แผนฟื้นฟูของเอสวีโอเอ

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

แผนฟื้นฟูกิจการของเอสวีโอเอ เป็นส่วนที่ตัดทอน มาจากหนังสือ "ล้มแล้วรุก" ของแจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ เป็นสาระสำคัญที่สรุปได้ดังนี้

1. การโอนหุ้นในบริษัทเอเซอร์ คอมพิวเตอร์ เพื่อหักลบหนี้กับเงินกู้ของบริษัทเอเซอร์ เซลส์ แอนด์ ดิสทริบิวชั่น โดยเอสวีโอเอได้จำนำหุ้นในบริษัทเอเซอร์ คอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้จาก บริษัทเอเซอร์ เซลส์ แอนด์ ดิสทริบิวชั่น หุ้นที่จำนำคิดเป็น 45% ของทุนที่ออกแล้วของ เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ โดยมีต้นทุนเงินกู้จำนวน 682.54 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างจ่าย 51.52 ล้านบาท

บริษัทเอเซอร์ เซลส์ แอนด์ ดิสทริบิวชั่น ยอมรับหุ้น 45% ในเอเซอร์คอมพิวเตอร์ ที่เอสวีโอเอถืออยู่ เพื่อหักกลบ ลบหนี้กับยอดเงินกู้บางส่วนที่เอสวีโอเอ ค้างชำระต่อบริษัท เอเซอร์ มูลค่าของหุ้น 45% ของเอเซอร์ จะมีราคาอยู่ที่ 250.36 ล้านบาท ส่วนยอดเงินกู้ที่เหลือประมาณ 432.18 ล้านบาท จะถือเป็นเงินกู้ที่ไม่มีหลักประกัน และจะดำเนินการตามวิธีเดียวกับสินเชื่อของเจ้าหนี้การเงินอื่นๆ ที่ไม่มีหลักประกัน

2. การโอนสินทรัพย์และหนี้สินบางชนิดให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจ ด้วยการชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้ของ เอสวีโอเอจะใช้นิติบุคคลเฉพาะกิจในรูปของบริษัท จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อลดภาระภาษี และค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ เนื่องจากได้วางหลักเกณฑ์ให้เอสวีโอเอ ดำเนินธุรกิจเฉพาะในส่วนของกิจการหลัก สินทรัพย์ที่ถูกโอนให้นิติบุคคลเฉพาะกิจ จะเป็นสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการหลักของเอสวีโอเอเลย

ทั้งนี้ เจ้าหนี้จะจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจขึ้น 2 ประเภท แยกส่วนการดูแลอสังหาริมทรัพย์

1. นิติบุคคลเฉพาะกิจสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อถือกรรมสิทธิ์ และจำหน่ายอาคารสำนักงานของเอสวีโอเอและที่ดินที่เกี่ยวข้องบนถนนพระราม 3 เงินสุทธิ ที่ได้รับจากการขายสินทรัพย์ จะนำไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ ของเอสวีโอเอ

2. นิติบุคคลเฉพาะกิจสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการถือกรรมสิทธิ์และจำหน่ายสินทรัพย์บางประเภท อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่จะรับโอนมาจากเอสวีโอเอ โดยเงินสุทธิที่ได้รับจะนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเอสวีโอเอ

3. ลดทุนครั้งที่ 1 เอสวีโอเอจะลดทุนจำนวน 100 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 300 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 200 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทร่วมรับผิดชอบในผลเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเจ้าหนี้

4. การเพิ่มทุนและการแปลงหนี้เป็นทุน ภายหลังจากการ ลดทุน เอสวีโอเอได้ออกหุ้นใหม่จำนวน 180 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท อันเป็นการเพิ่มทุนเรือนหุ้นของบริษัท จำนวน 1,800 ล้านบาท

ภายใต้แผนการเพิ่มทุนดังกล่าว เฉพาะหนี้การค้า จำนวน 25% ของหนี้ซึ่งค้างชำระต่อเอปสัน จะถูกแปลงเป็นทุน ส่วนที่เหลือจะได้รับการชำระด้วยกระแสเงินสดจากกิจการที่จะดำเนินต่อไป

