100 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลง

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ไค้ แซ่ถ่ำ หนุ่มชาวจีน อายุ 30 ปี จากเมืองกวางตุ้ง ตัดสินใจมาหางานทำในเมืองไทย ไค้เป็นคนมีความรู้ในระดับซิ่วไช้ (เทียบเท่ากับปริญญาตรี) เมื่อมาถึงเขาได้ไปทำงานเป็นคนเก็บเงินอยู่ที่บริษัทออนเหวงของตระกูลล่ำซำ และได้เช่าบ้านอยู่ในย่านวงเวียน 22 กรกฎา ซึ่งขณะนั้นมีบรรยากาศของชานเมือง และมีถนนราดยางมะตอยเช่นเดียวกับบ้านนอก

ไค้มีเพื่อนชาวจีนคนหนึ่งชื่อคั้น ที่มาปรึกษาเขาว่าจะทำอาชีพอะไรดี โดยที่ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร ไค้ก็เลยให้สูตรการทำน้ำจับเลี้ยง บนถนนสายนี้ก็เลยมีเพิงหมาแหงน ขายน้ำจับเลี้ยงเกิดขึ้น

ต่อมาคั้นได้เซ้งตึกของสำนักงานทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์ ขายน้ำจับเลี้ยงมาเกือบ 10 ปี หลังจากนั้นเขาก็มีความคิดว่าจะกลับเมืองจีน และได้โอนกิจการให้ไค้ดูแลต่อ ซึ่งนอกจากการขายน้ำจับเลี้ยงไค้ยังได้ค้นคว้าหาตำรับยาสมุนไพร ที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้คนในภูมิภาคเขตร้อน รวมทั้งได้ปรับปรุงตำรับยาขมจากถิ่นกำเนิดเดิม ของประเทศจีนตอนใต้ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภค และความเป็นอยู่ของคนไทย

ปี 2444 ไค้ได้เผยแพร่ตำรับยาขมในเมืองไทย และได้ตั้งร้านขายยา ขายในราคาชามละ 1 สตางค์ โดยเริ่มทำการขายตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเที่ยงคืน

เริ่มทีเดียวการขายยาขมเริ่มจากการสุมไฟต้ม แล้วเคี่ยวขายหน้าร้านกันเป็นชามๆ ละ 1 สตางค์ มีสรรพคุณที่เชื่อกันว่าแก้ร้อนใน ที่มีการสังเกตได้จากการมีไข้รุมๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ไอมีเสมหะ ถ่ายแสบทวารหลังทานอาหารเผ็ดมัน หรือรสจัด ตาแดงหลังอดนอนหรือขี้ตามาก ปัสสาวะขัด ปัสสาวะร้อน นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการเมาค้าง และให้ผลดีต่อคนที่สูบบุหรี่จัดด้วย

ต่อมา องอาจกับจินต์ซึ่งเป็นลูกชายและลูกสะใภ้ของไค้ ได้เป็นผู้สานต่อกิจการนี้ เสถียร ธรรมสุริยะ ซึ่งเป็นลูกชายขององอาจได้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า

"ตึกแถวของสำนักงานทรัพย์สินฯ นั้นจะมีสองชั้น ชั้นล่างคุณแม่ก็จะมีหม้อต้มยาขม 3 ใบ โดยไปซื้อไม้โกงกาง ที่สะพานนายเลิศ ตลาดน้อยมาสุมไฟ ตอนเย็นคุณพ่อองอาจกลับมาจากทำงานที่ธนาคารก็จะมาช่วยกันขายจนดึกดื่นทุกวัน"

สูตรยาขมของน้ำเต้าทองจะประกอบไปด้วยส่วนผสมของราก กิ่ง ใบ ของพืชสมุนไพร 24 ชนิด ซึ่งต้อง สั่งซื้อจากเมืองของประเทศจีนทางตอนใต้ เป็นสูตรที่นิยมกันมาก ที่เมืองกวางตุ้ง กวางไส

"คนจีนต้องกินพืชผล และน้ำที่เกิดมาจากเมืองเหนือ แล้วมารักษาเมืองใต้ บ้านเราเรียกว่าเมืองใต้ แล้ววิธีเก็บน้ำของเขาก็คือเอาสมุนไพรมามาต้มให้คนใต้กิน นี่เป็นหลักของปรัชญา ต้นหมากรากไม้นี่ล่ะจะเป็นตัวอุ้มน้ำ" เสถียรเล่าให้ฟังถึงความเชื่อแต่โบราณของคนจีน

เมื่อตึกแถวสองชั้นเต็มไปด้วยการต้มยา บดยา ตอนหลังเลยขยายโรงงานไปยังวรจักร และย้ายไปที่คลองสาน อยู่ที่คลองสาน 8 ปี จากนั้นไปหาซื้อที่ดินที่ประเวศ 14 ไร่ สร้างเป็นโรงงานถาวรที่ใหญ่โตจนถึงปัจจุบัน

