ยูโร VS ดอลลาร์ ในศึกครองความเป็นเจ้า เปิดฉาก 1 มกราคม'99 แน่นอน


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ปรากฏการณ์แห่งการแข่งขันระหว่างสองอภิมหาอำนาจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ กำลังจะเริ่มขึ้นแล้วในตลาดการเงินของโลก

ฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์ในปัจจุบัน คือสกุลเงินตรา ซึ่งถูกนำไปใช้ทำธุรกรรมกันสูงที่สุดในโลก มูลค่าสะสมของมันได้รับความเชื่อถือมากที่สุด และได้รับการยอมรับจากธนาคารกลางทั่วโลกให้ เป็นทุนสำรองอย่างกว้างขวางที่สุด นั่นคือ เงินดอลลาร์อเมริกัน

อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้อาจหาญท้าชิง เป็นสกุลเงินตราใหม่ที่ 11 ประเทศยุโรปจะนำมาใช้เป็นเงินตราร่วมกันของพวกเขา นั่นคือ เงินยูโร

รางวัลสำหรับผู้ชนะย่อมไม่ใช่แค่ เกียรติยศแก่ภูมิภาคไว้คุยโม้โอ้อวดอย่างแน่นอน แต่เป็นความได้เปรียบในตลาดโลกอย่างมหาศาล อันจะนำมาซึ่งทรัพย์ศฤงคารที่มิอาจประมาณนับ นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ประเทศหรือกลุ่มประเทศใดก็ตามที่มีโอกาสเป็นผู้ออกสกุลเงินตรา ซึ่งกลายเป็นเงินตราแห่งโลกแล้ว เมื่อชาวต่างชาติมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินตรานั้น ประเทศผู้ออกเงินตราแห่งโลกจะเท่ากับว่าได้เงินกู้จากชาวต่างชาติแบบไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ขณะเดียวกันรัฐบาลของประเทศเจ้าของเงินตราแห่งโลก ยังสามารถออกตราสารหนี้โดยเสียอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าชาติอื่น นอกจากนั้น ธุรกิจภาคเอกชนจะมีต้นทุนในการระดมเงินและทำธุรกรรมทางการเงินถูกกว่าคนอื่น และในเวลาเดียวกัน ธนาคารและสถาบันการเงินก็จะมีความได้เปรียบสูงกว่า เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มพูนพลังอำนาจทางการเมือง

สหภาพเศรษฐกิจและการเงินแห่งยุโรป ซึ่งจะบังเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเคียงคู่ไปกับการถือกำเนิดของเงินยูโร ในวันที่ 1 มกราคม 1999 "เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดที่ปรากฏขึ้นในระบบการเงินระหว่างประเทศ นับตั้งแต่การพังทลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว เบรตตัน วู้ด เมื่อต้นทศวรรษ 1970" นั่นเป็นความเห็นของ เดวิด ดี. เฮล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ แห่งซูริก เคมเปอร์ อินเวสต์เมนต์ อิงค์ ในนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา

เฮลชี้ต่อไปว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดการจับกลุ่มผูกพันธมิตรทางด้านเงินตรากันใหม่ในทั่วโลก อันจะส่งผลลัพธ์อย่างสำคัญ ทั้งต่อการหมุนเวียนของการค้าและการหมุนเวียนของเงินทุน นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้บอกว่า ยิ่งตลาดการเงินยอมรับเงินยูโรมากเท่าไร "ก็เกือบเป็นเรื่องแน่นอนว่า จะยิ่งลดบทบาทอันโดดเด่นแต่ผู้เดียวของเงินดอลลาร์ ในฐานะเงินตราในทุนสำรอง" ลงไปเท่านั้น

นอกจากนั้น หากมองกันในแง่สัญลักษณ์แล้ว มันหมายความว่า ยุโรปได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากอำนาจความเป็นเจ้าทางการเงินของอเมริกา ซึ่งเป็นมาตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2


