"Grant Olson" ชื่อฝรั่งแต่หัวใจไทยเต็มร้อย
ชายผู้นี้มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาและแผ่นดินไทย
แม้จะอยู่ไกลนับพันไมล์
...ชีวิตในวัยเด็ก จากเด็กน้อยช่างซัก ช่างสังเกต เฉกเช่นเด็กทั่วไป
เด็กชาย Grant มักมีคำถามผุดขึ้นในใจเสมอ เกี่ยวกับความเป็นไป
ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากสิ่งที่แตกต่างจากเด็กอื่นในวัยเดียวกันคือ
คำถามนั้นลึกซึ้งเกินกว่าที่จะหาคำตอบได้ง่ายดาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามเกี่ยวกับศาสนา หรือปรัชญาชีวิต
...วันนั้น แม้กระทั่งตัวเขา ไม่มีใครรู้ว่า เขาจะต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล
เพื่อมาหาคำตอบไกลถึงแผ่นดินสยาม...
ชีวิตในวัยเรียน Grant เริ่มเรียนหนังสือตามระบบการศึกษาทั่วไปของอเมริกา
จวบจนกระทั่งมัธยมศึกษาปีที่ 5 หรือ เกรด 11 ตามหลักสูตรอเมริกา Grant เริ่มชีวิตการศึกษานอกระบบ
จากโครงการศึกษานอกระบบของโรงเรียนมัธยม Minnetonka มลรัฐ Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยทางโรงเรียนมีโครงการที่เรียกว่า S.W.S. หรือ "School Within A School"
เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนในชั้นมัธยม 5 ประมาณร้อยกว่าชีวิตต้องคิดตั้งหลักสูตรเพื่อเรียนด้วยตนเองอย่างเสรี
"ผมเริ่มสนใจการศึกษานอกระบบตั้งแต่นั้นมา และด้วยความ ที่ผมมีคำถามเกี่ยวกับชีวิตมากมาย
แต่ไม่ค่อยได้คำตอบจากศาสนา ในอเมริกา ผมจึงเริ่มศึกษาด้วยตนเอง โดยเริ่มอ่านหนังสือศาสนาเปรียบเทียบ
เล่มที่ประทับใจเล่มหนึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาเซน ของพระญี่ปุ่นชื่อ
D.T. Suzuki ท่านเขียนว่า "What is Zen?" และ คำตอบคือ "Zen
is what makes you ask the questions." ตอนนั้นมีความรู้สึกว่า ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไปแล้ว
และเริ่มสนใจพระพุทธศาสนา นับแต่นั้น" Grant เล่าถึงที่มาของความสนใจที่ทำให้เขาศึกษาด้านศาสนาเปรียบเทียบตั้งแต่มัธยมปลายเป็นต้นมา
หลังจากจบชั้นมัธยม 5 เขาเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากเสียเวลาเรียน อีกหนึ่งปีในระดับมัธยม
อยากเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีทันที เขาจึงปรึกษาอาจารย์ผู้อยู่ในโครงการเดียวกันนี้ว่า
มีสถาบันระดับอุดมศึกษาใดบ้างที่รับเด็กนอกระบบอย่างเขา ในที่สุด "Gustavus
Adolphus College" ซึ่งเป็นคริสเตียนคอลเลจก็ตอบรับ Grant กลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง
จนจบปริญญาตรีทางด้านอักษรศาสตร์ เอกภาษา อังกฤษ โทคุรุศาสตร์ ในปี 1975
จากนั้นก็ได้ไปเป็นครูสอนหนังสือในเมืองชนบทเล็กที่ Minnesota บ้านเกิดของเขา
เวลา 4 ปีในมหาวิทยาลัย Grant มีความกระตือรือร้นที่จะสอนนักเรียนด้วยวิธีการศึกษานอกระบบอย่างที่เขาเคยเรียนมา
เพราะ เขารู้ว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีสำหรับเด็กในการคิดเป็น แก้ปัญหาเป็นไปอย่าง
สร้างสรรค์...เขาเริ่มต้นการสอนเทอมแรกด้วยการเลือกหนังสือสำหรับ เด็กต้องอ่าน
เรื่อง "One Flew Over The Cuckoo's Nest" ของ Ken Kesey ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนบ้ากับคนที่ทำให้ชีวิตคนบ้ามีความ
หมายมากขึ้น ประกอบทางฮอลลีวู้ดสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมีแจ๊ค นิโคสันแสดงนำ
เขาก็เห็นว่า เป็นการดี เพราะเด็กจะได้ทำความเข้าใจในหนังสือมากขึ้นโดยดูภาพยนตร์ประกอบ
แต่ทุกอย่างเป็นอันต้องยุติ โครงการสร้างสรรค์ของเขา กลับไม่เป็นที่พอใจในบรรดา
ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนผู้เคร่งครัดต่อระบบ...
