ปิ่น จักกะพาก เริ่มจากหนึ่งกลายเป็นศูนย์


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ปิ่น จักกะพาก เคยเป็นฮีโร่ในยุคเศรษฐกิจบูม แต่วันนี้เขากำลังเผชิญกับกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ปิ่นบอกเขาเป็นเพียงแพะรับบาป เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

ผู้ต้องขัง ที่อยู่ด้วยกันกับผมไม่เข้าใจว่า ผมถูกจับในข้อหาอะไร"? ปิ่นเล่าย้อนไปถึงวันที่เขาต้องเข้าไปอยู่ในคุกบริกซ์ตัน ในลอนดอนเมื่อปลายปีก่อน "พวกเขารู้จักแต่ข้อหามียาเสพย์ติดในครอบครอง ลักขโมย และรู้ว่าคดีพวกนี้ต้องติดคุกนานเท่าไร แต่พอผมบอกไปว่าทำให้เกิดความผิดปกติทางการเงินของประเทศ พวกเขาก็งงแล้วถามว่า "มันแปลว่าอะไรเนี่ย?" ขณะนี้ปิ่นได้ประกันตัวออกมาแล้วด้วยเงินประกันตัว 3 ล้านดอลลาร์

ปิ่นเองก็ถามตัวเองเหมือนกัน ในเมื่อเขาเล่นตามเกมมาตลอด แม้ว่าจะเคยท้าทายกฎเกณฑ์บางอย่างบ้างก็ตาม เขาสนใจการทำธุรกิจแบบสมัยใหม่มากกว่ารูปแบบเก่าๆ ที่ต้องอิงกับสายสัมพันธ์ และการคอร์รัปชั่น แต่แล้วเขากลับเป็นคนแรกๆ ที่ถูกแรงกดดันเมื่อระบบการเงินของไทยล่มสลาย

ในไทย ปิ่นถูกชูให้เป็นตัวการความผิด บง.เอกธนกิจหรือฟินวัน ซึ่งเขาสร้างมาจากศูนย์กลับกลายเป็นบริษัทไฟแนนซ์ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม 56 บริษัทไฟแนนซ์ ที่ถูกรัฐบาลสั่งปิดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทั้งนี้เนื่องจากฟินวันได้ ปล่อยกู้จำนวน 55 ล้านดอลลาร์ให้กับกิจการในเครือ 2 แห่ง โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่มีแนวโน้มว่าจะชำระคืนได้ ปิ่นอาจมีโทษในคดีอาญาโดยโทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท และจำคุกอีก 20 ปี แต่เขายังยืนยันว่า รัฐบาลไทยต้องการแค่แพะรับบาป เพื่อปัดความรับผิดชอบปัญหาความวุ่นวายทางการเงิน

ดาวดวงใหม่

ปิ่นไม่เคยคิดเรื่องติดคุกมาก่อน เมื่อปี 2522 ในวัย 28 เขาลาออกจากธนาคารเชสแมนฮัตตัน ที่ฮ่องกง ทั้ง ที่เป็นงาน ที่มั่นคง และมีรายได้ดี แล้วกลับไปฟื้นกิจการครอบครัว คือ บริษัทยิบอินซอย ไฟแนนซ์ ใน กรุงเทพฯ ที่ซบเซามานาน "ตอนผมเข้าไป บริษัทมีพนักงาน 3 คน และสินทรัพย์รวม แค่ 40 ล้านบาท บริษัทเล็กมาก" ยิ่งกว่านั้น บริษัทไฟแนนซ์ในเวลานั้น ยังมีภาพพจน์ ที่ย่ำแย่ไม่ทัดเทียมกับธนาคาร โดยทำธุรกิจประเภทจำนองบ้าน ปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อม และจัดไฟแนนซ์รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรืออุปกรณ์ภายในบ้านเท่านั้น แต่ปิ่นมองเห็นลู่ทางเติบโตของธุรกิจนี้ตั้งแต่เมื่อเชสส่งเขาไปช่วยฟื้นฟูกิจการ บริษัทไฟแนนซ์ของไทยอีกแห่งหนึ่ง "ถ้าเรามีการปรับปรุงแก้ไข อย่างเป็นกระบวนการ ผมมองว่าบริษัทไฟแนนซ์โดยทั่วไปจะเป็นธุรกิจ ที่ไปได้ดีมาก" ปิ่นบอกว่าดีมานด์ในภาคบริการการเงินกำลังเติบโต แต่ระบบธนาคารไทยยังยึดติดกับการบริหารแบบครอบครัว ดังนั้น บริษัทไฟแนนซ์จึงมีความคล่องตัวมากกว่า และปรับตัวเข้ากับอุตสาหกรรมการเงินโลก ที่กำลังเปลี่ยนไปได้ดีกว่า