ยูโรกับศักยภาพความเป็นหมายเลข 1

เงินยูโรมีโอกาสเพียงไรในการเบียดแซะฐานะการเป็นเงินตราระหว่างประเทศ ที่ดอลลาร์ครองอยู่ในปัจจุบัน คำถามนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือด ทั้งในหมู่นักวิชาการ ผู้ค้าเงินตรา ผู้จัดการการลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ตลาดการเงิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในภาครัฐ

บางคนมีความเชื่อมั่นว่าถึงอย่าง ไรดอลลาร์ก็สามารถประคองตัวเองไว้ได้ เนื่องจากขนาดอันมโหฬารของระบบเศรษฐกิจอเมริกัน และความมั่นคงปลอดภัยตลอดจนสภาพคล่องของตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่อีกหลายคนมองว่า การค้าที่มีขนาดเป็นกอบเป็นกำของชาติยุโรป ตลอดจนขนาดอันมหึมาของระบบเศรษฐกิจหนึ่งเดียวในหมู่ชาติสมาชิกแห่งสหภาพยุโรป (อียู) จะกลายเป็นพลังขับดันให้เงินยูโรพุ่งขึ้นสู่อันดับสูงสุดจนได้ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายคนซึ่งเห็นว่า เงินตราทั้ง 2 สกุลจะแบ่งกันครองเข็มขัดแชมป์ โดยแต่ละฝ่ายจะสามารถควบ คุมส่วนเสี้ยวต่างๆ ในระบบการเงินระหว่างประเทศฝ่ายละหลายส่วนเสี้ยว โดยที่ว่าไม่มีฝ่ายใดสามารถมีฐานะเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งอย่างสิ้นเชิงเมื่อมองในภาพรวมทั้งระบบ

ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มา เงินดอลลาร์มีฐานะเป็นเงินตราระหว่างประเทศที่โดดเด่นที่สุดแต่ผู้เดียวมาตลอด ทั้งนี้ ธนบัตรดอลลาร์แต่ละฉบับ แท้จริงแล้วเป็นตัวแทนมูลหนี้ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เป็นลูกหนี้ เมื่อชาวต่างชาติขายผลผลิตหรือทรัพย์สิน หรือกระทั่งนำเงินตรามาแลกเปลี่ยนแล้วรับเป็นเงินดอลลาร์ เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนพร้อมกับถือครองดอลลาร์นั้น ในทางเป็นจริงแล้วเท่ากับพวกเขารับซื้อหนี้สินของสหรัฐฯ เอาไว้ และกำลังปล่อยเงินกู้ให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมนั่นเอง ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวที่ชาวต่างชาติจะได้รับคือ ความมั่นคงปลอดภัยของตัวเงินดอลลาร์เอง ซึ่งเชื่อกันว่าจะสามารถใช้ป้องกันฟันฝ่าความปั่นป่วนผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมืองได้

ธนาคารกลางสหรัฐฯ รายงานว่า ในจำนวนเงินตราสหรัฐฯ ซึ่งนำออกใช้หมุนเวียน 443,600 ล้านดอลลาร์นั้น ราว 2 ใน 3 ถือครองกันอยู่ในต่างประเทศ การที่ไม่ต้องขอกู้และจ่ายดอกเบี้ยให้กับเงินก้อนดังกล่าว ทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประหยัดเงิน ได้ราวปีละ 15,000-18,000 ล้านดอลลาร์ ทีเดียว

ในฐานะผู้พิมพ์เงินตรา ซึ่งใช้จ่ายกันระหว่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้รับอภิสิทธิ์ ซึ่งเรียกกันว่า ค่าธรรมเนียมจากสภาพคล่อง ดังที่ศาสตราจารย์พอร์เตสอธิบายว่า เนื่องจากเงินดอลลาร์ตลอดจนหลักทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ กลายเป็นที่ต้องการกันมากมายผิดธรรมดา ดังนั้นเองจึงทำให้สหรัฐฯ สามารถจ่ายดอกเบี้ยในเวลาออกพันธบัตรรัฐบาลต่ำกว่า ที่น่าจะเป็นอุปสงค์จากทั่วโลกในเงินดอลลาร์ ยังทำให้สหรัฐฯ สามารถใช้เงินตราของตัวเองมาอุดการขาดดุลชำระเงินในแต่ละปีได้ ตลอดจนช่วยลดแรงกระทบกระแทก อันเนื่องจากการขาดดุลการค้ามาอย่างยืดเยื้อยาวนานได้