"หลังจากที่ผมให้เด็กอ่านหนังสือเล่มนี้ก็เริ่มมีคนคุยกันที่โบสถ์
เกี่ยวกับเรื่องนี้ จากนั้นก็มีโทรศัพท์มาหาผม มาหาครูในโรงเรียนว่า ทำไมถึงเลือกหนังสือแบบนี้ให้เด็กอ่าน
มันไม่เหมาะ ผู้ปกครองบางคนถึงกับเผาหนังสือเลย" Grant เล่าถึงความฝังใจในหนหลัง
จากนั้น เขาก็มานั่งทบทวนว่า ระบบวิธีการสอนที่เขาเคยได้รับจากโรงเรียนมัธยมปลายซึ่งอยู่ในเมืองใหญ่
ใช้ไม่ได้กับโรงเรียนเล็กในชนบท เนื่องจากการรับรู้และการเปิดกว้างทางความคิดนั้นแตกต่างกันอย่าง
สิ้นเชิง
แรงผลักดันจากความขัดแย้ง
หลังจากเหตุการณ์ในปีแรกของการสอนหนังสือครั้งนั้น Grant กลับมาทำงานใกล้บ้านเกิดของเขา
โดยมีอาชีพเป็นนักข่าวท้องถิ่นและเป็นพนักงานขายหนังสือ ที่ร้านหนังสือ "Waldenbooks"
นอกจากนั้นยังกลับไปเป็นผู้ช่วยสอนที่โรงเรียนมัธยมเก่า ความ ผิดหวังผสานความครุ่นคิดสงสัยกับสถานการณ์ที่เกิดเป็นแรงผลักดันให้
Grant แสวงหาหน ทางที่จะนำเข้าไปสู่ดินแดนเสรี ภาพแห่งความคิด ระหว่างนี้เขาเริ่มมีความคิดอยากออกไปสู่โลก
ภายนอก เขาอยากไปประเทศใดประเทศหนึ่งในเอเชีย โดยตอนแรก เขาคิดจะไปที่นครเกียวโต
ประเทศญี่ปุ่น เพราะอ่านหนังสือของญี่ปุ่น มาก แต่เขามีความคิดว่า ประเทศญี่ปุ่นพัฒนามาก
และเร็วเกินไปสำหรับตัวเขาที่ต้องการอยู่ง่ายๆ กับธรรมชาติ เขาจึงไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ในโครงการ
Peace Corps ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับสันติภาพและมิตรภาพของโลกที่ประธานาธิบดี
John F. Kennedy แห่งสหรัฐอเมริกา ริเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1961 ภายใต้สโลแกนที่ว่า
"อย่า ถามว่าประเทศให้อะไรแก่คุณบ้าง... ถามว่าคุณสามารถทำอะไรให้แก่ประเทศได้บ้าง..."
(Ask not what your country can do for you, ask what you can do for your
country.") โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาประชากรของประเทศต่างๆ
ที่ต้องการ การฝึกอบรมในด้านต่างๆ และเพื่อเป็นการสร้างเสริมความเข้าใจ ของชาวอเมริกันที่มีต่อคนอื่นๆ
ที่ต้องการความช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของคนในชาติอื่นที่มีต่อเมริกัน...
(ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.peacecorps.gov)
หลังจากเขาได้เล่าถึงความสนใจและเจตนารมณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของโครงการ
ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษในประเทศแอฟริกา เขาได้รับคำแนะนำให้ไปประเทศไทย
เพราะประเทศไทยมีทุกอย่างให้เขาศึกษาค้นคว้าทางด้านพระพุทธศาสนา รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของคนกับธรรมชาติ
ซึ่งในขณะนั้นเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศ ไทยมากนัก รู้แต่เพียงว่ามีเพื่อนและญาติเคยไปประเทศไทย
และบอกว่าคนไทยเป็นคนน่ารัก ใจดี มีระเบียบ...เขาเริ่มเก็บมาพิจารณา ช่วงเวลานั้น
ราวๆ ปลายปี ค.ศ.1976 หากเขาต้องการเดินทางออก นอกประเทศ และเข้าร่วมโครงการ
Peace Corps เลยทันที เขาก็ทำได้ แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีงานให้ทำทันที
เช่น เกาหลีกับแอฟริกา แต่ เขาไม่สนใจประเทศเหล่านั้น เจ้าหน้าที่แนะนำว่าให้เลือกไปประเทศ
ที่อยากไปมากที่สุด เขาจึงเลือกตัดสินใจรอ และการรอของเขาเป็น การรอที่คุ้มค่า...รอที่จะมาสู่ผืนแผ่นดินไทย...ระหว่างนั้นเขาเริ่มอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น
และในที่สุดก็ยื่นความจำนงขอไปประเทศไทย และสมัครงานในตำแหน่งอาจารย์ หรือบุคลากร
ทางด้านการศึกษาในทุกระดับ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินเรื่องราว 1 ปี จน กระทั่งต้นปี
ค.ศ.1978 เขาได้รับจดหมายตอบรับจากประเทศไทยผ่านทางโครงการ เขาจากแผ่นดินเกิดในเดือนเมษายนปีเดียวกัน
จาก ดินแดนบ้านเกิดที่อยู่ในเขตอากาศหนาวเย็นเช่น Minnesota สู่อากาศ เขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศไทย
โดยเฉพาะเดือนเมษายน ที่เรารู้กันดีว่า ร้อนที่สุด...ทุกอย่างเปลี่ยนชนิดสุดขั้วชั่วข้ามคืน...
ประเทศไทย : ดินแดนแห่งการแสวงหาและเรียนรู้
การเดินทางเข้าประเทศไทยในครั้งนั้น มีนักศึกษาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการทั้งสิ้นประมาณ
36 คน ก่อนเดินทางออกนอกประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาต้องพักแรมที่ San Francisco
ก่อนเป็นเวลา 3 คืน Grant เล่าว่า ช่วงเวลา 3 วันนั้นมีนักศึกษาเปลี่ยนใจขอกลับบ้านไป
1 ราย จากนั้นพอมาถึงกรุงเทพมหานคร เจอกับอากาศสุดร้อน ทนไม่ไหว ขอลากลับอีก
2 คน ในที่สุดเหลือนักศึกษาในทีมประมาณ 33 คน แบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโน
โลยี และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสอนภาษาอังกฤษ หรือที่เรียกว่า TEFL (Teaching
English as a Foreign Language) อย่างละครึ่ง โดย Grant อยู่ในส่วนของ TEFL
"ผมต้องอยู่กรุงเทพฯ 3 วัน และช่วงนั้นก่อนสงกรานต์พอดี ผมมีโอกาสฉลองสงกรานต์กับคนไทยด้วยการเปียกปอนและยับเยินของรองเท้าคู่แรกของผมที่เหยียบแผ่นดินไทย
เบอร์ 12 หายากด้วย ขนาดใหญ่อย่างนี้ Peace Corps มีกฎระเบียบว่าสมาชิกต้องแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยตลอดเวลา
ห้ามใส่รองเท้าแตะลำลอง ผมเลยต้องบอกลารองเท้าคู่แรก" ชายหนุ่มอารมณ์ดีเล่าถึงความประทับใจ...
