ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา "ผมเป็นแค่นักคิดคนหนึ่งเท่านั้น"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

"จส.16 ครับ" เสียงตอบ "16 ครับผม"

"ผมนอนเพิ่งตื่นตอน 5 โมงเย็นนี้เอง ลองสรุปเหตุการณ์ทั้งวันให้ฟังสั้นๆ หน่อย"

"วันนี้ก็ยังเล่นเหมือนเดิมครับ แล้วสายก็ยังแน่นตลอด ไม่เห็นด้วยมากกว่าเยอะ แล้วก็ ที่คุณปีย์ให้ข้อมูลต่างๆ มา รวมทั้งข้อมูลจากศูนย์วิจัยฯ ที่ได้มา ดีเจเองเขา ก็ได้พยายามย้ำเรื่องตัวเลขเรื่องข้อมูลต่างๆ มาตลอดแล้ว ล่าสุดทางรัฐมนตรีช่วยฯ จองชัย เขาก็ได้บอกว่าพรุ่งนี้เขา จะเข้าครม. เพื่อจะพิจารณาว่าจะยกเลิก จะเลื่อนหรืออย่างไร ล่าสุดข่าวออกมาเมื่อสักครู่ครับ"

"โอเค ขอบคุณครับ งั้นก็ยังเล่นต่อจนกว่าพรุ่งนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร"

"ครับผม รับทราบครับ" เสียงสนทนาขาดหายไป

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการทำงานเบื้องหลังของทีมงาน จส.100 กับปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริษัทแปซิฟิค คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตรายการ จส.100 คำพูดเพียงไม่กี่ประโยค ที่เขาสื่อสารจากศูนย์บัญชาการหน้าห้องนอน บนชั้น 12 ของตึกหลังหนึ่งบนถนนประดิพัทธ์ ด้วยการใช้ Trunk Radio ไปยังทีมงานของ จส.100 บนชั้น 5 ของตึกไทย คลองเตยนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงอะไรหลายๆ อย่าง

ประเด็น ที่ถกเถียงอย่างร้อนแรงบนหน้าปัดวิทยุของคลื่น จส.100 จะถูกเปิดด้วย เสียงของประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนเมืองหลวง มีดีเจเป็นสื่อกลางรับฟังความเห็น โดยมีข้อมูลแบ็กอัพจากทีมงาน และการติดตามควบคุมงาน โดย ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ ซึ่งแม้จะยืนยันตลอดเวลาว่า "ไม่ชอบเป็นข่าว" และ "ผมอยากอยู่คนเดียว เงียบๆ" นั้น จริงๆ แล้วเขาไม่เคยได้ "เงียบอยู่คนเดียว" อย่างที่ได้พูดไว้แน่นอน

ห้องรับแขกหน้าห้องนอน บนชั้น 12 ของคอนโดมิเนียม ที่ชื่อ Green Peace ย่านถนนประดิพัทธ์ ไม่เคยร้างจากนักการเมือง ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเอกชน ที่แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมเยียน และได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลลึกๆ แหล่งใหญ่ ที่เกี่ยวกับ อำนาจของสังคม

"คือ ผมไม่ใช่ตัวอันตรายของใคร" ปีย์สรุปภาพตัวเองกับ "ผู้จัดการ" อย่างมั่นใจ

ดังนั้น จส.100 เองจึงไม่ใช่เพียงคลื่นข่าว ที่รายงานการจราจร และช่วยแก้ปัญหาของคนในสังคมเมืองธรรมดาๆ เท่านั้น แต่พร้อม ที่จะแปรเปลี่ยนเป็นคลื่นของมวลชน เป็น "Mob Radio" ทันที ที่มีปัญหากระทบกับคนหมู่มาก โดยผู้ที่กุมกลไกอยู่เบื้องหลังนั้น เป็นบุคคล ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการสื่อสาร "ข่าวสาร" นั้น ๆ ออกไป

ในขณะเดียวกันมันก็ได้ขยายบทบาทเป็นวิทยุชุมชน ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ

"อะไร ที่เรารู้ข้อมูลมาลึกๆ เราก็สามารถเอาข้อมูลนั้น มาแชร์ให้กับประชาชน แล้วดูซิว่าเขาคิดอย่างไร ถ้าผมพูดคนเดียว ก็จะมีว่า เฮ้ย! ปีย์ ขอเถอะ หรือขอเถอะพี่ เมื่อมีวิทยุอย่างนี้มันก็มีพลัง ที่จะต่อรอง "ปีย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ประเด็นร้อนล่าสุด ที่เพิ่งจบไปในเรื่องของฟิล์มกรองแสงน่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของความสำเร็จของพลังมวลชน และความสำเร็จของจส.100 ปัญหาของเรื่องฟิล์มกรองแสงเกิดขึ้นจากการที่กฎหมายว่าด้วยการใช้วัสดุกรองแสง รถยนต์ ที่นำมาใช้ในช่องทางการเดินรถ พ.ศ.2538 ซึ่งบังคับให้แสง ที่ผ่านการกรองจากฟิล์ม และกระจกรวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ที่ผ่านมานั้น มีกระแสคัดค้านจากประชาชนจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วย

ทางจส.100 ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2543 โดยมีผู้ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งหมด ประมาณ 32,000 คน ปรากฏว่ามีตัวเลข ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ถึง 31,220 คน และเห็นด้วยเพียง 330 คน

บันทึกทั้งหมดได้ถูกเรียนเสนอนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2543 และในวันที่ 6 มิถุนายน 2543 ได้มีมติครม.ออกมาว่าให้มีการผ่อนผันเรื่องนี้ออกไปอีก 1 ปี โดยให้กรมการขนส่งทางบก อนุโลมให้รถเก่าเกิน 7 ปี ซึ่งติดฟิล์มผิดกฎหมายสามารถต่อทะเบียนได้

การเลื่อนระยะเวลาในการขึ้นราคาค่าทางด่วนออกไป การต่อต้านเรื่องไม่ซื้อเครื่องบินเอฟ 16 ล้วนแล้วแต่เป็น บทบาทครั้งสำคัญของคลื่น จส.100 แม้จะไม่สำเร็จทุกเรื่องแต่อย่างน้อยก็สามารถทำให้ประชาชนได้รู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่อง ที่เกิดขึ้น และเป็นคนเก็บฐานข้อมูลเหล่านั้น ได้ด้วยตัวเอง

การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ก็เช่นกัน จส.100 เป็นคลื่นหนึ่ง ที่ผู้สมัครทุกคนให้ความสนใจ และ ที่น่าสนใจยิ่งกว่าหากสามารถเชิญชวนปีย์ ที่เปรียบเหมือนตัวแทนของกลุ่มคนจำนวนมากนั้น ไปปรากฏตัวอยู่เคียงข้างตนเองได้ เพียงแต่เขาอาจจะระวังตัวในเรื่อง การ"สร้างภาพ" ให้ใครๆ อย่างมากเหมือนกัน ภาพดังกล่าว ที่บางคนต้อง การจึงไม่ปรากฏขึ้น และ เพื่อยืนยันความเป็นกลางในเรื่องนี้เวทีหาเสียงแถลงนโยบายบนคลื่นนี้จึงเปิดให้กับผู้สมัครทุกๆ คน โดยดีเจมีบทบาทเพียงกระตุ้นให้ชาวกทม.ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเท่านั้น

ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ยืนยันกับผู้ใกล้ชิดเสมอว่า "การเมือง" เป็นเรื่อง ที่เขาไม่เคยคิด และไม่อยากยุ่งแต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เขากำลังทำนั้น เกี่ยวข้องกับตัวแปรเรื่องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ภาพของเขาหลังจากผิดหวังจากการทำธุรกิจทีวีกับองค์กรเอกชน โดยไปเริ่มต้นใหม่กับกลุ่มอำนาจทหารนั้น ชัดเจน

บางคนบอกว่าเขาเรียนรู้ในเรื่องอำนาจ และสายสัมพันธ์อย่างดีจนกลายเป็นที่หลงใหล โดยจะรู้ตัวเองหรือไม่ก็ตาม บทเรียนของการต้องถอนออกจากธุรกิจข่าวสารทีวี มันเป็นบทเรียน ที่มีค่าว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดไม่ได้ หากไม่มี "อำนาจ" แบ็กอัพที่ดีพอ แม้ว่า บทเรียนนี้มันคือ ความคิดเก่าของสังคมไทยก็ตาม

