จบเกมกีฬาสู่เกมธุรกิจ จะบริหารศูนย์กีฬามูลค่า 12,000 ล้านบาทต่ออย่างไร?


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

จบการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, นริศ ชัยสูตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัทบางกอกแลนด์ เตรียมเล่นเกมใหม่ที่ยากกว่าเก่า คือต้องแข่งกันบริหาร 3 สนามหลัก ที่ทุ่มงบไปแล้วกว่า 12,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เป็นศูนย์กีฬาหรือสปอร์ตคอมเพล็กซ์ร้าง เกมนี้อาจจะต้องเหนื่อย และยืดเยื้อกว่าเก่า !!

นการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 นี้ เมืองไทยมีสนามแข่งขันหลักอยู่ 3 สนามคือ สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน สนามเมืองทองธานี และสนามกีฬาธรรมศาสตร์ รังสิต ทั้ง 3 สนามจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับประเทศไทยในเรื่องของความสวยงามใหญ่โต และสมบูรณ์แบบที่สุด

"ผู้จัดการรายเดือน" ไม่มีข้อมูลยืนยันว่า สนามของเราดีขนาดไหนเมื่อเทียบกับนานาประเทศ แต่เมื่อฟังเสียงคณะกรรมการการแข่งขันทั้งฝ่ายไทย และสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือโอซีเอ ต่างยืนยันว่าสนามในเมืองไทยเป็นสนามชั้นเยี่ยมโดยเฉพาะสนามราชมังคลาฯ นั้นยิ่งใหญ่และสวยงามมาก

ทั้ง 3 สนามนี้ทั้งรัฐบาลไทยและภาคเอกชนหว่านเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาทก่อนหน้าการแข่งขัน ดังนั้นภายหลังการแข่งขันสิ้นสุด ผู้รับผิดชอบจึงต้องเตรียมแผนการรองรับการใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้มีรายได้เข้ามาเลี้ยงตนเองได้ ไม่ต้องสร้างภาระให้ตัวเองและรัฐบาล และแผนการหนึ่งที่ทุกฝ่ายมองตรงกันก็คือ การเป็นศูนย์ประชุมเพื่องานสัมมนา และแสดงสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันในเมืองไทย มีเพียงศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ครองตลาดมานาน เพิ่งมี ไบเทศหรือศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ กรุงเทพมหานครก้าวมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญเมื่อต้นปี 2541 ที่ผ่านมาเท่านั้น

ในสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่หัวหมากนั้นเป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดขนาดจุผู้ชมถึง 40,000-60,000 ที่นั่ง เป็นสนามที่มีประวัติศาสตร์ทางด้านการก่อสร้างยาวนานถึง 10 ปี ใช้เงินไปประมาณ 1,188 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าก่อสร้างที่หลายคนในวงการก่อสร้างยืนยันว่าทำได้ในราคาที่ถูกมาก เพราะเป็นสัญญาที่ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยทำไว้กับผู้รับเหมาก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2531

ในสนามแห่งนี้มีจุดเด่นในหลายๆ เรื่อง เช่น ในส่วนของสนามฟุตบอลนั้น วิศวกรได้ออกแบบสนามให้เป็นสนามลอยฟ้า ด้วยการยกพื้นสนามขึ้นมาสูงกว่า 6 เมตร หญ้าที่ใช้ในสนามเป็นหญ้าเบอร์มิวดาที่สามารถทนต่ออากาศร้อนในเมืองไทยได้ดี

จุดเด่นของความใหญ่ จุที่นั่งได้ประมาณ 4-6 หมื่นคน ในสนามฟุตบอลถ้าเอาเก้าอี้ออกจะจุได้ถึงแสนคน

ส่วนในตัวอาคาร ที่มีความสูงกว่า 60 เมตร หรือเทียบเท่ากับตึก 15 ชั้น เพื่อให้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายในตัวอาคารจึงถูกแบ่งการใช้งานออกเป็นหลายส่วนด้วยกันคือ ส่วนหนึ่งได้ถูกจัดสำหรับเป็นที่ประทับ และห้องวีไอพี และบริเวณชั้น 2 มีการแบ่งออกเป็นห้องๆ สำหรับเป็นที่ทำการของสมาคมกีฬาต่างๆ ทั้งหมด 42 ห้อง รวมไปถึงห้องประชุมใหญ่อีก 2 ห้อง ส่วนชั้นล่างจะเป็นพิพิธภัณฑ์กีฬา

ระบบเสียงภายในสนามก็มีมูลค่ากว่า 28 ล้านบาท มีการติดตั้งลำโพง ทั้งหมด 2 ชุดไว้บนหลังคาอัฒจรรย์ โดยในลำโพง 1 ชุดจะมีลำโพงบรรจุอยู่ประมาณ 70-80 ตัว ทำให้สามารถได้ยินเสียงอย่างชัดเจน ไม่ว่าอยู่ในบริเวณไหนของสนาม