การผจญภัยของ Grant ในดินแดนใหม่เริ่มขึ้นนับจากนั้น...สมาชิกทุกคนถูกส่งไปฝึกอบรมภาษาไทยที่ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรีเป็น
เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นต้องแยกตัวเข้าเรียนรู้การดำเนินชีวิตแบบไทย
โดยพำนักอยู่กับครอบครัวคนไทยที่อำเภอโพธิพระยาอีกประมาณ 1 เดือน
"วันแรกที่เดินทางเข้าสุพรรณฯ ผมได้เห็นแมงป่องเป็นครั้งแรกในชีวิต
มันเกาะอยู่บนผมของเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง ผมต้องบอกให้เขาอยู่เฉยๆ อย่าขยับ
จากนั้นคนขับรถมาช่วยจับและปล่อยมันไป เป็นช่วงที่ตื่นเต้น เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน
แต่รู้ว่ามีพิษ อีกทีหนึ่งตอนเดินทางไปอยุธยา ผมนั่งท้ายรถคุมกระเป๋าของพวกเรา
ผมมีโอกาสได้เห็นอุบัติเหตุร้ายแรง มีคนนอนตายบนถนนถึง 4 ศพ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมเห็นคนตายชัดๆ
แบบนี้ อีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นช่วงที่ผมอยู่กับครอบครัวไทยที่สุพรรณฯ ผมกับน้องชายคนไทย
2 คน เดินข้ามคันนาจะไปเที่ยวงานวัด ระหว่างทางเดินผ่านโค้งคันนา มีคนถูกรถชนบนถนน
มีหนังสือพิมพ์ปิดหน้าแล้ว ผมเห็นว่าน่าจะช่วย ให้เขาหลบออกจากถนน ผมจึงชวนน้องชายให้ช่วยกัน
เขาก็บอกว่า "ไม่เป็นไร" นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่า คำว่า
"ไม่เป็นไร" น่าจะเป็น ไรบ้าง" Grant เล่าถึงความประทับใจของธรรมชาติ
และความเศร้า ของชีวิตที่เขาประสบในเวลาไล่เลี่ยกัน ชวนให้คิดถึงความเป็นไปของ
สรรพสิ่งชีวิตที่ย่อมมีทั้งด้านที่สวยงามสุขสมและด้านที่เศร้าทุกข์ระทม ขึ้นอยู่กับว่าจะอยู่กับมันอย่างไร...
จากสุพรรณบุรี ทีม Peace Corps ถูกส่งไปฝึกอบรมต่อที่ค่ายฤดูร้อนของโรงเรียนวชิราวุธ
ณ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดย มีหน้าที่ฝึกสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กที่มาพักแรม
ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนภาษาไทยควบคู่ไปด้วย จากนั้นกลับสู่ตัวอำเภอเมืองเพื่อเรียนภาษาไทยอย่างเดียว
1 เดือนเต็ม หมดกิจกรรมช่วงนี้ ทาง Peace Corps ถามเขาว่า อยากจะไปทำงานที่ไหน
เขามีคำตอบทันทีว่า อยากไปทำงานที่สงขลา ทำไมต้องเป็นสงขลา...
"เพราะชอบ รักทะเลและชอบอาหารทะเล ที่สำคัญผมมีโอกาสรู้จักอาจารย์จากวิทยาลัยครูสงขลาในสมัยนั้น
2-3 คน ซึ่งเป็นครูสอน ภาษาไทยในโครงการนี้ตั้งแต่วันแรก" Grant เล่า
และในที่สุดเผยว่า หนึ่งในอาจารย์ที่รู้จักนั้นกลายมาเป็นภรรยาสุดรักเคียงคู่ชีวิตร่วมกัน
ทุกวันนี้เอง
Grant เริ่มชีวิตการเป็นครูอีกครั้ง โดยสอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยครูสงขลาหรือราชภัฏสงขลาในปัจจุบัน
เขาสอนนานถึง 3 ปี โดยหลังจากการทำงานในปีแรก เขาตัดสินใจสละชีวิตโสดเข้าประตูวิวาห์กับครูสาวคนไทยนามว่า
เฉลิมศรี จันทโร...ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย เขายังคงสนใจพระพุทธศาสนาอยู่
หลังจากหมดสัญญา การทำงานในปี ค.ศ.1981 เขาต้องกลับสู่อเมริกา ก่อนกลับเขาจึง
ถือโอกาสเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์เป็นเวลา 5 สัปดาห์ โดยความยินยอม และสนับสนุนของภรรยา
แม้ว่าจะเป็นกังวลอยู่บ้าง เกรงว่าจะบวชแล้วไม่สึก...