ในช่วงปี 2534 เศรษฐกิจในประเทศกำลังเบ่งบาน กำลังซื้อของคนมีมหาศาล รถใหม่ป้ายแดงมีเพิ่มขึ้นมากมาย ขณะที่โครงข่ายการจราจรในกรุงเทพฯ หลายโครงการยังสร้างไม่เสร็จ ผลของมันก็คือ การจราจรเกิดวิกฤติอย่างหนัก ภาพพจน์ของการจราจร ในกรุงเทพฯ ตกต่ำเลวร้ายที่สุดในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับ ที่โทรศัพท์มือถือกำลังระบาดเข้ามาในเมืองไทยอย่างรวดเร็ว พร้อมกับตัวเลขของคนที่ต้องการใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นๆ ทุกวัน

ความคิดของปีย์เกิดขึ้นตรงนี้ เขามองทะลุว่า คนกลุ่มนี้น่าจะกลายเป็นผู้สื่อข่าวอิสระกลุ่มใหญ่ในท้องถนน ที่มีพลังในการรายงานข่าวสด ด้านการจราจรอย่างได้ผลที่สุด เพียงแต่ต้องหาสถานีวิทยุขึ้นมารองรับเป็นสื่อกลาง

เขาเน้นว่าความคิดง่ายๆ นี้เท่านั้น ที่คิดได้ในตอนนั้น

จะเป็นเพราะอะไรก็ตาม ในที่สุดเรื่องนี้ได้รับการยอมรับ และสนับสนุนจากทางกองทัพ ซึ่งมีพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกในยุคนั้น ได้มอบสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมการสื่อสารทหารบกให้กับทางบริษัทแปซิฟิคคอร์ปอเรชั่น ดำเนินรายการผลิตสื่อวิทยุ เพื่อรายงานการจราจร

วันที่ 2 กันยายน 2534 สถานีวิทยุจราจร จส.100 วิทยุข่าวสาร และการจราจร จึงได้เกิดขึ้น ภายใต้คำขวัญ ซึ่งถือเป็นหัวใจของคนทำงานทุกคนว่า "ด้วยใจ เพื่อสังคม" คำว่า"จส." ก็คือ "จเรสื่อสารทหารบก" 100 ก็หมายถึงคลื่นความถี่ 100MHz

"กว่าเรื่องขอคลื่นจะอนุมัติได้ ตอนนั้น มือถือมีเข้าไปประมาณ 5 หมื่นเครื่องเข้าไปแล้ว สิ่งที่เราพบก็คือ ที่ว่าเมืองหลวงเป็นเมือง ที่ไร้น้ำใจ มีคนอีกมากมาย ที่อยากจะตอบแทนให้กับสังคม จากนั้น มาทำให้ผมมุ่งมั่น ที่จะทำเรื่องนี้มากขึ้น บนพื้นฐานของการช่วยเหลือทางด้านการจราจร ทีนี้มวลชนมันมีความน่ารัก ก็เลยขยายงานอื่นไปได้เรื่อยๆ

ในเรื่องการรายงานการจราจรเริ่มแรกได้รับความร่วมมือจากตำรวจกองจราจรกลาง กรมตำรวจ และกองบัญชาการนครบาล (บชน.) ที่จะช่วยในด้านอุปกรณ์ สื่อสารของกรมตำรวจ เพื่อช่วยในการรายงาน และช่วยเหลืออบรมในเรื่องของการให้บริการกับประชาชนด้วยวิธี ที่เหมาะสม โดยพยายามสร้างความรู้จัก และผลักดันให้ประชาชนเป็นผู้คิด โดยมี จส.100 เป็นกระบอกเสียงในการติดต่อสื่อสารกับหน่วยราชการ

โทรศัพท์มือถือรวมทั้งเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ของสถานี ที่ทันสมัย รวมทั้งยังมีเฮลิคอปเตอร์คอยรายงานการจราจร ที่เห็นได้ชัดเจนจากเบื้องบนมาสู่ภาคพื้นดินในช่วงเวลาเช้าเย็นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นยุทธวิธี ที่ทำให้คลื่นวิทยุคลื่นนี้ได้รับความสนใจ และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

