ก้าวแรกของการรื้อทฤษฎี East Asia Economic Model (EAEM)


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ชาติแรกที่ปฏิเสธทฤษฎี EAEM

ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ปฏิเสธทฤษฎี East Asia Economic Model (EAEM) เรามีความเห็นว่า EAEM เป็นสาเหตุให้เอเชียต้องเข้าไปอยู่ในวังวนของความหายนะ ด้วยการยอมให้มีการใช้แรงงานราคาถูกในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมป้อนตลาดโลก รวมทั้งในการทำฟาร์มด้วยต้นทุนต่ำ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรธรรมชาติ

EAEM ทำให้โลกเกิดภาวะเสียสมดุลอยู่ร่ำไป
ซึ่งส่งผลเสียต่อความรุ่งเรืองของเอเชีย

EAEM ส่งเสริมให้เกิดภาวะเงินออมล้นเกิน ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักของภาวะเสียสมดุลด้านเงินออมและการค้าของโลก
เรามีความเห็นว่า การที่เอเชียใช้นโยบายพึ่งเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตามีนัยคือ การพัฒนาสู่ความเป็นอุตสาหกรรมของภูมิภาคนี้ก่อให้เกิดการกดสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ คนพื้นเมืองให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งนำไปสู่ภาวะเสียสมดุลด้านอำนาจการตั้งราคาในตลาดโลก

ก้าวแรกของการรื้อทฤษฎี East Asia Economic Model

เราเชื่อมั่นว่า การนำยุทธศาสตร์การพัฒนาของภูมิภาคนี้คือ EAEM มาประเมินทบทวนดูใหม่เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพื่อเป็นการบรรเทาความเจ็บปวดจากความหายนะของวงจรเศรษฐกิจของ เอเชีย-แปซิฟิก

ดูเหมือน พ.ต.ท.ทักษัณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย จะเป็นคนแรกที่โจมตีทฤษฎีเศรษฐกิจรูปแบบเดิมดังกล่าวข้างต้น โดยสื่อมวลชนระหว่างประเทศได้ฉายภาพ พ.ต.ท.ทักษิณว่า เป็น ป๊อปปูลิสต์เสรีและเป็นผู้นำชาตินิยมผู้สามารถกุมบังเหียนให้ ประเทศไทยหลุดพ้นจากระบบเศรษฐกิจแบบเปิดที่อ้าแขนรับเอา การค้าระหว่างประเทศและเงินทุนเข้ามาแล้วหันกลับไปสู่เส้นทาง การพัฒนาประเทศโดยเน้นจากปัจจัยในประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งใน การกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม Fortune Global Forum ที่ฮ่องกง พ.ต.ท.ทักษิณได้พูดถึงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่สำหรับประเทศไทย

ทักษิณสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบชาตินิยม

จากเนื้อหาที่เขาประกาศในครั้งนั้น เราเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการแสวงหายุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นทางเลือก ซึ่งจะ "รวบรวมเอาทรัพยากรและความชำนาญส่วนใหญ่ของประเทศมาไว้ด้วยกัน โดยแสวงหาช่องว่างทางการตลาดของตนเอง ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างสมดุลระหว่างยุทธศาสตร์การเน้นใช้ทรัพยากร และการขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคเน้นองค์ความรู้เป็นสำคัญ"

พ.ต.ท.ทักษิณยังลงลึกในรายละเอียดว่า ไทยได้ชื่อว่าเป็น ส่วนหนึ่งของห่วงโซ่แห่งการสร้างมูลค่าในเอเชีย ซึ่งยอมให้มีการใช้แรงงานราคาถูกเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมป้อนตลาดโลก รวมทั้งการทำฟาร์มด้วยต้นทุนต่ำ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีของไทยเชื่อว่า แทนที่จะยอมให้มีการผลักเกษตรกรและคนงานผู้มีความชำนาญต่ำ เข้าไปสู่วงจรแห่งความหายนะของวิกฤติการณ์การเงินและสงครามราคาที่ต้องห้ำหั่นกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน ไทยจำเป็นต้องเบนจุดโฟกัสจากการผลิตและซัปพลายสินค้าป้อนตลาดโลกมาเป็น การให้ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขยายขอบข่ายการค้าระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกัน

เราเชื่อว่าสมควรนำแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาวิเคราะห์กันอย่างถ้วนถี่ เพราะข้อคิดเห็นของเขาถือได้ว่าเป็นการปฏิเสธทฤษฎี East Asia Economic Model (EAEM) อย่างเป็นทางการ ครั้งแรกของผู้นำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายโต้แย้งว่า การที่มาเลเซียประกาศตรึงค่าเงินริงกิตและออกกฎหมายควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น ทำให้มาเลเซียได้ชื่อว่าเป็นชาติแรกที่ปฏิเสธ EAEM