การศึกษานอกระบบกับพระนอกระบบ
ช่วงดำรงสมณะ พระ Grant มีฉายาว่า โอภาโส (Obhaso) ซึ่งแปลว่า แสงสว่าง
พระ Grant พำนักอยู่กับสำนักนวชีวันของพระอาจารย์โกวิท เขมานันทะ โดยมีโอกาสได้รู้จักกับประพฤติ
พูลสุข ลูกศิษย์พระอาจารย์โกวิทในขณะนั้น ซึ่งพระทั้งสองเป็นลูกศิษย์ท่าน
พุทธทาสภิกขุ ระหว่างที่บวชอยู่ พระ Grant ได้ทราบข่าวจากภรรยาว่าตนไปขอทุนของสถาบันวิจัย
East-West ให้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาวาย เขาจึงลาสิกขาและกลับไปศึกษาต่อด้านศาสนาเอเชีย
(Asian Religions) ที่ฮาวาย โดยเน้นทางด้านพระพุทธศาสนา และทำวิทยานิพนธ์เรื่อง
ความคิดของพระนอกระบบ โดยใช้กรณีศึกษาของพระอาจารย์โกวิทแห่งสำนักนวชีวัน
และสำนักสันติอโศก เป็นกรณีเปรียบเทียบ
"ผมชอบการศึกษานอกระบบ เลยสนใจ เรื่องพระนอกระบบ ผมอยากรู้ว่าทำไมพระเหล่านั้นถึงอยากปลีกตัวออกมาจากโครงสร้างของสถาบันสงฆ์ในประเทศไทย
คำตอบคือ เขาพยายามหาแนวทางในการนำเสนอพุทธศาสนาในรูปแบบใหม่ ที่เข้าถึงพุทธศาสนิกชนในชีวิตประจำวันมากขึ้น
หรือแม้กระทั่งวิธีเรียน ของพระสงฆ์เองที่ต้องการให้แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์"
Grant อธิบายถึงเนื้อหาของวิทยานิพนธ์และหลังจากที่เขาทำ การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้
เขาก็พบว่าบางสำนัก สงฆ์ประพฤติปฏิบัติเกินกว่าการเป็นสงฆ์...พร้อม กับยกตัวอย่างว่า
"บางสำนักสอนให้คนนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อถึงขั้นนั้นขั้นนี้จะเห็นนั่นเห็นนี่
เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งจริงแล้วไม่จำเป็น ไม่มีอะไรที่เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวที่แน่นอนในการนั่งกรรมฐาน
บางคนอาจจะเห็นอย่างหนึ่ง บางคนอาจจะเห็นอีกอย่างหนึ่ง หรือบางคนอาจจะไม่เห็นอะไรเลยก็เป็นไปได้
ไม่จำเป็นต้อง เหมือนกันเสมอไป การนั่งกรรมฐานที่แท้จริง จะเน้นที่ระบบความคิด
ระบบประสาทของเรา ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเราจะคิดอย่างไร จะผ่านไปอย่างไร คือทุกอย่างมีโอกาสที่จะรับรู้และรักษา
ได้ โดยทั้งหมดนี้เรียกว่า สติ ซึ่งท่านพุทธทาส หลวงพ่อเทียน อาจารย์โกวิท
อาจารย์มั่น อาจารย์ชา สอนให้เฝ้าดูตัวเอง เฝ้าดูความคิด คือมีสติตลอดเวลา"
ระหว่างที่ศึกษาต่อปริญญาโทที่ฮาวาย ในช่วง ค.ศ.1981-1983 Grant ได้มีโอกาสกลับมาทำงานวิจัยที่เมืองไทย
และมีโอกาสไปพบบุคคลสำคัญในวงการพุทธศาสนาไทย อาทิ ท่านพุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎก
(ป.อ. ปยุตโต) และ ส.ศิวรักษ์ เป็นต้น Grant เก็บความประทับใจในช่วงที่มีโอกาสสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาสสองต่อสองมาเล่าว่า
"ผมถือโอกาสถามท่านในเรื่องของคำว่า "ความอยาก" "ความ
ต้องการ" "กิเลส" และ"ตัณหา" ว่า คนที่บรรลุแล้วยังมีความอยากหรือไม่
คือเป็นความอยากที่ไม่มีกิเลส คนที่บรรลุแล้วยังคงมีความปรารถนาดีกับผู้คนจะเรียกว่า
"ความอยาก" หรือไม่ ท่านก็บอกว่าไม่อยากให้ใช้คำว่า "ความอยาก"
ท่านบอกว่าสิ่งเหล่านี้ต้องเรียกว่า "ฉันทะ" ซึ่งไม่เหมือนความอยากทั่วๆ
ไป แต่เป็นความอยากที่ไม่ เป็นทุกข์ เป็นความอยากที่หวังดีต่อมนุษย์ต้องการให้มนุษย์พ้นทุกข์