สถาบันการเงินของสหรัฐฯ ก็ได้ ประโยชน์ทำนองเดียวกันจากบทบาทการเป็นเงินตราระหว่างประเทศของดอลลาร์ กล่าวคือด้วยบทบาทเช่นนี้เอง ทำให้แหล่งเงินสดที่สถาบันการเงินเหล่านี้จะเข้าไปกู้ยืม มีขนาดใหญ่โตลึกล้ำและมีสภาพคล่องสูงกว่าปกติที่ควรจะเป็น ดังนั้น จึงสามารถระดมเงินได้ง่ายขึ้นและได้อัตราดอกเบี้ยค่อนข้าง ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินของประเทศอื่น

เช่นเดียวกับพวกบริษัทธุรกิจอเมริกัน ยิ่งบริษัทเหล่านี้สามารถรับเงินค่าสินค้าส่งออกเป็นดอลลาร์ได้มากเท่าไร บริษัทเหล่านี้จะยิ่งลดความวิตกกังวลในเรื่องการผันผวนของค่าเงินตราลงไปได้เท่านั้น

ขณะที่เงินดอลลาร์ได้ประโยชน์ มหาศาลจากการเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก เงินดอลลาร์ก็กำลังยืนอยู่บนความเสี่ยงมหาศาลเช่นกัน กล่าวคือถ้าผู้คนต่างเสียความมั่นใจและพากันขายเงินดอลลาร์ นอกจากที่สหรัฐฯ จะสูญเสียผลประโยชน์ทั้งหลายแล้ว เงินตราสกุลนี้ยังจะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วพร้อมกันนั้น สหรัฐฯ จะพบว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมนโยบายการเงินของตัวเองได้อีกต่อไป

นับวันความเสี่ยงที่คุกคามเงินดอลลาร์ดูจะเป็นจริงเป็นจังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเงินยูโรเริ่มใช้กันอย่างเป็นทางการ เงินตราใหม่สกุลนี้จะมีปัจจัยข้อได้เปรียบหลายๆ ประการ ซึ่งไม่แพ้คุณลักษณ์ที่ดอลลาร์มีอยู่ในเวลานี้

จากการคำนวณของหลายฝ่ายเศรษฐกิจของทั้ง 11 ประเทศที่ใช้เงินยูโร อันได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์ แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน รวมกันแล้วจะมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก และเท่ากับราว 75% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ยิ่งกว่านั้น ดินแดนที่ใช้เงินยูโร เป็นเงินตรา หรือ 'ยูโรแลนด์' ยังเป็นกลุ่มการค้าใหญ่สุดของโลกอีกด้วย โดยเป็นผู้ทำการค้าราว 40% ของการค้าโลก ทั้งนี้เมื่อนับรวมการค้าระหว่างกันเองภายในกลุ่มเข้าไปด้วย พาณิชยกรรมระหว่าง 11 ชาติ ที่ใช้เงินยูโรเหล่านี้ กับประเทศอื่นๆ นอกกลุ่มนั้น คิดเป็นประมาณ 19% ของการค้าโลก สูงกว่าส่วนแบ่งตลาดโลกที่สหรัฐฯ ครองอยู่ ณ ระดับ 17%