ธุรกรรมเหล่านี้จะใช้หุ้นใหม่จำนวน 7.8 ล้านหุ้น หุ้นที่เหลือ 180 ล้านหุ้น หักด้วยหุ้นที่ออกให้แก่บริษัทเอปสัน จะถูกจัดสรรชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่เหลือ ตามสัดส่วนของสิทธิเรียกร้องที่ได้รับ อนุญาต

การแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้เจ้าหนี้ถือหุ้นที่ชำระแล้ว มีสัดส่วนจำนวน 90% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เจ้าหนี้จะเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากของเอสวีโอเอ ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างเจ้าหนี้ จะได้ประโยชน์จากราคาหุ้น เอสวีโอเอที่เพิ่มขึ้น

5. การยกหนี้ส่วนที่เหลือให้ โดยเจ้าหนี้พิจารณาประมาณการทางการเงินระยะยาว ด้วยการตั้งสมมติฐานว่า เอสวีโอเอจะ ไม่ทำการชำระคืนหนี้ที่เหลืออยู่ ซึ่งหนี้ดังกล่าวเจ้าหนี้จะยกหนี้ ให้ เพื่อว่าหลังจากยกหนี้ครั้งนี้แล้ว เอสวีโอเอที่ผ่านการฟื้นฟู กิจการจะปราศจากหนี้สินใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากหนี้สินที่มีต่อ เจ้าหนี้การค้า อันจะทำให้มั่นใจได้ว่า กิจการจะดำเนินอยู่ต่อไป และมีความแข็งแกร่งทางการเงินคล่องตัวขึ้น โดยมีการยกหนี้ ให้ประมาณ 67.71% ของหนี้สินทั้งหมดที่ค้างชำระ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2542

6. การลดทุนครั้งที่สอง เพื่อให้เอสวีโอเอสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอนาคตอันใกล้ และเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทาง การเงิน จึงต้องกำจัดผลขาดทุนทั้งหมด เพื่อให้มีกำไรสะสม ด้วยการลดทุนลงร้อยละ 75 จากจำนวน 2,000 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ซึ่งผลจากการลดทุนทำให้กำไรสะสมของเอสวีโอเอได้รับปรับปรุงขึ้น 1,500 ล้านบาท เมื่อมีกำไรสะสม เจ้าหนี้จะถือหุ้นจำนวนร้อยละ 90 ของทุนทั้งหมด

7. กระบวนการยกเลิกการพักการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นของเอสวีโอเอ ซึ่งได้ถูกพักการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ 3 เมษายน 2541 และถูกย้ายไปยังหมวดของหุ้นที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นเอสวีโอเอ จึงมีความต้องการให้หุ้นกลับไปซื้อขายใหม่ อีกครั้งในตลาดหุ้น

นอกเหนือจากลดทุน เพิ่มทุน และแปลงหนี้เป็นทุนให้เจ้าหนี้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 90% ของทุนจดทะเบียน 500 ล้านแล้ว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานหลัก (key officer) ของเอสวีโอเอ จึงมีการเสนอขาย หลักทรัพย์แก่กรรมการและพนักงาน เพื่อจัด สรรหุ้นของบริษัทให้กับพนักงานและผู้บริหาร จำนวน 5 ล้านหุ้น ด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 50 ล้านบาท เพิ่มเป็น 550 ล้านบาท

หลังจากดำเนินการทั้ง 7 ขั้นตอน เอสวีโอเอยื่นขอให้ตลาดหลักทรัพย์ย้าย หลักทรัพย์จากหมวด REHABCO ไปยังหมวดปกติ ภายใต้หลักการของการที่บริษัทจดทะเบียนมีส่วนของผู้ถือหุ้นมากกว่าศูนย์ และสามารถแสดงได้ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิหลังหักภาษี ในธุรกิจหลักสองไตรมาสติดกัน

ปรากฏว่า งบการเงินของเอสวีโอเอ ไตรมาสที่สองของปี 2543 มีกำไรสุทธิจาก การดำเนินงาน 8.42 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.