เหตุการณ์ของวันหนึ่ง ขณะเฮลิคอปเตอร์ของ จส.100 กำลังรายงานข่าวอยู่บนอากาศ เบื้องล่างรถกำลังติดอย่างหนัก และบังเอิญมีคนท้องแก่ใกล้คลอดคนหนึ่งนั่งอยู่ในรถ โดยที่หาทางไปโรงพยาบาลไม่ได้ แต่แล้วทีมข่าว จส.100 และนักบินก็ได้ ประสานงานร่วมกัน และใช้ความสามารถลงบนทางด่วน เพื่อรับคนท้องไปโรงพยาบาล จนปลอดภัยในที่สุด เป็นเรื่อง ที่ตื่นเต้นระทึกใจท่ามกลางการเอาใจช่วยของคนทั้งกรุงเทพฯ

ปีย์ตัดสินใจซื้อเฮลิคอปเตอร์ โดยมีกองทัพบกสนับสนุนในเรื่องของนักบินส่วนเครื่อง ที่ 2 บริษัทโตโยต้าแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องการทำประโยชน์ให้กับประชาชน ร่วมกันซื้อให้ในปี 2539 เป็นเครื่อง Jet Ranger มูลค่า 12 ล้านบาท

ปัจจุบัน เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำนี้ได้หยุดบินไปตามภาวะเศรษฐกิจ ที่ซบเซา และ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของน้ำมัน ประมาณ 4 หมื่นบาทต่อวัน และขณะนี้ถูกเก็บ เพื่อความสะดวกในการบำรุงรักษา ที่ประเทศออสเตรเลีย

ภาพพจน์ของ จส.100 และทีมงาน ได้รับการยอมรับอย่างมากๆ ในช่วงเวลานั้น เรตติ้งก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับทีมข่าวแปซิฟิคฯ ของเขาในอดีต ที่ได้รับความสำเร็จโด่งดังมาแล้วจากการทำข่าวทีวี (อ่านเพิ่มในRelated Story))

บทบาท ที่โดดเด่นของ จส.100 ช่วงแรกๆ โฟกัสไปยังปัญหาเรื่องการจราจร ต่อมาได้เริ่มเพิ่มความสำคัญในเรื่องปัญหาอื่นๆ ของชุมชนเมืองมากขึ้น มีรายการอื่นๆ ที่ให้ความรู้เป็นสารคดีแทรกตลอดทุกชั่วโมง และเมื่อมีประเด็นขึ้นมา ทางทีมงานก็สามารถดึงออกมาเป็นประเด็นใหญ่เล่นได้ต่อเนื่องทั้งวัน

การที่ทีมงานสามารถติดต่อให้ผู้รับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ เจ้าของเรื่องให้มาตอบคำถาม และชี้แจงกันได้เลยสดๆ ในขณะที่คนธรรมดานั้น ทำไม่ได้ หรืออาจจะผ่านกระบวนการที่ล่าช้าของระบบข้าราชการไทย เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ทำให้คลื่นนี้ได้รับความเชื่อถือเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับการคิดค้นรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม เช่นโครงการกองทุนบริจาคเงิน เพื่อซื้อลิ้นหัวใจกับ จส.100 ที่ช่วยชีวิตคนมาแล้วประมาณ 2,000 คน น่าจะเป็นบทสรุปหนึ่งถึงความศรัทธาเชื่อมั่นของคนฟังรายการนี้

ปีย์มีความคิดให้ จส.100 เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือค่าลิ้นหัวใจเทียมให้กับผู้ป่วย ที่ยากจน เพราะช่วงหนึ่งของชีวิตเขาได้สัมผัสความทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคหัวใจ และได้ผ่านการผ่าตัดลิ้นหัวใจมาแล้ว และข้อมูลที่บอกผ่านดีเจของรายการว่า ขณะนี้รัฐบาลมีงบประมาณให้แต่ละโรงพยาบาลในเรื่องค่าลิ้นหัวใจเพียง 30 ลิ้นต่อปี ในขณะที่ผู้ป่วยต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน และภาคเหนือต้องรอรับการผ่าตัดเป็นจำนวนร้อยๆ คนต่อปี