ยูโรสะดวกกว่ากันแยะ

แนวโน้มที่เป็นอยู่ขณะนี้คือ ประเทศคู่ค้ากับบรรดาประเทศในยูโรแลนด์จะหยุดใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลางในการค้า แล้วเปลี่ยนมาใช้เงินยูโรแทน เพราะสะดวกกว่า นอกจากนั้น บริษัทเอเชียจำนวนมาก ซึ่งเวลานี้ยังคงใช้หน่วยเงินดอลลาร์เป็นตัวกลางในการซื้อขายกับทางยุโรป เพราะไม่อยากยุ่งยากต้องวุ่นกับเงินตราหลายสกุลเกินไป ก็ออกจะเล็งเห็นว่า เงินยูโรเป็นทางเลือกใหม่ซึ่งน่าสนใจมากทีเดียว

เงินยูโรยังน่าจะมีสภาพคล่องสูงซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่นักลงทุนมองหา ในเมื่อยูโรแลนด์จะเป็นตัวแทนของตลาดตราสารหนี้ ซึ่ง ณ สิ้นปี 1996 มีมูลค่าเท่ากับ 6.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 63% ของตลาดตราสารหนี้สกุลดอลลาร์ทั่วโลกซึ่งมีขนาด 9.6 ล้านล้านดอลลาร์

ปัจจัยเรื่องความสามารถในการควบคุมเงินเฟ้อของผู้ออกเงินตราสากล เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถดึงดูดให้ชาวโลกหันมาใช้เงินตราสกุลนั้นๆ เฮลแห่ง ซูริก เคมเปอร์ และอีกหลายคนชี้ว่าธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) น่าจะเป็นเลิศในเรื่องนี้ เพราะอีซีบีเดินนโยบายในแนวทางของธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) ซึ่งขึ้นชื่อลือชานักในเรื่องความแข็งขันต่อต้านเงินเฟ้อ เฮลทำนายว่า เงินยูโรจะมีส่วนแบ่งในการเป็นทุนสำรองทางการของพวกธนาคารกลางชาติต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน 'อย่างน้อยที่สุด' อยู่ ในราว 20-30%

ซี. เฟรด เบิร์กสเตน ผู้อำนวยการสถาบัน อินสติติว ฟอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล อีโคโนมิกส์ ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่ มีอิทธิพลสูงในวงการเมืองอเมริกันเคย ทำนายไว้ในบทความตีพิมพ์ในวารสาร 'ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส์' ปี 1997 ว่า สหภาพการเงินแห่งยุโรปจะทำให้เกิดการแบ่งระบบเงินตราโลกออกเป็น 2 ขั้ว นั่นคือ เงินตราที่ครอบงำโลกจะมี 2 สกุล ได้แก่ ดอลลาร์ กับ ยูโร แทนที่ระบบเดิมซึ่งดอลลาร์เป็นใหญ่อยู่แต่ผู้เดียวแทบตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 และชี้ว่า ในกระบวนการพัฒนาสู่การแบ่งเป็น 2 ขั้วดังกล่าว จะเกิดการเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนระหว่างประเทศอย่างมโหฬาร โดยจะมีทรัพย์ประมาณ 500,000- 1,000,000 ล้านดอลลาร์ ถูกโยกไปถือเป็นยูโร ซึ่งส่วนใหญ่จะโยกมาจากดอลลาร์

ศาสตราจารย์พอร์เตสแห่ง เซน เตอร์ ฟอร์ อีโคโนมิก โพลิซี รีเสิร์ช คาดว่า เงินยูโรจะพุ่งพรวดขึ้นมามีฐานะสำคัญอย่างรวดเร็ว และได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การที่ยูโรจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการท้าทายฐานะครอบงำโลกของดอลลาร์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของธนาคารกลางต่างๆ, ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินยูโรถูกใช้ไปในการซื้อขายสินค้าและบริการมากน้อยเพียงใด และไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีประเทศ นอกยูโรแลนด์มากน้อยแค่ไหนเลือกที่จะตรึงค่าเงินของพวกเขากับเงินยูโร หากแต่น่าจะขึ้นอยู่ที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลของชาติยุโรป ว่ามีการผนวกรวม ตัวและเติบใหญ่ขยายตัวไปได้รวดเร็วเพียงใด

