สุพล พรนิรันดร์ฤทธิ์ Executive Creative Director บริษัท Supon Gibson Design
บินตรงจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวและลูกค้าที่เมืองไทย และให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร "ผู้จัดการ"
ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม
เขย่าขวัญคนทั้งโลกกลาง เมืองนิวยอร์กและวอชิงตัน ดี.ซี. เพียง 4 วัน
เขาเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ประสบความ สำเร็จอย่างสูงในการเข้าไปเปิดบริษัทด้าน
การออกแบบในสหรัฐอเมริกามาถึง 13 ปี ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ
และสามารถสร้างยอดบิลลิ่งได้สูงถึงเกือบ 100 ล้านบาท ก่อนที่จะถูก Multi-Media
Holdings, Inc. (MHI) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านมัลติมีเดียรายหนึ่งซื้อบริษัทไปเมื่อปี
พ.ศ.2542
เป็นธุรกิจของคนคนหนึ่งที่เกิดขึ้นและยืนหยัดอยู่ได้ในประเทศมหาอำนาจของ
โลก โดยไม่มีพื้นฐานหรือฐานะทางสังคมใดๆ เป็นตัวหนุน มิหนำซ้ำยังเป็นบริษัทของคนเอเชียผิวเหลือง
ดังนั้นต้องยอมรับว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมันสมองและสองมือ ของเขาจริงๆ
หลายคนอาจจะมองว่าสุพลเป็นคนโชคดี แต่เขาบอกว่าโชคของเขามีจริง แต่เกิดขึ้นหลังจากเขากล้าที่จะลงมือทำ
เพื่อ ให้เป็นไปตามความคิดฝันของเขาต่างหาก
สุพลจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนอัสสัมชัญแล้วเดินทางไปศึกษา
ต่อในระดับไฮสคูลที่สหรัฐอเมริกา ศึกษาต่อ จนจบทางด้านแอ๊ดเวอร์ไทซิ่งดีไซน์และกราฟิกดีไซน์
เมื่อเรียนจบเขาก็ได้งานทำในบริษัทออกแบบเล็กๆ ที่นั่น หลังจากนั้นเพียง
2 ปี เขาก็ตัดสินใจที่จะตั้งบริษัทสุพลดีไซน์ กรุ๊ป ขึ้นในปี พ.ศ.2531 ขณะที่เขามีอายุเพียง
24 ปีเท่านั้น
ทั้งกรุ๊ปที่ว่านั้นมีพนักงานอยู่เพียง 2 คนคือ ตัวเขาเองที่มีหน้าที่ออกแบบเป็นหลัก
และเพื่อนอีกคนที่คอยรับ โทรศัพท์ อพาร์ตเมนต์ที่พักคือออฟฟิศ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานก็คือโต๊ะดูสไลด์
1 ตัว แฟกซ์ และโทรศัพท์ 1 เครื่อง โดยมีเงินทุนของตัวเองเพียง 750 เหรียญ
แต่สิ่งที่สุพลมีมากก็คือความมั่นใจ การมีโอกาสเข้าไปเป็นลูกจ้างในบริษัทเล็กๆ
ที่ต้องทำเองหมดในทุกเรื่อง ทำให้เขาเชื่อว่าหากจะตั้งบริษัทเองขึ้นมาก็ทำได้
ที่สำคัญเขามั่นใจว่าเป็นคนที่ออกแบบได้สวย ซึ่งสุพลก็ได้เรียนรู้ในเวลาต่อมาว่าการออกแบบผลงานได้สวยและดีนั้น
เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประสบความสำเร็จเท่านั้นแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะงานด้านการบริหารจัดการก็มีส่วนเสริมที่สำคัญเป็นอย่างมาก
กลุ่มลูกค้าของเขาในช่วงแรกๆ นั้นคือพวกสมาคม และชมรมขององค์กรการกุศลต่างๆ
ที่มีอยู่ทั่วไปในกรุง วอชิงตัน ดี.ซี. และมีมากพอที่จะทำให้บริษัทเล็กๆ
อย่างเขาดำรงอยู่ได้แต่ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ต้องการความสวยงามใน เรื่องดีไซน์มากนักส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งทำโบรชัวร์ที่ง่ายๆ
จากยอดบิลลิ่งเพียง 1 แสนเหรียญในปีแรกเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเหรียญในช่วงระยะเวลาเพียง
5 ปีต่อมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เลวนัก แต่ชีวิตการทำงานกลับขาดสีสัน รูปแบบงานที่เข้ามามันไม่สนุก
ไม่ท้าทาย ในขณะที่เขามีพลังความคิดในเรื่องการดีไซน์อัดแน่นอยู่ในสมองเต็มไปหมด
