"ลึก" แต่ "ไม่ลับ" "ไม่ลับ" แต่ทำไม "ไม่รู้" ตรงนี้แหละที่ยิ่งทำให้ "อยากรู้"
ความอยากรู้อยากเห็นเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ถึงแม้บางคนปากบอกว่าไม่สนใจ
ไม่อยากเป็นข่าว แต่เข้าตำราปากว่าตาขยิบ ซึ่งก็มีมาก คอลัมน์สังคมซุบซิบ
จึงยังขายได้ จำเป็นต้องมีในสื่อสิ่งพิมพ์เกือบทุกฉบับ ในทีวีทุกช่องหรือแม้แต่ในอินเทอร์เน็ตออนไลน์
เจ้าของข่าวสังคมกอสซิปที่ "ผู้จัดการ" เขียนถึงในฉบับนี้มี
2 คน คนแรกคือ แถมสิน รัตนพันธ์ เจ้าของนามปากกา "ลัดดา ซุบซิบ"
ที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง และคัทลียา นุดล เจ้าของคอลัมน์ "คัทลียา
จ๊ะจ๋า" ที่โด่งดังไม่แพ้กัน
ลัดดาเป็นชื่อภรรยาของแถมสิน เขาเป็นชาวปักษ์ใต้ จังหวัดพัทลุง บ้านเดียว
กับคัทลียา นุดล และโรจนา สวนรัตน์ ภรรยาคนปัจจุบันของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์
คนที่ลัดดาให้ความนับถือและเรียกชื่อติดปากว่า "พี่หมึก"
เป็นบุตรของ ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ และ แส โกศัยกานนท์ ร.ต.ถัด เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก
เลขประจำตัว 945 ผู้ร่วมก่อการกบฎ รศ.130 ผู้ซึ่งเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุง
และสยามราษฎร์ ราวปี พ.ศ.2476 เป็น ส.ส.พัทลุงคนแรกและเลขานุการ รมต.มหาดไทย
(จอมพล ป.พิบูลสงคราม)
มีพี่สาวที่ชื่อเพราะพริ้งจากอักษรชื่อของพ่อและแม่มารวมกันอีก 3 คนคือ
แถมสุข, แถมศรี และแถมสร้อย
เคยเป็นเพื่อนร่วมห้องรุ่นลมหวน กับอานันท์ ปันยารชุน และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ปากคลองตลาด เมื่อปี พ.ศ.2483-2485
เข้าสู่วงการน้ำหมึกโดยเริ่มงานเขียนในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2496 เป็นหนังสือพิมพ์ในวงการมวย
วงการบันเทิง ริเริ่มเขียนข่าวสังคมในหนังสือรายวันเป็น คนแรก โดยคำแนะนำของกำพล
วัชรพล และได้เปิดคอลัมน์ลัดดาซุบซิบในหนังสือ เสียงอ่างทองของกำพล เมื่อปี
2502 เป็นข่าวซุบซิบสั้นๆ และหลังจากนั้นคอลัมน์ "ลัดดาครอบสังคม" "ลัดดาเอกซ์คลูซีฟ"
และ "ลึกไม่ลับกับลัดดา" ก็เกิดขึ้นตามมาในหนังสือเดลินิวส์ มติชน และสกุลไทย
ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตลัดดาซุบซิบอยู่หลายฉบับมา เขาเคยเล่าว่าวันหนึ่งประมาณ
30 ข่าว สัปดาห์หนึ่ง 900 ข่าว ปีหนึ่งประมาณ 12,000 ข่าว เขียนมาทั้งหมด
30 กว่าปี
วิธีการที่ได้ข่าวมา นอกจากสายสัมพันธ์ที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ก็ยังมีกลุ่ม
เพื่อนฝูงคนรู้จัก และผู้ใหญ่ที่นับถืออีกประมาณ 40 คน โดยแต่ละคนก็จะ ช่วยส่งข่าวในแวดวงตัวเองเข้ามาประมาณ
5 ข่าวต่อหนึ่งสัปดาห์ แล้วก็เอา มากรองดูอีกทีว่าเรื่องไหนน่าสนใจก็พิมพ์ลง
ด้วยสำบัดสำนวนที่ไม่เหมือน ใคร โดยวิธีนี้ก็สามารถมีข่าวดีๆ ส่งสำนักพิมพ์ต่างๆ
ได้อย่างต่อเนื่อง
การเก็บข้อมูลของลัดดา เดิมจะจำไว้ในสมอง ต่อมาเมื่อมากขึ้นจึงเริ่มพิมพ์เก็บไว้ที่โน่นที่นี่บ้าง
