เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเดียวในสังคมไทยที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา "ความคิด" ของเขาเป็นสิ่งที่สัมผัสได้เสมอ แต่นั่นย่อมมิใช่ปัจจัยเดียวของ "อิทธิพล" ทั้งมวลของเขา
ยิ่งไปกว่านั้นเขาอาจจะได้ชื่อว่าเป็น "เทคโนแครต" คนสุดท้ายที่มีภูมิหลังและเส้นทางชีวิตและการทำงานด้านนโยบายของ
รัฐ มีความต่อเนื่องภายใต้ระบบการเมืองไทย จากยุคกึ่งเปิดกึ่งปิดไปสู่ระบบเปิด "ผมทำงานตั้งแต่ปี 2523 คงทนที่สุด ต่อเนื่องที่สุด และเห็นมากที่สุด" เขาเองก็ยอมรับอย่างนั้น
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เริ่มมีบทบาทใน ด้านนโยบายเศรษฐกิจ ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่ง ต่อเนื่องยาวนานที่สุดคนหนึ่งในการเมืองไทย
(2523-2531) และจากนั้นวีรพงษ์ก็มีโอกาสดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และรองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ
ของทีมทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน "ปกติเขามาประชุมกับทีมที่ปรึกษา
สัปดาห์ละ 1 ครั้ง" พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี
(ทักษิณ ชินวัตร) บอกว่าอย่างนั้น นอกจากนี้เวลาที่มีการประชุมเรื่องนโยบายสำคัญก็เข้าร่วมด้วย
"เวลามีการพรีเซ็นต์งานนโยบายเศรษฐกิจสำคัญก็ไปด้วย ไม่มีตำแหน่งอะไร ไปในฐานะนายวีรพงษ์" วีรพงษ์ รามางกูร ก็ว่าไว้อย่างนั้น ทั้งนี้จากนี้ไปเขาตั้งใจว่าจะไม่เข้าร่วมบริหารงานด้านการเมืองโดยตรงอีกแล้ว
โดยเขาบอกว่า ทำมานานแล้ว และจากนี้ไปก็จะให้ความเห็นในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจตามที่เห็นสมควร "จากนี้ก็ทำงานหากินไป เก็บสตางค์ให้ลูกให้เมีย"
ดร.วีรพงษ์ เป็นตัวอย่างคนที่มาจากฐานรากของสังคมที่เติบโตในหน้าที่การงาน
เริ่มต้นจากความเป็นคนเรียนเก่ง ภายใต้ระบบการศึกษาของไทย ดังนั้นดูเหมือนเขาจะไม่ให้ความสำคัญในการวิตกวิจารณ์ระบบการศึกษาไทย
เช่นที่ผู้คนทั่วไปกำลังทำกัน
บิดาของเขาเป็นคนอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ริมฝั่งแม่น้ำโขงติดต่อชายแดน
ลาว ซึ่งญาติหลายคนของเขากลายเป็นพลเมืองลาวมาตั้งแต่รุ่นปู่ของเขา เขาเองก็เคยมีโอกาส
รับใช้ประเทศลาวในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสด้านวางแผนเศรษฐกิจ อยู่ 6 เดือนในปี
2533
เรื่องราวประวัติตระกูลรามางกูร หาอ่านได้จากหนังสือ "อนุสรณ์ ร้อยตำรวจตรีประดิษฐ์
รามางกูร 22 กันยายน 2528" ซึ่งเป็นหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพบิดา
ของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในช่วงที่เขายังเป็นที่ปรึกษานายกเปรมฯ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้สะท้อนภูมิหลังของวีรพงษ์อย่างมาก
เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ ดร.วีรพงษ์เป็นผู้เขียน ในส่วนที่เป็นประวัติบิดาของเขา
