การลงทุนในประเทศแถบอาเซียนได้กลับมาสดใสอีกครั้ง สภาฯ ดังกล่าวเป็นองค์กรเอกชนของอเมริกา ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้กับธุรกิจภาคเอกชนของอเมริกา ในกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASIAN) ได้แก่ ไทย ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน ดารัสซาเล็ม ส่วนกัมพูชายังคงอยู่ในสถานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์

ตลอดช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา US / ASEAN ดำเนินการสร้างพันธมิตรในเชิงยุทธศาสตร์ และความสัมพันธ์ในการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งเสริมโดยตรงต่อนโยบายการลงทุนและการค้าของอเมริกาในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังช่วยขยายขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของอเมริกาอีกด้วย

สมาชิกของ US ASEAN แต่ละองค์กรนั้น ถือว่าเป็นบริษัทข้ามชาติระดับยักษ์ของโลกทั้งนั้น ซึ่งในแต่ละครั้งที่บริษัทเหล่านี้เข้ามาลงทุนในอาเซียน ได้นำเงินเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมหาศาล บริษัทสมาชิก US ASEAN มียอดขายในอเมริกาสูงกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

"ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนนั้น มีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจของอเมริกา การค้าระหว่างไทยกับอเมริกามีมูลค่าถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2540 และอเมริกานับเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย รวมทั้งเป็นนักลงทุนต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไทย ที่มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 100% นับตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา" จอร์จ เดวิด ประธาน US ASEAN และประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทยูไนเต็ด เทคโนโลยี คอร์ปอเรชั่น (UTC) กล่าวถึงความสำคัญทางด้านการค้าที่มีต่อกันระหว่างอเมริกากับไทย

จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์ของอเมริกาบอกไว้ว่า ตัวเลขการค้าในปี 2540 อเมริกาส่งสินค้าออกมาจำหน่ายในไทยมูลค่า 7,357 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2539 จำนวน 2.20% ส่งผลให้ไทยเป็นตลาดสินค้าส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 19 ของอเมริกา แต่หลังจากความล่มสลายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศแถบอาเซียน ยอดส่งออกสินค้าจากอเมริกามาไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2541 ลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2540

ขณะเดียวกันปี 2540 อเมริกานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 12,595 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.10% จากปี 2539 และช่วง 7 เดือนของปี 2541 อเมริกาได้นำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงในการนำเข้าสินค้า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

ด้านการลงทุนของอเมริกาในไทยปี 2540 มีมูลค่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 98% นับตั้งแต่ปี 2533 โดยให้น้ำหนักการลงทุนมากที่สุดในภาคอุตสาหกรรมบริการและอื่นๆ 43% ตามมาด้วยภาคการผลิต 31% และด้านปิโตรเลียมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 26% ถ้าดูตัวเลขการลงทุนจากอเมริกาทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะนี้มีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นจำนวน 20% ของการลงทุนทั้งหมดที่อเมริกาออกไปลงทุนนอกประเทศ

การเดินทางมาเยือนไทยครั้งนี้ของกลุ่ม US / ASEAN ถือว่าเป็นการเข้ามาเพื่อเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และตอกย้ำความมั่นใจว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนประเทศหนึ่ง แม้กลุ่มดังกล่าวจะไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันว่า ในอนาคตจะเข้ามาลงทุนอย่างแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่คาดการณ์ไว้คือ ส่วนดีของสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในภูมิภาคแถบอาเซียน เป็นโอกาสดีที่จะสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งเพื่อเติบโตทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21

"พวกเรามาครั้งนี้เพื่อหารือถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อใช้ดำเนินการทั้งในอาเซียนและอเมริกาในการสร้างความมั่นใจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสู่ไทยอีกครั้ง" เดวิด กล่าว

ด้านเออร์เนส โบเวอร์ ประธานกรรมการ US ASEAN รับผิดชอบดูแลการดำเนินงานและดูแลสำนักงาน 6 แห่งในแถบอาเซียน และยังเป็นหัวหน้ากลุ่มตลาดการเงินและตลาดทุน และก่อนหน้านี้เคยทำงานให้กับบริษัทแม็คดอนนัล ดักลาส คอร์ปอเรชั่น มีหน้าที่วางยุทธศาสตร์การจำหน่ายและการทำตลาดในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา เขากล่าวว่าไทยสมควรได้รับความเชื่อถือ เนื่องจากมีความจริงใจที่จะปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

"จากการกระทำเช่นนี้ทำให้บริษัทในอเมริกา จับตามองการพัฒนากฎหมายบังคับเอาสินทรัพย์และกฎหมายล้มละลาย รวมทั้งกฎหมายในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยอย่างใกล้ชิด ตลอดจนมาตรการต่างๆ"

