การปรากฏตัวขึ้นของ ดรุณสิกขาลัย ในฐานะโครงการนำร่องโรงเรียนเพื่อการเรียนรู้
ในห้วงเวลาที่สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งกำลังอยู่ระหว่างการกำหนดทิศทางและรูปธรรม
ที่ชัดเจนท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการศึกษา มิได้มีนัยเป็นเพียงทางเลือกใหม่สำหรับผู้ปกครองเท่านั้น
หากแต่ยังมีส่วนบ่งบอกแนวโน้มการศึกษาไทยในอนาคตอีกด้วย
ในขณะที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยกำลังให้ความสนใจในชื่อเสียง และประวัติความเป็นมาของสถาบันการศึกษา
ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขในการพิจารณา ส่งกุลบุตรกุลธิดา เข้าศึกษาเล่าเรียนนั้น
โรงเรียนเกิดใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นการรับและฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาไปเมื่อปลายปี
2543 และเริ่มต้นรับนักเรียนในปีการศึกษาแรกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาแห่งนี้
กำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ท้าทายความคิดความเชื่อดั้งเดิมในบริบทการศึกษาของสังคมไทย
กล่าวได้ว่ามูลเหตุสำคัญที่ทำให้ดรุณ สิกขาลัย ถือกำเนิดขึ้นในฐานะที่เป็นประหนึ่ง
นวัตกรรมทางการศึกษา อยู่ที่การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังครั้งใหม่
ในสังคมไทยหลังจากที่ในอดีตเคยมีการปฏิรูปการศึกษามาแล้ว ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่
5 หรือเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิศึกษาพัฒน์ มูลนิธิไทยคม The Media Lab
of Massachusetts Institute of Technology (MIT) และมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
(มจธ. : KMUTT) ซึ่งมีส่วนร่วมในการก่อตั้งโรงเรียนเพื่อการเรียนรู้ (School
for Learning) แห่งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ที่การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแนวใหม่ที่สอดคล้องตาม
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดังกล่าว ซึ่งมุ่งที่จะให้ผู้เรียนสามารถพัฒนากระบวนการ
เรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และความ คล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยี
"ปรัชญาการศึกษาที่นำมาสู่การจัดตั้ง โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ผูกพันอยู่กับทฤษฎี
Constructionism หรือการเรียนรู้แบบคิดเองทำเอง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เชื่อว่าจะสามารถ
เชื่อมโยงและปิดช่องว่างระหว่างวิชาการแขนง ต่างๆ ในระบบการศึกษาแบบเดิมให้น้อยลงได้"
พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ซึ่งนอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมจธ. (KMUTT)
แล้ว เขายังดำรงตำแหน่งสำคัญในมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมูลนิธิไทยคม ที่มีส่วนเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโรงเรียนแห่งนี้
กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
รากฐานของแนวความคิด Construc-tionism ที่ได้กล่าวถึงนี้ มีจุดเริ่มต้นจากทฤษฎี
Constructivism ที่นำเสนอโดย Jean Piaget นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับการ
พัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1960 โดย Seymour Papert ซึ่งนับเป็นแนวความคิดที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในยุโรป
และสหรัฐอเมริกาอย่างกว้างขวางในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ความสำคัญของแนวความคิดที่ Jean Piaget นำเสนอดังกล่าวอยู่ที่ความเชื่อที่ว่าในกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนั้น
พวกเขาสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้เอง โดยเด็กจะเป็นเสมือนนักทดลองรุ่นเยาว์ที่สร้างและทดสอบทฤษฎี
ที่เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อเด็กมีโอกาสได้สร้างความรู้นั้นด้วยตัวเอง
เขาก็จะเข้าใจสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง โดย สามารถจัดระบบโครงสร้างความรู้และมีความ
สามารถในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
Seymour Papert ได้นำสิ่งที่ Jean Piaget เรียนรู้เกี่ยวกับเด็กๆ มาเป็นพื้นฐานในการคิดทบทวนเกี่ยวกับทฤษฎีทางการศึกษา
พร้อมกับเสนอว่า สาเหตุที่แท้จริงของการไม่สามารถเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย
มิได้เกิดขึ้นจากระบบ แบบแผนหรือความซับซ้อนของเรื่องราวที่ยากเกินความเข้าใจ