ปัจจุบันนี้ การซื้อขายในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีต้นทุนต่ำกว่าในตลาดพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี อังกฤษ หรือฝรั่งเศสอยู่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากปริมาณการซื้อขายพันธบัตรคลังสหรัฐฯ นั้นมากมายมโหฬารกว่านั่นเอง

แต่ "ยิ่งยูโรแลนด์ผนวกรวมตลาดพันธบัตรรัฐบาลของพวกเขาเข้าด้วยกันได้มากเท่าไร ต้นทุนการดำเนินงานในตลาดเหล่านี้ก็จะยิ่งลดลงไปเท่านั้น และจากนั้นผู้คนจำนวนมากขึ้นๆ ก็จะต้องการมาดำเนินการในตลาดทางยุโรป" ศาสตราจารย์พอร์เตสให้ความเห็น "เสน่ห์ดึงดูดที่มากกว่าของนิวยอร์กเมื่อเปรียบเทียบกับของยูโรแลนด์ก็จะหดหายไป"

เขาทำนายว่า ยิ่งถ้าอังกฤษเข้าร่วมสหภาพการเงินยุโรป ซึ่งเขาคาดหมายว่าอังกฤษจะเข้าร่วมแน่ๆ "เราก็จะเห็นบทบาทการเป็นเงินตราระหว่างประเทศของดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกท้าทายอย่างรุนแรงภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี"


ดอลลาร์ดายฮาร์ด

แต่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง ติงด้วยความรอบคอบว่า การโค่นดอลลาร์ลงจากบัลลังก์นั้นไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายๆ

แม้การใช้เงินสกุลหนึ่งเดียวในยูโรแลนด์ จะหมายถึงการก่อตั้งตลาดตราสารหนี้สกุลเงินยูโร มูลค่ากว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ขึ้นมาได้อย่างอัตโนมัติ โดยที่ว่าประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลก็ตาม แต่ก็คงไม่มีสภาพคล่องระดับใกล้เคียง กับที่ปรากฏอยู่แล้วในพันธบัตรคลังของสหรัฐฯ นั่นเป็นความเห็นของ แลรี่ นีล ศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตเออร์บานา-แชมเปญ ซึ่งชี้ว่าเงินยูโรยังจะไม่สามารถท้าทายดอลลาร์ เพื่อขึ้นเป็นเงินตราในทุนสำรองได้

ศาสตราจารย์นีลชี้ว่า ถึงแม้ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และอีก 8 ชาติจะออกตราสารหนี้ในสกุลเงินร่วม แต่ยูโรแลนด์ก็ยังคงขาดลักษณะสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นจุดเด่นของตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ นั่นคือ การที่มีรัฐบาลกลางเพียงรัฐบาลเดียว ทำหน้าที่ขายตั๋วเงินและพันธบัตรปริมาณมหาศาล ทั้งนี้ ตลาดพันธบัตรรัฐบาลของยูโรแลนด์จะประกอบด้วยรัฐอธิปไตย 11 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งสามารถขายตั๋วเงินและพันธบัตรในปริมาณที่น้อยกว่าของสหรัฐฯ นักหนา แล้วแถมแต่ละแห่งยังแข่งขันกันดึงดูดนักลงทุนเสียอีกด้วย

แม้บางคนจะชี้ว่าพันธบัตรของสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยก็ออกโดยรัฐบาลท้องถิ่นในมลรัฐทั้ง 50 มลรัฐ แต่ศาสตราจารย์นีลชี้ว่า พันธบัตรของมลรัฐไม่ได้ถูกใช้เป็นทรัพย์สินสำรองโดยธนาคารกลาง (ต่างชาติ) หรือโดยองค์การพหุภาคี เขาจึงฟันธงไว้ว่า หากต้องการทรัพย์สินสำรองที่ปลอดภัยแล้ว ยังต้องเป็นตั๋วเงินและพันธบัตรคลังสหรัฐฯ อยู่นั่นเอง