กระจัดกระจายไว้ไปหมด ปัจจุบันจัดเก็บเป็นระบบขึ้นมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นผู้ช่วยที่สำคัญ
เช่นเมื่อจะเขียนถึงใครก็จะคลิกข้อมูลไปที่ชื่อคนนั้น ข้อมูลต่างๆ ก็จะไหลออกมาเอง
ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีค่ามหาศาลเพราะหาซื้อจากไหนก็ไม่ได้
ในขณะที่เขียนคอลัมน์ซุบซิบ ยังทำงานประจำอยู่หลายที่ เช่น การท่าเรือแห่งประเทศไทย
รวมทั้งหลายๆ ตำแหน่งในอดีต เช่น ที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจการรัฐวิสาหกิจ
ผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย
ทุกวันนี้ลัดดาไม่เขียนคอลัมน์ซุบซิบแล้ว แต่เปลี่ยนมาเป็นคอลัมน์ "ลึก"
(ไม่) "ลับ" กับลัดดาแทน ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่ได้รับการยอมรับว่า มีความหมายเต็มไปด้วยสาระ
มากกว่าข่าวสังคมซุบซิบที่มีอยู่ทั่วไป เพราะ เป็นการบอกกล่าวเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในข่าว
ด้วยข้อมูลที่ลึก (แต่ ไม่ลับ) จากลัดดา ผู้ซึ่งมีฐานข้อมูลแน่นหนามากว่า
40 ปี
การได้รู้ถึง วงศ์ตระกูล การศึกษา เพื่อนร่วมรุ่น และสายสัมพันธ์อื่นๆ
เป็นนัยสำคัญที่ทำให้คนอ่านชัดเจนกับที่มาของข่าวที่เกิดขึ้น และเป็นสีสัน
ที่สำคัญตลอดมาของคอลัมน์นี้ จนกลายเป็นหนังสือรวมเล่มที่กำลังเป็นที่สนใจเล่มหนึ่งในตลาด
ทุกวันนี้ ลัดดาในวัย 72 ปี ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อเขียนต้นฉบับส่งให้หนังสือพิมพ์สกุลไทยรายสัปดาห์เพียงแห่งเดียว
ก่อนที่จะออกจากบ้านไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
นายกสมาคม ลอนโบวล์ ที่ปรึกษานายกราชบัณฑิตยสถาน จะหาประเด็นเองว่าคนไหนน่าสนใจ
น่าเขียนถึง สังคมเขาสนใจใครกันอยู่แล้วก็นำมาหาข้อมูลเพิ่มเติม บางทีก็จะมีประเด็นจากเพื่อน
จากคนรู้จัก ที่โทรเข้ามา แฟกซ์ข้อมูลเข้ามาตลอด
สำหรับคัทลียา นุดล คนบ้านเดียวกัน เจ้าของคอลัมน์ซุบซิบอีกคนหนึ่งที่มีอิทธิพลในสังคมไทยโดยไม่รู้ตัวนั้นเป็นผู้หญิงร่างสูง
ซอยผมสั้น ท่าทางสมาร์ท
เป็นคนที่พูดภาษาเหนือก็ได้ ฟังภาษาใต้ก็เป็น เพราะเธอเป็นคนจังหวัดพัทลุง
แต่มาเกิดที่อำเภอบ่อยาง จังหวัดสงขลา เริ่มต้นการศึกษาด้วยการเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
กรุงเทพฯ และไปจบจากคณะสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียนจบคุณพ่อก็ฝากคนรู้จักให้เข้ามาทำงานในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อปี
พ.ศ.2517 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลายาวนานถึง 27 ปี
เข้าไปอยู่ในไทยรัฐช่วงแรกๆ เป็นเลขาคุณอุทรณ์ ซึ่งเป็นนักหนังสือ พิมพ์ใหญ่คนหนึ่ง
ต่อมาเป็นผู้ช่วยเลขาของคุณสมิต มานัสฤดี หัวหน้ากองบรรณาธิการ ช่วยงานทั่วไปในกองบรรณาธิการ
เช่น ช่วยคัดเลือกภาพงานข่าวแจกและบรรยายใต้ภาพของหน้า 4 ซึ่งเป็นภาพข่าวสังคม
พร้อมๆ กับไปช่วยทำข่าวหน้าบันเทิง
ประจำอยู่กับหน้าที่ดังกล่าวประมาณ 8 ปี ก็เกิดคอลัมน์ "คัทลียาจ๊ะจ๋า"
ขึ้นมาแทนคอลัมน์ "ลัดดาซุบซิบ" ของแถมสิน รัตนพันธุ์ ที่ลาออกไป