หากแต่อยู่ที่การขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการ ส่งเสริมในฐานะที่เป็นสื่อสำหรับช่วยคิดและสร้างความรู้ในเรื่องราวเหล่านั้นต่างหาก
"สิ่งที่เรากำลังทำในดรุณสิกขาลัย ก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้
โดยพยายามให้มีกิจกรรมมากมายและหลากหลายเพื่อการเรียนรู้ เป็นสภาพแวด ล้อมในการเรียนรู้โดยการรู้จักคิดรู้จักสร้าง
ที่ยอมรับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ และนักเรียนมีทางเลือกไปถึงจุดหมายได้หลากหลายวิธี"
รูปแบบการเรียนการสอนของดรุณสิกขาลัย จึงผิดแผกแตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆ
ที่มีอยู่ในระบบการศึกษาแบบเดิมในลักษณะที่เรียกได้ว่าเกือบจะในทุกกระบวนการ
ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่แนวทางการก่อตั้งของ ดรุณสิกขาลัย เป็นผลมาจากการรับเอาแนวความคิดของ
Seymour Papert มาเป็นหลักพื้นฐานตั้งแต่เริ่มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวความคิดที่เชื่อว่า
การศึกษาที่ดี คือการให้โอกาสเด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์เพราะ การเรียนรู้ที่ดีกว่า
มิได้มาจากการค้นพบวิธี การ "สอน" ที่ดีกว่าของครู หากแต่เป็นการให้โอกาส
"ในการสร้าง" ที่ดีกว่าแก่ผู้เรียน การดำเนินไปของดรุณสิกขาลัย
จึงมีครูอยู่ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาของเด็ก มากกว่าที่จะเป็นผู้ชี้ถูกชี้ผิดใน
กระบวนการเรียนรู้นี้ โดยได้กำหนดสัดส่วนครู 1 คนต่อ นักเรียน 4 คน เพื่อให้ครูแต่ละ
คนสามารถทุ่มเทเวลาในการเฝ้าติดตามพัฒนาการทั้งด้าน พฤติกรรมและจิตใจของเด็กนักเรียนด้วย
กระบวนการในการคัดสรรบุคลากรทางการศึกษาของ ดรุณสิกขาลัย ในช่วงที่ผ่านมา
จึงมิได้ผูกพันอยู่ที่การรับสมัคร ผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาการ ด้านการเรียนการสอนในรูปแบบปกติมากนัก
หากแต่กำหนดคุณสมบัติสำคัญไว้ที่ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะประกอบกันเข้าเป็นสื่อใน การเรียนรู้เป็นสำคัญ
"เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือคอมพิว เตอร์ที่เราจะใช้ในดรุณสิกขาลัย จะอยู่ในรูปของการเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้
สำรวจและ สร้างสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปสู่กระบวนการคิดที่ชัดเจน มากกว่าที่จะประพฤติกันในโรงเรียนรูปแบบเดิม
ที่ในที่สุดได้กลืนเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ ไปอยู่ในวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่ยึดถือกันมา
ในลักษณะของวิชาคอมพิวเตอร์ ที่กำหนดตายตัวในหลักสูตร"
นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์ ที่จะเข้ามา มีบทบาทในฐานะสื่อการเรียนการสอนแล้ว
ดรุณสิกขาลัย จะนำสื่อการสอนที่ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่จากคณะผู้วิจัยของ The
Media Lab of Massachusetts Institute of Technology (MIT) ที่ได้ร่วมกับบริษัท
LEGO ผู้ผลิตเครื่องเล่นเสริม ทักษะของเด็ก ซึ่งได้รับการพัฒนาให้มีคุณ ลักษณะเหมาะสมสำหรับการเป็นสื่อการเรียนการสอนด้วย
บทบาทของ Media Lab ที่มีต่อแนว ทางในการดำเนินการศึกษาของดรุณสิกขาลัย
มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการสนับสนุนในส่วนของสื่อการเรียนการสอนเท่านั้น หากแต่งานศึกษา
วิจัยของ The Future of Learning Group at the Media Lab ที่ดำเนินมากว่า
15 ปี เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และบทบาทของเทคโน โลยีที่นำมาใช้พัฒนาการศึกษา
เป็นประหนึ่งพื้นฐานและเค้าโครงของดรุณสิกขาลัยเลยทีเดียว
โดยก่อนหน้านี้ มูลนิธิศึกษาพัฒน์และ มูลนิธิไทยคม ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการก่อตั้ง
ดรุณสิกขาลัย ได้นำแนวความคิดดังกล่าวมาผสานกับประสบการณ์และพัฒนาไปใช้กับ
หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยา ลัย ชาวบ้านในชนบท และบริษัทอุตสาหกรรม
ขนาดใหญ่ในประเทศไทยมาเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งด้วยระยะเวลาดังกล่าว ย่อมไม่เพียงพอที่จะนำมาซึ่งผลสรุปที่จะบ่งชี้แนวโน้มหรือทิศ
ทางการศึกษา ในรูปแบบนี้ได้ทั้งหมด หากแต่ เป็นการเติบโต ขยายไปพร้อมๆ กันระหว่างโรงเรียน
ครู และนักเรียน
หลักคิดและวิธีการเรียนการสอนของ ดรุณสิกขาลัย ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
ก็คือการศึกษาในรูปแบบของการบูรณาการ ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตของสื่อ
