เศรษฐีมาเป็นนักการเมืองอีกคนหนึ่งแล้ว
ดิฉันหมายถึงนายกเทศมนตรีนคร นิวยอร์กคนใหม่ ไมเคิล อาร์. บลูมเบิร์ก (Michael
R. Bloomberg) หรือที่คนอเมริกันโดยทั่วไปนิยมเรียกชื่อแรกของเขาสั้นๆ ว่า
"ไมก์"
การใช้คำว่า "เศรษฐี" กับบลูม เบิร์ก อาจจะผิดไปเสียด้วยซ้ำ ที่ถูกต้องควรจะเรียกเขาว่า
"อภิมหาเศรษฐี" เนื่อง เพราะเขามีทรัพย์สินเงินทองมูลค่า ไม่ ต่ำกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือ ประมาณ 1 แสน 7 หมื่นล้านบาท
และชัยชนะที่เขาได้มาครั้งนี้ นัก วิเคราะห์ทุกสำนักระบุตรงกันว่า เงินคือตัวชี้ขาดที่สำคัญที่สุด
รายงานข่าวระบุว่าบลูมเบิร์กใช้งบประมาณในการรณรงค์หาเสียงครั้งนี้สูงถึง
50 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2,220 ล้านบาท
เงินจำนวนเท่านี้ไม่ทำให้ขนหน้าแข้งของบลูมเบิร์กร่วง!
นอกเหนือจากทุนอันล่ำซำของบลูมเบิร์กแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บลูมเบิร์กได้รับชัยชนะก็คือ
การได้รับเสียงสนับสนุนจากรูดอล์ฟ จูลีอานี (Rudolph Giuliani) นายกเทศมนตรี
นครนิวยอร์กซึ่งกำลังจะหมดวาระ เพราะ เป็นที่ทราบกันดีว่าเวลานี้ จูลีอานีเป็น
"ขวัญใจ" ของชาวนิวยอร์ก (อ่านเรื่องของ รูดอล์ฟ จูลีอานี ได้ใน "ผู้จัดการรายเดือน"
ฉบับเดือนตุลาคม 2544)
ย้อนอดีตของบลูมเบิร์ก...
ไมเคิล บลูมเบิร์ก เกิดในวันวาเลนไทน์ ของปี 2485 ในครอบครัวชนชั้นกลาง
โดยบลูมเบิร์กผู้พ่อเป็นพนักงานบัญชีของร้านขายนมและผลิตภัณฑ์นม
บลูมเบิร์กซึ่งโตมาในย่านนอกเมืองบอสตัน สนใจเรื่องราวของข่าวสารและเทค
โนโลยีมาตั้งแต่ยังเยาว์ เขาจบปริญญาตรีจาก Johns Hopkins University โดยระหว่างนั้น
นอกจากจะต้องกู้เงินเรียนแล้ว เขายังทำงาน รับจ้างจอดรถอีกด้วย หลังจากนั้น
เขาก็ไปเรียนต่อด้าน MBA ที่ Harvard University
ปี 2509 เขาเข้าเป็นพนักงานของ Salomon Brothers
ในเวลาเพียง 6 ปี บลูมเบิร์กก็ได้เป็นหุ้นส่วนของ Salomon Brothers โดยดูเรื่องการค้าขายหุ้นและระบบข้อมูล
แต่แล้ว เขาก็ถูกให้ออก หลังจากที่ Pilbro Corpo-ration ได้เข้าซื้อกิจการของ
Salomon Bro-thers ในปี 2524
บลูมเบิร์กไม่ได้ออกจาก Salomon Brothers แบบตัวเปล่า เขาได้เงินติดตัวมาด้วย
10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 444 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้เองที่บลูมเบิร์ก
ได้นำไปก่อตั้ง Bloomberg L.P. พร้อมกับนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล
จากวันนั้นถึง วันนี้ Bloomberg L.P. มีสมาชิกทั่วโลก 160,000 ราย
สร้างอาณาจักรสื่อบลูมเบิร์ก...
ปี 2533 บลูมเบิร์กได้ก่อตั้ง Bloom- berg News ขึ้น เพื่อให้บริการข่าวสารด้าน
การเงินเป็นด้านหลัก Bloomberg News เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีนักข่าวและบรรณาธิการข่าว
1,200 คน ประจำอยู่ตาม สำนักงาน 82 แห่งทั่วโลก
ต่อมา Bloomberg Radio ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2536
ถัดจากนั้นอีก 1 ปี Bloomberg Television ก็เปิดตัว และขยายตัวไปทั่วโลก
ในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบัน Bloomberg Television มีทั้งหมด 10 เครือข่าย
และออกอากาศ 7 ภาษา
จากวิทยุ โทรทัศน์ ก็ถึงคราวของ Bloomberg.com ในปี 2538
นอกจากนั้น Bloomberg L.P. ยังพิมพ์หนังสือชุดอีก 2 ชุด และเป็นเจ้าของ
นิตยสารอีก 5 เล่ม ซึ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย ไปที่นักลงทุน
ความสำเร็จของ Bloomberg L.P. ได้มาจากการทำงานหนักของบลูมเบิร์ก บ่อยครั้งที่ในช่วงบุกเบิกเขาทำงานถึง
วันละ 14 ถึง 16 ชั่วโมง
อภิมหาเศรษฐีใจบุญผู้โลดโผนและหรูเลิศ...
