Digital Purse อนาคตคนไทยไม่ต้องพกเงินสด

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

กลางปีหน้า ผู้บริโภคชาวไทย จะได้มีทางเลือกในการจับจ่าย ใช้สอย โดยเฉพาะกับร้านค้าย่อยประเภทคอนวีเนียน สโตร์ รวมถึง การจับจ่ายที่มีวงเงินไม่สูงมาก เช่น ซื้อตั๋วหนัง ขึ้นรถไฟฟ้า ทางด่วน ตลอดจนการโทรศัพท์ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น เมื่อบริการ Digital Purse เริ่มเปิดให้บริการ

บริการดังกล่าว เป็นการร่วมทุนกันของ 7 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น, ธนาคารกรุงเทพ, บริษัทบัตรกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, เทเลคอม เอเซีย, วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล และ Network for Electronic Transfers Pte.Ltd (NETS) จากประเทศสิงคโปร์

รูปแบบการให้บริการของ Digital Purse จะเป็นบัตรสมาร์ท การ์ด ซึ่งฝังชิปไว้บนบัตร บัตรดังกล่าวมีคุณสมบัติคล้ายเดบิตการ์ด และเอทีเอ็ม แต่สามารถนำไปใช้ในการจับจ่ายซื้อของตามร้านค้าขนาดย่อย ด้วยวงเงินที่ไม่สูงมากนัก โดยผู้ถือบัตรสามารถเติมวงเงิน เข้าไปในบัตรได้ตามจำนวนที่ต้องการ

การมีบริการดังกล่าวออกมา เนื่องจากพันธมิตรทั้ง 7 ราย มองเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบ Micro Payment ให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ โดยพันธมิตรที่มาจากภาคสถาบันการเงินนั้น แต่ ละรายมีความคิดที่ตรงกันมานาน จนในที่สุดเมื่อได้มีการแลกเปลี่ยน แนวคิดซึ่งกันและกัน จึงมีความเห็นตรงกันว่าควรต้องมีการร่วมทุน กันเพื่อสร้างระบบดังกล่าวขึ้นมาให้เป็นผลสำเร็จ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

ส่วนพันธมิตร ในส่วนภาคร้านค้า ซึ่งนำโดยซี.พี.เซเว่นอีเลฟ เว่น ที่เป็นโตโผใหญ่ในการชักชวนแต่ละรายให้เข้ามาร่วมทุนกันในครั้งนี้ ได้มองเห็นถึงปัญหาต้นทุนในการดูแลเงินสด จึงจำเป็นต้อง หาหนทางนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว

"ปัจจุบันร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ มีถึงกว่า 1,700 สาขา มีเงินสดหมุนเวียนในแต่ละวันประมาณ 80 ล้านบาท ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเงินสดประมาณ 1%-3% ของวงเงิน" ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น กล่าว

เขาบอกอีกว่านอกจากการลดต้นทุนดังกล่าวแล้ว การนำบริการนี้เข้ามาใช้ ยังจะช่วยแก้ปัญหาการเตรียมเงินทอนให้กับลูกค้า เพราะบัตร Digital Purse นั้นสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายลงไปได้ละเอียดถึงขั้นเศษสตางค์

และที่สำคัญที่สุด คือการช่วยป้องกันการจี้ปล้น เพราะที่ผ่าน มาร้านเซเว่นอีเลฟเว่น กลายเป็นเป้าหมายหลักของอาชญากร ซึ่งเหตุผลนี้ ว่ากันว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญที่กระตุ้นให้ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น ต้องเร่งกำเนิดโครงการนี้ขึ้นมา เพราะในระยะหลังเหตุการณ์จี้ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเริ่มปรากฏบ่อยขึ้น

"จากระบบนี้ ทำให้ต่อไปก็ไม่ต้องกลัว เพราะแต่ละวันจะมีการเก็บเงินสดไว้ในร้านน้อยลงมาก"

รายละเอียดของการร่วมทุน พันธมิตรทั้ง 7 รายจะจัดตั้งบริษัทไทย สมาร์ท การ์ด โดยทั้ง 7 รายร่วมถือหุ้น โดยในขั้นต้นจะมีการลงทุนประมาณ 15 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ซึ่งจะเป็นผู้ทำแผนธุรกิจและการตลาด และเมื่อแผน ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ ก็จะเป็นขั้นตอนของการลงทุนติดตั้งระบบ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ซึ่งได้แก่ เครื่องอ่านบัตร และเครื่องเติมเงิน

สำหรับเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้มาจาก NICS ซึ่งเป็นบริษัท ผู้ให้บริการด้านการออกบัตรสมาร์ทการ์ด รายใหญ่ของสิงคโปร์

ขั้นตอนทั้งหมด คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ประมาณ กลางปี 2545 และหลังจากนั้น ไทย สมาร์ท การ์ด ก็จะขยายเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจออกไป ซึ่งมีเป้าหมายใน 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มอี-คอมเมิร์ซ ร้านค้าปลีก และร้านเชนสโตร์

หากบริการนี้ประสบความสำเร็จ ต่อไปในอนาคตความจำเป็นในการพกพาเงินสดเวลาเดินทางออกนอกบ้านของคนไทยจะเริ่มน้อยลงไปทุกที



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.