เรื่องราววงศ์ตระกูล เขาก็เป็นคนเขียนมาจากการรวบรวมของญาติอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนั้น เนื้อหาหลักของหนังสือได้รวบรวมคำแถลง สุนทรพจน์ คำปราศรัยและ
สาสน์ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2523-2528 อันสะท้อนหน้าที่การงานที่สำคัญของ
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ในช่วงนั้นด้วยอย่างแยกไม่ออก
ส่วนเรื่องราวของตระกูลรามางกูรนั้นอย่างย่อๆ ว่า "บรรดาพี่น้องทั้งหมดมีความเห็น
ร่วมกันว่าควรจะยกย่อง "ขุนรามฯ" เป็นต้นตระกูลรามางกูร ขุนรามฯ มีชื่อเดิมว่าอย่างไรไม่มีใครทราบ
ทราบแต่บรรดาศักดิ์ สร้อยของบรรดาศักดิ์ว่าอย่างใดก็ไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าขุนรามฯ
อยู่เมืองธาตุพนม ซึ่งเป็นหัวเมืองขึ้นกับเมืองนครพนมของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ขุนรามฯ มีชีวิตอยู่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์" เนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มที่เขียนโดยวีรพงษ์
รามางกูร กล่าวไว้
พิจารณา Family Tree แล้ว ขุนรามฯ เป็นปู่ของ ร.ต.ต.ประดิษฐ์ รามางกูร
บิดาของ ดร.วีรพงษ์ จบการศึกษา ป.4 และทำนาอยู่ที่นครพนม ต่อมาพี่ชายของ
เขาคนหนึ่งบวชเป็นพระที่วัดบวรนิเวศวิหาร (ดร.วีรพงษ์ ก็ได้อุปสมบทที่วัดนี้ด้วยเช่นกัน
โดยสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันเป็นพระ อุปัชฌาย์ เมื่อปี 2519) ชักชวนเข้ากรุงเทพฯ
มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนช่างกลของเลื่อน พงษ์โสภณ ต่อมาได้สมัครเป็นตำรวจในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ย้ายจากนครพนม
มาประจำที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ในปี 2484 ได้แต่งงานกับบุญศรี ซึ่งเป็นชาวนา
อยู่บางบ่อ "ผมเกิดช่วงสงครามพอดี ไปอยู่กับยายที่บางบ่ออยู่ท้องนา ตายายทำนา
ตอน เล็กๆ ปิดเทอมก็อยู่ท้องนา เคยย้ายไปอยู่อีสานกับพ่อ 7 ปี จบประถมปีที่
4 ย้ายกลับเข้ากรุงเทพฯ" วีรพงษ์เล่าถึงชีวิตของเขา โดย บอกว่าเขาเกิดที่กรุงเทพฯ
ตามประวัติที่รู้กันทั่วไประบุว่าเขาเกิดวันที่ 1 สิงหาคม 2486 หลังจากนั้นอีก
3 ปี บิดาของเขาขอย้ายกลับนครพนม วีรพงษ์มีโอกาสเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่นั่น
ก่อนจะย้ายตามบิดาเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งในปี 2496 เพื่อให้เขาเข้าเรียนหนังสือระดับมัธยม
เขาเป็นคนเรียนหนังสือเก่งมากและ ฉายแววอย่างสำคัญเมื่อเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รางวัล เรียนดีใน 3 ปีแรก และเมื่อจบการศึกษาปีสุดท้ายด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง
นี่คือ บันไดขั้นสำคัญในชีวิตที่เขามีโอกาสได้ศึกษาต่อต่างประเทศ เช่นเดียวกับโมเดลการไต่เต้าของ "เด็กบ้านนอก" ทั่วไป ในยุคก่อนหน้านั้น
เมื่อจบการศึกษาในปี 2508 เขาได้บรรจุเป็นอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ากำลังรอทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ประสบการณ์สำคัญในช่วงนั้นทำให้เขามีโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสื่อมวลชนไทยในเวลาต่อมา