ที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือโคมไฟที่สามารถทำเป็นตัวหนังสือได้ และสามารถกะพริบไปตามจังหวะของเพลง โดยผ่านการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ลงทุนไปกว่า 45 ล้านบาท

ส่วนแผนงานในการบริหารสนามแห่งนี้ต่อไปในระยะยาวนั้น เพื่อไม่ให้เป็นสนามกีฬาร้าง และสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ทางการกีฬาฯ เคยวาดหวังไว้ว่าจะให้เอกชนเข้ามาเช่าสนามเป็นรายปี ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมอะไร ก็ได้ตามที่เขาต้องการ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเพียงเกมกีฬาเท่านั้น เพราะการแข่งขันแมตช์ใหญ่ๆ ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดสนามใหญ่แห่งนี้ไม่น่าจะมีบ่อยนัก

"เรากำลังยกร่างเตรียมเสนอรายละเอียดต่อทางท่านผู้ว่า กกท.ว่าต่อไปจะต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง และเตรียมให้เอกชนเข้ามาประมูลเช่าต่อไป" ธีระ โพธิ์พานิช ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสถานที่กีฬา และผู้จัดการสนามแห่งนี้ กล่าว และยอมรับว่ารัฐบาลต้องเตรียมเงินอุดหนุนไว้ก้อนหนึ่ง แน่นอนกว่าเรื่องต่างๆ จะเรียบ ร้อย

สนามกีฬาธรรมศาสตร์ ที่รังสิตก็เช่นกัน สำหรับการดูแลทรัพย์สินขนาดใหญ่ในมูลค่า 6,700 ล้านบาท ภายหลังการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์สิ้นสุดจะเป็นภาระของมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้แน่นอน ทางผู้บริหารจึงได้ทำเรื่องเสนอต่อกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอต่อครม.ว่าในส่วนของอาคารยิมเนเซียม ซึ่งเป็นรูปเต่า 3 ตัว อาคารศูนย์กีฬาทางน้ำ รวมทั้งเมน สเตเดี้ยมนั้น ควรจะให้ทางบริษัทหรือองค์กรเอกชน นำไปบริหารต่อเพื่อให้ทำรายได้เลี้ยงตัวเอง

"แต่ที่สำคัญก็คือผู้ที่เอาไปบริหารต้องเข้าใจว่าจุดหลักที่ต้องรักษา ไว้คือเป็นศูนย์กีฬาของทีมชาติ เพียง แต่ถ้าไม่ทำอย่างนี้เรารอให้รัฐบาลให้งบอุดหนุนอย่างเดียวไม่พอแน่นอน อย่างสระว่ายน้ำนั้น ค่าดูแลรักษาต่อเดือนประมาณ 3.5 แสนบาท เพื่อไม่ให้เกิดตะไคร่ขึ้น ทำอย่างไรให้เลี้ยงตัวเองได้ คือเรื่องสำคัญที่สุด" แก้วสรร อติโพธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการก่อสร้างศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

ในโรงยิม 3 โรงดังกล่าว มีพื้นที่รวมกันประมาณ 19,500 ตร.ม นั้น บริษัทที่เข้ามาอาจจะเอาไปจัดหารายได้เช่น รับจัดแข่งกีฬาประจำปีให้กับบริษัทต่างๆ รับจัดค่ายกีฬาเยาวชนก็ได้ รวมไปทั้งในเรื่องของการรับจัดคอนเสิร์ต หรือแสดงสินค้าต่างๆ

ถึงแม้ธรรมศาสตร์จะผลักภาระในส่วนดังกล่าวออกไปได้ แต่ยังมีในส่วนของ CONVENTION HALL ซึ่งมีพื้นที่อีกประมาณ 18,000 ตร.ม ซึ่งใช้เป็นสนามแข่งบาสเกตบอล ชาย-หญิงในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์นั้น จะเป็นส่วนที่ธรรมศาสตร์ขอเป็นผู้บริหาร เองเพื่อหารายได้ต่อไป โดยวาดแผนไว้ว่าน่าจะเป็นที่ประชุม หรือจัดแสดงสินค้าเช่นกัน

ส่วนยิมเนเซียมที่ใช้ในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์อื่นๆ นอกเหนือจากนี้ทางธรรมศาสตร์ได้เตรียมที่จะดัด แปลงใช้ประโยชน์เองเช่น RESOURES CENTER ซึ่งใช้ในการแข่งกีฬาแฮนด์บอล นั้น จะถูกดัดแปลงให้เป็น ห้องสมุด ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์กิจการนักศึกษา T.U. AUDITORIUM หรือสนามแข่งแบดมินตันนี้จะเป็นหอประชุม และอาคารเรียนรวม ซึ่งทั้งหมดนี้ ทาง ธรรมศาสตร์เองได้มีการออกแบบเผื่อไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมสำหรับที่จะดัดแปลงการใช้ต่อไป