ต้องเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าใหม่คือสิ่งที่เขาคิด และลงมือรวบรวมรายชื่อบริษัทใหญ่ๆ
ที่อยากได้เป็นลูกค้าไว้ ทั้งหมด 80 บริษัท หลังจากนั้นก็วางแผนประชาสัมพันธ์บริษัทตัวเองด้วยการลงทุนทำโบรชัวร์แนะนำบริษัทที่หรูหรา
สวยงามเพื่อส่งไปยังบริษัทเป้าหมายต่างๆ
วิธีนี้ได้ผล เมื่อผลงานของเขาไปสะดุดตาครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ บริษัทโค้ก
และติดต่อมาหาเขาทันที
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็มซึ่งในช่วงนั้นเป็นสปอนเซอร์ให้กับโอลิมปิกแอตแลนตาเกมส์
ประทับใจกับโบรชัวร์ที่สวยงามของบริษัทชื่อแปลกๆ นี้เช่นกัน และให้โอกาสสุพลเข้าไปเสนอผลงาน
และครั้งนั้นเขาใช้แผนการที่แยบยลเพื่อให้ได้งานชิ้นนี้ โดยให้ลูกน้องไปหางานทางด้านการกีฬาที่เป็นรายการกุศลมาทำให้ฟรีๆ
เช่นงานประชาสัมพันธ์ให้กับทีมเบสบอลของเด็กๆ เพื่อที่จะได้เอาผลงานไปแสดงให้บริษัทไอบีเอ็มเห็นว่า
เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ทางด้านกีฬามาบ้างเหมือนกัน
และไม้เด็ดสุดท้ายที่เขาทิ้งไว้ให้ผู้บริหารบริษัทขบคิดก็คือคำพูดที่ว่า
"โอเค ถึงผมจะมีผลงานทางด้านกีฬามาไม่มาก แต่ความใหม่ของผมอาจจะทำให้มีไอเดียที่ไม่ซ้ำแบบใครก็ได้
แต่ ถ้าเป็นบริษัทที่มีผลงานด้านการกีฬามามากแล้ว การเสนองานออกมาก็จะเหมือนๆ
กันหมด ไม่มีอะไรที่โดดเด่น"
ในที่สุดไอบีเอ็มก็แบ่งงานส่วนหนึ่งมาให้เขาทำ และปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจมากจนกระทั่งยอมยกงานทั้งแคมเปญให้หมด
และยังได้งานชิ้นอื่นต่อเนื่องมาด้วย
ภาพชุด "เดอะลุคออฟเดอะเกมส์" สุพลได้นำเอาสีฟ้า และลายเส้น
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของไอบีเอ็มเข้าไปอยู่ในเนื้องานด้วยทำให้ทุกคนที่เห็นนึกถึงบริษัทไอบีเอ็มทันที
โดยไม่จำเป็นต้องเห็นยี่ห้อเล็กๆ บนรูปภาพนั้นก่อนเลย
งานจากบริษัทใหญ่ที่ได้มาเป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ดีดให้สุพล แอนด์ ดีไซน์
กรุ๊ป มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมากขึ้น
การเป็นนักล่ารางวัล เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สุพลยึดเป็นแนวทางในการประชาสัมพันธ์
ให้กับบริษัทตัวเอง ในช่วงปีที่ 5-10 เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า
ได้รับรางวัลมาทั้งหมดเกือบ พันรางวัล และเมื่อปี 2000 หนังสือด้านกราฟิกดีไซเนอร์ของสหรัฐฯ
โหวตให้สุพลเป็น 1 ใน 50 ของดีไซเนอร์ที่มีความสามารถในอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจมากว่า
ผลงานของเขานั้นนอกจากลูกค้าจะยอมรับแล้ว บุคคลในแวดวงอาชีพเดียวกันก็ยอมรับเขาด้วย
"หลักในการทำงานที่ผมยึดมาตลอดก็คือบอกลูกค้าให้บอกเราว่าเขาต้องการอะไร
แล้วเราจะให้ในสิ่งที่คุณจำเป็นต้องมี อย่ามาบอกเราว่าจะเอาอะไร แล้วจะเอาอย่างนั้นทั้งหมด
เพราะถ้าคิดอย่างนั้นคุณจะมาบริษัทดีไซน์ทำไม ผมคิดอยู่เสมอว่าเราไม่ได้ดีไซน์เพื่อตัวเองแต่เราทำเพื่อลูกค้า
ลูกน้องผมบางคนทำมาสวยเชียว แต่ไม่มีเหตุผล งานก็ไม่ผ่าน ในขณะเดียวกันเราต้องแนะนำลูกค้าได้ด้วยเพราะดีไซน์มักจะถูกกล่าวโทษก่อน
ทุกทีว่าเพราะออกแบบไม่สวยของเลยขายไม่ได้"
ทุกครั้งที่สุพลมาเมืองไทยจะมีโอกาสได้เห็นชิ้นงานด้านดีไซน์ที่ดีๆ มากมายไม่แพ้ผลงานดีไซเนอร์ดังในต่างประเทศ
แต่เสียดายที่บางชิ้นเขาไม่รู้ว่าคนออกแบบต้องการสื่อให้เห็นอะไร และบางครั้งดูเหมือนว่าคนออกแบบเลียนแบบจากต่างประเทศมากไปโดยไม่ได้ดูความ