นายแพทย์ผู้ผ่าตัดจำเป็นต้องเลือกชีวิตได้เพียงบางคน ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมจากคนฟัง จนกระทั่งมีการบริจาคผ่านเข้ามาอย่างมาก ซึ่งทางจส.100 เองก็ได้ให้กองทุนติดต่อประสาน กับหน่วยศัลยแพทย์หัวใจของแต่ละโรงพยาบาล ในเรื่องค่าลิ้นหัวใจ โดยไม่มี การมอบเงินบริจาคโดยตรง แต่ใช้วิธีให้แพทย์ทำบันทึกแจ้งให้กองทุนทราบถึงประเภทของลิ้น รายละเอียดเกี่ยวกับตัวคนไข้ต่างๆ เพื่อเป็นหลักฐานในการทำทะเบียนคนไข้ของกองทุน และสามารถส่งรายชื่อให้ผู้บริจาคได้รับทราบ กรณีเป็นการบริจาคให้ทั้งลิ้น และผู้บริจาคประสงค์ ที่จะติดตามอาการของผู้ป่วยรายนั้น ๆ

ค่าใช้จ่ายสำหรับลิ้นหนึ่ง ประมาณ 5 หมื่นบาท เวลานี้มีการผ่าตัดไปแล้ว 2 พันคน และยังคงเป็นโครงการที่ยังดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ

แม้แต่ "กองกำลังบูรพา" ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่แนวชายแดนติดต่อกับกัมพูชาในเขตจังหวัดสระแก้ว จส.100 ก็ยังดึงเข้ามาทำโครงการร่วมกันคือ "โครงการปกป้องทรัพย์ของชาติ"

จากปัญหาของการโจรกรรมรถยนต์เกิดขึ้นมาตลอด และทวีความรุนแรงขึ้นทุกทีหลังจากการเกิดวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจของชาติ ภาระ ที่สำคัญของ จส.100 และกองกำลังบูรพา ก็คือ ร่วมมือกัน เพื่อช่วยในการสกัดกั้นรถยนต์ ที่โดนโจรกรรมไม่ให้ถูกนำข้ามชายแดนออกไป

ทีมงาน จส.100 ได้บันทึกข้อมูลไว้ว่า ในปี 2542 นั้น เฉลี่ยแล้วเดือนหนึ่ง จะมีรถหายประมาณ 300-400 คัน รถจักรยานยนต์จะมีสัดส่วนมากที่สุด ประมาณ 100-200 คัน รองลงมาคือ รถปิกอัพเดือนละประมาณ 100 คัน รถเก๋งส่วนตัวประมาณ 60-80 คัน และรถแท็กซี่ 40-50 คัน ส่วน 5 เดือนแรกของปี 2543 มีการแจ้งรถหายไปแล้วประมาณ 2,000 คัน พบแล้วประมาณ 163 คัน

แผนการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวถูกวางแผนไว้ด้วยการที่ทาง จส.100 ได้มีหมายเลขพิเศษในการแจ้งรถหายคือ โทร. 7119146-7119147 เมื่อได้รับข้อมูลรถหายจากเจ้าทุกข์ ก็ส่งต่อข้อมูลไปยังกองกำลังบูรพา และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง

กองกำลังบูรพาจะมีเครื่องมือสื่อสาร ที่จัดไว้ให้ เช่น ระบบโทรศัพท์มือถือออนไลน์ อินเทอร์เน็ต วิทยุรับส่ง เพจเจอร์ และแฟกซ์ เพื่อให้สามารถประสานงานกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนทางข้อมูลน้อยที่สุด เครื่องมือ เหล่านี้คือ กลไกสำคัญ ที่จะช่วยให้การสกัดกั้นรถยนต์ได้ผล

แม้ว่าผลที่เกิดขึ้นยังเป็นตัวเลข ที่น้อยมาก หากเทียบกับจำนวนรถ ที่หายไปแต่สิ่งหนึ่ง ที่ได้กลับคืนมาเต็มๆ ก็คือ ภาพพจน์ที่ดีของกองทัพ ในการช่วยเหลือประชาชน