ส่วนสนามกลางแจ้งนั้นทางธรรมศาสตร์ได้วางแผนไว้ว่าต่อไปจะเป็นอาคารเรียนรวม แต่ถ้ายังไม่มีงบประมาณ ก็จะบำรุงรักษาให้เป็นสนามกีฬาต่อไป

ผู้บริหารของธรรมศาสตร์ยังต้องรับศึกหนักอีกเรื่องก็คือ งานบริหารหมู่บ้านนักกีฬาเอเชี่ยนเกมส์อีก 5,000 ยูนิต ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ 115 ไร่ อาคารห้องพักมีทั้งสิ้น 23 อาคาร สูงตั้งแต่ 8-14 ชั้น รองรับนักกีฬาประมาณ 10,000 คน มีทั้งประเภทห้องนอนเดี่ยว และห้องนอนคู่ ภายในจะมีเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ไว้ครบครันคือตู้ เตียง เก้าอี้ ห้องน้ำ ลานซักล้าง และ ระเบียง รวมทั้งมีแอร์คอนดิชั่นพร้อมทั้งเครื่องทำน้ำอุ่นทุกห้องด้วย

งบประมาณทั้งสิ้นในการก่อสร้าง โครงการนี้ประมาณ 1,881 ล้านบาท โดยบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมา

ธรรมศาสตร์วางแผนมอบหมู่บ้านนักกีฬาให้ทางการกีฬาแห่งประเทศ ไทยไปแล้ว 500 ยูนิตจำนวน 3 อาคาร เพื่อใช้เป็นที่พักเก็บตัวของนักกีฬาทีมชาติ จำนวนที่เหลืออีก 4,500 ยูนิตเป็นส่วนที่ธรรมศาสตร์ต้องบริหารเอง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักก็คือ บรรดานักศึกษา เจ้าหน้าที่และคณาจารย์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย คาดว่าจะเปิดให้เช่าได้ก็ประมาณปีการศึกษา 2542 ราคาค่าเช่าจะถูกหรือแพงอย่างไรนั้น แก้วสรรยืนยันว่าจะต้องอยู่ภายในหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ จะต้องพึ่งตนเองให้ได้ ไม่เบียดเบียนงบประมาณจากส่วนราชการ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเท่าไหร่ ผู้อยู่อาศัยก็ต้องจ่ายเท่านั้น

ทางด้าน อนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทบางกอกแลนด์นั้น แน่นอนจุดสำคัญที่ทำให้เขากล้าตัดสินใจสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ในเมืองทองธานี พื้นที่ประมาณ 70,000 ตารางเมตรนั้น ก็เพราะหวังว่าเมื่อสิ้นสุดการแข่งขันกีฬา เอเชี่ยนเกมส์ ก็สามารถปรับปรุงเป็นศูนย์ประชุม หรือที่แสดงสินค้าได้เช่นกัน โดยอาจจะให้บริษัทเอกชนเข้ามารับไปบริหาร หรือบริษัทบางกอก แลนด์เองอาจจะร่วมทุนกับบริษัทอื่นตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหาร ซึ่งขณะนี้แผนการดังกล่าวยังไม่เป็นที่สรุปเช่นกัน แต่เป็นที่รู้กันว่าอนันต์ต้องการให้มีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมทุนบริหารศูนย์กีฬานี้มากที่สุด และเร็วที่สุด เพื่อปลดเปลื้องภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารไทยพาณิชย์

ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็หมายความว่าหลังเกมเอเชี่ยนเกมส์ อนันต์ ศักดิ์ชาย และนริศ ต้องเริ่มเกมใหม่คือการบริหารสปอร์ตคอม เพล็กซ์และศูนย์กีฬาดังกล่าวทันที ซึ่งคงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะง่ายนัก เพราะปัจจุบันนี้ศูนย์ประชุมใหญ่ 2 ศูนย์ที่มีอยู่ในเมืองไทย ก็เดินเกมแย่งลูกค้ากันอย่างหนักอยู่แล้ว เพียงแต่ว่างานนี้อนันต์พลาดไม่ได้ เพราะมีตัวดอกเบี้ยการก่อสร้างรุมเร้าอยู่ทุกนาที ในขณะที่ศักดิ์ชาย กับ นริศ อาจจะลอยตัวเพราะเมื่อพ้นจากตำแหน่งไป รัฐบาลก็ต้องเข้ามาโอบอุ้มต่ออยู่แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.