เหมาะสม และลืมเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไป เช่นลูกค้าขายขนมไทยแต่ดีไซน์กล่องที่ใส่ให้ดูเหมือนขนมจากเมืองนอก
"ผมเองก็ดูงานคนอื่นเหมือนกัน ดูแล้วก็นำมาดัดแปลงให้เหมาะ สม ไม่ใช่ก๊อบปี้มาทั้งหมด
เราใช้ไอเดียเขามาดัดแปลง ผมพยายามคิดว่า ดีไซน์คนนี้เขาคิดอะไรอยู่งานของเขาจึงได้ออกมาแบบนี้
ผมก็พยายาม ใช้ความคิดของเขามาใส่ในงานของเรา"
นั่นคือวิธีการคิดและเส้นทางสู่ความสำเร็จของสุพล จนกระทั่งเมื่อ MHI ได้เข้ามาขอซื้อบริษัทของเขาไปเป็นบริษัทหนึ่งในเครือที่มีอยู่แล้วถึง
17 บริษัท เช่นบริษัทด้านโฆษณา บริษัทด้านประชาสัมพันธ์ และสุพล ดีไซน์ กรุ๊ป
ก็เข้าไปเป็นบริษัทที่ 18 ของเอ็มทีไอ โดยมีระยะเวลาในการทำสัญญาทั้งหมด
4 ปี
สุพลอธิบายกับ "ผู้จัดการ" ว่า สิ่งที่ได้จากการรวมบริษัทในครั้งนั้นก็คือ
1. ได้เงิน 2. ได้หุ้นในบริษัท MHI มาส่วนหนึ่ง 3. การบริหารยังอยู่ในมือของเขาเต็มที่
ในขณะเดียวกันจะได้ทีมงานซัปพอร์ตจากแผนกต่างๆ ของเขา ทำให้บริษัทสุพลกลายเป็นบริษัทใหญ่ที่มีพนักงานทั้งหมดรวมกันถึง
300 คน เพิ่มขีดความสามารถในการให้ บริการลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น พร้อมที่จะทำงานชิ้นใหญ่
ขึ้น
และที่สำคัญยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้เขาได้มีความก้าวหน้าและกว้างขวางด้วยคอนเนกชั่นที่เข้ามาอย่าง
ต่อเนื่องในอนาคตต่อไปในระยะยาวด้วย
สุพลได้ไปซื้อบริษัทกิ๊ปสันดีไซน์เข้ามาเพิ่มอีกบริษัทหนึ่งด้วยความเห็นชอบของบริษัทแม่
และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นสุพล กิ๊ปสัน ดีไซน์ ในเวลาต่อมา
สุพล กิ๊ปสัน ดีไซน์ มีทีมงานทั้งหมด 30 คน เป็นคนดีไซน์งาน 15 คน งานหลักๆ
ที่รับทำ มีทั้งหมด 6 ฝ่ายคือ งานด้านรีเทล งานของหน่วยงานภาครัฐ งานด้านชมรมสมาคม
เอ็นเตอร์เทน สปอร์ต วิทยุ การศึกษา ไฮเทคโนโลยี ซึ่งรายได้จะมาจากส่วนของงานด้านการศึกษามากที่สุด
โดยมีลูกค้าสำคัญคือ George Washington University
ชื่อ "Supon" ที่ฝรั่งออกเสียงยากสะกดไม่ถูกนี้ เป็นแบรนด์ด้านการออกแบบและดีไซน์ไปแล้ว
ในกรุงวอชิงตัน การเป็นคนไทยไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป ซึ่งเขาบอกว่าถ้าความเป็นคนไทย
หรือความเป็นคนเอเชียทำให้ลูกค้าไม่ไว้ใจ เขาเองก็ไม่อยากได้ลูกค้าที่มีความคิดคับแคบอย่างนี้เหมือนกัน
เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งที่สุพลอยากทำมากๆ ก็คือ การขยายงานไปทางด้านออกแบบพวกเฟอร์นิเจอร์
และเครื่องเรือนต่างๆ เพราะเป็นสิ่งที่เขามีใจรักและชอบในการตกแต่งบ้านอย่างที่สุด
บ้านของเขาที่กรุงวอชิงตันนั้นมีการตกแต่งดีไซน์ที่โดดเด่นมากทีเดียว
ในวัย 36 ปีนี้เขายังเป็นหนุ่มโสดที่ทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง และได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะกลับมาเมืองไทยแน่นอนเมื่อถึงเวลารีไทร์
หลังจากไปใช้ชีวิตที่อเมริกามาทั้งหมด 25 ปี
"ตอนนี้อยากจะหยุดงานสักปีหนึ่งไปเฉยๆ ไม่ทำอะไร อยากท่องเที่ยวทั่วโลก
เพราะทำงานหนักมาตลอด คนอย่างผมไม่รอเวลาให้แก่แล้วค่อยไปเที่ยวแน่นอน อย่างเช่นไม่ต้องรอให้อายุ
40- 50 ปีเสียก่อนถึงจะกล้าตั้งบริษัทเองนั่นไง"
สุพลกล่าวทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะ และขอตัวเพื่อเตรียมไปตามนัดอีกนัดหนึ่งในวันนั้น
ก่อนที่จะเดินทางไปพบลูกค้าในรัฐฮาวายในวันรุ่งขึ้น