บุญชัย เบญจรงคกุล พ.ร.บ.สื่อสารฉบับใหม่ "มันขัดความรู้สึก"

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ดูเหมือนบุญชัย เบญจรงคกุล จะเป็นผู้ที่ร้อนรนมากที่สุด ภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ออกมาเมื่อเดือนก่อน

เพราะในมาตรา 8 ของกฎหมายฉบับนี้ ได้จำกัดการถือครอง หุ้นของชาวต่างชาติในกิจการโทรคมนาคมไว้เพียงไม่เกิน 25%

ในขณะที่บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (แทค) ที่เขาเป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการอยู่นั้น มีเทเลนอร์จาก ประเทศนอร์เวย์ร่วมถือหุ้นทั้งโดยตรง และทางอ้อมอยู่ถึงกว่า 40%

"ที่ผ่านมาเทเลนอร์นำเงินเข้ามาลงทุนในแทคแล้วถึงกว่า 1.5 แสนล้านบาท" เขาบอก

แทคเคยประสบปัญหาทางการเงินค่อนข้างมาก ภายหลังจากมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 ถึงกับต้องตัดสินใจหยุดการลงทุนทุกอย่างลงไปถึง 2 ปี

แต่เมื่อปีที่แล้ว แทคเพิ่งจะได้เทเลนอร์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมจากนอร์เวย์เข้ามาร่วมทุน ส่งผลต่อฐานะการเงินที่ดีขึ้นอย่างทันตาเห็น

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แทคเพิ่งเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อสินค้าทุกตัวเป็น "DTAC" นัยว่าเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมรับกับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะเริ่มมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากขึ้น ภายหลังจากมีผู้ประกอบการรายใหม่อีก 2 ราย คือ WCS ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างซีพีกับออเรนจ์ และตะวันโมบาย ที่จะเริ่มเข้ามาในช่วงต้นปีหน้า

ทุนที่นำมาใช้ในการปรับตัวของแทคครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผล มาจากการเข้ามาร่วมทุนของเทเลนอร์ทั้งสิ้น

ดังนั้นการที่สภาผ่านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกมา โดยกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติไว้เพียง 25% จึงอาจส่งผลให้โครงการร่วมทุนระหว่างแทคกับเทเลนอร์ต้องสะดุด

บุญชัยจึงกลายเป็นบุคคลในวงการธุรกิจโทรคมนาคมเพียงคนเดียว ที่ดูเหมือนว่าจะออกมาเคลื่อนไหวมากที่สุด เพื่อคัดค้านข้อกำหนดดังกล่าว

ก่อนกฎหมายฉบับนี้จะเข้าสภา เขาเคยทำจดหมายในนามของแทค คัดค้านประเด็นนี้ ยื่นไปยังรัฐบาลมาแล้ว แต่ไม่ได้รับการ ตอบสนอง

ยังมีการเสนอกฎหมายเข้าสภา จนผ่านออกมา และเกือบจะมีผลบังคับใช้แล้ว

แนวทางการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ไป เขาเตรียมให้เทเลนอร์ ในฐานะผู้ร่วมทุน ซึ่งได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติฉบับนี้โดยตรง เป็นผู้ผลักดันผ่านทางรัฐบาลนอร์เวย์ให้เจรจากับรัฐบาลไทย ให้ยกเลิกข้อกำหนดนี้เสีย "จะเป็นการประท้วงในฐานะรัฐบาลกับรัฐบาล เพราะมันขัดแย้งความรู้สึกในการค้าระดับโลก"

ผลการเจรจาครั้งนี้จะออกมาเป็นเช่นไรเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องติดตาม

เพราะไม่เพียงแต่แทคเท่านั้นที่เดือดร้อน ยังรวมไปถึงบริษัท สื่อสารอื่นๆ และนักลงทุนในตลาดหุ้น เพราะหุ้นในกลุ่มสื่อสารจะต้องถูกนักลงทุนต่างประเทศเทขายออกมาอย่างหนักแน่นอน หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะใช้มาตรานี้อยู่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.