เหตุผลสำคัญระยะยาวประการ หนึ่งในการถือครองทรัพย์สินสำรองเอาไว้คือ เพื่อให้สามารถตอบโต้ได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เกิดภาวะปั่นป่วนอย่างกะทันหันในทางเศรษฐกิจ หรือทางการเมือง "นั่นหมายความว่าคุณต้องสามารถเปลี่ยนทรัพย์สินของคุณได้อย่างรวดเร็ว และโดยไม่เกิดการขาดทุนเสียหาย การที่จะเป็นเช่นนั้นได้ คุณย่อมต้องการทรัพย์สินทางการเงินที่ตลาดมีสภาพคล่องสูงสุด" ศาสตราจารย์นีลกล่าว และยกตัวอย่างว่า

สมมุติว่าญี่ปุ่นเกิดต้องขายทันที ทั้งพันธบัตรคลังสหรัฐฯ และพันธบัตรรัฐบาลเยอรมัน สกุลเงินยูโรทิ่เขาถือครองเป็นทุนสำรองอยู่ ราคาที่ตกลงมาของพันธบัตรเยอรมันจะต้องสูงกว่าของพันธบัตรคลังสหรัฐฯ แยะทีเดียว ทั้งนี้ ศาสตราจารย์นีลอธิบายว่า เป็นเพราะปริมาณของพันธบัตรเยอรมันที่ออกมาในตลาดนั้นมีจำนวนน้อยกว่ามาก

สภาพคล่องสูงของตลาดพันธ บัตรสหรัฐฯ มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของอเมริกา ในปี 1790 แฮมิลตันได้สร้างตลาดตราสารหนี้อันมีขนาดใหญ่โตกว้างขวางของสหรัฐฯ ขึ้นมา ด้วยการให้รัฐบาลกลางเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินของแต่ละมลรัฐ รวมทั้งพวกที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามปฏิวัติปลดแอกจากอังกฤษด้วย

สำหรับยูโรแลนด์แล้วไม่ได้มีแผนการปล่อยเงินให้แบบนี้ แต่ละประเทศยังคงต้องหนุนหลังพันธบัตรของตัวเอง ทว่ากลับไม่มีอำนาจที่จะพิมพ์ธนบัตรอีกแล้ว ขณะที่สหรัฐฯ ยังมีอำนาจนี้อยู่เต็มเปี่ยม ด้วยสภาพเช่นนี้เอง จึงมีเสียงคาดหมายกันว่า ตราสารหนี้ของรัฐสมาชิกบางรายในสหภาพ การเงินยุโรป มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเศษกระดาษมากมายกว่าตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ

ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะบั่นทอนความกระตือรือร้นต่อการถือเงินยูโร ยังมีในมิติอื่นอีก อาทิ แนวโน้มที่ผู้คนจะชื่นชมนโยบายเงินเฟ้อต่ำน้อยลงไป ถ้าอัตราการว่างงานยังคงสูงลิ่ว, ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการพิพาทเชิงนโยบายระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพการเงินยุโรป, อันตรายที่สหภาพการเงินยุโรป อาจแตกเป็นเสี่ยง หากความแตกต่างของนโยบายเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ประนีประนอมกันไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น นักเศรษฐศาสตร์บางคนโต้แย้งว่า ฐานะการเป็นเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นที่ไว้วางใจยิ่งกว่าเงินตราสกุลอื่นใดของดอลลาร์นั้น ยังสัมพันธ์อยู่กับฐานะการเป็นอภิมหาอำนาจในทางการเมืองและการทหารของสหรัฐฯ อีกด้วย โดยที่สิ่งนี้ทางยุโรปไม่อาจอวดอ้างทาบรัศมีได้เลย นั่นคือทัศนะของคิต จุคส์ นักยุทธศาสตร์ค้าเงินตรา แห่ง แนตเวสต์ โกลบอล ไฟแนนเชียล มาร์เก็ตส์ ในกรุงลอนดอน ซึ่งกล่าวว่า "การที่ยูโรจะแข่งขันกับดอลลาร์เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทั่วโลกนั้น ยูโรแลนด์จะต้องค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองเป็นมหาอำนาจทางการเมืองที่มีความเป็นเอกภาพกัน"