ความคิดของปีย์ในการสร้างคลื่น จส.100 อาจฟังดูง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ได้คาดหวังว่า จะเป็นฐานของการสร้างมวลชน หรือสร้างกลไกให้ใครๆ เข้าหา อย่างผลที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นก็เพราะบังเอิญ ไปตรงกับความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งในสังคม แล้วมันก็สามารถขยายผลต่อเนื่องสร้างโครงการอื่นๆ ที่มี ประโยชน์เกิดขึ้นเรื่อยๆ

คลื่นของ จส.100 ก็เลยมีเสียง ที่ดังขึ้นๆ ทุกวัน พร้อมๆ กับสายสัมพันธ์ ของคลื่นนี้กับหน่วยงานต่างๆ ของทหาร ตำรวจ และสำนักงานเขตต่างๆ ของกทม.ก็ถูกสร้างโครงข่ายถักทออย่างเหนียวแน่น ต่อเนื่อง สร้างความใกล้ชิด และความเข้าใจระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ กับประชาชนอย่างได้ผล

พร้อมๆ กับปรากฏการณ์หนึ่งได้เกิดขึ้นมา ในปัจจุบันสมาชิกของจส.100 ที่มาลงทะเบียนไว้มีทั้งหมดถึง 200,000 คน ไม่นับรวมคนฟังทั่วไปอีกจำนวนมาก สมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีมือถือใช้ และมีรถยนต์ขับ

คนกลุ่มหนึ่งจะรู้จักกันเฉพาะเสียงกลางอากาศ พูดคุยกันจนรู้ว่ามีความคิด และมีอุดมการณ์เดียวกัน ก็ได้มารวมตัวกันสร้างชมรมขึ้นชื่อ ชมรมจสส. หรือชมรมจราจรสื่อสาร เพื่อสังคม ซึ่งจะมีกิจกรรมพบปะกันทุก 2 เดือน ปัจจุบันมีสมาชิกแล้วมากกว่า 200 คน

สำหรับขั้นตอนการสมัครของสมาชิกนั้น ทุกคนเพียงแต่กรอกรายชื่อลงทะเบียนประวัติไว้ และบอกรหัสลับของตนเองไว้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อว่าจะได้ตรวจสอบในตอนหลังว่าเป็นสมาชิกของ จส.100 จริงหรือไม่ หากมีกรณี ที่เกิดปัญหาการแอบอ้างชื่อไปใช้ในเรื่อง ที่ไม่ถูกต้อง สมาชิกทุกคนจะได้สติกเกอร์ไว้ติดรถ

และได้ประโยชน์ในเวลา ที่ จส. 100 จัดกิจกรรม อาจจะได้รับสิทธิพิเศษก่อน ซึ่งทางสถานีก็มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ให้สมาชิกได้มารู้จักพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา เช่น ร่วมกับกรุงเทพฯ จัดโครงการ "ปั่น เพื่อพ่อหลวง" ร่วมกับบริษัทคาลเท็กซ์ และสมาคมฟุตบอล จัดโครงการฟุตบอลการกุศล "นัดนี้ เพื่อน้อง" และ ที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือ "โครงการกตัญญูรู้คุณ" โดยได้ร่วมกับสมาชิกส่วนหนึ่งนำไข่เป็ดจากฟาร์มของปีย์ ที่อำเภอบางพระ ศรีราชา ไปมอบให้องค์กรการกุศลต่างๆ เช่น สถาน สงเคราะห์เด็ก

ในเดือนกันยายน 2543 ที่จะถึงนี้ จส.100 จะมีอายุครบ 9 ปี เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างมากๆ ทีเดียวในการก้าวต่อไป

ความรวดเร็วทันเหตุการณ์ของวิทยุกระจายเสียง เป็นความสดใหม่ ที่สามารถป้อนให้กับประชาชน คือ ความได้เปรียบของสื่อมวลชนแขนงนี้ และเป็นจุดขาย ที่สำคัญของรายการนี้เช่นกัน ในขณะเดียวกันมันเป็นเหมือนดาบ 2 คม

