หลังจากคลุกคลีอยู่ในวงการไอทีมาตลอด
ในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปี วันนี้ฉัตรชัย บุนนาค ต้องกระโดดข้ามสายธุรกิจ ที่มีความชำนาญ
เพื่อเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์
"ตำแหน่งนี้ มีความสำคัญ และมีความหมายในตัวเอง ดังนั้น ในฐานะผู้บริหารมืออาชีพ
จะต้องบริหารงานได้ ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจรถยนต์ หรือไอที" ฉัตรชัย
บุนนาค ให้เหตุผลต่อหน้าผู้สื่อข่าวจำนวนมาก ในงานแถลงเปิดตัวในฐานะประธานบริษัทฟอร์ด
โอเปอเรชั่น (ประเทศไทย) เมื่อกลางเดือนที่แล้ว
ฉัตรชัยเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว ต่อจากเดวิด สไนเดอร์ ประธานคนเก่า ที่ครบวาระ
ต้องย้ายกลับไปดูแลงานด้าน การพัฒนาธุรกิจของฟอร์ดในภาคพื้น เอเซียแปซิฟิก
ที่สหรัฐอเมริกา
การเข้ารับตำแหน่งประธานฟอร์ด ในประเทศไทย ของฉัตรชัยครั้งนี้ นับว่าพลิกบทบาทของฉัตรชัยจากหน้ามือเป็น
หลังมือ เพราะพื้นเพเดิมของเขาคลุกคลี อยู่กับวงการสื่อสารโทรคมนาคมมาโดยตลอด
ฉัตรชัยถือเป็นผู้บริหารมืออาชีพ คนแรกของบริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนำสามารถฯ
เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
จากสามารถฯ เขาได้ไปร่วมงานกับบริษัทคราวน์ พร็อพเพอร์ตี้ ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
และธนาคารไทยพาณิชย์ และเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
สถานีโทรทัศน์เสรีแห่งแรกของประเทศไทย
ก่อนข้ามมาเป็นประธานของ ฟอร์ด โอเปอเรชั่น ฉัตรชัยเป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ในบริษัทลูเซนท์
เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย)
ฟอร์ดได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างจริงจัง เมื่อปลายปี 2538 โดยลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์มูลค่า
500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 20,000 ล้านบาท ในนามบริษัทออโต้ อัลลายแอนซ์
(ประเทศไทย) ซึ่งเป็นการร่วมทุน กันระหว่างฟอร์ด มอเตอร์ และมาสด้า มอเตอร์
ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์น ซีบอร์ด จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิต 135,000
คันต่อปี
ตลอดเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา ฟอร์ดถือเป็นคู่แข่ง ที่น่ากลัว สำหรับค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น
เพราะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในประเทศไปได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถยนต์ปิกอัพขนาด
1 ตัน โดยสามารถเพิ่มยอด ขายจาก 5,278 คัน ในปี 2538 ขึ้นเป็น 7,749 คัน
เมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 3.8%
และ 5 เดือนแรกของปีนี้ ฟอร์ดสามารถทำยอดขายรถไปได้แล้วถึง 5,888 คัน เพิ่มสูงขึ้นถึง
170% เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันของปี 2542 และสามารถ เพิ่มส่วนแบ่งตลาดขึ้นเป็น
6% ของยอดขายรถยนต์รวม 98,894 คัน
การเพิ่มสูงขึ้นของยอดขายดังกล่าว ถือเป็นผลงานของเดวิด สไนเดอร์ ที่เป็นผู้เข้ามาบุกเบิก และบริหารกิจการของฟอร์ดในไทย
มาตลอดตั้งแต่ปี 2538
"สิ่งที่เดวิดทำ ถ้าเป็นหนังสือถือได้ว่าเป็น Chapter
แรก ผมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร หน้าที่ของผมคือ จะต้องทำ Chapter ต่อไปให้ดีขึ้น"
ฉัตรชัย กล่าวถึงภาระหน้าที่ของเขา ที่ต้องรับผิดชอบในช่วงหลังจากนี้ไป
ตามเป้าหมาย ที่เดวิด สไนเดอร์ ตั้งไว้ เขาต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ปิกอัพขนาด
1 ตันขึ้นเป็น 8% และต้องการขยับอันดับขึ้นไปอยู่ ที่ 4 จากปัจจุบัน ที่อยู่อันดับ
5 รองจากอีซูซุ โตโยต้า มิตซูบิชิ และนิสสัน
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ สิ่งที่ฉัตรชัยจะต้องนำมาใช้ในการบริหารงานฟอร์ด
คือ ความชำนาญ ที่เคย มีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเพิ่มบทบาทของอินเทอร์
เน็ต เข้ามาในการทำงานประจำวันของ ฟอร์ดมากขึ้น