ไม่มีอีกแล้ว…สินค้าตกรุ่นที่ U-FO


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

"U-FO" ร้านเสื้อผ้าตกรุ่นในเครือพีน่า เฮาส์ กรุ๊ป ปรับตัวครั้งมโหฬาร ลบภาพความเป็น FACTORY OUTLET ที่มุ่งเน้นขายสินค้าตกรุ่นราคาถูก แบรนด์ดังในเครือพีน่าฯ อาทิ PENA HOUSE, BNN, GALLOP...เปลี่ยนรูปโฉมใหม่ สร้างความเป็นตัวของตัวเองด้วยการผลิตสินค้าชูแบรนด์ของตัวเอง พร้อมเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ร้านเป็น U-FO CLOTHING COMPANY เพื่อ หลีกปัญหาขาดแคลนสินค้า เนื่อง จากปัจจุบันสินค้าแต่ละแบรนด์ในเครือของพีน่าฯ ได้มีการปรับการผลิต ให้สอคคล้องกับความต้องการของตลาดและภาวะเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้คุ้มค่าที่สุด ดังนั้นจึงไม่เหลือสินค้าในสต็อกมากดังเช่นในอดีตอีกต่อไป

"จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แบรนด์แม่ของเราทุกแบรนด์เริ่มควบคุมค่าใช้จ่าย การทำงานรัดกุมมากขึ้น จึงไม่มีสินค้าตกรุ่นเหลือตกทอดมาที่ U-FO ในรูปแบบเก่า เมื่อเป็นเช่นนี้ U-FO จึงต้องเดินด้วยตัวเอง" นี่คือเหตุผลหลักที่สุพจน์ ตันติจิรสกุล ประธานบริษัท พีน่า เฮาส์ กรุ๊ป จำกัด ออกโรงมาแถลงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ หลังจากเก็บเนื้อเก็บตัวมานานแรมปี

สำหรับคอนเซ็ปต์และภาพลักษณ์ของ U-FO ใหม่นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตัวสินค้า การตกแต่งและจัดวางสินค้าภายในร้าน โดยสินค้าของ U-FO ภายใต้คอนเซ็ปต์ U-FO CLOTHING COMPANY จะเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมด ภายใต้ต้นทุนและราคาที่ต่ำ โดยมีสินค้าทั้งหมด 6 แบรนด์ ได้แก่ เสื้อผ้าวัยรุ่น SPIRIT OF CLOTHES, ESY, KNG และเสื้อผ้าเด็ก SKY ZONE รวมทั้งเสื้อผ้ากีฬา DO-SPORT ที่เคยโด่งดังเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สุพจน์ก็นำมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อจับตลาดเสื้อผ้าให้ครบวงจรมากขึ้น

ส่วนรูปแบบการจัดร้านจะเน้นบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกของความเป็น FACTORY OUTLET ที่ทันสมัยและมีลูกเล่นมากขึ้น ด้วยการใส่หุ่นยนต์เข้าไป และจัดไฟให้ดูเป็นร้านที่สว่างไสวน่าเข้า พร้อมกับมีการโชว์ราคาสินค้าที่หน้าร้าน เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ากล้าเดินเข้ามาในร้าน และมั่นใจว่าสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาไม่แพง

สาขาแรกของ U-FO ที่มีการเปลี่ยนแปลงเต็มรูปแบบคือ สาขาบริเวณพลาซ่าของเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ในขณะที่ U-FO มีสาขาในกรุงเทพฯทั้งสิ้น 20 สาขา และสาขาในต่างจังหวัดอีก 14 สาขา

"เราทยอยปรับเปลี่ยนสาขาของเรา ให้เป็นไปในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันให้ครบทุกสาขา และล่าสุดเราได้เปิดสาขาใหม่ที่เมเจอร์ รัชโยธิน และช็อปใหญ่ที่อำเภอเมืองภูเก็ตอีกด้วย และจากนี้ไป U-FO จะเป็นแหล่งรวมสินค้าที่เรียบง่าย ทันสมัย แต่ไม่แฟชั่นจ๋าชนิดที่มีอายุสั้นๆ ราคาย่อมเยา และแต่ละแบรนด์จะมีคอนเซ็ปต์และคาแร็กเตอร์ของตัวเอง เพื่อให้ลูกค้าไปเลือกได้ตรงใจที่สุด" สุพจน์ กล่าวถึง U-FO โฉมใหม่