ทำให้ลดแรงเสียดทานเวลามีปัญหาการทำงานในเวลาต่อมาได้มากทีเดียว
เขาเข้าไปทำงานในฐานะผู้บุกเบิกสร้างแผนกอิสระสื่อสารมวลชนของจุฬาฯ ซึ่งต่อมาเป็นคณะนิเทศศาสตร์
มีโอกาสได้มีความสัมพันธ์กับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่เข้ามาเรียนหลักสูตรพิเศษด้วย
ที่สำคัญจากนั้น คือการใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนอกที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา
5 ปีครึ่ง ซึ่ง ถือเป็นบันไดขั้นสำคัญมาก ในการไต่เต้าจากสังคมฐานรากไปสู่สังคมระดับบนของสังคมไทย
ได้อย่างไม่เคอะเขิน
ในช่วงนั้นประเทศไทยกำลังเดินแผนพัฒนาประเทศขนานใหญ่ในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนสำคัญ ซึ่งรวมถึงการให้ทุนการศึกษาด้าน
เศรษฐศาสตร์ "เป็นยุคเศรษฐศาสตร์เฟื่องฟู รุ่นผมมี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ,
วิจิตร สุพินิจ, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, ประทีป สนธิสุวรรณ รวมทั้ง ณรงค์ชัย
อัครเศรณี และสาธิต อุทัยศรี กลับมาไล่เลี่ยกัน" ดร.วีรพงษ์ซึ่งได้ทุนร็อกกี้เฟลเลอร์
ที่จ่ายมากที่สุดถึงเดือนละ 300 เหรียญ สหรัฐ จนทำให้เขาเก็บเงินสร้างบ้านหลังแรกได้นั้น
ได้กล่าวถึงนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มที่มีบทบาทในภาครัฐของสังคมไทยต่อจากนั้นมา
นักวิชาการเหล่านี้ได้รับอิทธิพลทางความคิดในช่วงสังคมอเมริกันกำลังมีความขัดแย้ง
ทางความคิดกันมาก จากกรณีสงครามเวียดนาม ความคิดที่เอนเอียงไปทางต่อต้านสงคราม
ด้วย ครั้นกลับมาประเทศไทยในภาวะสังคมที่ปิด กั้น ทำให้นักวิชาการรวมกลุ่มพุดคุย
ถกเถียงปัญหาสังคมกันมาก รวมทั้งมีส่วนสนับสนุนขบวน การนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตยในยุค
นั้นด้วย
หนึ่งในบรรดานักวิชาการหรือผู้ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศร่วมถกปัญหาประเทศชาติ
นั้นคือ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ "คุณพันศักดิ์ ไม่ใช่สนิทกันสมัยที่เป็นที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก
สนิทกันมาตั้งแต่หนังสือจตุรัส สมัยนั้นเป็นหนังสือวิชา การซ้ายๆ ต่อต้านสงครามเวียดนามก็คล้ายๆ
กับนักเรียนอเมริกันยุคนั้น" เขาพาดพิงถึงประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 2
คน ต่างวาระ (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ กับ ดร. ทักษิณ ชินวัตร) ซึ่งเขาจะยอมรับในยุคที่เขา
เป็นรัฐมนตรีคลังเมื่อปี 2533 นั้น พันศักดิ์มีส่วนเสนอชื่อเขารับตำแหน่งนี้
ซึ่งเป็นครั้งแรก ครั้งเดียวที่เขาต้องการจะเป็นโดยใช้คำว่า "เพราะยังไม่เคยเป็น
อยากจะเป็นผู้ปฏิบัติ" แต่จากการดำรงตำแหน่งครั้งต่อๆ มา เขาเล่าว่าล้วนถูกบีบให้เป็น
อย่างไรก็ตามในช่วงที่เขาต้องการจะ เป็นรัฐมนตรี กลับกลายเป็นช่วงที่ฉุกละหุก
ด้วยความไม่พร้อมหลายประการ ทำให้มีปัญหามากพอควร