ที่จริงแล้ว ปิ่นไม่เคยคิดอยากจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินเลย เขาเกิดเมื่อปี 2494 ที่ชิคาโก (ถือพาสปอร์ตทั้งของไทย และสหรัฐฯ และมีวิธีคิดแบบอเมริกัน) เขาเป็นลูกโทน เติบโตในครอบครัวยิบอินซอย ซึ่งมีเชื้อสายจีน และมีฐานะดี

ในวัยเรียน ปิ่นเคยฝันจะเป็นช่างภาพ วิศวกร และสถาปนิก และเมื่อเข้าศึกษา ที่วาร์ตัน บิสซิเนส สกูล เขาก็สนใจ ด้านการตลาดมากกว่าการเงินการธนาคาร แต่หลังจากนั้น เขาก็เข้าทำงาน ที่ธนาคารเชส แมนฮัตตัน และก้าวหน้าในอาชีพอย่างรวดเร็วจนถึงระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทว่าธุรกิจธนาคารนั้น ราบเรียบเกินไปสำหรับปิ่นผู้มีความทะเยอทะยาน ดังนั้น เมื่อครอบครัวขอให้เขากลับมาดูแลกิจการไฟแนนซ์ เขาก็ตกลงทันที "คุณจะกลายเป็นพวกอนุรักษนิยมเกินไปถ้าเป็นนักการธนาคาร" เขาเล่า "ผมมีแนวทางแบบผู้ประกอบการ และมองเห็นโอกาส ที่จะบริหารบริษัทไฟแนนซ์ ที่ขาดประสบการณ์"

ปิ่นอาจจะได้งานนี้เพราะสายสัมพันธ์ของครอบครัว แต่เขาได้กำหนดแนวทางชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าจะบริหารงานอย่างมืออาชีพ "ครอบครัวผมต้องทำสัญญากันว่าถ้าหากครบ 3 ปีแล้วไม่ต้องการให้ผมบริหารต่อ หรือถ้าผมไม่อยากทำต่อ เราก็จะต่างคนต่างไปโดยไม่รู้สึกอึดอัดใจ" นอกจากนั้น ปิ่นยังหาผู้ถือหุ้นจากภายนอก เข้ามาเสริม เพื่อไม่ให้กิจการกลายเป็นธุรกิจครอบครัว ในระยะแรกมีผู้ถือหุ้นร่วมคือ แบงก์ ปาริบาส์ (Banque Paribas) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ปิ่นประทับตรา "Made in America" ทั่วบริษัท และจ้างพนักงานคนไทย ที่จบการศึกษาจากสหรัฐฯ ด้วยเงินเดือนสูงๆ อีกทั้งให้ผลตอบแทนในรูปแบบหุ้นของ บริษัท และแรงจูงใจอื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นวิสัยทัศน์ ที่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในขณะนั้น ปิ่นพยายามประสานแนวทางแบบตะวันตก และตะวันออกเข้าด้วยกัน แต่เขาก็ต้องเผชิญกับภาวะล่อแหลมเมื่อระบบการเงินของไทยยังเติบโตไม่ทัน

นอกจากจะต้องทำงาน ที่ยากแล้ว ปิ่นยังรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินของไทย ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังดิ่งลงอย่างหนัก ในระหว่างปี 2523-2528 มีบริษัทไฟแนนซ์ และประกันภัยหลายแห่ง ที่ต้องพึ่งพากองทุนฟื้นฟูของรัฐบาล "มัน แลกมาด้วยเลือด หยาดเหงื่อ และน้ำตา" ปิ่นฟื้นความหลัง แต่ในยามวิกฤติก็มีโอกาสเปิดให้ด้วยเช่นกัน ปิ่นจึงเดินหน้าสร้าง บริษัทไฟแนนซ์ของเขาต่อไปด้วยการซื้อใบอนุญาตของคู่แข่ง ที่กำลังย่ำแย่ต่อจากกองทุนฟื้นฟู โดยใช้เงินจากผู้ถือหุ้นหลัก ที่ยินดีงดรับเงินปันผลเป็นระยะเวลาหนึ่ง ปิ่นดิ้นรนวางรากฐานกิจการฟินวันโดยที่ยังมองไม่เห็นกำไรในระยะสั้น ปี 2529 ฟินวันยังได้ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยซื้อกิจการ "โกลด์ ฮิล ซีเคียวริตี้ส์" (Gold Hill Securities) จากกองทุนฟื้นฟูเป็นมูลค่า 900,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นเวลา ที่เศรษฐกิจ และตลาดหุ้นไทยกำลังทะยานขึ้น หลังจากนั้น ทุกสิ่งก็เป็นไปตามการคาดการณ์ของปิ่น ราชาเทกโอเวอร์

โกลด์แมน ซาคส์ (Goldman Sachs) เคยระบุในรายงานตอนต้นปี 2539 ว่า ฟินวันมีประวัติการบริหารงานที่ดี "ระบบการบริหารงานของปิ่นมีความชัดเจน มีความคิดสร้างสรรค์ คล่องตัว และมองอนาคตในเชิงบวก เรายังเห็นว่าปิ่นตั้งใจ ที่จะจ้างผู้บริหารมืออาชีพ ที่มีความสามารถในการบริหารงานประจำวันด้วย และให้ผลตอบแทน และรางวัล เพื่อรักษาพนักงาน ที่มีฝีมือโดยวิธีการจัดสรรหุ้นบริษัทให้รวมทั้งมีระบบผลตอบแทน ที่อิงกับผลการปฏิบัติงาน" ในระหว่างปี 2529-2539 ปิ่น และฟินวันออกวิ่ง และมีชัยชนะมาตลอด โดยวิธีเข้าซื้อกิจการที่มีสภาพย่ำแย่ แล้วจ้างนักบริหารรุ่นใหม่ ที่ผ่าน การอบรมแบบอเมริกันเข้าไปพลิกฟื้นกิจการ หลังจากนั้น ก็นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ทำรายได้ก้อนโตให้กับตัวเขา และบรรดานักลงทุน กิจการโกลด์ฮิลเปลี่ยนชื่อเป็นซีเคียวริตี้ส์ วัน และเป็นโบรกเกอร์ใหญ่ที่สุดของไทย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน ราว 900 ล้านดอลลาร์เมื่อครั้ง ที่กิจการรุ่งเรืองสูงสุด และเมื่อฟินวันประสบผลสำเร็จก็มีผู้มาร่วมธุรกิจเพิ่ม อย่างเช่น จาร์ดีน เฟลมมิง แห่งฮ่องกง ที่เข้ามาร่วมกับฟินวันในปี 2531 สร้างกิจการจาร์ดีน เฟลมมิง ธนกร จนประสบความสำเร็จ

ถึงแม้ปิ่นจะจับอะไรก็กลายเป็นเงินไปหมด แต่ช่วงเวลา ที่ทำเช่นนั้น ได้ก็มีจำกัด หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ประเทศไทยยังคงเดินหน้าสู่ เส้นชัยต่อไป ตัวเลขจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) พุ่งขึ้นเมื่อนักลงทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาตั้งโรงงานผลิตสินค้าตั้งแต่เสื้อยืดจนกระทั่งรถปิกอัพ โดยผลิตทั้ง เพื่อจำหน่าย ในประเทศ และ เพื่อส่งออก ในช่วงปี 2533-2537 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัว อยู่ ที่ระดับราว 1,700 จุด ทั้งหมดนี้ส่งผลให้มีดีมานด์ในภาคบริการการเงินเพิ่มอย่างมากมายสำหรับฟินวัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ เพื่ออสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงยูโรบอนด์ ซึ่งฟินวันเป็นผู้บุกเบิกตลาดในไทย "คนมักคิดว่าผมฉลาดมาก หรือเป็นพวกพ่อมด หรืออะไรโง่ๆ แบบ นั้น แต่ถ้าดูให้ดี ฟินวันเน้น ที่พื้นฐานเสมอ" ปิ่นบอก "เราเริ่มจากการมีเงินทุนดี มีผู้ถือหุ้นดี และเราพยายามหาทีมบริหารชั้นเยี่ยม แค่นี้แล้วยังต้องมีอะไรอีกล่ะ?" หลักการแค่นี้ของปิ่นได้พาให้กิจการที่เคยมีกำไรเพียง 1.4 ล้านบาทในปี 2528 มีกำไรเพิ่มเป็น 2,400 ล้านบาทในปี 2538 และฟินวันยังเคยดำเนินการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นสัดส่วนถึง 20% เมื่อครั้ง ที่กิจการรุ่งเรืองสูงสุดด้วย

ปิ่นบอกเขาไม่ใช่คนบ้างาน เขาเป็นเพียงคนที่ใช้ความคิด และเป็นนักการตลาดให้กับฟินวัน "จริงๆ แล้วผมเป็นคนค่อนข้างขี้เกียจ ช่วง 10 ปีหลัง ผมไปอยู่ต่างประเทศปีละสามสี่เดือน อยู่กับลูกๆ เดินทางท่องเที่ยว ติดต่อลูกค้า ซึ่งเป็นงาน ที่ทำให้กับฟินวัน แต่เป็นงาน ที่ทำข้างนอกบริษัท"

ปิ่นเดินทางไปทั่วโลก เขามีบ้านอยู่ทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ เล่นกอล์ฟกับผู้นำทางธุรกิจ และการเมือง แต่เขาไม่เคยมีเรือยอชต์หรือเครื่องบินส่วนตัว เขาไม่ชอบออกงานสังคม ความเหลวไหลส่วนตัวมีเพียง ที่เขาชอบความเร็ว และเขาก็มีรถสปอร์ตอยู่ 5 คัน

เบื้องหลังความสำเร็จของปิ่นได้มาด้วยความสุ่มเสี่ยงอยู่เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ปิ่นบอกว่าการที่ฟินวันให้เงินกู้กับบริษัทในเครือ เพื่อนำไปลงทุนต่อนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในอังกฤษ แต่ในไทย เงินกู้ยืมดังกล่าวถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย 100% และการนำสินทรัพย์ประเภทเก็งกำไรไปลงในบัญชีงบดุลบริษัทของฟินวันก็เป็นเรื่องทำได้ "นี่อาจจะไม่ใช่เรื่อง ที่เขาอยากให้เราทำ แต่โดยกฎหมายแล้วเราทำได้ เป็นหน้าที่รับผิด ชอบของผู้ออกกฎ ที่จะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และกฎหมาย เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้" เขาบอก และเสริมว่า "ในเมื่อมีช่องว่างกฎหมายเปิดอยู่ คือ ผมหมายความว่าธุรกิจจะต้องคู่เคียงไปกับกฎหมาย แต่แล้วคนทำธุรกิจ ที่ข้ามเส้นไปก็เลยถูกฆ่ายังงั้นหรือ?" ปี 2536 เขาพยายามเทกโอเวอร์ธนาคารเอเชีย ซึ่งเป็นธนาคารอันดับ 10 ของประเทศไทย และเป็นครั้งแรก ที่บริษัทไฟแนนซ์พยายามเข้าซื้อกิจการธนาคาร ปิ่นบอกมีการขอค่าตอบแทนเล็กน้อย เพื่อดำเนินการให้สำเร็จ "เงินสามสี่พันล้านบาทใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาลไง" ปิ่นเล่าพลางหัวเราะ เขาปฏิเสธเรื่องนี้ไป และการเจรจาก็ล้มเลิกไปในที่สุด

เกิดอะไรขึ้น

ปิ่นรู้สึกเจ็บ ที่ธนาคารเอเชียปฏิเสธ เขารู้ว่าฟินวันประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่หากบริษัทยังไม่สามารถเข้าซื้อกิจการธนาคารให้ได้สักแห่ง กิจการก็ยังถือว่าอยู่แนวหลังของธุรกิจธนาคารไทย ดังนั้น เขาจึงมองไป ที่ธนาคารไทยทนุ ซึ่งเป็นธนาคารอันดับ 12 ของประเทศ ปิ่นเป็น เพื่อนนักเรียนกับพรสนอง ตู้จินดา ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไทยทนุ และเป็นอดีตผู้บริหารของซิตี้แบงก์ ทั้งสองเชื่อว่าฟินวันจะทำให้ ธนาคาร ที่บริหารแบบอนุรักษนิยมกลับมีพลังขึ้นมาได้ ในเดือน มกราคม 2539 สองฝ่ายจึงตกลงกัน โดยฟินวันจะเข้าซื้อหุ้น 20% ของธนาคารไทยทนุเป็นมูลค่า 3,400 ล้านบาท นับเป็นข้อตกลง ที่ได้รับการสนับสนุนไปทั่ว แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังผ่อนปรนข้อกำหนด ที่จำกัดสัดส่วนการถือครองหุ้นของธนาคารให้กับเอกชนเพียง 5% โดยถือว่าสถาบันการเงินของไทยจะต้องเติบโตมากขึ้นก่อน ที่เปิดเสรีธุรกิจแขนงนี้ให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขัน เดือนสิงหาคม ปิ่น และ พรสนองได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ดูเหมือนปิ่นกำลังผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจการเงินของไทย แต่แล้วกิจการก็กลับล่มสลาย

ช่วงต้นปี 2539 ปิ่นพบว่ามีสัญญาณไม่ดีทางเศรษฐกิจ "ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งผมไปบรรยาย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้น ผมเตือนแล้วว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวแม้ว่าตลาดหุ้นยังคงทะยานขึ้นก็ตาม" แต่ปิ่นก็เหมือนกับนักธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เชื่อว่าวันเวลาที่ดีจะจบลงอย่างรวดเร็ว ปิ่นบอกว่าเริ่มมีข่าวลือจากศัตรูของเขาว่าสถานการณ์ของฟินวันกำลังย่ำแย่ แต่ความ คิดสร้างสรรค์ของปิ่นก็ยังคงแข็งแกร่ง อันที่จริงแล้วปิ่นน่าจะเอาใจใส่กับธุรกิจของเขาให้มากกว่า ที่จะเป็นเพียง "คนขายความคิด" เพราะกิจการของเขานั้น สร้างขึ้นมาจากบริษัทไฟแนนซ์ ที่ล้มไปเมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำคราวก่อน

หลังจาก ที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างหยุดไม่อยู่ อัตราการเติบโตของการส่งออกต่อปี ซึ่งคิดเป็น 40% ของจีดีพี ทรุดดิ่งจากระดับ 22% ในปี 2538 ลงมา ที่ 3% ในปี 2539 เนื่องจากดีมานด์สินค้า อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกลดลง และต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้น อสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ถูกทิ้งร้างเนื่องจากสร้างขึ้น เพื่อการเก็งกำไรเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อธุรกิจต่างๆ เริ่มรู้สึกถึงแรงบีบ อัตราการไม่ชำระหนี้เงินกู้อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเช่าซื้อของฟินวันก็เพิ่มขึ้น นักลงทุนแตกตื่น ถอนเงินลงทุนคืนจากตลาดหุ้น ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับลดลง 30% ในปีนั้น ดัชนีหุ้น ที่ลดลง ยังฉุดให้รายได้จากการเป็นโบรกเกอร์ และอันเดอร์ไรเตอร์ลดลงด้วย ยังไม่ต้องนับถึงมูลค่าของธุรกิจอื่นๆ ที่แตกออกไป ยิ่งเมื่อมีการโจมตีเงินบาท ซึ่งผูกโยงอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยจึงสูงขึ้นเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านการเงินให้กับฟินวันตามไปด้วย ในเดือนสิงหาคม 2539 กระทรวงการคลังเพิกถอนการอนุญาตให้ฟินวันเข้าถือหุ้นในธนาคารไทยทนุเกิน 5% เนื่องจากเกรงว่า บริษัท ที่มีปัญหาจะฉุดให้ กิจการอื่นๆ ย่ำแย่ตามไปด้วย ในเดือนตุลาคม ฟินวันจึงมีกำไรสุทธิในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2539 ลดลง 22% จากระดับในปีก่อนหน้า

หลังจากนั้น ไม่นานก็มีข่าวลือหนาหูว่าฟินวันมีปัญหาสภาพคล่องทำให้เริ่มมีคนไปถอนเงินฝาก ราคาหุ้นลดลงจาก 170 บาทในปี 2539 เหลือ 23 บาทในตอนต้นปี 2540 เมื่อ นักลงทุนพากันเทขายหุ้น กองทุนพัฒนาสถาบันการเงิน เกรงว่าจะเกิดผลกระทบอย่างแรงหากฟินวันล้มละลาย จึงได้อัดฉีดเงิน 40,000 ล้านบาทให้บริษัท ปิ่นบอกว่า เขาได้ระดมความคิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับวิธีพยุงกิจการไม่ให้ล้มละลายด้วย แต่อีกเพียงครึ่งปี สถานการณ์ก็พลิกผัน ในเดือนมีนาคม 2540 ปิ่น และพรสนอง ก็ประกาศข้อตกลงใหม่ คราวนี้ ธนาคารไทยทนุเป็นฝ่ายเทกโอเวอร์ฟินวัน เพื่อกอบกู้กิจการที่กำลังล้มละลายนั่นเอง