ดังนั้น ระบบการตรวจสอบข้อมูลก่อนออกอากาศ จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ดีเจเองก็จะต้องแยกแยะให้ได้ว่า อะไรคือ สาระ อะไรเป็นขยะ ไม่ควรออกอากาศ ไม่เช่นนั้น แล้วจะเป็นรายการที่น่าเบื่อหน่าย และเสื่อมความนิยมไปทันที เช่นกัน และ ที่สำคัญทุกวันนี้ จส.100 มีคู่แข่ง

บนหน้าปัดวิทยุมีอีกหลายคลื่น ที่พร้อมใจกันรายงานข่าวจราจร เป็นของแถมของรายการเพลงปกติในช่วงเช้าเย็น มีคลื่นของ สวพ.91 ที่รายงานการจราจรเป็นหลัก และ ที่สำคัญมีโครงการวิทยุชุมชนของสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เพื่อทำรายการ"ร่วมด้วยช่วยกัน"

จุดกำเนิดของวิทยุชุมชนหรือ City Radio นี้มีรากฐานมาจากมองเห็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของ จส.100 โดยเชื่อมั่นเช่นกันว่าสังคมจะดีขึ้นถ้าคนในสังคมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจปัญหาต่างๆ และสังคมไทยจะแข็งแกร่งได้หากสังคมมีความรัก ความเอื้ออาทรให้แก่กัน รายการนี้ได้กระโดดมาร่วมด้วยช่วยกันเมื่อเดือน พฤษภาคม 2540 ที่คลื่น 97.5 เมกะเฮิรตซ์ และในที่สุดก็ได้กลายเป็นคู่แข่ง ที่สำคัญของ จส.100 เช่นเดียวกัน

ปัญหาอย่างหนึ่งของคลื่นนี้ก็คือ ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขายโฆษณาลดลงเช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ เหมือนกัน พันธมิตรสำคัญ เช่น องค์การโทรศัพท์ และโทรศัพท์มือถือระบบเวิลด์โฟน 1800 ที่เคยสนับสนุน จส.100 มานานหลายปี ก็ต้องถอนตัวออกไปเพราะทนรับภาระ ที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว ทางออกของ จส.100 ก็คือ รับภาระกันคนละครึ่ง ด้วยระบบบาร์เตอร์ โดยให้เวลาการโฆษณาแทน เพื่อให้คนที่ใช้เครื่อง 1800 โทรเข้ามาได้ฟรีเหมือนเดิม

แม้โครงการพิเศษหลายรายการที่ขาดผู้สนับสนุน แต่ ที่ทำอยู่ก็ยังมี เช่น ร่วมกับบริษัทวิริยะประกันภัยทำโครงการ "รักรถ ลดอุบัติเหตุ" ด้วยจุดประสงค์ ที่ว่าต้องการให้คนขับรถด้วยความระมัดระวังมากขึ้น แล้วให้เสียเบี้ยประกันภัยน้อยลง โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์ก็คือ ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ทุกประการ และในกรณี ที่เกิดรถชนกันขึ้น ถ้าสมาชิกเป็นฝ่ายถูก ผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถนำรถเก๋งของทางโครงการไปใช้ได้ในเวลา 5-6 วัน เมื่อถึงสิ้นปีถ้าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดเลย ลูกค้าก็จะได้รับเงินคืนเป็นเงินสด ซึ่งแล้วแต่ว่าจำนวนเงินในกองทุนเหลือเท่าไหร่

"เราจะเอาเบี้ยประกันในกลุ่ม สมมติว่ากลุ่มนี้มี 100 คัน เบี้ยประกันทุกคนมารวมกัน และค่าดำเนินการบริษัทประกันก็เอาไปเลยกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่าไป และ ที่เหลือก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ สมมติว่า กลุ่มเอ หากรถคนในกลุ่มถูกชน และเป็นฝ่ายผิดเงินก็จะหายไปเท่านี้ เหลือเท่านี้ ซึ่งคนที่ขับรถไม่ชนเลยก็มีสิทธิ์มาหารกันแล้วได้เงินคืน"

ประพันธ์ จิวะพงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของ จส.100 อธิบายเงื่อนไขนี้กับ "ผู้จัดการ" พร้อมทั้งให้รายละเอียดของโครงการอื่นๆ ว่า