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นอาจารย์เศรษฐมิติคนแรกๆ ของไทย (จบปริญญา โท-เอก
ทางเศรษฐศาสตร์ University of Pennsylvania, U.S.A.) ทำให้เขาต้องเดินสายสอนหนังสือหลายมหาวิทยาลัย
เป็นที่รู้จักกันมากทีเดียว จนถึงเป็นคณบดีคณะเศรษฐ ศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยวัยยังไม่ถึง
40 ปี ทำให้เขาได้เข้าร่วมอยู่ในงานด้านนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นช่วงประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดของชีวิต
ทำให้เขาได้มีโอกาสทำงานอีก มากมายในชีวิต ไม่ว่าทางการเมืองจนถึงชีวิต ที่สบายๆ
ในปัจจุบัน
"เป็นที่ปรึกษานายกฯ ป๋าเปรมตั้งให้เป็นกรรมการระดับชาติหลายคณะ เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย
บางครั้งป๋าก็เรียกให้แสดงความเห็น เราไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ ได้เป็นข้าราชการ
อาศัยบารมีนายกฯ ทำให้ คนเกรงใจพอสมควร" เขากล่าวสรุปถึงบทบาทในช่วงนั้น
ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเขานั่งในคณะกรรมการด้านนโยบายเศรษฐกิจหลายชุด ไม่ว่าจะเป็นกรรมการธนาคารชาติ
หรือสภาพัฒนฯ
เรื่องราวบทบาทสำคัญของเขาในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่มีบทบาทต่อเนื่องที่สุด
และได้รับความไว้วางใจอย่างมาก เป็นที่เล่าขานและสื่อได้เขียน ถึงเรื่องนี้มามากแล้วในช่วง
10 ปีมานี้ โดยเฉพาะบทบาทในการตัดสินใจลด ค่าเงินในช่วงปี 2527 อันพิสูจน์ว่าเป็น
การตัดสินใจที่สำคัญในการแก้ปัญหา เศรษฐกิจในระยะเวลาต่อมา ซึ่งตัวเขาเองก็ภูมิใจในบทบาทนี้อย่างมาก
เสมอมา แม้กระทั่งการสนทนาล่าสุด กับ "ผู้จัดการ" เขายังเน้นว่า "จังหวะ
ดีที่ได้รับโอกาสทำงานกับป๋าเปรม สำคัญมาก" เมื่อถูกยุให้เขียนเรื่องราว
ครั้งนั้นเป็นหนังสือเล่ม เขาย้ำว่า "8 ปีครึ่ง มีเรื่องทุกอาทิตย์เป็นความ
สำเร็จของประเทศไทย จากวิกฤติมา เป็นฟองสบู่"
มีน้อยครั้งที่เขาถูกวิจารณ์ ซึ่งก็ไม่หนักหนา "อาจถือได้ว่าเขาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ
ในรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยที่ทรงอิทธิพลทางความคิดมากคนหนึ่ง เป็นที่ปรึกษาที่เสนอความ
คิดผ่านนักการเมือง ในยุคที่ขบวนการตรวจสอบสาธารณะอ่อนแอ เขายืนอยู่หลังฉาก
และไม่ต้องรับผิดชอบหรือแสวงหาคำอธิบายใดๆ อย่างชัดเจน ต่อการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยตรง
ไม่ต้องเผชิญกับกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะผู้นำทางการเมืองยุคนั้นออกหน้า
รับแทนอย่างมั่นคง บางคนกล่าวว่า เขาเป็นเทคโนแครตที่ทำงานในระบบการเมืองกึ่งเปิดได้
อย่างมีประสิทธิภาพ
อิทธิพลความคิดของเขาขยายไปมาก ในฐานะกรรมการหน่วยงานนโยบายหลายแห่ง เช่น
กรรมการแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ ฯลฯ เขากลายเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ ทั้งในและต่าง
ประเทศ และที่สำคัญเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของเทคโนแครตที่พร้อมจะกอบกู้วิกฤติของสังคมไทยได้ทุกเมื่อ
