รูปแบบการจับจ่ายซื้อสินค้าของคนไทยคงต้องมีการเปลี่ยน แปลงไปอีกมากในอนาคต
โดยเฉพาะเมื่อบริการ HOME DELIVERY เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้คนหลายคนที่ไม่สะดวก
ในการเดินทางไปเลือกซื้อสินค้าถึงที่ร้าน จำเป็นต้องอาศัยบริการนี้ โดยการโทรศัพท์สั่งซื้อสินค้าให้มาส่งที่บ้าน
รูปแบบบริการ HOME DELIVERY ในปัจจุบัน ได้ขยายออกมา ยังกลุ่มสินค้าที่กว้างขวางมากขึ้น
จากเดิมที่เริ่มต้นในกลุ่มอาหาร โดยมีพิซซ่า ฮัท เป็นผู้นำร่อง ปัจจุบันได้ขยายออกมาถึงกลุ่มฟาสต์
ฟู้ดอย่างเคเอฟซี หรือแม้แต่สุกี้อย่างเอ็มเค ก็มีบริการจัดส่งถึงบ้าน เพียงแต่ลูกค้าโทรศัพท์ไปสั่งตามเมนูที่ต้องการ
ล่าสุด สินค้าในกลุ่มอุปกรณ์สื่อสาร ก็เริ่มหันมาให้บริการด้วยวิธีการนี้เช่นกัน
โดยร้านเจมาร์ทเป็นผู้เริ่มต้นก่อนเป็นรายแรก
"เราต้องการเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า" อดิศักดิ์ สุขุม วิทยา
กรรมการผู้จัดการ เจมาร์ท ให้เหตุผล HOME DELIVERY ของเจมาร์ท เริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดยผู้ที่ต้องการสั่งซื้อสินค้า สามารถสั่งผ่านได้ 2 ช่องทาง ช่องทางแรกผ่านทางโทรศัพท์หมายเลข
1117 และช่องทางที่ 2 เป็นการสั่งผ่านเว็บไซต์ www.jaymarts.com โดยเจมาร์ทจะส่งสินค้าถึงบ้านลูกค้าภายใน
1 ชั่วโมง
สำหรับอัตราค่าบริการนั้น หากลูกค้าสั่งซื้อสินค้าไม่ถึงครั้ง ละ 1 พันบาท
เจมาร์ทจะคิดค่าส่ง 80 บาท แต่หากสั่งเกินกว่านั้น จะไม่คิดค่าบริการ
เจมาร์ท เป็นกิจการที่เริ่มต้นจากร้านขายอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ
และอุปกรณ์เสริม โดยอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ในปี 2532 ปัจจุบันเครือข่ายของเจมาร์ทครอบคลุม
120 สาขาทั่วประเทศ โดย มีสินทรัพย์รวม 154 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท
และมีแผนจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปลายปี 2545
ปีที่แล้ว เจมาร์ทมียอดขายรวม 1.1 พันล้านบาท ในปีนี้คาด หมายว่าจนถึงสิ้นปีจะมียอดขายรวม
2 พันล้านบาท และจะเพิ่มขึ้น เป็น 3.5 พันล้านบาทในปีหน้า โดยสัดส่วนรายได้
90% มาจากยอดขายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม
การเพิ่มบริการ HOME DELIVERY ของเจมาร์ทครั้งนี้ อดิศักดิ์ ต้องลงทุนเพิ่มเติมประมาณ
40 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนวางระบบ 20 ล้านบาท ที่เหลือเป็นงบประชาสัมพันธ์
โดยเขาตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 10 ล้านบาท
ในช่วง 6 เดือนแรก และจะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 20-30 ล้านบาท ในช่วงกลางปีหน้า
ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
น่าเชื่อว่าหากบริการ HOME DELIVERY ของเจมาร์ทประสบความสำเร็จ อีกไม่นานหลังจากนี้
สินค้าประเภทอื่นๆ ที่ระบบการผลิตเป็นมาตรฐาน ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปชมถึงที่ร้าน
ก็จะมีบริการ ประเภทเดียวกันออกมาอีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน