ตึกเก่าที่เป็นโกดังเก็บของหลังหนึ่ง
บริเวณชุมชนวงเวียน 22 กรกฎา ถูกตกแต่งให้เป็น
"อะเบาท์คาเฟ่" "อะเบาท์สตูดิโอ" สถานที่ซึ่งเมื่อหลายคนเห็นแล้วต้องหยุดมอง
ตั้งคำถาม แล้วพยายามค้นหา
คำตอบกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น
"อะเบาท์คาเฟ่" ปิดตัวเองไปหลายเดือน และพร้อมที่จะเปิดใหม่ในวันที่
1 พฤศจิกายน 2544 นี้ ด้วยเจตนารมณ์เดิมอันแน่วแน่ของเกล้ามาศ ยิบอินซอย
ที่ พยายามหากระบวนการต่างๆ มาสนับสนุนและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยให้เกิดขึ้น
โดย กิจกรรมนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อนๆ ทั้งรูปแบบและความหมาย
การส่งเสริมในเรื่องนี้จะมีขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อศิลปะเป็นที่ยอมรับ คนมีความเข้าใจ
และเป็นที่ชื่นชมในหมู่คนจำนวนมาก "อะเบาท์คาเฟ่" จึงเป็นสถานที่ที่ทำให้งานศิลปะกับคนได้พบกันง่ายขึ้น
นี่คือที่มาของคาเฟ่แห่งนี้เมื่อ 5 ปีก่อน และแม้ว่าจะไม่ใช่ร้านขายอาหารอีกต่อไป
แต่แก่นของความคิดยังเป็นเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
เกล้ามาศเป็นหลานแท้ๆ ของมีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินคนหนึ่งของเมืองไทยที่มีชื่อเสียงอย่างมากในเรื่องภาพเขียน
และงานประติมากรรม ที่แม้จะเสียชีวิตไปแล้วแต่ก็ยังมีผลงานด้านศิลปะ ที่สวยงามฝากไว้บนแผ่นดิน
โดยมีหลานสาวคนนี้เป็นผู้สานฝันเรื่อง งานศิลปะต่อไป
มีเซียมเป็นศิลปินที่ไม่จบมาจากสถาบันใดๆ ทางด้านศิลปะ เป็นเพียงแม่บ้านคนหนึ่งที่จบการศึกษาชั้น
ม.7 จากอัสสัมชัญคอน แวนต์ แต่ตัวเธอเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งจินตนาการ และพรสวรรค์
สร้างผลงานดีๆ ออกมามากมาย
อิทธิพลในเรื่องงานศิลปะถูกส่งต่อมายังเกล้ามาศ และสิ่งที่ เธอได้ทำมาตลอดช่วงเวลาหลายปีนี้ก็คือ
ค้นหาวิถีทางที่จะทำให้คนกับงานศิลปะมาเจอกัน เพื่อให้คนเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้และ
เข้าใจงาน นำไปสู่การเห็นคุณค่า ซึ่งในที่สุดจะทำให้ศิลปะเข้ามาเป็น ส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน
เกล้ามาศจบโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและศึกษา ต่อด้านประวัติศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ
ต่อมาเธอได้ทุนของฟูลไบรท์ ของ USIS เพื่อศึกษาต่อทางด้านพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ
และช่วงหนึ่งของ การเรียน เธอได้ฝึกงานที่ Whitney Museum of American Art
สิ่งแรกเมื่อเธอกลับมาก็คือการทำงานต่อให้คุณย่าที่โครงการ สวนศิลป์ บนถนนพุทธมณฑล
สาย 7 ซึ่งมีเซียมต้องการให้เอาผลงาน ทางด้านศิลปกรรมและประติมากรรมของเธอไปรวบรวมไว้ที่นั่น
พื้นที่ของสวนศิลป์ ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด 60 ไร่ เป็นที่สะสม งานของมีเซียม
24 ไร่ ที่เหลือถูกกำหนดให้เป็นส่วนที่แสดงงานหมุน เวียน งานกลางแจ้ง และพื้นที่ของอินดอร์เอ็กซิบิชั่น
ซึ่งเป็นโครงการ ที่ใหญ่มาก เกล้ามาศบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะสร้างกิจกรรมเพื่อดึงดูด
คนให้เข้าไปได้
"ต้องยอมรับค่ะ ว่าเราเองยังไม่มีความรู้มากพอเกี่ยวกับความ คิดหรือวิถีชีวิตของคนที่มีต่อศิลปะ
คือเราเป็นคนทำก็คิดอย่างหนึ่งแต่เมื่อคิดกลับไปคนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศิลปะก็อาจจะไม่มีอะไร
สำคัญ ก็เลยตัดสินใจที่จะเข้ามาทำกิจกรรมในเมือง เพื่อที่จะสร้างกลุ่มคนดูที่อาจจะทำให้เขาสนใจเกี่ยวกับเรื่องงานศิลปะมากขึ้นก่อน
จากนั้นโครงการในเมืองก็จะเชื่อมโยงกับโครงการ ที่สวนศิลป์ได้เอง"
อะเบาท์คาเฟ่ อะเบาท์สตูดิโอ เป็นตึก 2 ชั้นที่กว้างขวาง ด้านล่างจัดให้เป็นที่ขายอาหาร
ไม่มีเหล้าหรือเครื่องดื่มมึนเมา ชั้น 2 เป็นสตูดิโอที่จัดแสดงงานศิลปะหมุนเวียนไป
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อตัวคาเฟ่ไม่ใช่หัวใจสำคัญของการทำงาน บ่อยครั้งที่ลักษณะการเสนอ
งานจะจัดได้ในพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนเชื่อมโยงกัน รวมทั้งในส่วนของดาดฟ้าด้วย
โดยเหลือพื้นที่ร้านอาหาร ไว้เพียงเล็กน้อย
ลักษณะของชิ้นงานเป็นศิลปะร่วมสมัยที่เปลี่ยนไปตามสังคมอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการแบ่งบทบาทที่ตายตัว
หรือแบ่งแยกมากเท่ากับสมัยก่อน มันผสมผสานปนเปไปยังเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
กับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คน ดังนั้นหลากหลายกิจกรรมจึงได้เกิดขึ้นที่นี่เช่น
ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่นโชว์
5 ปีที่ผ่านไปผู้คนเริ่มเข้าใจบทบาทของอะเบาท์คาเฟ่มากขึ้น จนเกล้ามาศมั่นใจระดับหนึ่ง
ว่ามันน่าจะจบยุคที่ดึงเอางานอย่างอื่นเข้ามาหางานศิลปะแล้ว
"กิจกรรมที่สร้างขึ้นทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวของเขาเอง
ผ่านตัวข้อมูลที่เราเสนอ ไปเท่านั้นเอง เพราะจริงๆ แล้วศิลปะก็คือภาษาอีกรูปแบบหนึ่ง
ที่สนุกก็คือคุณไม่ต้องเข้าใจมันทั้งหมด ก็ได้ แต่คุณต้องรู้สึกหรือรับรู้ได้
แต่ถ้าคุณต้องการเข้าใจมันมากขึ้น ก็ต้องเข้าใจคำศัพท์หรือไวยากรณ์ ทั้งหลาย
ซึ่งมันก็เหมือนภาษาทั่วไป หรือเรื่องของวรรณกรรมหรือดนตรี
ในขณะเดียวกันเราก็ได้เรียนรู้ว่ากระบวนการที่เราทำนั้นมันได้สนองตอบ วัตถุประสงค์หลักของเราหรือเปล่า
มันต้องเปลี่ยนแต่ไม่เปลี่ยนหลักการหรือเปลี่ยนความหมาย แต่คุณต้องทันสถานการณ์ที่มันเป็นอยู่"
สิ่งที่เธอวางแผนจะทำต่อไปก็คือทำให้สถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นพิพิธ
ภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบขึ้น โดยชั้นล่างที่เคยเป็นร้านอาหารจะเปลี่ยนเป็นห้องสมุด
โดยมีหนังสือเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ หนังสือเกี่ยวกับงานศิลปะและวัฒนธรรม
สมัยใหม่ไว้ให้ศึกษาส่วนหนึ่ง
แต่ห้องสมุดแห่งนี้จะไม่ใช่มีเพียงหนังสือที่ทิ้งไว้ให้คนเข้า มาอ่าน แล้วเชื่อเรื่องทั้งหมดที่เป็นตัวหนังสือเท่านั้น
คนอ่านจะ ต้องรู้จักย่อยข้อมูล รู้จักตีความ ตั้งคำถาม และมีข้อสงสัย ดังนั้นจะมีการสร้างรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ
ที่จะกระตุ้นให้เอาข้อมูลไปใช้มากขึ้น โดยมีวิธีการหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง
"ที่นี่จะมีชิ้นงานจริงให้ศึกษา มีข้อมูลทุกอย่างประกอบ ไม่เฉพาะเป็นเพียงหนังสือเท่านั้น
แต่ยังมีวิดีโอ มีบทความ คนที่จะเข้ามามองไปที่รูปไหนอยากได้อะไรเพิ่มเติมจะมีวางไว้ให้เป็นกระบะอยู่หน้ารูปเลย"
เกล้ามาศอธิบายเพิ่มเติมกับ "ผู้จัดการ" และเธอก็บอก ว่าสิ่งที่กำลังทำเป็นการพิสูจน์บางสิ่งบางอย่างของผู้คนในแวดวงศิลปะในเมืองไทยเช่นกัน