สาริน ซิตี้ เดินเครื่องต่อไม่ยอมรอเจ้าหนี้รายใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากวันที่ 2 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ ปรส. ประมูลขายสินเชื่อธุรกิจล็อตสุดท้ายนั้น ลูกค้าในโครงการสารินซิตี้โครงการใหญ่ยักษ์บนถนนธนบุรีปากท่อกิโลเมตรที่ 17 ก็คงได้รับรู้กันไปแล้วว่าเจ้าของ โครงการรายใหม่เป็นใคร

ในขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่และ เจ้าของโครงการคนเก่า เช่น วิศรุต ชัยปาณี เมธี เอื้ออภิญญากุล แห่งกลุ่มเหมืองบ้านปู และชนินทร์ ว่อง กุศลกิจ แห่งค่ายน้ำตาลมิตรผล ผู้ซึ่งพลอยเจ็บปวดกับโครงการนี้เช่นเดียวกับลูกค้าทุกราย ได้พยายามแสดงความรับผิดชอบอย่างถึงที่สุด หากช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อโครงการไปติดอยู่กับปรส. การดำเนินการใดๆ ก็เลยทำได้ยาก

แต่ด้วยศักดิ์ศรีรวมทั้งการมองการณ์ไกลที่ว่า หากยังจะต้องการเดินอยู่บนถนนสายเรียลเอสเตทต่อไป ควรจะรีบหาทางช่วยเหลือลูกค้าให้ได้มากที่สุด ผู้บริหารกลุ่มนี้จึงได้ตัดสินใจไม่รอขั้นตอนการประมูลของ ปรส. โดยติดต่อไปยังบริษัทซีคอนบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการหมู่บ้านเศรณี ซึ่งเป็นโครงการที่ติดอยู่กับ ปรส.เช่นกัน ให้เข้าไปรับสร้างบ้านให้กับลูกค้าจำนวนอีกหลายรายที่ได้ผ่อนบ้านส่วนหนึ่งมาแล้ว

หลังจากบริษัทซีคอนเข้าไปตรวจสอบโครงการ ก็พบถึงความตั้งใจจริงของกลุ่มผู้บริหารที่จะช่วยเหลือลูกบ้าน รวมทั้งเห็นความคืบหน้าของระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดที่ทำไว้อย่างได้มาตรฐาน ทางซีคอนก็เลยยอมเซ็นสัญญาที่จะให้ความร่วมมือไปแล้วเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2541 ที่ผ่านมา

หลังจากนั้นทางผู้บริหารสารินซิตี้ก็ได้สำรวจความต้องการบ้านของลูกค้าที่ซื้อไปแล้ว ว่าถ้าซีคอนมาสร้างบ้านต่อให้ โดยต้องทำตามเงื่อนไขที่ว่าต้องจ่ายดาวน์เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30% จะยอมหรือไม่ และคราวนี้เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงว่าไม่มีการนำเงินไปใช้ผิดประเภทอีก ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินผ่านบัญชีกลางที่ทางซีคอน และบริษัทสารินเป็นผู้เบิกเงินร่วมกัน และเบิกได้เพื่อใช้ในงานก่อสร้างเท่านั้น

ภายหลังจากการสำรวจ ก็พบว่ามีลูกค้าในบ้านกลุ่มแรกที่ขายไปแล้ว ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยวราคาประมาณ 1.5-3 ล้าน บาท ยินยอมมาเป็นจำนวนมาก ส่วนจะแบ่งงวดผ่อนชำระเงินดาวน์ที่เหลืออย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการตกลงกัน ถ้าลูกค้าอยากได้บ้านเร็ว ก็ต้องผ่อนเงินดาวน์ประมาณ 8 งวด เพราะทางซีคอนสามารถสร้างบ้านได้ภายในเวลา 7-8 เดือน แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องจำนวนเงินต่องวดที่อาจจะสูงไปก็ขยายเวลาออกไปก็ได้

