First Pacific ทิ้ง BJC ต่างฝ่ายต่างได้

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับ First Pacific Group ซึ่งเพิ่งฉลองครบรอบ 20 ปีไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2001 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจการเงิน ภายใต้ชื่อ First Pacific Finance Limited ก่อนที่จะพัฒนาและสร้างเสริมแตกแขนงไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ปรัชญาพื้นฐานขององค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็น "นักล่าเหยื่อ" ที่ชำนาญการแห่งนี้ไม่เคยเปลี่ยน แปลง เป็นปรัชญาง่ายๆ ว่าด้วย "การพัฒนามูลค่า" ที่น่าสนใจยิ่ง

กว่า 16 ปีมาแล้ว ที่ผู้คนในวงการธุรกิจไทยได้มีโอกาสคุ้นเคยกับชื่อของ First Pacific ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการด้านหลักทรัพย์ของ บล.ศรีไทย และการรุกเข้ามาบริหารและพัฒนาที่ดินในเมืองไทย

ซึ่งนั่นเป็นเพียงองค์ประกอบที่เล็กน้อยมาก ในเรื่องราวของการเล่นแร่แปรธาตุที่เกิดขึ้นภายใต้อาณาจักรแห่งนี้

ความยิ่งใหญ่ของกลุ่ม First Pacific ย่อมมิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการมี ลิม ซู เหลียง หรือ โซโดโน ซาลิม (Soedono Salim) มหาเศรษฐีเชื้อสายจีน ชาวอินโดนีเซียที่สร้างตัวจากการผูกขาดการจำหน่ายอาหารและยาให้แก่กองทัพอินโดนีเซีย ดำรงสถานะเป็นถุงเงินใบใหญ่เท่านั้น หากในความเป็นจริง มานูแอล ปังกิลินัน คือ บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นมันสมองและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เส้นทางการเติบโตของ First Pacific เริ่มตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการ Shanghai Land Investment (First Pacific Holding) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินเก่าแก่ มาใช้เป็นฐานทางธุรกิจของกลุ่มในช่วงปี 1982 ก่อนที่จะซื้อกิจการ Oversea Finance (First Pacific Finance) ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน

กิจกรรมของทั้ง First Pacific Holding และ First Pacific Finance เอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างมีนัย โดยเฉพาะการผ่องถ่ายเงินทุน เพื่อเข้าซื้อกิจการของ Hibernia Bancshares Corporation บริษัทแม่ของ HIBERNIA Bank ที่มีฐานอยู่ใน San Francisco สหรัฐอเมริกา และเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อภาพการขยายอาณาจักรในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

5 ปีหลังจากการซื้อ HIBERNIA Bank กลุ่ม First Pacific ก็ขยายตัวรุกเข้าซื้อกิจการหลากหลายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ
การเงิน การตลาด ค้าปลีก และพัฒนาที่ดินจากบริษัทในย่าน Pacific Rim กว่า 14 แห่ง

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการธุรกิจในเอเชียจำนวนไม่น้อย การขยายตัวของ First Pacific ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ 1980 ถูกท้าทายจากเงื่อนไขใหม่ๆ และสถานการณ์ที่ย่ำแย่ในช่วงกลางของทศวรรษที่ 1990 อย่างไม่อาจเลี่ยง และยิ่งทรุดหนักในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อบริบททางสังคม และการเมืองของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหนักหน่วง

เรือธงของ First Pacific ไม่ว่าจะเป็น Indofood งดจ่ายเงินปันผลมาตั้งแต่ปี 1996 และต้องแบกรับหนี้สินกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐเอาไว้บนบ่า ขณะที่ PLDT ซึ่งประกอบการธุรกิจสื่อสารไร้สายในฟิลิปปินส์ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ส่วนกิจการของ Metro Pacific ตกอยู่ในภาวะชะงักงันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

สำหรับ Berli Jucker ซึ่งเป็นธงนำของ First Pacific ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 1987 นั้น ได้รับการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ที่การแสวงโอกาสเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุนในครั้งนั้น แต่ดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา BJC ทำได้เพียงการสร้างมูลค่าเพิ่มและภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัยขึ้นเท่านั้น

กระนั้นก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา BJC ได้กู้เงินจากสถาบันการเงินจำนวนรวมกว่า 2,500 ล้านบาท มาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 15.75 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้มีการประเมินกันว่า การเจรจาระหว่างกลุ่มเบียร์ช้างและ BJC อาจเกิดขึ้นมานานพอสมควร

สมมติฐานดังกล่าวดูจะสอดรับกับสิ่งที่รายงานประจำปี 2000 ของ First Pacific ได้กล่าวถึงธุรกรรมของ BJC ไว้อย่างน่าสนใจด้วยการระบุว่า กิจกรรมของกลุ่ม Packaging โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องแก้วไทย (Thai Glass) เป็นส่วนที่มียอดขายและผลกำไรลดลงอย่างมาก ภายใต้เหตุผลที่ว่า การนำขวดเบียร์เก่ากลับมาใช้ใหม่ และความต้องการใช้ขวดในธุรกิจสุราลดลง กลายเป็นปัจจัยสำคัญของการถดถอยดังกล่าว ซึ่งดูจะเป็นตรรกะที่ขัดแย้งพอสมควรสำหรับดีลในครั้งนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.