แต่สิ่งที่แย่กว่านั้น ก็คือ ในเดือนพฤษภาคม ธนาคารไทยทนุก็ยกเลิกแผนการเข้าช่วยฟื้นกิจการฟินวัน เนื่องจากพบว่ามีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมูลค่าสินทรัพย์อันยุ่งเหยิงของฟินวัน อาณาจักรของปิ่นถูกลืมเลือน และระบบการเงินไทยทั้งหมดก็ซวนเซ วันที่ 27 มิถุนายน รัฐบาลสั่งพักการซื้อขายหุ้นกิจการฟินวัน และบริษัทไฟแนนซ์อีก 15 แห่ง

ต่อมา วันที่ 2 กรกฎาคม รัฐบาลไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการประกาศลดค่าเงินบาท ซึ่งยังได้ฉุดให้เงินสกุลอื่นในเอเชียดิ่งลงจนนำไปสู่วิกฤติการเงินเอเชีย ปิ่นบอก "ตอนกลางปี 2540 สมองผมทึบไปหมด ผมนอนไม่หลับ รู้สึกเครียดกับสถาน การณ์ ที่เกิดขึ้น ผมอยู่ ที่อังกฤษอาทิตย์หนึ่ง แล้วก็บินกลับกรุงเทพฯ จากนั้น ก็บินกลับมาอังกฤษอีก และตัดสินใจลาออก" สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อรัฐบาลสั่งปิดกิจการไฟแนนซ์ของเขา และอีก 32 แห่งในวันที่ 7 ธันวาคม ต่อมา แต่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นปัญหายุ่งยากของปิ่น

ปัญหารุมล้อม

ในเดือนมิถุนายน 2541 รัฐกรณ์ นิ่มวัฒนา ต้องลาออกจากกรมอัยการมารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยได้รับคำสั่งให้ติดตามดูการกระทำผิดของนักการเงินการธนาคาร ที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดดิ่งลง "ผมเป็นอัยการมา 23 ปี เจอแต่จำเลย ที่เป็นคนยากจนไร้การศึกษา มีคดีลักทรัพย์หรือไม่ก็ค้าเฮโรอีน แต่พอเป็นกรณีผู้บริหารการเงิน พวกนี้จบการศึกษาอย่างน้อยก็ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์หรือไม่ก็ เอ็มบีเอ งานนี้จึงยากมาก แล้วพวกนี้ก็ฉลาด" ทั้งนี้รัฐกรณ์ต้องดูแลคดีของฟินวันด้วย

สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ฟินวันล้มก็คือ การปล่อยกู้ให้กับบริษัทในเครือ ซึ่ง "ถูกต้องตามกฎหมาย 100%" บริษัทในเครือ ที่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ก็คือ "วันโฮลดิ้ง" ซึ่งเป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ที่ฟินวันซื้อไว้เมื่อปี 2534 แต่เมื่อมูลค่าการลงทุนของวันโฮลดิ้งตกลง ก็ฉุดฟินวันให้ย่ำแย่ตามไปด้วย ยิ่งกว่านั้น ปัญหาใหญ่ของฟินวันยังอยู่ ที่บริษัทในเครือ อีกสองแห่งคือ เอกภาค และร่วมบริหารธุรกิจ ซึ่งกู้เงินจากฟินวันไปลงทุนในหุ้น ค้าเงิน และลงทุนในสินทรัพย์ของฟินวันด้วย ในระยะแรกการลงทุนดังกล่าวทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ แต่พอถึงปลายปี 2539 ตัวเลขการลงทุนก็กลายเป็นตัวแดง ฟินวันต้องหาทางพยุงกิจการในเครือไม่ให้ล้ม โดยการอัดฉีดเงินกู้เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท ทุกๆ ไตรมาส จนกระทั่งถึงต้นปี 2540 ทว่ารัฐกรณ์พิจารณาว่าเงินกู้ดังกล่าวมีลักษณะผิดกฎหมาย เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่มีการทบทวนถึงภาระการชำระคืน ดังนั้น ปิ่น และเติมชัย ภิญญาวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้บริหารของฟินวันจึงมีความผิดฐานละเลยผลประโยชน์ของบริษัท