ในครั้งนั้นผมมีโอกาสได้แสดงทัศนะ และท่านให้โอกาสอธิบายหาคำตอบให้ และในที่สุดก็กลายเป็นเรื่องของภาษาโลก-ภาษาธรรมอย่างแท้จริง"
นอกจากนั้น Grant มีโอกาสได้รู้จักกับ ส.ศิวรักษ์ และช่วยเขียนบทความ วิจารณ์หนังสือให้แก่สยามสมาคมของอาจารย์
"ตอน แรกอาจารย์ไม่แน่ใจกับฝรั่ง แต่ในที่สุดเราก็กลายเป็นเพื่อนกันจนทุกวันนี้
อาจารย์ให้เวลากับผม ช่วยแนะนำในงานวิจัยของผม อาจารย์ เป็นคนในระบบที่มีความคิดนอกระบบ
อาจารย์มีศรัทธากับสังคมไทย กล้าพูด กล้าวิจารณ์ด้วยความปรารถนาดี"
เขากล่าวพร้อมเสริมว่า ส.ศิวรักษ์ เป็นบุคคลที่สนับสนุนเขาให้แปลหนังสือพุทธธรรมของพระธรรมปิฎก
(ป.อ.ปยุตโต) ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาคภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1995
ปริญญาเอกกับไทยฟอนท์
หลังจากจบปริญญาโท เขาก็ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ด้าน สาขามานุษยวิทยาและเอเชียอาคเนย์ศึกษา
ที่มหาวิทยาลัย Cornell สำหรับการศึกษาในระดับนี้ Grant ทำงานวิจัยเกี่ยวกับชีวประวัติของ
พระธรรมปิฎก ซึ่งเป็นพระที่เติบโตในระบบ โดยหลังจากจบคอสเวิร์ก ที่ Cornell
เขาได้รับทุนฟุลไบล์ กับทุน Social Science Research Council กลับมาทำวิจัยที่เมืองไทย
นอกจากนั้นเขายังได้รับของขวัญ ชิ้นสำคัญจากภรรยาผู้ให้กำเนิดลูกสาวสุดรัก
"น้องทิล" (Teal) หรือมีชื่อกลางที่เป็นไทยว่า "เมตตา"
น้อยคนนักที่จะทราบว่า ชายผู้นี้เป็นคนแรกที่ประดิษฐ์โปรแกรมตัวพิมพ์ภาษาไทยสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช
โดยใช้ชื่อว่า "GO to Siam" โดยใช้กันในหมู่นักวิชาการ และต่อมามีคนพัฒนาต่อจากเขา
โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "Bangkok"
"ช่วงที่เรียนอยู่ Cornell ในปี 1984 ทางบริษัท Apple มีโครงการขายเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชให้นักศึกษาในราคาถูก
เป็นเครื่องแมคฯ รุ่น 128K ในสมัยนั้น ผมก็ซื้อมาใช้ และทราบว่าทางมหาวิทยาลัยมีกลุ่มพัฒนาโปรแกรม
ผมก็เข้าไปคุยกับเขาว่าอยากให้ช่วยพัฒนาตัวพิมพ์ไทย เพราะผมต้องใช้ในการเรียนหนังสือ
ทางกลุ่มฯ บอกว่า คุณต้องทำเอง โดยพัฒนาจากโปรแกรมของเขาที่ชื่อว่า RESEDIT
ผมก็เริ่มจากการวาดตัวอักษรเป็นจุดจุด ช่วงแรกทำ ได้เพียง 24 ตัวอักษร โปรแกรมก็หาย
สลายไป เป็นอย่างนี้อยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง แต่ผมยังไม่ล้มเลิก พยายามจนสำเร็จ
โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์เท่านั้น ตัวพิมพ์ที่ออกมาเป็น Bitmap Font
ไม่ได้เป็น Laser Font อย่างในปัจจุบัน" เขาเล่าถึงความสำเร็จอย่างภูมิใจ
การเมืองกับการงาน
ปีสุดท้ายของการทำปริญญาเอก Grant เริ่มหางาน และได้ข่าวว่าที่มหาวิทยาลัย
Northern Illinois (NIU) เปิดตำแหน่งอาจารย์ด้านมานุษยวิทยา เพื่อสอนพุทธศาสนาเถรวาท
และต้องแตกฉานในภาษาไทย "ไม่มีอะไรที่จะเหมาะไปกว่านี้แล้ว" Grant
คิดในตอนนั้น เขาจึงตัดสินใจย้ายมาที่ NIU แต่ต้องพบกับความผิดหวังในตำแหน่งอาจารย์
เนื่องจากเขายังไม่จบปริญญาเอก ทั้งที่ใช้เวลาอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้นที่จะสำเร็จ
แต่ทางคณะฯ ไม่รับพิจารณาใบประวัติของเขา เขารู้สึกผิดหวัง แต่กระนั้นยังพอมีโอกาสบ้าง
เมื่อทราบว่า ทางศูนย์เอเชียอาคเนย์ศึกษาเปิดรับสมัครตำแหน่งบรรณาธิการสำหรับศูนย์ฯ