นอกจากการปรับเปลี่ยนชอป U-FO เป็นรูปโฉมใหม่ในแต่ละสาขาแล้ว ประธานพีน่าฯ ยังเผยแผนการตลาดว่า เป้าหมายต่อไปของ U-FO คือ การบุกพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า ด้วยการเปิดเป็นชอป U-FO เต็มรูปแบบบนเนื้อที่ประมาณ 200-300 ตร.ม. เพื่อทดแทนพื้นที่เดิมที่เคยเป็นส่วนของสินค้านำเข้าที่พร้อมใจกันหลบฉากไป หลังจากพิษค่าเงินบาท ทำให้สุพจน์ มองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปทำตลาดในห้างสรรพสินค้า จากอดีตที่เคยอยู่แต่ในบริเวณของพลาซ่าเท่านั้น

"การใช้คอนเซ็ปต์นี้ในพื้นที่ประมาณ 200-300 ตร.ม.ภายในห้าง สรรพสินค้า ยังไม่เคยมีซัปพลายเออร์ในเมืองไทยทำมาก่อนเลย เราถือว่าเป็นรายแรกที่กล้าทำ และห้างสรรพสินค้าหลายแห่งก็ยินดีร่วมมือกับเรา เนื่องจากวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดในบ้านเราในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ซัปพลายเออร์ในตลาดเมืองไทยอ่อนแอลงไปมาก ยอดขายสินค้าในห้างก็ตกต่ำลงไปด้วย แต่สินค้าของ U-FO จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ส่วนหนึ่ง จากสินค้าราคาต่ำ คุณภาพสูงที่จะกระตุ้นการจับจ่ายของลูกค้า อันจะทำให้ยอดขายของให้ห้างดีขึ้นด้วย" สุพจน์ผู้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เพื่อความอยู่รอดของพีน่าฯ ซึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เขาเชื่อว่ายอดขายของพีน่าฯจะเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

"เราไม่ใช่ต้นแบบของใคร แต่เราทำเพื่อความอยู่รอด แม้ว่าเราจะเป็น CLOTHING COMPANY แต่เราก็ไม่ได้เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เรายังพยายามรักษาสิ่งที่ลูกค้าคุ้นเคยอยู่แล้ว เรามีการพัฒนาเมอแชนไดส์และซอฟต์ แวร์ภายในของเราให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง และถ้าโชคดีเราสามารถหลุดจากวิกฤติได้ก่อนคนอื่น เราก็หวังว่าชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนจะเริ่มดีขึ้น ไม่ต้องหวาดผวากับการไม่มีงานทำอีกต่อไป" สุพจน์กล่าว

นอกจากนั้น เขาได้เล่าถึงสาเหตุหลักอีกประการที่ทำให้พีน่าฯ มีกิจกรรมที่สร้างความตื่นตัวในวงการอุตสาหกรรม เสื้อผ้าของเมืองไทยขึ้นมาในช่วงปลายปีก็คือ ผลพวงจากสถานการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยในปีที่แล้ว เขาได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของเครือพีน่าไว้ว่า จะมุ่งเน้นตลาดส่งออกให้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 10% เป็น 20% ในปีนี้ เพื่อทดแทนตลาดภายในประเทศที่หดตัวลงมาก แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามคาด การทำตลาดต่างประเทศไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากสินค้าของพีน่าเป็นสินค้าที่ขายแบรนด์ของตัวเอง มิใช่รับจ้างผลิต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะสร้างแบรนด์พีน่าให้เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ ด้วยเวลาเพียงครึ่งปี เขาจึงต้องรีบหักหัวเรือกลับมากินปลาในอ่าวไทยต่อไป ด้วยการกลับมามุ่งเน้นตลาดในประเทศ และหวังใช้ U-FO เป็นฐานรายได้ที่สำคัญในปีนี้ และปีหน้า

บทเรียนครั้งนี้ เป็นการเตือนให้สุพจน์รู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาควรให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศเท่าๆ กับตลาดในประเทศ เขามีจุดแข็งในแง่ของแบรนด์ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในประเทศแล้ว เพียงแต่เขาต้องหาทางออกไปสร้างแบรนด์ของตัวเองยังต่างประเทศ เพื่ออนาคตที่รุ่งเรืองของชาวพีน่า เฮาส์...เพียงแต่...เขามองเห็นหรือยัง??



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.