หลายคนอาจจะไม่คาดคิดว่าการใช้ชีวิตที่แท้จริงของเธอนั้นเรียบง่าย แตกต่างกันอย่าง
สิ้นเชิงกับลักษณะของเนื้องาน เธอเคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงสภาพของเธอตอนที่ได้รับมอบ
หมายให้เขียนข่าวสังคมว่า
"ร้องไห้แทบตายตอนนั้น เพราะตัวพี่ไม่ชอบข่าวสังคมเลย อาจจะคุยเก่งพูดสนุกก็ต่อเมื่ออยู่ในแวดวงคนใกล้ชิดเท่านั้น
และที่สำคัญพี่เป็นชาวบ้านธรรมดาที่มีสังคมของตัวเอง เล็กๆ ไม่ได้อยู่ในแวดวงไฮโซ
แต่เมื่อหัวหน้าเขามองว่าเราน่าจะทำได้ เราก็ต้องทำไปตามหน้าที่"
ตัวตนที่แท้จริงของเธอนั้นก็คือผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบอยู่บ้าน ดูหนังยูบีซี
อ่านหนังสือ บางวันก็นัดเจอเพื่อนฝูงกลุ่มที่รู้ใจมาทานข้าวด้วยกัน ซึ่งจะมีอยู่เพียงประมาณ
2-3 กลุ่มเท่านั้น และเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่เธอปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมออกไปงานสังคมตามการ์ดเชิญที่แต่ละวันมีจำนวนมากมาย
โชคดีที่เธอเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมานานหลายปี ซึ่งส่วนใหญ่
เป็นคนมีชื่อเสียง มาจากตระกูลที่ดี ข่าวที่ได้มาจากแม่เพื่อน พี่เพื่อน
น้องเพื่อนเหล่านี้ จึงค่อนข้างเป็นที่สนใจของกลุ่มคนทั่วไป
จากนั้นเครือข่ายตรงจุดนี้ก็ได้รับการขยายต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จากสังคมกลุ่มผู้ใหญ่ก็เริ่มลงมาที่เด็กๆ
และที่สำคัญก็มีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้ว่าคัทลียาไม่ชอบออกงาน ก็จะช่วยเป็น
หูเป็นตาหาข่าวมาให้ เพื่อนของเพื่อนก็อาจจะไปตั้งเครือข่ายไปตั้งกลุ่มที่ไว้ใจได้ต่อไปอีกที
เสน่ห์ในเนื้อข่าวของเธออยู่ตรงไหน ง่ายๆ สั้นๆ กระชับ เหน็บแกมหยอกนิดๆ
ประชดประชันหน่อยๆ ในความมากไปบางเรื่องของคนสังคม เป็นสีสัน และความสะใจของคนอ่าน
สร้างความนิยมให้หลายคนอดจะพลิกหน้าคอลัมน์นี้เป็นประจำไม่ได้
ทุกวันนี้ เธอจะนั่งทำงานอยู่ชั้น 3 สำนักงานของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ใกล้ๆ กับห้องทำงาน ไต้ฝุ่น ชัย ราชวัตร ที่นี่เปรียบเหมือนศูนย์บัญชาการใหญ่
โดยจะนั่งรับข่าวทางโทรศัพท์เอง หรือส่งสาย หาเพื่อนกลุ่มโน้นกลุ่มนี้ เริ่มเข้าทำงานตอนสายๆ
ปิดต้นฉบับเสร็จเย็นๆ ค่ำๆ ก็กลับบ้าน ไปพักผ่อนดูหนัง ฟังเพลง กับสุนัขตัวโปรด
2 ตัว จิบไวน์ จิบวิสกี้ไปเงียบๆ
คัทลียามีลูกชายเพียงคนเดียวที่โตเป็นหนุ่มแล้วกำลังทำปริญญาโทอยู่ที่อเมริกา
ช่วงที่มีความหมายมากที่สุดในชีวิตก็คือ เมื่อได้บินไปเยี่ยมลูก หรือช่วงเวลาที่ลูกชายกลับมาเยี่ยมบ้าน
และในวันไหนอากาศดีๆ ฟ้าโปร่งๆ ก็พากันขับรถไปพักผ่อนนั่งเล่นดนตรีใต้ถุนบ้านที่ซื้อเอาไว้ที่เขาใหญ่
บางเวลาก็จะนั่งอ่านหนังสือขายหัวเราะคลายเครียด สลับกับการเปิดหน้าสังคมของแมกกาซีนเล่มต่างๆ
เพื่อดูรูปคนดังในวงสังคม
"จะได้รู้ว่าหน้าตาคนที่เราเขียนถึงเป็นอย่างไร แซวเขาไว้มากๆ เวลาเจอกันจะได้หลบฉากได้ทัน"
เธอพูดติดตลก
ว่าแต่ว่าจะมีใครสักกี่คนที่จะรู้ว่า คัทลียา หน้าตาเป็นอย่างไร