เขาจึงไปสมัครและได้ทำงานที่นั่นเป็นแห่งแรก โดยทำหน้าที่รับผิดชอบปรับปรุงโปรแกรมพับบลิเคชั่น
สำหรับเครื่องแมคอินทอช เพื่อทำ Desktop Publication ของแบบหนังสือ เรียกได้ว่าดูแลทุกอย่างที่เกี่ยว
กับการผลิตหนังสือ เพื่อจำหน่ายสำหรับศูนย์ฯ จากโครงการนี้ เขาประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลในระดับมหาวิทยาลัย
แต่หลังจากที่เขาได้รับรางวัลแทนที่ค่าตัวจะเพิ่มมากขึ้น แต่กลับถูกตัด เนื่องจาก
ทางมหาวิทยาลัยถูกตัดงบประมาณบางส่วน ซึ่งกระทบในส่วนของเงินเดือนของเขาด้วย
เขาจึงลาจาก NIU ไปสอนหนังสือไกลถึงประเทศ อังกฤษ ณ มหาวิทยาลัย Hull ภายใต้ทุนมูลนิธิ
Baring ซึ่งขณะนั้นทางมหาวิทยาลัยต้องการตั้งโครงการไทยศึกษา และต้องการผู้สอนภาษาไทย
เขาสอนอยู่ได้ 1 ปีก็ตัดสินใจกลับมา NIU เนื่องจากความคิดถึงครอบครัว
ในปี 1995 เขากลับมา NIU อีกครั้ง โดยคราวนี้พลิกผันกลายเป็นพนักงานขายเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชราคาพิเศษให้แก่นักศึกษา
เหมือนสมัยที่เขาเป็นนักศึกษาก็มีโครงการเดียวกันนี้ เขาเห็นว่าเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยนักศึกษาได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีในราคา
ประหยัด และสะดวก โดยโครงการนี้มีชื่อว่า "NIU Technology Team"
ซึ่งอยู่ภายใต้ Housing Department โครงการนี้มีชีวิตต่อเพียง 2 ปีก็ถูกยุบ
หลังจากที่ผู้อำนวยการคนใหม่ของ Housing Department พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการนี้ไม่มีความจำเป็น
ในที่สุดสั่งเลิกสนับ สนุนงบประมาณ
"นี่เป็นเรื่องการเมืองชัดๆ ผมคิดว่า ถ้าเป็นเรื่องการเมืองระดับชาติที่มีนักการเมืองเล่นบทบาทกันจริงๆ
นั้นผมพอทนได้ แต่การเมืองในระบบการศึกษานี่เป็นเรื่องที่แย่มากที่สุด และคนที่แย่ที่สุด
ก็คือนักศึกษา โครงการ "NIU Technology Team" เป็นโครงการที่ให้ประโยชน์กับนักศึกษา
เรามีการแนะนำพัฒนาโปรแกรมให้เขาได้ใช้เครื่องได้เต็มประสิทธิภาพและสะดวกมากที่สุด
ซึ่งผมมีความสุขที่จะช่วยนักศึกษา" Grant กล่าว เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงครั้งแรกที่เขาถูกการเมืองในระบบการศึกษาเล่นงาน
แต่เขาก็ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเริ่มงานที่ NIU ในหน้าที่ใหม่นับตั้งแต่ปี
1997 โดยดำรงตำแหน่ง Coordinator หรือผู้ประสานงาน ให้แก่ Foreign Language
Multimedia Learning and Training Center (สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่
http://forlangs.net)
"จริงแล้ว ผมอยากสอนหนังสือ โดยเฉพาะวิชามานุษยวิทยากับศาสนา เหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นกับผมในระบบการศึกษา
ผมเรียกว่า "Reverse Discrimination" จากความที่ในภาควิชาที่ผมสมัครไป
เดิมมีบุคลากรที่เป็นชายจำนวนมาก เขาจึงมีนโยบายจ้างผู้หญิงให้มากขึ้น ยิ่งกว่านั้นในประเทศนี้ผมเป็นคนขาว
และเป็น ผู้ชาย ยิ่งหางานยากในสายอาชีพที่ผมถนัดและชอบ" Grant ชี้แจง
จากปรัชญาสู่เทคโนโลยี
ชีวิต Grant ดูเหมือนจะก้าวไกลห่างจากปรัชญาศาสนาที่เขา เคยสนใจแต่เยาว์วัย
มิใช่เลย เขายังคงอยู่กับพระพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าเขาจะทำงานด้านเทคโนโลยี...