ทว่าคนเก่งในยุคหนึ่ง บางครั้งไม่อาจจะดำรงความสามารถในอีกยุคสมัยหนึ่ง" (วิรัตน์ แสงทองคำ จากคอลัมน์ "หมายเหตุธุรกิจ" ผู้จัดการรายวัน 19 เมษายน
2540)
ล่าสุดเมื่อกล่าวถึงบทความของ Morgan Stanley ที่ว่าด้วยการปรับรื้อความคิดตามแผนพัฒนาเดิมที่เรียกว่า "East Asia Economic Model" (อ่านเรื่องประกอบในตอนที่กล่าวถึงพันศักดิ์
วิญญรัตน์) เขาจึงแสดงความหงุดหงิดเป็นธรรมดา
อย่างไรก็ตามในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่มากด้วยประสบการณ์ นับได้ว่าเขามีความคิดทันสมัยและยืดหยุ่นมากทีเดียว
รวมทั้งยอมรับการวิจารณ์ด้วย
แต่สิ่งที่เขาไม่ค่อยได้เล่าในวงกว้างอย่างหนึ่ง ก็คือประสบการณ์ครั้งนั้นได้สร้าง "สาย สัมพันธ์" โดยเฉพาะกับกองทัพไว้อย่างต่อเนื่อง และนี่คือบุคลิกสำคัญของเขา
และกลายเป็น คุณค่าของเขาอย่างหนึ่งในฐานะบุคคลที่มีประสบการณ์ ความต่อเนื่อง
อยู่วงในและเข้าใจสังคมไทย ที่มีประโยชน์ต่องานระดับนโยบายระดับโครงสร้างสังคมในระยะต่อมา
โดยเฉพาะ อย่างยิ่งรัฐบาลชุดนี้ รู้จักและเข้าใจ "คุณค่า" ของเขา ที่มากกว่าความเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาค
"ผมสนิทกับทหารมากกว่านักการเมือง" เขายอมรับอย่างสนิทใจ โดยเล่าถึงภูมิหลังไว้อย่างน่าสนใจ
อันเชื่อมโยงกับการรับตำแหน่งทางการเมืองในช่วงต่อมาอย่างแยกไม่ออก หลายครั้งที่มีปัญหาหนักๆ
ทางเศรษฐกิจ โดย เฉพาะเรื่องการเงิน ป๋าไม่เคยที่ไม่ให้เกียรติทหาร ที่จะต้องรับรู้ปัญหาของชาติเลย
เช่นมีข่าวฮือฮาจะต้องใช้เงินตราต่างประเทศจำนวนมากในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์
แล้ว ความจำเป็นต้องเลื่อนออกไปบ้าง หรือลดลง บ้าง ท่านก็ให้ผมไปชี้แจงผู้บังคับบัญชาเหล่าทัพ"
ในตอนลดค่าเงินบาทซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เขาก็เล่าเรื่องนี้ ที่มีความหมายตีความเชื่อมโยงไปเองได้ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ กับพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก "ในช่วงลดค่าเงินบาท ท่านก็จัดให้ผมไปบรรยายถึงฐานะที่แท้จริงของการเงินการคลังของชาติให้ผู้บัญชาการ
3 เหล่าทัพ รวมทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตอนนั้นพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ไม่ได้มา
ท่านส่งพลเอกบรรจบ บุนนาค มาแต่ว่าเหล่าทัพอื่นๆ ผู้บัญชาการและเสนา ธิการมาเอง
จัดให้บรรยายที่ตึกไทยคู่ฟ้า ปิด ห้องมีคนฟัง 5-6 คน โดยผมเป็นคนบรรยาย"
จากจุดนั้นเขาก็มีความสัมพันธ์แน่น แฟ้นกับทหารมาหลายยุค เพราะทุกคนที่อยู่ในอำนาจต่อๆ
มาล้วนเป็น ทส.ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาก่อนทั้งสิ้น ไม่ว่าพลเอกชวลิต
ยงใจยุทธ พลเอกมงคล อัมพร พิสิษฐ์ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมทั้งพลตรี มนูญ
รูปขจร แม้กระทั่งพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งทำให้เขาจำใจต้องรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลังในรัฐบาลรสช.
ทั้งๆ ที่ดูจะเป็นธรรมเนียมก็ตาม ทั้งนี้เพราะเกรงใจ
และอีกครั้งที่จำเป็นต้องรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเมื่อ 15
สิงหาคม 2540 ที่ว่ากันว่า ทำหน้าที่ประสาน งานกับไอเอ็มเอฟโดยตรงนั้น เขาเล่าไว้อย่าง
เร้าใจว่า
"ครั้งที่ 3 บ้านเมืองวิกฤติอย่างมาก ผมประชุมอยู่ที่สภาวิจัยฯ ได้รับโทรศัพท์จาก
พลเอกมงคล อัมพรพิสิษฐ์ ว่ามีเรื่องจะหารือ ให้ไปพบที่กองบัญชาการกองทัพบก
เราไม่รู้เรื่องอะไร ก็โดนล็อก ไปหาป๋าก็ต้องรับ" ซึ่งอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไม่ถึง
3 เดือนก็พ้นตำแหน่ง เมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี แล้วพรรคประชาธิปัตย์
เข้าเป็นแกนนำของรัฐบาลชุดใหม่
บทเรียนที่ทดสอบความแข็งแกร่งของภูมิปัญญาประสบการณ์และสายสัมพันธ์นั้นคงไม่พ้นกรณีธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การ (บีบีซี) ซึ่งเขาได้รับการเชื้อเชิญให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาบีบีซี
จากวิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าแบงก์ชาติยุคนั้นซึ่งถือว่าเป็นเพื่อนกัน และเขาเองก็เป็น
คนแต่งตั้งวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าการในช่วงเป็นรัฐมนตรีคลัง "ผมถือว่าเป็นช่วงเปลืองตัวมาก
ที่สุดในชีวิต เกือบไป" เขายอมรับว่าด้วยความสัมพันธ์กับสื่อมวลชนมายาวนาน
อย่างจริงใจ มีส่วนทำให้เขารอดพ้นเหตุการณ์ครั้งนั้นมาได้
วันนี้เขามีตำแหน่งสำคัญทางธุรกิจหลายตำแหน่งโดยเฉพาะเป็นประธานคณะกรรม
การบริหารบริษัทแอดวานซ์อะกริโกร ของกลุ่มเกษตรรุ่งเรือง และเป็นที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
ทำให้มีการพบปะกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประจำเดือนละครั้งในที่ประชุมนั่นด้วย
เขาบอกว่าเขาไม่เคยคิดมาก่อนว่ารายได้จากการทำงานเอกชนจะมีมากมายเพียงนี้
จากประสบการณ์ใหม่นี้ทำให้เขามีความเข้าใจธุรกิจในมิติที่กว้างมากขึ้น ในสายตานักเศรษฐศาสตร์
มหภาค โดยเขามีพื้นฐานความเชื่อว่านักธุรกิจสามารถปรับตัวได้ดีในสถานการณ์ต่างๆ
ทั้งมี ความคิดยืดหยุ่นกับเห็นใจนักธุรกิจมากขึ้น "ทฤษฎีสมัยใหม่ บอกว่าคนที่ให้กับสังคมคือคนที่สร้างเนื้อสร้างตัว
คนที่เอา จากสังคมคือคนบริโภค... ผมดูนายทุนไทยเมื่อเปรียบเทียบนายทุนฝรั่ง
นายทุนไม่ค่อยใช้เงินนัก มีเงินแล้วลงทุนต่อ เวลาเศรษฐกิจตกก็หมดตัว ที่จะมีเกาะสวาท
หาดสวรรค์ มีเรือบินส่วนตัว มีเรือยอชต์แพงๆ ผมไม่เห็นมี มีบ้างแต่ไม่ถึงระดับเศรษฐีฝรั่ง
เพราะฉะนั้น เอาล่ะ! พออยู่กันได้" นี่คือความคิดของเขาที่พอจับได้
เขามีชีวิตค่อนข้างเรียบง่ายที่บ้านพักแถวสุทธิสาร บนที่ดินที่พ่อตายกให้เมื่อตอนแต่ง
กับภรรยาคนที่สอง ซึ่งเขาบอกว่าเป็นที่จัดสรรของหลวงสุทธิสารวินิจฉัย (บิดาของมารุต
บุนนาค) ให้กับตำรวจเมื่อปี 2497 มีเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา เป็นที่เรียบง่าย
ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่เป็นแบบไทย โดยเฉพาะมีของเก่าเป็นของสะสมมากพอสมควร
ไม่ว่าจะเครื่องลายคราม เหรียญต่างๆ
ปัจจุบันยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับนักข่าวอาวุโสอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
กลุ่มที่ เคยมาที่บ้านเมื่อ 15 ปีที่แล้วก็ยังแวะเวียนมา แม้การตีกอล์ฟ เขายังชอบร่วมก๊วนกับนักข่าว
บทสรุปสำคัญของบุคคลผู้นี้ย่อมมิได้อยู่ที่ความคิดในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มหภาคเท่านั้น
หากอยู่ที่ประสบการณ์ที่ยาวนานหลายด้านที่สามารถยืนอยู่ในสังคมไทยในยุคสมัยต่อเนื่องตลอดมานั่นเอง