ยูนิคอร์ดวันนี้

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อตั้ง บริษัท ยูนิคอร์ด อินเวสท์เมนท์ (ประเทศไทย) ก่อตั้ง 15 ส.ค.2521 โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ กมลกับเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ และต่อมากิจจา ก่อนันทเกียรติ ร่วมถือหุ้นด้วย ผลิตสับปะรดกระป๋องที่อำเภอบ้านบึง ชลบุรี ต่อมาปี 2527 เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท ยูนิคอร์ด" มุ่งผลิตปลาทูน่ากระป๋องมากกว่า ผักผลไม้ เพราะใกล้มหาชัย แหล่งใหญ่ของอาหารทะเล ปัจจุบันมี 2 โรงงาน โรงงานใหญ่ เนื้อที่ 105.4 ไร่ ส่วนโรงงานเล็ก 46.5 ไร่ ซึ่งให้เช่าและมีแผนจะขายใช้หนี้ มีคนงาน 1,600 คน

การเพิ่มทุน จากทุนจดทะเบียน 10 ล้าน เพิ่มเป็น 20 ล้าน และ 60 ล้าน ในปี 2523 ยูนิคอร์ดยังขาดทุนต่อเนื่อง จึงเพิ่มทุนอีกเป็น 200 ล้าน ในปี 2527 และ 2,800 ล้าน ก่อนที่ผู้ถือหุ้นเดิมจะถูกลดทุนเหลือ 28 ล้านบาท หุ้นละ 0.10 บาท เพื่อตัดขาดทุนสะสม

ดำริห์เคยพูดไว้ว่า "ธุรกิจนี้เล็กไม่ได้ ต้องใหญ่ เมื่อจะใหญ่ ก็ต้องมีเงินทุนเพียงพอ ถ้ามีทุนจดทะเบียนสูงก็ขยายกำลังการผลิตได้ สร้างกำไรได้"

ปี 2532 ก่อตั้งบริษัท ยูนิกรุ๊ป อิงค์ เพื่อซื้อบริษัท บัมเบิ้ล บี ซีฟู้ดส์ อิงค์ตามคำแนะนำที่ปรึกษาฝรั่ง

ปี 2533 บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนหลักทรัพย์ UCT ในตลาดหุ้นไทย

ปี 2538 ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ปลิดชีพตัวเอง

ปี 2540 บริษัท ยูนิคอร์ดขายบริษัท ยูนิกรุ๊ปแล้ว เพื่อตัดภาระผลขาดทุนของบัมเบิ้ล บี

ปี 2541 ยูนิคอร์ดถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นไทย

ปี 2543 ศาลล้มละลายอนุมัติให้มีการฟื้นฟูกิจการยูนิคอร์ด ซึ่งมีมูลหนี้ประมาณ 7,610 ล้านบาท

ปี 2544 เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ มีมติเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูหนี้ ขยายเวลาชำระหนี้เป็น 11 ปี ทั้งนี้เงินต้นส่วนแรก 3,742 ล้าน จะอยู่ในระยะปลอดเงินต้น 3 ปีแรก แต่ต้องชำระดอกเบี้ย 3% ต่อปี ส่วนปีที่ 4-11 ถึงจะเริ่มต้นคืนเงินต้นบวกดอกเบี้ยอัตรา MLR ส่วนเงินต้นอีก 3,868 ล้านบาทจะตั้งพักไว้โดยไม่มีดอกเบี้ยจนกว่าปีสุดท้ายของแผน ศาลเห็นชอบแผนฟื้นฟูและให้ พรพรรณ เป็นผู้บริหารแผนฯ

ลักษณะธุรกิจ ผลิตและส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง (Canned Tuna) และเนื้อปลาทูน่าแช่แข็ง (Frozen Tuna Loins) วัตถุดิบ เป็นปลาทูน่าหรือปลาโอ พันธุ์ Skipjack (ปลาโอแกลบ) ขณะที่มีส่วนน้อยที่เป็นปลาทูน่าพันธุ์อื่นที่หายากและราคาแพง ได้แก่ พันธุ์ Yellowfin (ปลาทูน่าครีบเหลือง) พันธุ์ Albacore (ครีบยาว) พันธุ์ Bluefin (ครีบน้ำเงิน) และพันธุ์ Big-eye (ปลาทูน่าตาโต)

ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ปลาชิ้นเดียวก้อนใหญ่ (Solid) 2. ปลาชิ้นเล็กแบบก้อน (Chunk) 3. ปลาชิ้นย่อย (Flake) และ 4. เศษปลา (Grated) ส่วนใหญ่นิยมบริโภคเป็น Solid และ Chunk โดยมีส่วนผสมหลากหลาย เช่น ปลาทูน่าในน้ำมันพืช ในน้ำเกลือ ในซอสมะเขือเทศ ในน้ำซุปผัก ส่วนตลาด ในไทยผลิตเพื่อคนและแมว ไม่นิยมซุปปลาสกัดและน้ำมันปลา

นอกจากเนื้อปลาทูน่าแล้ว ชิ้นเศษย่อยของปลายังทำอาหารแมว ก้างปลาเอาไปทำอาหารสัตว์ หัวปลาไปสกัดน้ำมันปลา ใช้ทำยาและเครื่องสำอาง ไส้ปลาเอาไปหมักเกลือ และ น้ำนึ่งปลา สกัดเป็นซุปปลาสกัดเข้มข้นได้

ในอนาคตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบ Tuna pounch packaging ที่บรรจุถุงสุญญากาศ ตลาดสำคัญ ลูกค้ารายใหญ่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และเอเชียตะวันออกกลาง ภายใต้เครื่องหมายการค้ากว่า 350 รายการ เช่น Safeway, Morrison, Bumble Bee, Safcol, Princess ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ยูนิคอร์ดได้รับมาตรฐาน HACCP

กระบวนการผลิต แบบ Just in time ผลิตตามคำสั่งซื้อ นับจากวันสั่งซื้อถึงวันส่งมอบ ใช้เวลาผลิต 20-25 วัน

กำลังผลิต ในอดีตยุคดำริห์ กำลังผลิตสูงสุดเคยรอบละ 550 ตัน/วัน วันละ 2 รอบ ใช้กำลังคนขั้นต่ำ 4,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียงวันละ 130 ตันผลิตวันละ 1 รอบ

ต้นทุนการผลิต ค่าปลาทูน่า 60-65% ของต้นทุนการผลิต รองมาคือต้นทุนส่วนผสม เช่น น้ำมัน 15-20% และต้นทุนแรงงาน 5% ที่เหลือเป็นโสหุ้ยอื่นๆ เช่นค่าขนส่ง 15%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.