ตั้งแต่ต้นปี 2545 นี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุค เกอร์
(BJC) ได้เปลี่ยนแปลงสิ้นเชิงจากเดิมของกลุ่มเฟิร์ส แปซิฟิคไปเป็น ของบริษัท
ที.ซี.ซี. ของเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจเหล้ากลุ่มสุราทิพย์และเบียร์ตราช้าง
รวมถึงเจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดราย หนึ่งของไทย ที่มีลักษณะการดำเนินธุรกิจแบบผูกขาดด้วยทุนขนาดใหญ่
ยุทธศาสตร์การซื้อบริษัทตัวแทนจำหน่ายยักษ์ใหญ่อายุ 119 ปีอย่างเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ โดยอาศัยสายสัมพันธ์ของชาวจีนโพ้นทะเลระหว่าง กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี
กับกลุ่มเฟิร์ส แปซิฟิคที่ฮ่องกง มีตรรกะพื้นฐาน ที่เห็นชัดเจนว่า กลุ่มสุราทิพย์
หรือกลุ่มที.ซี.ซี. ของเจริญลงทุนแบบ "ครบ วงจร" ซื้อโรงงานไทยกลาสผลิตขวด
เพื่อรองรับการขยายกำลังผลิตเพิ่ม จากโรงเบียร์กำแพงเพชร และป้องกันปัญหาขวดขาดแคลน
ซึ่งเคยเกิดปัญหาขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จนกระทั่งต้องสั่งซื้อจากอินโดนีเซีย
กลุ่ม ที.ซี.ซี. เป็นลูกค้ารายใหญ่ผู้ซื้อขวดแก้วกว่า 80% จากบริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย
(หรือรู้จักกันในนาม "ไทยกลาส") แต่ปัจจุบันฐานภาพเปลี่ยนไปเป็นเจ้าของโรงงานไทยกลาสนี้
ถือเป็นการลงทุน เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมของกลุ่มที.ซี.ซี. แบบ
"ครบวงจร"
การซื้อบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ด้วยมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ
5,569 ล้านบาท (ที่อัตราแลกเปลี่ยน 44.50 บาทต่อดอลลาร์) โดยคิดเป็นมูลค่าต่อหุ้นประมาณ
42 บาท โดยผลประกอบการของ BJC กำไรสุทธิใน 9 เดือน ปี 2544 คือ 467.76 ล้านบาท
เทียบกับปี 2543 ที่มีกำไรสุทธิ 535.25 ล้านบาท
ผลกระทบจากการที่กลุ่ม ที.ซี.ซี. ได้กลายเป็น Big Player ที่เข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดขึ้นในวงการธุรกิจ
มีอยู่ 3 ด้านคือ
หนึ่ง- ผลกระทบต่อการแข่งขันในธุรกิจน้ำเมา ผลจากการซื้อเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ที่ได้โรงงานไทยกลาสครั้งนี้
ทำให้คู่แข่งอย่างบุญรอด บริว เวอรี่ต้องจับตาใกล้ชิด เกี่ยวกับสงครามการตลาดสุราเบียร์ในเชิงรุกปี
2545 ของกลุ่ม ที.ซี.ซี. ขณะที่ศึกน้ำเมาในตลาดสุราขาวที่กลุ่มสุรามหาราษฎร
ครองส่วนแบ่งสูงสุดก็มีคู่แข่งยี่ห้อใหม่ๆ เช่น กลุ่มแบล็กแคทของไพศาล ชีวะศิริ
และกลุ่มประมวลผลเข้ามาแย่งแชร์ตลาดในเหล้าโรง เซี่ยงซุน แม่โขง หงส์ทอง
ที่กลุ่ม ที.ซี.ซี. ครองอยู่
สอง- ผลกระทบต่อธุรกิจหลักของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ การเปลี่ยนแปลง ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ยังขาดความชัดเจนในทิศทางอนาคตของบริษัท
ได้ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อลูกค้าเดิม พันธมิตรคู่ค้า ผู้แทนจำหน่ายของบริษัท
เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เมื่อลูกค้าเดิมอาจเปลี่ยนแปลงตัวแทนจำหน่าย หากเกรง ว่า
สินค้าของตนจะไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจากกลุ่มผู้บริหารใหม่
เรื่องนี้ทำให้เดวิด จอห์น นิโคล ประธานกรรมการบริหารของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์
ซึ่งเป็นคนของกลุ่มเฟิร์ส แปซิฟิค ต้องออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า
"ข้าพเจ้าได้รับคำชี้แจงชัดเจนว่า กลุ่มแปซิฟิค แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นนัล
อยู่ในฐานะผู้ซื้อและผู้เสริมสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรมากกว่าการเป็นผู้ขายธุรกิจ
ดังนั้นข้าพเจ้าคาดการณ์ว่า ผลสรุปคือ บริษัทจะดำเนินธุรกิจทั้งหมดต่อไปอย่างต่อเนื่อง
มิใช่เฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วเท่านั้น ที่บริษัทจะคงเดินหน้าต่อไป"
เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่ม ที.ซี.ซี. ยังไม่มีทิศทางและเจตนารมณ์ชัดเจนว่า
จะเอาอย่างไรกับบริษัทในเครือซึ่งมีอยู่ 25 บริษัท ซึ่งประกอบ ด้วยธุรกิจจัดจำหน่าย
โรงงานสบู่ ขนมขบเคี้ยว อาหารกระป๋อง สุรา เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องสำอาง
เครื่องจักรกล สี เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์ถ่ายภาพ
และผลิตภัณฑ์กระดาษ ที่มีรายได้หมุนเวียนปีที่แล้วกว่า 12,500 ล้านบาท (ดูตารางโครงสร้างธุรกิจเครือ
BJC และผลดำเนินงาน)
ตรงนี้เองที่เป็นข้อตกลงที่กลุ่มเฟิร์สแปซิฟิคกับกลุ่มเจริญยังไม่ชัดเจนเมื่อประกาศตอนสิ้นปี
ดังนั้น คำประกาศซื้อเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จึงมี hidden agenda ตรงคำว่า "และ/หรือ"
ว่า
"กลุ่มเฟิร์ส แปซิฟิค ได้บรรลุข้อตกลงโดยกลุ่มบริษัท แปซิฟิค แคป ปิตอล
อินเตอร์เนชั่นนัล และ/หรือกลุ่มบริษัท ที.ซี.ซี. จะซื้อเงินลงทุนทั้งหมดของกลุ่มเฟิร์ส
แปซิฟิค"
สี่- ผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น หลังจากกลุ่มที.ซี.ซี.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 83.5%
จะต้องทำ tender offer เสนอซื้อหุ้นจากรายย่อยกับการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ ซึ่งจะมีคนของเจริญ สิริวัฒนภักดี มาเป็นประธานกรรมการบริหารแทน
ขณะที่คนของแปซิฟิค แคปิตอล อินเตอร์เนชั่นนัล จะยังคงอยู่เพื่อดูแลธุรกิจลงทุนดั้งเดิมของกลุ่มเฟิร์ส
แปซิฟิคไว้ก่อนจะทะยอยขายไป
แนวโน้มอนาคตของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ที่ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 120 จึงเห็นชัดเจนประการเดียวคือ
กลุ่ม ที.ซี.ซี. จะเป็น Big player ที่กำหนดทิศทางเต็มตัว