ด้านศาสตราจารย์นีลยอมรับว่า เงินยูโรจะเป็นประโยชน์แก่พวกนักเดิน ทางและบริษัทซึ่งทำธุรกิจอยู่ในยุโรป เพราะจะลดต้นทุนในการทำธุรกิจและทำให้การใช้ชีวิตยุ่งยากน้อยลงมาก แต่สำหรับผลประโยชน์อย่างอื่นๆ ของการ รวมตัวเป็นสหภาพทางการเงินแล้ว เขายังข้องใจว่ามีอยู่จริงหรือไม่ "มันเป็น การทดลองขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก และคนยุโรปคิดว่ามันจะทำให้พวกเขามีความได้เปรียบขึ้นมาก ในแง่ของการได้ต้นทุนเงินทุนซึ่งถูกลง แต่ผมเชื่อว่าพวกเขาจะต้องผิดหวัง" นีลฟันธงไว้อย่างนั้น

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนสนับ สนุนทัศนะนี้ โดยชี้ว่าฐานะครอบงำโลกของดอลลาร์สามารถฟันฝ่าภัยคุกคาม ทำนองเดียวกันนี้มาได้หลายระลอกแล้วในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา และก็ไม่น่าที่จะยอมแพ้ไปง่ายๆ ในคราวนี้ ตัวอย่างเช่น ฌอง-ฟรองซัวส์ เมร์ซิเอร์ นักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศแห่ง ซาโลมอน สมิธ บาร์นีย์ ในลอนดอน กล่าวว่า ถึงแม้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะเติบโตอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังในช่วงระหว่างทศวรรษ 1960 จนถึงปลายทศวรรษ 1980 แต่การศึกษาวิจัยต่าง ๆ กลับแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีการใช้เงินเยนเป็นเงินตราในการทำธุรกิจหรือในการเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้นตามส่วนเลย ดอลลาร์จึงยังคงครอบงำโลกอยู่ในทุกวันนี้

เหตุผลหนึ่งคือเพราะชาติเอเชียจำนวนมาก ตรึงค่าเงินของพวกเขาไว้กับดอลลาร์ และอีกเหตุผลหนึ่งนั้นเป็นเรื่องของแรงเฉื่อยโดยแท้ เมื่อการใช้เงินดอลลาร์กลายเป็นนิสัยและความเคยชิน ผู้คนและสถาบันต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่จะใช้ดอลลาร์เป็นทุนสำรองกันต่อไป เกรก เจนเสน หุ้นส่วนคนหนึ่งของ บริดจ์วอเตอร์ แอสโซซิเอตส์ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารเงินที่อยู่ในเมืองวิลตัน มลรัฐคอนเนกติกัต สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า 50% ของการหมุนเวียนทางการค้าในโลก จะกำหนดมูลค่ากันเป็นดอลลาร์ หรือเกือบเป็น 3 เท่าของส่วนแบ่งในการค้าโลกของสหรัฐฯ เอง นอกจากนั้นทุนสำรองของธนาคารกลางชาติต่างๆ ก็เป็นสกุลดอลลาร์เสียประมาณ 64% โดยที่ตัวเลขนี้ค่อนข้างคงที่มาได้สิบกว่าปีแล้ว