วิธีการขายในยุคแรกๆ จากที่ขายเป็นชามก็เปลี่ยนเป็นชงใส่กระป๋องนมข้นหวานที่ร้านกาแฟทิ้งแล้ว มีเชือกกล้วยห้อยสำหรับถือกลับบ้าน วันหนึ่งๆ ในตอนนั้นต้องเตรียมกระป๋องไว้ประมาณ 3-4 เข่ง

ในยุคของเสถียรเมื่อปี 2499 เริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่นชื่อว่า คาวาชิ แนะนำว่าให้เอายามาโม่บดละเอียดใส่ซองกระดาษสาที่สั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น ใช้จักรเย็บซิกแซ็กทั้ง 2 ข้าง แล้วเอาไปต้มน้ำได้ โดยกระดาษไม่ละลาย

ด้วยวิธีการนี้เลยได้ขยายจากหน้าร้านออกไปขายตามต่างจังหวัดด้วย ต่อจากนั้นก็ได้มีการทำการตลาดขายยาขมชนิดต้มไปทั่วประเทศ พร้อมทั้งทำการโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์ นับเป็นก้าวสำคัญของยาขมตราน้ำเต้าทองออกสู่สายตาคนทั้งประเทศ และนับจากนั้นเป็นต้นมา ยาขมน้ำเต้าทองได้สร้างชื่อเสียงในด้านคุณภาพของตำรับสมุนไพรที่เชื่อถือได้มาตลอดจนปัจจุบัน

ปี 2517 ยาขมน้ำเต้าทองมีการพัฒนารูปแบบใหม่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้สั่งเครื่อง Extractor Evaporator และ Spraydrier ซึ่งจะเป็นเครื่อง Continuous โดยใช้ไฟขนาด 300 แอมป์ 4 สายเดินเครื่อง 24 ชั่วโมง จากประเทศเดนมาร์กมาเพื่อผลิตยาสำเร็จรูป คือยาขมชงน้ำเต้าทอง ซึ่งละลายน้ำได้ในพริบตา และบางส่วนก็ทำเป็น ยาเม็ดสำเร็จรูป ยาขมเม็ดน้ำเต้าทอง เพื่อให้รับประทานได้ง่ายและได้ผลเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นหัวยามาอัดเป็นเม็ด

ชวน ลูกชายคนหนึ่งของเสถียรได้เข้ามาดูแลกิจการของครอบครัวต่อจากบิดาในช่วงนี้

4 ชั่วคนของเจ้าของตำรับยาขมน้ำเต้าทองนั้นเป็น ผู้ที่มีวิชาความรู้สมัยใหม่ทั้งสิ้น ต้นตระกูลคนแรกในเมืองไทย คือไค้ แซ่ถ่า นั้นมีความรู้ระดับซิ่วใช้ (เทียบเท่าปริญญาตรีสมัยนี้)

องอาจ ธรรมสุริยะ บุตรชายของไค้นั้นเมื่อยังเป็นเด็กก็ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ต่อมาได้ทำงานที่ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้จัดการธนาคารมณฑลสาขาราชวงศ์

บุตรขององอาจที่เข้ามาทำกิจการยาขมคนต่อมาคือ เสถียร ธรรมสุริยะ จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และวิชาการพาณิชย์ปีที่ 2 จากโรงเรียน อัสสัมชัญพาณิชย์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคชาติไทยในสมัยหนึ่งด้วย

ส่วนชวนผู้ได้รับมรดกชิ้นนี้ต่อมานั้น จบการศึกษาระดับปริญญาโททางเคมีเทคนิคคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโททางบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์ ชวนมีพี่ชายคือ เสริม จบปริญญาตรี ทางด้านช่างกล จากมหาวิทยาลัยเทกซัส สหรัฐอเมริกา และสกล น้องชายจบปริญญาด้านพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเบอร์กลีย์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ชวน เสริม และสกล ได้ช่วยกันทำกิจการยาขมอยู่ พักหนึ่งก่อนที่จะแยกย้ายไปทำธุรกิจที่แต่ละคนถนัด

ปัจจุบันเสริมไปทำธุรกิจด้านรับสัมปทานพื้นที่ขายโฆษณา ส่วนสกลทำธุรกิจทางด้านโรงงงาน เครื่องแพ็กกิ้ง บรรจุภัณฑ์ เช่น เครื่องแพ็กน้ำแข็ง แพ็กข้าวสาร

ส่วนพี่น้องผู้หญิงอีก 3 คน ที่มีดีกรีทางการศึกษาจากต่างประเทศทั้งหมดนั้น ขณะนี้กำลังช่วยกันทำธุรกิจโรงเรียนอนุบาล "สุวาวรรณ" ย่านเจริญนคร

ปัจจุบัน ชวนอายุ 52 ปี ความหวังในการสืบทอดกิจการของเขาอยู่ที่ลูกชายคนโต ที่กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านวิทยาศาสตร์การอาหารที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

แน่นอนก้าวต่อไปของเขาและลูกชายจะไม่ใช่การทำธุรกิจยาโบราณขายอย่างเดียวอีกต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.