ปิ่นไม่เชื่อว่าการอัดฉีดเงินกู้เพิ่ม ซึ่งเป็นรายการที่ลง ในงบดุลบริษัทมาตลอดจะกลายมาเป็นความผิดอาญา "เงินกู้เหล่านี้เป็นหนี้ค้างชำระมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง" ปิ่นบอก "มันผ่านสายตาผู้ตรวจสอบบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทยมาตั้งหลายครั้ง" ส่วนเติมชัยบอกด้วยว่าเงินกู้พวกนี้เป็นการกู้ยืม ที่มีเอกสาร และไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด ที่จะยักยอกเข้ากระเป๋าใครได้ เขาตั้งคำถามว่า "มีใครเอาเงิน 100 ล้านเข้าบัญชีคุณปิ่นหรือเปล่า หรือเข้าบัญชีผมสัก 50 ล้าน? ไม่มีเลย เราไม่เคยทำอย่างนั้น "

ยิ่งกว่านั้น ปิ่นยังบอกว่าตั้งแต่กองทุนพัฒนาสถาบันการเงินอัดฉีดเงินให้กับฟินวันในช่วง ที่มีปัญหา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็รู้เรื่องทั้งหมด ซึ่งถ้าถือเป็นการละเมิดกฎระเบียบบริษัทก็ควรจะเสียค่าปรับ ซึ่งปิ่นยอมรับได้ แต่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาในคดีอาญาต่อบุคคล

ส่วนกรมอัยการกลับมองว่า "กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย" ดังนั้น แม้ว่าปิ่นจะไม่คิดว่าตนเองทำความผิด แต่เมื่อเขาไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ก็ต้องถูกลงโทษในฐานะผู้รับผิดชอบบริษัท อัยการยังได้เจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทย และได้รับคำตอบว่า "ไม่เคยตกลง อนุญาต หรือสนับสนุนใดๆ ตาม ที่คุณปิ่นบอก" ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยบอก "เราไม่ได้ฟ้องร้องให้ใครมารับผิดชอบเรื่องทั้งหมด เพราะตัวเลขจะหลายพันล้านทีเดียว แต่เราฟ้องคุณปิ่น 2 พันล้านบาท เพราะเรามีหลักฐานว่าเขาละเลยการปฏิบัติงาน"

วันที่ 29 กันยายน 2541 มีการออกหมายจับปิ่น เติมชัย และสำราญ กนกวัฒนวรรณ ซึ่งเป็นผู้บริหารของฟินวัน อีกรายหนึ่ง ในข้อหายักยอกเงิน 55 ล้านดอลลาร์ เติมชัย และ สำราญได้รับการประกันตัว แต่ถูกสั่งอายัดทรัพย์สิน และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนปิ่นได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2540 ก่อน ที่จะถูกตั้งข้อหาเป็นเวลานาน ซึ่งทางการไทย และสื่อมวลชนก็ระบุว่าเขาหลบหนีออกนอกประเทศ เพราะรู้ว่าจะถูกจับ

การไล่จับ

ทางการไทยกล่าวถึงปิ่นว่าหลบหนีการจับกุมของตำรวจสากลได้นานกว่าหนึ่งปี แต่ปิ่นบอก "ผมเดินทางโดยใช้ ชื่อของตัวเอง และใช้พาสปอร์ตสหรัฐฯ ของผมตลอด" เขาบอกปกติเขาจะเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างฮ่องกง สหรัฐฯ และ อังกฤษ และแวะเล่นกอล์ฟ ที่มาเก๊าบ้าง "สิ่งที่พวกเขาต้องทำก็แค่โทรศัพท์แล้วเรียกตัวผม แต่เขากลับให้เอฟบีไอไปหาลูกสาวผม ที่นิวยอร์ก ลูกผมก็บอกความจริงว่าผมอยู่ ที่บ้าน ที่ลอนดอน" แต่หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ พาดหัวว่า "ลูกสาวปิ่นให้เบาะแส ที่ซ่อนตัวพ่อ"