"คนส่วนใหญ่ที่สนใจปรัชญา วิปัสสนากรรมฐาน มักจะไม่อยากยุ่งกับรายละเอียดของเทคโนโลยี
แต่ผมถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่างานเช่นใดสามารถเป็นกรรมฐานได้ การทำงานกับคอมพิวเตอร์
เป็นการทดลองอารมณ์ ฝึกการควบคุมอารมณ์และการแก้ปัญหาอย่างช่างสังเกตและมีสติ
บางคนเวลาเครื่องคอมฯ ทำงานไม่ได้อย่างใจก็หงุดหงิด อย่างนั้นก็ไม่มีความสุขและไม่ท้าทาย
งานของผมเป็นงานที่ท้าทาย เหมือนเป็นการสร้างอาณาจักร สร้างหมู่บ้านคอมพิวเตอร์
โดยการติดตั้งเครื่องคอมฯ จำนวนมาก ซึ่งทุกเครื่องต้อง มีการทำงานสัมพันธ์กัน
แม้จะมีการควบคุมจากส่วนกลาง บางทีเรา นึกว่าเราสามารถคุมได้ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่
เทียบ กับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็เปรียบได้ว่า เมื่อมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นก็มีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นด้วย
เป็นเหตุและเป็นผล ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน อย่างนี้ต้องเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทของเครื่องคอมพิวเตอร์"
Grant กล่าวอย่างอารมณ์ดี
ดนตรี มอเตอร์ไซค์กับไวน์แดง
สามสิ่งนี้เป็นงานอดิเรกที่ Grant รัก และพร้อมที่จะแลก เปลี่ยนทัศนะกับทุกคนที่สนใจ
ทุกเย็นวันศุกร์หลังจากเลิกงาน เขาจะตรงไปที่ร้านไวน์หลังมหาวิทยาลัยในเมือง
DeKalb เล็กๆ แห่งนี้ โดยเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้แนะนำไวน์ นอกจากนั้นเขายังมีเว็บไซต์เกี่ยวกับไวน์
สามารถเข้าไปทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนทัศนะกับเขาได้ที่ www.winenose.net
เขาเริ่มสนใจไวน์ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม สำหรับเขา ไวน์เป็นสิ่งมีชีวิต คุณภาพและรสชาติของไวน์เปลี่ยนไปตามวันเวลา
ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ สถานที่แหล่งกำเนิด เฉกเช่นชีวิตมนุษย์
ชายผู้นี้รักธรรมชาติ เมื่อใดที่อากาศดี มีแสงแดด เขาจะขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจไปตามทางที่มีป่ามีต้นไม้
เพื่อสัมผัสกับกลิ่นอายของธรรมชาติราวกับเพิ่มพลังให้แก่ชีวิต...ดนตรีเป็นอีกสิ่งที่เขารัก
เริ่มจากกลอง เล่นคนเดียวไม่สนุก เปลี่ยนเป็นกีตาร์เล่นคนเดียวก็ สนุก เล่นหลายคนยิ่งสนุก...
ทุกวันนี้ ชีวิตของชายผู้นี้ยังคงอยู่ในระบบ มีเพียงสิ่งเดียวของ เขาที่เป็นเสรีจากระบบคือ
ความคิด ความปรารถนาดีที่มีต่อทุกคน ในระบบ...