เมร์ซิเอร์แห่ง ซาโลมอน สมิธ บาร์นีย์ ไม่คิดว่าธนาคารกลางต่างชาติ จะเปลี่ยนไปถือทุนสำรองเป็นเงินยูโร อะไรกันมากมายในระยะใกล้ๆ นี้ ธนาคารกลางนอกสหภาพยุโรปจำนวนมาก น่าจะต้องการรอดูไปสักระยะหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนทุนสำรองของตัวเอง เป็นสกุลเงินใหม่ ยิ่งกว่านั้นแล้ว บางประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางแถบเอเชีย ยังไม่ได้มีสายสัมพันธ์ทางการค้าอันแข็งขันกับทางยุโรปอีกด้วย ดังที่เมร์ซิเอร์ตั้งคำถามว่า "ทำไมสำนักงานการเงินสิงคโปร์ (ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นธนาคารกลางของสิงคโปร์) จึงจะต้องการถือเงินยูโรเป็นสัดส่วนมากขึ้นล่ะ ถ้าหากโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (ซึ่งเป็นการค้ากับสหรัฐฯ และเอเชียเสียส่วนใหญ่) ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน"

สำหรับนักลงทุนปัจเจกบุคคล กองทุนบำนาญ กองทุนรวม และบริษัท ประกันภัยทั้งหลายแล้ว การที่จะหันไปถือทรัพย์สินสกุลยูโรกันมากน้อยแค่ไหน ไปๆ มาๆ ก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของทรัพย์สินเหล่านี้เองมากกว่า "หากเงินยูโรไม่สามารถทำให้ผลประกอบการของทรัพย์สินในยุโรปพลิกผันดีขึ้นค่อนข้างมากแล้ว คุณก็ไม่ต้องคาดหวังเลยว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในการลงทุนของพวกนักลงทุนภาคเอกชน สู่อาณาบริเวณเฉพาะใดๆ" เมร์ซิเอร์กล่าว

จุคส์แห่งแนตเวสต์กล่าวว่า การที่อเมริกายังคงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมโหฬาร โดยนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้ จาก 155,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นคุณูปการต่อฐานะของดอลลาร์ ในการเป็นเงินตราซึ่งถูกใช้เป็นทุนสำรองกันอย่างกว้างขวาง เขาอธิบายแนวความคิดของเขาว่า เมื่อคนอเมริกันยังคงซื้อสินค้ามากกว่าที่พวกเขาขายให้แก่ชาวต่างชาติ ทั่วโลกก็มีเงินดอลลาร์ท่วมท้นไปหมด บรรดาธนาคารกลางนั้น "นำสิ่งที่พวกเขาได้รับมาเก็บไว้เป็นทุนสำรอง ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องเลือกมาเก็บ" จุคส์กล่าว แต่สำหรับยูโรแลนด์แล้วเนื่องจากส่งออกมากกว่านำเข้า พวกเขาได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด ดังนั้นจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ตรงกันข้าม

แน่นอนที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกลับรู้สึกว่า ปัญหาเกี่ยวกับฐานะครอบงำของเงินตราที่พูดกันนี้ เป็นการพูดกันแบบเกินเลยเสียทั้งสิ้น จอห์น ลีเวลลีน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ซึ่งรับผิดชอบการวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลก แห่ง เลแมน บราเธอร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ในลอนดอน บอกว่า การที่ชาติหนึ่งชาติใดจะสามารถใช้สกุลเงินตราของตัวเอง มาอุดการขาดบัญชีเดินสะพัดนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยลงไปมากเสียแล้วในยุคปัจจุบัน ซึ่งประเทศเศรษฐกิจใหญ่ๆ ต่างกำลังใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบปล่อยลอยตัวกันอยู่ ไม่เหมือนกับที่ยังเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว ซึ่งล่มสลายไปในตอนต้นทศวรรษ 1970

"สิ่งที่คุณแม่ของคุณต้องการก็คือ เงินของเธอจะต้องรักษาค่าของมันไว้ได้เมื่อเปรียบเทียบกันทั้งโลก และเธอจะต้องสามารถได้รับอัตราผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล ลีเวลลีนบอก "ในแง่นี้แล้ว หากเธออยู่ในยุโรป เธอต้องเป็นห่วงแน่ว่าเงินยูโรแข็งแรงหรือเปล่า แต่แข็งแรงนี้ไม่ได้แปลว่าต้องมีฐานะครอบงำ เอาเพียงแค่ว่าสามารถดำรงค่าของมันไว้ได้ก็พอแล้ว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.