ภาพของบลูมเบิร์กที่ปรากฏออกมาสู่สาธารณชน คือภาพของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนร่ำรวยเข้าขั้นอภิ-มหาเศรษฐีของโลก
เป็นเรื่องปกติที่มีข่าวว่าบลูมเบิร์ก ใช้เงินไปถึง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือเกือบ 90 ล้านบาท สำหรับจัดงานปาร์ตี้ของบริษัทที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
และปกติอีกเช่นกัน กับข่าวที่ว่าบลูมเบิร์ก ซึ่งเป็นแฟนกีฬาม้าแข่งตัวยง
ได้ขนเพื่อน สนิทมิตรสหายจำนวนมากขึ้นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวไปร่วมงาน Royal
Ascot อันทรงเกียรติของอังกฤษ
เป็นเรื่องปกติสำหรับอภิมหาเศรษฐีอย่างบลูมเบิร์ก ที่จะมีบ้านพักมากมายหลายแห่ง
ไม่ว่าจะเป็นที่แมนฮัตตัน ลอนดอน โคโลราโด หรือเบอร์มิวดา โดยเขา จะเดินทางไปมาด้วยเครื่องบินและเฮลิคอป
เตอร์ ซึ่งบ่อยครั้งบลูมเบิร์กจะขับเครื่องบินเอง
แม้จะขึ้นชื่อว่าใช้เงินเป็นเบี้ยเพื่อความสำราญอย่างหรูเลิศอลังการ แต่บลูม
เบิร์กก็ใช้เงินไม่น้อยไปกับการบริจาคเพื่อการกุศลในหลายรูปแบบด้วยกัน โดยเฉพาะบริจาคให้กับสถาบันการศึกษาที่เขาเคยร่ำเรียนมา
ทั้งที่ Johns Hopkins University และ Harvard University
ปี 2540 บลูมเบิร์กได้มอบเงินรายได้จากการขาย "Bloomberg by Bloomberg"
หนังสืออัตชีวประวัติของเขาให้กับ Commit-tee to Protect Journalists
ใครอยากรู้จักบลูมเบิร์กจากด้านของ เขา ควรอ่านหนังสือเล่มนี้
ระยะหลังเมื่อภาพความหรูหราฟุ้งเฟ้อ ของบลูมเบิร์กปรากฏต่อสาธารณชนบ่อยขึ้น
ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองว่าชีวิตทั้งหมด ของเขาเป็นเช่นนั้น แต่ผู้ที่ใกล้ชิดกับบลูมเบิร์ก
กลับมองต่างออกไป พวกเขาย้ำว่าบลูมเบิร์ก ยังคงเห็นงานสำคัญกว่าเรื่องเล่นหรูหราทั้งหลาย
และที่สำคัญเขาไม่เคยลืมชีวิตในอดีต ที่ครอบครัวของเขาต้องใช้เงินแบบเดือนชนเดือน...
สำหรับคนใกล้ชิดแล้ว บลูมเบิร์กเป็น คนซีเรียส!
ส่วนเรื่องที่เขาลงสู่สนามการเมืองนั้น ในสายตาของคนทั่วไปแล้วอาจมองว่า
ไม่เป็นเรื่องแปลก ที่บลูมเบิร์กซึ่งประสบความสำเร็จทางธุรกิจ จะหันไปข้องแวะกับงานสังคม
งานการกุศล และตามด้วยงานการเมือง
แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งกลับไม่ชอบใจที่บลูมเบิร์กลงเล่นการเมือง...
โดยเฉพาะไม่ชอบใจแนวความคิดของบลูมเบิร์ก ที่ใช้เงินรณรงค์หาเสียงทาง การเมืองในรูปแบบเดียวกันกับการบริจาค
เงินเพื่อการกุศล!
กลุ่มคนที่ไม่ชอบบลูมเบิร์กนี้กลัวว่า การที่บลูมเบิร์กลงทุนเปลี่ยนพรรคจาก
เดโมแครตมาเป็นรีพับลิกัน ในการลงสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กครั้งนี้
ไม่ใช่เพื่อทำให้โลกดีขึ้น แต่เพื่อทำให้ตัวของเขาเองได้อยู่ในที่ที่ดีขึ้นต่างหาก!
เรื่องนี้คงต้องรอให้เวลาเป็นเครื่อง พิสูจน์
พ่อม่ายเนื้อหอมบลูมเบิร์ก...
ไมเคิล บลูมเบิร์ก ครองตัวเป็นหนุ่มโสดเนื้อหอมมาโดยตลอดหลังการหย่าร้าง
เขามีลูกสาว 2 คน คนหนึ่งอายุ 22 ปี และอีกคนหนึ่งอายุ 18 ปี แม้บลูมเบิร์กจะชื่อเสียในเรื่องทัศนะเกี่ยวกับ
ผู้หญิง แต่ชีวิตของเขาก็มีผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ขาดสาย ผู้หญิงคนล่าสุดที่คบ
กับบลูมเบิร์กอยู่เวลานี้คือ ไดอานา เทย์ เลอร์ (Diana Taylor) ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของ
Long Island Power Authority
ชัยชนะของบลูมเบิร์กเป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กครั้งนี้ เป็นธรรมดา ที่กลุ่มซึ่งสนับสนุนเขายินดีปรีดา
ขณะที่ กลุ่มซึ่งไม่เห็นดีเห็นงามกับการลงสนามการเมืองของบลูมเบิร์กกลับมองว่า
ชัย ชนะของเขาอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจย่อมประสบ
ความสำเร็จทางการเมือง และประการที่สองคือ คนที่มีเงินมากย่อมดีกว่าคนที่ไม่มี
เขียนมาถึงตรงนี้ ดิฉันรู้สึกว่านิวยอร์กกับกรุงเทพฯมีบางสิ่งบางอย่างเหมือนกัน
หรือถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียง...
รู้สึกเหมือนดิฉันกันไหมคะ!