แต่เราเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่พึงสังวรคือ ผู้นำมาเลเซียไม่เคยปฏิเสธ EAEM อย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะมีท่าทีต่อต้านตะวันตกอย่างชัดเจนก็ตาม จริงๆ แล้วรัฐบาลมาเลเซียก็เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความหายนะที่เกิดจากเงินร้อนระหว่างประเทศ และหลักการประชาธิปไตยสไตล์ตะวันตกเท่านั้น

เรามีความเห็นว่า การที่ไทยพยายามสลัดให้หลุดพ้นจาก EAEM นั้นมีนัยสำคัญมากทีเดียว เพราะบรรดาผู้นำของประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่ยังต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากวิกฤติการณ์การเงินในเอเชียระหว่างปี 1997-98 นั้น ดูเหมือนจะยิ่งเคลือบแคลงเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของพวกเขามากขึ้นทุกที เพราะการเดินรอยตาม EAEM นั้นพิสูจน์ชัดแล้วว่าปฏิบัติตามได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องท้าทายอย่างหนักหน่วงสำหรับจีนและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท้ายที่สุดแล้วประเทศเหล่านี้อาจกระโจนมาเดินตาม เส้นทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ และแสวงหายุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นทางเลือกได้

คุณสมบัติสำคัญและการแตกแขนงเป็น 2 แนวทางของ EAEM

กล่าวโดยย่อแล้ว EAEM เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการคือ เงินลงทุนสูงและ การพึ่งเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงในแง่ของการค้ารวมทั้ง สายสัมพันธ์ด้านการลงทุนที่มีกับตลาดโลก โดยประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนใหญ่รวมทั้งไทยได้ยอมรับเอา EAEM มาปฏิบัติตามตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980

จากการวิเคราะห์ของเราสรุปได้ว่า EAEM แตกแขนงออกเป็น 2 แนวทางดังนี้

กลุ่มประเทศที่ดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศโดยให้กิจการบริษัทในประเทศเป็นหัวหอก มีรัฐบาล ธนาคาร และกลุ่มธุรกิจในประเทศร่วมกันพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมร่วมในรูปแบบของคอมเพล็กซ์ขึ้นมา เพื่อเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวอย่างเห็นได้ชัดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ที่เรียกว่า chaebols และบรรดากิจการเทคโนโลยีสารสนเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของไต้หวัน

อีกกลุ่มประเทศหนึ่งใช้วิธีพัฒนาโดยพึ่งพากิจการบริษัทข้ามชาติ ด้วยการพึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีกิจการบริษัทข้ามชาติครอบงำภาคการผลิตและส่งออก หรือที่เรียกว่า FDI-MNC led development ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และกลุ่มประเทศอาเซียน

อำนาจการตั้งราคาต่ำ เสียเปรียบในเงื่อนไขทางการค้า

แนวทางการพัฒนาประเทศตามทฤษฎี EAEM ทั้ง 2 แนวทาง จึงดำเนินไปด้วยดี ตราบเท่าที่ยังมีการขยายขอบข่ายของการค้าระหว่างประเทศ และมีการใช้เอเชียเป็นฐานการผลิตสินค้าซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว พลวัตของระบบเศรษฐกิจจึงขับเคลื่อนไปด้วยกระบวนการที่มีกลไกการส่งออก อันมหึมาของเอเชีย เป็นตัวควบคุมเพื่อให้แน่ใจว่า การค้าและภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จะทำหน้าที่ถ่วงดุลกับภาวะเสียสมดุลของโลกในแง่ของเงินออมได้เป็นอย่างดี

เมื่อโลกเกิดภาวะเสียสมดุลในด้านการค้าและเงินออมแล้ว ย่อมนำไปสู่ภาวะเสียสมดุลที่เลวร้ายยิ่งขึ้นอีก นั่นคือ ความไม่เสมอภาคในอำนาจการตั้งราคา สิ่งที่ถือว่าเป็นความโชคร้ายใหญ่หลวงที่สุดของเอเชีย คือ ผลในเชิงลบที่มีต่อราคาผลผลิตที่ผลิตโดยกิจการบริษัทสัญชาติเอเชีย และผลที่ตามมาคือ การกดราคาสำหรับแรงงาน ชาวเอเชีย และผลตอบแทนต่อเงินทุนของเอเชียที่อยู่ในระดับต่ำ

ประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก ล้วนอยู่ในธุรกิจของการซัปพลายสินค้าจากโรงงานผลิต ซัปพลายสินค้าที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติป้อนตลาดโลก โดยระดับราคาระหว่างประเทศของสินค้าเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อผลตอบแทนของบริษัท เอเชียและอัตราค่าจ้างของแรงงานเอเชีย จากกลไกดังกล่าวนี้ เมื่อ มองในแง่ของซัปพลาย จะเห็นว่า กำลังผลิตส่วนเกินนี้สื่อความหมายว่า ราคาที่ลดต่ำจะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกของผู้ผลิตเอเชีย มองในแง่ดีมานด์จะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของดีมานด์โดยฉับพลันจะส่งผลต่อความผันผวนของราคาอย่างรุนแรง มากกว่าการส่งผลต่อปริมาณสินค้าที่ต้องการ เพราะบริษัทผู้ผลิตย่อมขายสินค้าได้มากขึ้นในภาวะที่ราคาสูงขึ้น และขายได้มากขึ้นอีกในภาวะที่สินค้าราคาตกต่ำลง

ผลในท้ายที่สุดคือ เงื่อนไขทางการค้าของเอเชีย-แปซิฟิก ย่ำแย่ลงทุกครั้งที่ดีมานด์ของตลาดโลกที่มีต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตผลการเกษตร หรือสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมภูมิตกต่ำลง สิ่งนี้แหละที่เป็นตัวอธิบายเรื่องความหายนะแห่งวงจรของสงครามราคา ที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึง

การที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เดินรอยตามทฤษฎี EAEM โดยตรง จึงก่อให้เกิดภาวะโลกเสียสมดุลดังกล่าวข้างต้น และส่งผลเชิงลบต่อผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตสัญชาติเอเชีย รวมถึงมาตรฐานการครองชีพของคนงานและครัวเรือนของภูมิภาค เรามีความเห็นว่า มันเป็นไปตามหลักตรรกะที่ว่า เงินออมล้นเกินก่อให้เกิดภาวะโลกเสียสมดุลด้านเงินออม ซึ่งย่อมส่งผลต่อภาวะเสียสมดุลทางการค้าอย่าง มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ธรรมชาติของการค้าและการผลิตแบบนี้ จึงทำให้ภูมิภาคนี้ต้องตกอยู่ในวังวนแห่งความหายนะของสงครามราคาและเงื่อนไขทางการค้าก็แย่ลงเรื่อยๆ

การแสวงหายุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นทางเลือก

ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ จะต้องไม่มองข้ามอุปสรรคสำคัญ 2 ประการของ EAEM นั่นคือ ภาวะเงินออมล้นเกินและธรรมชาติของการผลิตที่มีมูลค่าต่ำ เราเชื่อว่าฝ่ายต่อต้าน EAEM ที่มีความน่าเชื่อถือจะต้องให้ความสำคัญกับการกำจัดภาวะเงินออมล้นเกิน และการปฏิเสธยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ด้วยวิธีพึ่งเงินลงทุนของบริษัทข้ามชาติจากต่างประเทศโดยตรงอย่างแน่นอน

ยุทธศาสตร์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณนำเสนอไม่ได้ลงในรายละเอียดมากพอ สำหรับการตอกย้ำอุปสรรคสำคัญ 2 ประการของทฤษฎี EAEM นั่นคือ เงินออมล้นเกินและธรรมชาติของการผลิตที่มีมูลค่าต่ำ ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า กว่าจะได้พบทฤษฎีทางเลือกที่นำมาใช้แทน EAEM นั้น ยังจำเป็นต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติอันรุนแรงและยืดเยื้ออีก

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่า สุนทรพจน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของการอุบัติขึ้นของทฤษฎีใหม่ และในท้ายที่สุดจะสามารถรื้อทำลายทฤษฎี EAEM ลงได้ สำหรับเราแล้วมีความเห็นว่า การแสวงหายุทธศาสตร์การพัฒนาที่เป็นทางเลือกสำหรับประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก อย่างจริงจังมุ่งมั่นมากกว่านี้ เป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง สำหรับหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ที่เป็นอยู่ขณะนี้

(จากผลงานวิจัยของ Morgan Stanley Dean Witter ในหัวข้อเรื่อง Asia/Pacific Economics โดย Daniel Lian เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ดรุณี แซ่ลิ่ว แปลและเรียบเรียง)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.