ภูมิปัญญาไทยในตลาดโลก

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อสินค้าต่างๆ จากภูมิปัญญาของชาวบ้านในชนบท กำลังเดินทางไปวางขายในตลาดโลกการพัฒนาด้านการออกแบบ จึงจำเป็นอย่างมากๆ

วันนี้ ตะกร้าไม้ไผ่สานของคุณยายที่เคยใส่ผักใส่ผลไม้ไปขายในตลาด เคยใช้ใส่ข้าวของไปทำบุญที่วัด หรือกระเป๋าจากใบกกใบกระจูดที่คุณแม่เคยใช้ใส่หนังสือไปเรียนในวัยเด็ก ได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อ อย่างหนึ่งจากเมืองไทย แม้จะใช้วัสดุเดิมแต่รูปลักษณ์ของสินค้าได้ถูกพัฒนาให้เปลี่ยนไป

"หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทางด้านออกแบบ ผลิตภัณฑ์ จากกรมส่งเสริมการส่งออกต้องลงไปร่วมทำงานกับชาวบ้านมากขึ้น สินค้าหลายอย่างจากตำบล ต่างๆ ที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากต่างประเทศ ได้ถูกนำมาดีไซน์รูปทรงให้ทันสมัยขึ้น แม้แต่สีสันที่จะทำออกมาก็ต้องขึ้นอยู่กับกระแสของความนิยมในปีนั้นๆ ด้วย

ดังนั้น ชาวบ้านยุคนี้ต้องมีความรู้ว่าปีนี้เทรนด์ของรูปทรงแบบไหน สีอะไร จะมาแรงในยุโรป เพื่อจะได้สร้างชิ้นงานที่มีหน้าตาหรือสีนั้นๆ ออกมาขาย

กกหรือกระจูดที่นิยมเอามาสานทำเสื่อแต่โบราณ หรือเชือกป่านศรนารายณ์ ที่เคยถักทอไว้จูงลากเรือ หรือมัดข้าวของอย่างเดียว ได้กลายมาเป็นกระเป๋า งานหัตถกรรมของผู้หญิงจากซีกโลกตะวันออกที่ดูแปลก ตา และจากที่เคยเป็นเพียงแค่สีธรรมชาติก็ถูกนำมาย้อมเป็นสีต่างๆ ที่ไม่ใช่สีสันจัดจ้านแสบตาอย่างที่เคยถูกเรียกกันว่า "สีแบบชาวบ้าน" แต่ใช้เทคนิคในเรื่องของวิทยาศาสตร์มาช่วยให้ออกมาเป็นสีคลาสสิก ที่สามารถให้ผู้หญิงในดินแดนตะวันตกใช้ถือได้โดยไม่ขัดเขิน และกลมกลืนไปกับเสื้อผ้าที่พวกเธอสวมใส่

แม้ว่าสีธรรมชาติ เป็นสีที่ยังคงความนิยมมากที่สุดในงานหัตถกรรมทุกชิ้น แต่สีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการทำตลาดเช่นกัน

ส่วนกระเป๋าไม้ไผ่สานที่เคยเห็นซี่ใหญ่ๆ อาจจะทำยากขึ้นเพราะ ที่กำลังนิยมในหมู่แม่บ้านชาวญี่ปุ่นนั้นซี่ไม้ไผ่จะต้องเล็กลง ลายจะต้อง ละเอียดขึ้น และภายในจะต้องมีการบุผ้าเรียบร้อย หูถือต้องแข็งแรง เหมาะกับการใช้สอยจริงมากขึ้น

เก้าอี้เปลือกไม้เป็นสินค้าอีกชิ้นหนึ่งที่ถูกพัฒนาจากภูมิปัญญา ชาวบ้านผสมผสานกับความคิดของนักออกแบบที่เคยคุ้นกับงานดีไซน์ ที่เป็นสากล ชาวบ้านจากจังหวัดแพร่ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ สามารถนำเอาวัสดุเหลือใช้เช่นปลือกไม้ที่ใช้ไม้เนื้อแข็งข้างในไปสร้างบ้านเรือน เปลือกไม้ข้างนอกที่มีผิวขรุขระเคยโยนทิ้งหรือมีค่าเป็นเพียง แค่ไม้ฟืน มาประกอบเข้าเป็นเก้าอี้ที่น่าใช้และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทันที

จากกระถางดินเผา โอ่งดินเผา รูปทรงเดิมที่เคยเห็นกันเจนตา ก็ถูกนำมาดัดแปลงใหม่ให้แข็งแรงขึ้น มีลักษณะรูปทรงใหม่ๆ ที่พอจับ มาวางรวมกันแล้วดูสวยงามเหมาะอย่างยิ่งสำหรับงานตกแต่งสวน

ทั้งหมดเป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งที่กรมส่งเสริมการส่งออก นำมาจัดแสดงในงาน Bangkok International Gift & Houseware



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.