เมื่อ "คิม" ทั้งสองมาเจอกัน


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

บังเอิญเหลือเกินว่า การเดินทาง เพื่อเยี่ยมชมโรงงาน ที่เกาหลีใต้ เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของเกาหลี เมื่อผู้นำ "คิม" ทั้งสอง ของเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ คือ คิม จอง อิล และคิม แด จุง กำลังร่วมกันพลิกประวัติศาสตร์ 55 ปี นับตั้งแต่สงครามโลกครั้ง ที่สอง ที่ทำให้คาบสมุทรเกาหลีต้องถูกแบ่งแยกดินแดน ออกเป็น 2 ส่วน ณ เส้นขนาน ที่ 38

สิ่งที่ได้ก็คือ บรรยากาศ และความรู้สึกของชาวเกาหลีใต้ ที่มีต่อการรวมประเทศ ต่างก็มีแง่มุม ที่แตกต่างกันออกไป

ถึงแม้จะไม่มีการเฉลิมฉลองใหญ่โต ไม่มีของ ที่ระลึกผลิตขาย เหมือนกับสมัย ที่เกาะฮ่องกงคืนอังกฤษ แต่สำหรับชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่แล้ว พวกเขารู้สึกยินดี กับการที่เกาหลีกลายเป็นประเทศหนึ่งเดียว ญาติพี่น้อง ที่จากกันไปนานถึง 55 ปี ไม่มีโอกาสไปมาหาสู่กัน อย่าว่าแต่จะได้พบหน้ากัน ส่งจดหมาย หรือโทรศัพท์ ก็ยังไม่มีโอกาส

3 ปีที่แล้ว มีหญิงสาวชาวเกาหลีใต้ เธอแอบบินไปเกาหลีเหนือ และแถมยังเดินทางจากรัสเซียก่อน จึงบินเข้าเกาหลีเหนืออีกที เมื่อกลับมาถึงบ้าน เธอต้องถูกจับเข้าตะรางถึง 6 ปีเต็ม ด้วยข้อหาละเมิดกฎหมาย และพฤติกรรม ที่เข้าข่ายการเป็นสปายให้กับพรรคคอมมิวนิสต์

แต่ก็มีชาวเกาหลีใต้ไม่น้อย ที่กังวลว่า เกาหลีใต้ จะต้องเป็นเหมือนกับประเทศเยอรมนี ที่หลังจากรวมประเทศแล้ว กลับฉุดให้เยอรมันตะวันตกต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงานของประชาชน

ชาวเกาหลีใต้คนหนึ่ง เล่าถึงความรู้สึกของเขาว่า ถึงแม้ว่าการรวมประเทศในครั้งนี้ จะหมายถึงการที่ ชาวเกาหลีใต้จะต้องเสียเงินภาษีเพิ่ม เพื่อมาอัดฉีดช่วยเหลือประชาชนชาวเกาหลีเหนือ ที่กำลังอดอยาก แต่ สำหรับเขาแล้ว มันไม่สำคัญเท่ากับความถูกต้อง ที่ ควรจะเกิดขึ้นกับประเทศเกาหลีทั้งสอง

"มันไม่ใช่เรื่องของเหตุผล แต่เป็นเรื่องของ ความรู้สึก ที่มาจากใจของพวกเรา ที่อยากให้ทั้งสอง ประเทศมารวมกัน มันเป็นเรื่องของความถูกต้อง ที่ควรจะเกิดขึ้น"

John Kim ผู้จัดการ บริษัท good morning world tour สำหรับเขาแล้ว นี่คือ ปาฏิหาริย์ ที่ทำให้มี การเจรจาเกิดขึ้นมาได้ แต่คงไม่ราบรื่นนัก เพราะการที่ประเทศทั้งสองยังมีช่องว่าง ที่แตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบอบการปกครอง วิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณี การแยกกันถึง 55 ปีเต็ม ทำให้ช่องว่างเหล่านี้ แม้แต่ภาษาพูด ที่แม้จะใช้ภาษาเกาหลีเหมือนกันแต่ประโยค หรือคำพูดบางคำ คนเกาหลีเหนือก็อาจฟังคนเกาหลีใต้พูดไม่เข้าใจ

