"ลูกเป็นครูให้แก่ผมด้วย เวลา 15 ปีที่ผ่านมา ผมเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากลูก
ต้องตามโลกของเขาให้ทัน ซึ่งโลกของเขาเปลี่ยนเร็วด้วย เด็กในวัยรุ่นนี้รักอิสระ
เขาพยายามผลักเราออก เราพ่อแม่ก็ต้องพยายามปรับให้คุยกัน ให้เขารู้ว่าเรารักเขาไม่ว่าเขาจะทำอะไร
ขณะเดียวกันก็มีทั้งตึงและหย่อนผสมผสานแล้วแต่สถานการณ์" Grant เล่าถึงการเลี้ยงดูลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน
นอกจากนั้น เฉลิมศรีเสริมว่า "การเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน สามารถนำมาปรับใช้สอนลูกได้มาก
เวลากลับมาบ้านเราจะมานั่งพูดคุยกัน เล่าให้เขาฟังว่าคนที่ทำงานเป็นอย่างไร
ทำไมเขาถึงเป็นอย่างนั้น ควรหรือไม่ควรอย่างไร ก็แลกเปลี่ยนทัศนะกัน บางทีบุคลากรหลายคนมีปัญหาเรื่องวินัย
ทำงานไม่ค่อยสำเร็จ เราก็มานั่งคิดว่า วินัยเหล่านี้ต้องเริ่มจากที่บ้าน
คนที่จะมีคุณภาพ ต้องมีวินัยตั้งแต่เด็ก เรานำมาสอนลูกได้"
"เมื่อก่อนเราคิดว่า พวกอาจารย์และดอกเตอร์เป็นคนดี เป็นคนมีจริยธรรมสูง
แต่พอมาเจอในโลกความเป็นจริง บางทีมีความคิดว่าไม่อยากให้ลูกเรียนสูงๆ เพราะเกรงว่าจะเป็นแบบนั้น
เพราะอาจารย์หลายคนใช้ความรู้ไม่เป็น ประกอบกับอยู่ในระบบที่ไม่ค่อยสมบูรณ์เลยถูกระบบหลอมให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน"
Grant กล่าวความในใจ ซึ่งเขาคิดว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยเน้นในเรื่องของจริยธรรม
ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยและประเทศในตะวันตก "เด็กไม่รักหนังสือ ไม่รู้คุณค่าของหนังสือ
ไม่รักกระดาษทั้งที่กระดาษก็มาจากส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่ช่วยให้เรามีอากาศได้หายใจ"
เขากล่าว ทั้งหวังลึกๆ ในใจว่า...วันหนึ่งคงจะมีทางเสรีให้แก่ระบบการศึกษา...เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่