ทางกลุ่มผู้บริหารของสาริน ซิตี้ และซีคอน คาดหวังว่าเมื่อลูกค้ามองเห็นความตั้งใจจริงของบริษัทก็อาจจะเข้ามาผ่อนบ้านต่อเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันเมื่อทราบว่าผู้ประมูลโครงการนี้จากปรส.เป็นใครแล้ว ผู้บริหารจะต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้รายใหม่ และ ปรส.เอง ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะอย่างน้อยเจ้าหนี้รายใหม่ก็คงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปเหมือนกัน ถึงแม้จะทำให้ยอดมูลหนี้ลดลงก็ตาม

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2539 ซึ่งเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสุดๆ ในยามนั้นบริษัทมืออาชีพยักษ์ใหญ่ทางด้านบ้านจัดสรรรายอื่นๆ แทบจะหยุดการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ หรือเฟสใหม่ๆ กันถ้วนหน้า แต่บริษัทสารินพร็อพเพอร์ตี้บริษัทที่เพิ่งเปิดมาเพียง 7 ปี มีโครงการพัฒนาที่ดินเพียง 4 โครงการ กลับสวนกระแสคือกล้าก้าวกระโดด เปิดโครงการใหญ่ในพื้นที่ 6,000 ไร่ด้วยมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท โดยมีบริษัทเคทีจีวาย อินเตอร์แอสโซซิเอทส์ เป็นผู้รับผิดชอบในการวางผังเมือง พร้อมๆ มีการโหมโฆษณาในสื่อต่างๆ รวมทั้งการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ใช้งบไปไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

เราขายเมือง ไม่ได้ขายบ้าน คือจุดยืนของบริษัทในตอนนั้น โดยวางแผนไว้ว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาและสร้างเมืองนี้ประมาณ 10 ปี แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 โซน ประกอบด้วย 1. สารินพาร์คแกลลอรี่ เป็นบ้านเดี่ยวที่ดินเปล่าและอาคารพาณิชย์จำนวน 1,061 ยูนิต พื้นที่ 500 ไร่ มูลค่า 1,500 ล้านบาท 2. สาริน ซิลเวอร์เลค เป็นบ้านเดี่ยว ริมน้ำและที่ดินเปล่าจำนวน 702 ยูนิต 3. เป็นชุมชนพักอาศัย4. เป็นส่วนพาณิชยกรรมและบริการสาธารณะ

สาริน ซิตี้ เป็นเรื่องราวในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่พูดถึงกันอยู่นานในครั้งนั้น

แล้วในที่สุดโครงการนี้ก็ไปไม่ถึงดวงดาวจริงๆ เมื่อสถาบันการเงินหลักที่ปล่อยกู้ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยนั้นถูกรัฐบาลสั่งปิด

กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการสารินซิตี้ นอกจากวิศรุต เมธี และชนินทร์ แล้วก็ยังมีบงล.เอกธนา บงล.ไอทีเอฟ บง.เอกธนกิจ และบง.ยูไนเต็ด เม็ดเงินที่ได้มาจากสถาบันการเงินนี้ว่ากันว่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทในขณะเดียวกันยังมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ปิด และกลุ่มผู้ถือหุ้นเองที่จำต้องควักกระเป๋าเอาเงินมาหล่อเลี้ยงโครงการไปเรื่อยๆ

เม็ดเงินส่วนใหญ่ถูกหว่านลงไปอย่างหนักในเรื่องของระบบสาธาร-ณูปโภค ในขณะที่บ้านเดี่ยวที่ขายได้ในเฟสแรกๆ นั้นเริ่มงานก่อสร้างไปเพียง 10 กว่าหลังเท่านั้น

การร่วมมือกับทางซีคอน เพื่อแสดงให้เห็นว่ายังไม่ยอมทิ้งลูกบ้าน แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นทางเลือก ทางเดียวที่ยังเหลืออยู่จริงๆ สำหรับ ก้าวย่างต่อไปบนถนนสายเรียลเอสเตทนี้ของกลุ่มนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.