ถึงแม้จะดีใจ แต่ไม่ชอบใจนัก หากเขาต้อง เสียภาษีเพิ่มมากๆ ซึ่งอาชีพ ที่เขาทำอยู่นั้น จะต้องเสียภาษีในอัตรา 10-15% ของรายได้ เพื่อไปช่วยเหลือเกาหลีเหนือ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง รัฐบาลก็ไม่ควรเพิ่มใน คราวเดียวกัน แต่ควรทยอยเพิ่ม เพื่อไม่ให้เป็นภาระ

ความอดอยากของประชาชนเกาหลีเหนือ บวกกับภาพลักษณ์ ที่ไม่สู้ดี ในสายตาของชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ คิม จอง อิล คือ ภาพของผู้นำ ที่ดื้อรั้น ไม่ดูแลประชาชนปล่อยให้ประชาชนของตัวเองอดอยาก

คิม จอง อิล จึงตกเป็นเป้าสายตา ทั้งจากสื่อมวลชนนานาประเทศ และบรรดาชาวเกาหลีใต้ ซึ่งอดไม่ได้ ที่จะนำมาเปรียบเทียบ และยกย่องผู้นำของ ตัวเอง แม้แต่พฤติกรรมเล็กๆ อย่างการยกแก้วแชมเปญดื่ม หลังการเจรจา ที่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ซึ่ง คิม จอง อิล แสดงความยินดีด้วยการดื่มรวดเดียวหมดแก้ว ในขณะที่คิม แด จุง กลับค่อยๆ ยกขึ้นจิบ ซึ่งคนเกาหลีใต้มองว่า ไม่ใช่เพราะวัยเท่านั้น แต่เป็นเพราะสุขภาพของคิม แด จุง ที่ไม่สู้ดีนัก อันเนื่องมาจากการที่เขาต้องติดคุกหลายครั้ง จากการที่ต้องต่อสู้ เพื่อประชาชน

สิ่งที่ชาวเกาหลีใต้เฝ้ารอหลังจากการประชุมครั้งนี้ ก็คือ การที่ลูกชายของ คิม จอง อิล ที่ว่ากันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และเป็นผู้กุมอำนาจ ที่แท้จริงของเกาหลีเหนือ ลูกชายของคิม จอง อิล ผู้นี้ยังเป็นคนที่เก็บตัวมากๆ ไม่เคยปรากฏตัว การที่เขาจะบินจากเกาหลีเหนือ มาเยือนกรุงโซล ในวันที่ 15 สิงหาคม ตามข้อตกลง ที่ผู้นำคิมทั้งสองตกลงกันไว้ จึงเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งสำหรับชาวเกาหลี และบรรดาสื่อมวลชน

3 วันเต็มที่คิม แด จุง เดินทางไปกรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ เพื่อพบกับคิม จอง อิล ถูกบันทึกผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ภาพของ คิม แด จุง ลงจาก เครื่องบิน เพื่อไปเยือนกรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ โดยมีคิม จอง อิล มารับถึงบันไดเครื่องบิน การตรวจแถว สวนสนาม การเยี่ยมชมการแสดงชั้นสุดยอดของเกาหลีเหนือถูกถ่ายทอดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 13 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ ผู้นำ "คิม" ทั้งสอง จะต้องเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ บริษัทหลายแห่งปล่อยให้พนักงานนั่งดูทีวี เช่นเดียวกับตามสนามบิน ร้านอาหาร ที่จะมีคนเกาหลี และ คนต่างชาติ ที่เฝ้ารอดูผลการเจรจากันด้วยใจระทึก

ทันที ที่โฆษกของรัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาแถลงถึงผลการเจรจา ที่ลุล่วงไปด้วยดี ถึงแม้ว่า ข้อตกลงทั้ง 5 ข้อที่ทำร่วมกันจะนำไปสู่การปฏิบัติยังต้องอาศัยเวลา และความอดทนอีกมากก็ตาม แต่ร้านอาหารในกรุงโซลหลายแห่ง ก็พร้อมใจกันเปิดให้ลูกค้ากินฟรี เหล้าเบียร์ถูกเปิดฉลอง บางร้านถึงกับกินฟรีไปตลอด 7 วันเต็ม

แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น สำหรับ Kim moo hwan นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ บอกว่า สำหรับเขาแล้วหากมองจากปัจจัยความแตกต่างทั้ง ทางการเมือง เศรษฐกิจแล้ว การรวมประเทศจะเกิดขึ้นได้ภายใน 5 ปีเต็ม นั่นหมายความว่าจะไม่มีการถูกแทรกแซง จากประเทศอื่นๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.