เริ่มเดินเครื่องอย่างเต็มตัวแล้ว สำหรับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMC)
โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามในสัญญาการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์จำนวน
29 แห่ง ให้กับ TAMC ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นก้าวแรกของหน่วยงานใหม่แห่งนี้
TAMC ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงอีกชิ้นหนึ่งของรัฐบาลภายใต้ การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร เพราะเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายหลักของรัฐบาลที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงหาเสียง
เช่นเดียวกับนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร และ 30 บาทรักษาทุกโรค
ก่อนที่จะเริ่มถึงขั้นตอนปฏิบัติจริง การจัดตั้งหน่วยงานแห่งนี้ได้เสียเวลาไปบ้าง
เพราะจำเป็นต้องผ่านกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะการออกพระราชกำหนดเพื่อจัดตั้ง
ซึ่งแม้จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปรอบหนึ่งแล้ว ก็ยังต้องนำกลับเข้าไปพิจารณากัน
อีกครั้ง เนื่องจากกฎหมายที่ออกมาในครั้งแรก มีอุปสรรคในการปฏิบัติด้านการตีราคาสินทรัพย์
เพราะไปกำหนดให้ใช้เกณฑ์ของกรม ที่ดิน จึงต้องนำมาแก้ไขใหม่ให้สามารถใช้เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ยังต้องผ่านกระบวนการตีความจากศาลรัฐธรรม นูญ เนื่องจากมีวุฒิสมาชิกบางคนเห็นว่าในมาตรา
11, 58 และ 72(2) ของกฎหมาย มีเนื้อความที่อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดศาลก็มีคำตัดสินออกมาก่อนการเซ็นสัญญาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
ด้วยคะแนนเสียง 10 ต่อ 3 เสียงว่าทั้ง 3 มาตราไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานหลังผ่านพิธีการเซ็นสัญญา แล้ว ในวันที่ 15 ตุลาคม
TAMC ได้รับการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ของสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีมูลหนี้
50 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 1,100 ราย มีมูลหนี้รวมในกลุ่มนี้ประมาณ 3 แสนล้านบาท
ในสิ้นเดือนตุลาคม TAMC ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีเจ้าหนี้ 2 รายขึ้นไป
ของสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชนที่มียอด หนี้สูงสุด 300 รายแรก มีมูลหนี้รวม
3.9 แสนล้านบาท
หลังจากนั้นในสิ้นเดือนนี้ จะมีการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพส่วนที่เหลือ
โดยมีมูลหนี้รวม 2.21 แสนล้านบาท
"รวมมูลหนี้ที่เรารับโอนเข้ามามีประมาณ 1 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ในตอนต้นว่าจะมีถึง
1.3 ล้านล้านบาท" ร.ต.ยอดชาย ชูศรี กรรมการผู้จัดการ TAMC กล่าว
อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นการทำงานของ TAMC ในครั้งนี้ เป็น เพียงการนำหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มารวมกันไว้ให้เป็นระบบ
ไม่ต้อง ตกเป็นภาระของธนาคารพาณิชย์ต่อไปเท่านั้น แต่กระบวนการฟื้นฟู เศรษฐกิจทั้งระบบ
ยังต้องอาศัยเวลา และปัจจัยแวดล้อมอีกหลายปัจจัยคอยเกื้อหนุน
ปัจจุบัน สิ่งที่หลายคนยังต้องเป็นห่วงอยู่คือแม้ว่าจะมีการโอนหนี้ด้อยคุณภาพออกจากระบบไปแล้วถึง
1 ล้านล้านบาท แต่ในระบบสถาบันการเงินเอง ยังคงมีหนี้ด้อยคุณภาพค้างอยู่อีกถึงกว่า
5 แสนล้านบาท และยังมีความวิตกกังวลกันว่าหนี้ที่เคยผ่านกระบวน การปรับโครงสร้างไปแล้ว
จะมีการย้อนกลับมาเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้อีกเป็นจำนวนมากในอนาคต
ในทางกลับกัน แม้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบจะลดลงไปถึง 1 ล้านล้านบาท
แต่ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงเกี่ยงที่จะปล่อยสินเชื่อออกมา เพราะธนาคารยังมองว่าภาคธุรกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง
การเริ่มต้นการทำงานของ TAMC จึงยังไม่ใช่ยาขนานใหญ่ที่สามารถนำมาเยียวยาเศรษฐกิจ
แต่เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งเท่านั้น
ยังคงเหลือการบ้านข้อใหญ่อีกหลายข้อ ที่รอให้รัฐบาลและ ภาคเอกชนทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันหาทางแก้ไขต่อไป