เครื่องมือและความรู้เท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าหมายที่จะบูรณาการชุมชนที่ประกอบด้วยนักเรียน
ครู และผู้ปกครองเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างศูนย์รวมแห่งปัญญาในอนาคต
เป้าหมายดังกล่าวส่งผลให้ดรุณสิกขาลัย ซึ่งแม้จะได้รับเงินทุนและการสนับสนุน
จากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมูลนิธิไทยคม อย่าง เป็นด้านหลัก และใช้พื้นที่อาคารสัมมนาของ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี เป็นที่ทำการ จำเป็นต้องกำหนดค่าเล่าเรียนสำหรับนักเรียน
แต่ละรายไว้ในระดับ 130,000 ต่อปี และจะเพิ่มเป็น 180,000 ต่อปีในปีการศึกษาถัดไป
"ความพร้อมของผู้ปกครอง เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้กระบวนการเรียน
รู้ที่เกิดขึ้นในดรุณสิกขาลัย มีความต่อเนื่องโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเรียนรู้ที่โรงเรียนเท่า
นั้น หากแต่เมื่ออยู่ที่บ้านก็สามารถเรียนรู้ได้" สหัทยา พลปัถพี นักวิจัยจากมูลนิธิศึกษาพัฒน์
ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในระดับปฏิบัติการในการก่อตั้งโรงเรียน ตามทฤษฎี Constructionism
แห่งนี้ อธิบายถึงปัจจัยค่าเล่าเรียน ก่อนที่จะระบุว่า "เป้าหมายของเราอยู่ที่การที่จะยืนอยู่ได้
โดยสามารถลดหรือไม่ต้องรับเงินจากมูลนิธิ ไปตลอด"
การเปิดรับนักเรียนในปีการศึกษาแรก ซึ่งผ่านพ้นภาคเรียนแรกไปแล้ว และกำลัง
เคลื่อนเข้าสู่ภาคเรียนที่สองในปัจจุบัน เริ่มต้น ที่นักเรียนในระดับประถมศึกษา
ที่มีช่วงอายุระหว่าง 5-8 ปี จำนวน 28 คน และในปีการศึกษาต่อไปตั้งเป้าหมายที่จะรับนักเรียนเพิ่ม
อีก 20 คน แต่การเรียนการสอนมิได้จำแนกเด็กกลุ่มนี้ออกเป็นชั้นเรียนจากกลุ่มอายุที่เป็น
เกณฑ์การแบ่งในระบบทั่วไป หากแต่พิจารณา จากความสามารถและความสนใจของเด็กเป็น
สำคัญ
แม้ว่าในระยะปัจจุบัน ดรุณสิกขาลัย จะเริ่มต้นด้วยการรับนักเรียนในระดับประถม
ศึกษา แต่ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โครงการสถานศึกษาแบบ Constructionism มุ่งหมายที่จะขยายให้ครอบคลุมไปสู่ระดับมัธยมศึกษา
และอุดมศึกษา ในลักษณะครบวงจร เพื่อผลิต บุคลากรสนองตอบต่อความต้องการของสังคม
ที่มีแนวโน้มจะมีการแข่งขันมากขึ้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสภาพของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปรัชญาและรูปแบบการเรียน
การสอนในโรงเรียนแห่งนี้ เปรียบเทียบกับโรงเรียนในระบบปกติแล้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่นักเรียนที่ผ่านกระบวนการของดรุณสิกขาลัย
จะกลับเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมได้ ซึ่งแม้กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นบ้าง
ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อยกับความสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ได้สูญเสียไป
"สิ่งที่เรามุ่งหมายจะพัฒนาดรุณสิกขาลัยในอนาคตก็คือ การสร้างให้เกิด
Faculty of Learning ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
ธนบุรี ซึ่งแตกต่างจากระบบของโรงเรียนสาธิต ในมหาวิทยาลัยแห่งอื่น"
พารณ ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย มจธ. ย้ำถึงทิศทาง ของดรุณสิกขาลัย
ความมุ่งหมายดังกล่าว มิได้เกิดขึ้น อย่างเลื่อนลอย เมื่อข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่งอยู่ที่
ปัจจุบัน มจธ. มีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ที่มิได้เป็นส่วนราชการอีกแล้ว
มหาวิทยาลัย แห่งนี้จึงมีความเป็นอิสระในการกำหนด ทิศทางและพัฒนาหลักสูตรที่ไม่ผูกพันอยู่กับข้อจำกัดของกระทรวงหรือทบวงมากนัก
กระนั้นก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยว กับอนาคตของดรุณสิกขาลัย ประการหนึ่ง
อยู่ที่ภายใต้สถานการณ์ที่รูปธรรมของการจัดการด้านการศึกษา ในช่วงเวลาแห่งการปฏิรูป
ซึ่งยังไม่ปรากฏบทสรุปที่ชัดเจนนี้ ดรุณสิกขาลัย ซึ่งไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงโรงเรียนแห่งการเรียนรู้
แต่เพียงลำพัง หากแต่หมายรวมถึงครู นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งกำลังก่อตัวเป็นชุมชนใหม่
จะ มีความสามารถในการเบียดแทรกและคง ทนต่อแรงเสียดทานในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่นี้อย่างไร
แต่สำหรับ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหัวแรงใหญ่ในการผลักดัน โรงเรียนในรูปแบบการศึกษาใหม่นี้
เขาเชื่อว่า "เมื่อถึงเวลานั้น หากระบบการศึกษาเดิมยังไม่มีการปรับเปลี่ยน
ก็แย่แล้ว"