ปิ่นยังจำได้ดีถึงวันที่มีเสียงกริ่งเรียกประตูบ้านเขา ที่เบลกราเวียในลอนดอนตอนเช้าในเดือนธันวาคม "ตำรวจอังกฤษมีมารยาท" เขาเล่า "ภรรยาผมชงชาให้เขาระหว่าง ที่รอผมอาบน้ำแต่งตัว และก่อน ที่เราจะออกจากบ้าน เขายังบอกว่า "คุณจะมีเวลาว่างเยอะแยะ" ผมก็เลยหยิบเครื่องเล่นมินิดิสก์ กับหนังสืออีกสี่เล่มติดมือไปด้วย" ปิ่นติดคุกอยู่ 6 วัน ในขณะที่ภรรยา และลูกสาววิ่งขอจดหมายรับรองความประพฤติให้เขาถึง 300 ฉบับ และยังจำนองบ้าน ที่ลอนดอน เพื่อเป็นเงินประกันตัวเขาออกมา และจากนั้น เขาก็ต้องต่อสู้กับกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ปิ่นบอกหากเขากลับมาสู้คดี ที่เมืองไทย การสืบพยานจะต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทางการ นักธุรกิจ และนักการเมืองจำนวนมาก และในประเทศ ที่สามารถว่าจ้างมือปืนได้ถูกเพียง 100 ดอลลาร์ เขาจึงไม่อยากกลับมาเผชิญด้วย ยิ่งกว่านั้น ปิ่นไม่เชื่อว่าเขาจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ในเมื่อทั้งประเทศกำลังต้องการหาเหยื่อ เพื่อโยนความผิดให้ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกรมอัยการ ซึ่งเห็นว่าปิ่นกำลังดูถูกระบบยุติธรรมของไทย

ถ้าถามว่าปิ่นรู้สึกผิดบ้างไหม ในกรณีการใช้ดุลยพินิจทางธุรกิจ ที่แย่ และทะนงตนเกินไป เขาอาจจะรู้สึกผิดบ้าง หรือกรณีการสร้างปราสาททรายที่มีหนี้สิน ท่วมตัวจนต้องล้มครืนลงมา เมื่อเจอกับคลื่นลมแห่ง ความผันผวน เขารู้สึกผิดแน่นอน แต่เขาไม่ได้ก่ออาชญากรรม "ฟินวันเป็นบริษัท ที่โปร่งใสที่สุด" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอ็กซิมแบงก์บอก "ฟินวันเติบโตขึ้นมาตามระบบ และเพราะเศรษฐกิจบูม แต่ระบบผิดพลาด ถ้าหากเขาจะรู้สึกผิด ก็เป็นเพราะไม่มีการป้องกันที่ดี"

ขณะนี้ปิ่นยังคงอยู่ ที่ลอนดอน โดยทนายความของเขากำลังต่อสู้กับคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนอยู่ (ศาลมีกำหนดไต่สวนใน วันที่ 29 สิงหาคม) ปิ่นไปเล่นกอล์ฟเป็นครั้งคราว ให้คำปรึกษาด้านการเงินบ้าง เวลา ที่เหลือก็คือ ทำความสะอาดอพาร์ตเมนต์ หรือทำกับข้าวให้ภรรยา และลูกสาวคนโตบ้าง ถึงแม้เขาจะไม่ได้ยากจน แต่เขาก็ไม่มีอะไรจะอวดได้เลยหลังจาก ที่ใช้เวลา 20 ปีกับฟินวัน เขาวิตกอยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทไฟแนนซ์ ของเขา ปิ่นไม่ได้เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ ที่ว่า ธุรกิจก็เป็นเกม เกมหนึ่ง ที่เขาไม่ควรเอาจริงเอาจังเกินไปนัก แต่เขาเสียใจ ที่ฟินวันถูกปิด ซึ่งเขาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องถูกปิด เขายืนยันว่าเขาไม่ใช่คนโกง "ผมไม่ได้ขโมยเงินใคร ผมไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย" เขารู้สึกโกรธมากเมื่อถูกเหมารวมไปกับกรณีของราเกซ สักเสนา ซึ่งถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ "ผมถือว่าดูถูกสติปัญญาของผม ที่ทำให้คนอื่นคิดว่าผมลดตัวลงไปขโมยเงินธนาคาร" ปิ่นกล่าวต่อว่า "มีแต่คนโง่เท่านั้น ที่ขโมยเงินธนาคาร แต่คนฉลาดทำเงินให้ธนาคาร" และบางทีก็ทำให้เสียเงินด้วยกระมัง

เรียบเรียงจาก Asiaweek June 23,2000 โดยเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.