"โครงการของหายได้คืน" เพื่อเป็นสื่อกลางในการประกาศ และติดตามของคืนให้กับผู้ที่ทำหาย และเป็นการส่งเสริมให้มีผู้กระทำดีในสังคมมากขึ้น

"รายการช่วยกันดูแล" เป็นรายการที่รวบรวมเรื่องราวร้องเรียนจากประชาชน มานำเสนอต่อผู้ฟัง และส่งต่อ เรื่องราวนั้น ไปยังหน่วยงาน ที่รับผิดชอบ ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยถึงเรื่องราวนั้น กันอย่างตรงประเด็น โดยวิธีการทำงานจะต้องออกไปสังเกตการณ์ในจุดที่มีผู้แจ้งเรื่องเข้ามาว่าเป็นจริงหรือไม่ ก่อน ที่จะคัดเลือกเรื่องร้องเรียนนั้น ออกมา เมื่อถึงเวลาออกอากาศได้ ผู้ดำเนินรายการก็นำเสนอเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียนโดยตรงออกอากาศถ่ายทอดเรื่องราวนั้น และพูดคุยกับหน่วยงาน ที่เชิญมา เพื่อชี้แจงปัญหาดังกล่าว ก่อนหน้านั้น จะมีผู้สื่อข่าว จส.100 รายงานสภาพจากสถานที่จริง เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วม กันแก้ปัญหานั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน

รายการ "คนดีของเรา" โดยเลือกตัวบุคคลจากเหตุการณ์ ที่เข้ามาใน จส. 100 โดยได้รับเงินรางวัลจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ท่านละ 10,000 บาท โดยปีที่แล้ว พลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

หลังจาก ที่ ปีย์ มาลากุลฯ เข้าไปบุกเบิกรายการ เพื่อทำ จส.100 ไม่นาน ก็ถึงยุคที่ทีมงานข่าวทางด้านทีวีของแปซิฟิคเองได้สลายตัว และออกจาก ช่อง 5 ไป ทำให้ต้องหันไปมุ่งในเรื่องการผลิตสารคดี เพื่อเป็นรายได้หลักป้อนให้องค์กรแทน

ปัจจุบัน แม้ จส.100 ไม่ได้สร้างเม็ดเงินของรายได้มากมายนัก และยังต้องเผชิญหน้ากับความผันแปรของภาวะเศรษฐกิจอยู่อย่างน่าเป็นห่วง แต่ดูหมือนว่าเขาไม่กังวลนัก

นัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาแล้วก็คือ ภาพของเขากับมวลชนส่วนใหญ่ และภาพของความสัมพันธ์กับองค์กรของรัฐอย่างเหนียวแน่น การถูกเสนอชื่อ เพื่อเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของกรมตำรวจ เมื่อปี 2541 การเข้าไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาสื่อมวลชน ในคณะกรรมการตรวจสอบ และติดตามการบริหารงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2542 หรือการเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษประชาคมเมืองของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2541 คือ บทบาท ที่ยืนยันได้ค่อนข้างชัดเจน

ความสำเร็จของ ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา มาจากการสร้างสายสัมพันธ์แบบใหม่ ที่เชื่อมอำนาจมวลชนเข้ากับอำนาจ และอิทธิพลระดับลึกของสังคม และการเมือง ทำให้เขากลายเป็นคนที่อยู่ "ข้างหลังพลัง ที่มองไม่เห็น" ที่น่ากลัวพอสมควร นักวิเคราะห์บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นที่มาของโอกาสมากมาย และหลากหลายในชีวิต และการทำงานของเขาอย่างไม่น่าเชื่อ

นี่คือ สิ่งที่มีค่ามากกว่าธุรกิจโดยตรงจาก จส.100 อย่างมากมาย สำหรับคนที่มีความสุข ที่อยู่ข้างหลัง และมีอำนาจ และ พลังอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดอยู่ด้วย เขาจึงกลับมีความเชื่อมั่นตนเองอีกครั้งอย่างมากมายในขณะนี้

ความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ที่ว่า เขาได้เข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของผู้มีกลไกในการกุมอำนาจให้กับสังคมไทยไปแล้ว โดยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.