อย่างไรก็ตามพวกเขายังไม่สามารถประกาศออกมาได้ในขณะนี้ว่า มีโครงการไหนที่กำลังเป็นที่พอใจ เหตุผลสั้นๆ ที่ให้ไว้กับรัฐบาลไทยคือ อยากจะแสดงความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยถึงการฟื้นตัวในอนาคต และการเข้ามาครั้งนี้ทุกบริษัทที่เป็นสมาชิกใน US ASEAN ไม่มีธุรกิจไหนที่ถอนการลงทุนออกไปจากไทย "เรารู้จักไทยดีและในทางกลับกันกำลังศึกษาลู่ทางการลงทุนเพิ่มอีก แต่เปิดเผยไม่ได้ เพราะนี่คือการแข่งขันทางการค้า" เดวิดกล่าว

จากประสบการณ์ของนักลงทุนเหล่านี้ ที่เข้ามาลงทุนในไทยและประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นแผนการลงทุนครั้งใหม่คงจะไม่พ้นอุตสาหกรรมเดิมๆ เช่น นโยบายของบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริค (GE) ได้มุ่งเป้าไปที่สินเชื่อด้านรถยนต์ (auto finance) หรือบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ (AIG) เจ้าพ่อธุรกิจประกันภัย และแนวความคิดการลงทุนคงจะอยู่ในภาคบริการ (service sector) เพราะธุรกิจเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการจ้างงานมากขึ้นและยังช่วยให้เกิดวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกด้วย

ส่วนโครงการที่สมาชิก US ASEAN ประกาศการลงทุนในไทยแล้ว ก็มี CPAC Inc. เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ว่ามีแผนสร้างโรงงานผลิตสารเคมีเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกร์ว คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2542 และจะเริ่มผลิตได้ในไตรมาสแรกของงบบัญชีปี 2543 ซึ่ง CPAC Inc. เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีพิเศษ และเครื่องมืออุปกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมถ่ายภาพ มีฐานการผลิตอยู่นิวยอร์ก

สำหรับยูโนแคล คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่แห่งวงการน้ำมัน มีแผนให้ยูโนแคล ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทลูก เข้าไปลงทุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ด้วยวงเงินลงทุน 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า โดยมีเป้าหมายจะทำการขุดเจาะน้ำมันให้ได้ 145 หลุมต่อปี และพัฒนาแหล่งน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 11 แห่ง

แนวความคิดการรวมตัวกันของ US ASEAN เปรียบได้ดังสุภาษิตไทยที่ว่า "หลายหัวดีกว่าหัวเดียว" ที่สร้างจุดแข็งให้กับพวกเขาเหล่านี้ที่ดำเนินนโยบายด้านการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และขณะนี้กำลังมีความพอใจกับการเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งด้วยตัวเลขเกือบ 29% ในปี 2540 อีกทั้งมีสมาชิกเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก 32 บริษัท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมีสมาชิกใหม่เข้ามาเพียง 23 บริษัทต่อปี ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 131 บริษัท โดยบริษัทที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะกระจายไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พลังงาน เหมืองแร่ เครื่องมือ เครื่องจักร ภาคบริการการเงิน ไอที และโทรคมนาคม ปิโตรเคมีคอล เกษตร

เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของกลุ่ม US ASEAN คือ ต้องการให้ประเทศแถบอาเซียนเปิดเสรีทางการค้ากับอเมริกาให้มากและเร็วที่สุด เพราะนี่คือหนทางที่จะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศแถบนี้เติบโตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (ในทัศนะของนักลงทุนอเมริกัน)

"เราขอสนับสนุนการเปิดตลาดเสรี และเราจะตอบสนองด้วยการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาใส่ในตลาดไทยให้มากขึ้น และจะพยายามเรียกร้องให้อเมริการักษาตลาดเสรีให้กับอาเซียนต่อไป" เนื่องจากพวกเขามองว่า การเปิดเสรีทางด้านการค้ามีความจำเป็นอย่างมากในศตวรรษหน้า

"เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาไทยขาดดุลการค้า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปีนี้เกินดุลไปแล้ว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฉะนั้นนโยบายการค้าเสรีเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินการในประเทศแถบอาเซียน" เดวิดกล่าว

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ US / ASEAN กังวลใจเกี่ยวกับปัจจัยที่จะกระทบถึงแผนการลงทุนคือ การกระตุ้นอุปสงค์ในญี่ปุ่น การผสมผสานกันระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันการเงินกับการขยายวงเครดิต สิ่งเหล่านี้พวกเขายังมองไม่ค่อยเห็นว่า ประเทศภูมิภาคอาเซียนจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องหรือไม่

"เราเชื่อว่าตอนนี้โครงการที่เหมาะสมได้เกิดขึ้นในไทยแล้ว เราอยากเห็นความต่อเนื่องซึ่งอาจจะลำบากบ้าง แต่ต้องมีความอดทน" เดวิดกล่าวตบท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.