โทรมือถือ-โทรศัพท์


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ลมหายใจของนิวยอร์ก เมืองสำคัญของโลก ที่ที่กำหนดทิศทางของสังคมโลก จึงน่าสนใจ เรื่องราวเหล่านี้มาจากอดีตนักข่าว "ผู้จัดการ" ที่ระเหเร่ร่อนไปอยู่ที่นั่นในขณะนี้ จากมุมมองของคนที่มีความคิดและประสบการณ์จับกระแสอรรถาธิบายปรากฏการณ์ ย่อมจะทำให้เรื่องน่าสนใจขึ้นอีก

รอบๆ นิวยอร์กตอนนี้ หนุ่มสาวจะขึ้นรถ ลงเรือ หูก็เหน็บมือถือไว้ ชวนให้นึกถึงโรคคลั่งมือถือที่เราระบาดกันในเมืองไทยเมื่อ 4-5 ปีก่อน

ที่นี่นั้นเห็นชัดเจนว่าเพิ่งมาเริ่มฮิตเอาเมื่อปีที่แล้วนี้เอง จากการที่บริษัทต่างๆ เปิดตัวเข้ามา ในตลาดมากขึ้นและแข่งขันกันในเรื่องค่าแอร์ไทม์ แคมเปญส่งเสริมการขายไม่ได้เด็ดเท่าเมืองไทยประเภทโทรฟรีมากๆ นั้นไม่มีเพราะที่นี่เขาไม่ได้ขายเครื่องแพงอย่างบ้านเรา ที่ฟันกำไรค่าเครื่องไปเต็มเหนี่ยวแล้ว

แคมเปญส่งเสริมการขายของที่นี่เป็นประเภทโทรฟรีตอนวันหยุด หรือโทรต่างรัฐในราคาเท่ากับโทรศัพท์ท้องถิ่น ค่าแอร์ไทม์ที่นี่ไม่ได้ถูกมากถึงแม้ไม่ได้คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนตามเกมการเงินโลกคือ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 40 บาท แต่ผู้เขียนมีหลักอัตรา แลกเปลี่ยนตามความน่าจะเป็นคือ 1 ดอลลาร์ มีศักยภาพซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่ากับเงินประมาณ 10 บาทในเมืองไทย (กาแฟแก้วละ 0.50- 1 ดอลลาร์, ค่ารถเมล์ติดแอร์ 1.50 ดอลลาร์, บุหรี่ 4 ดอลลาร์, ค่าเช่าบ้าน 300-3,000 ดอลลาร์, เงิน เดือนครู 4-6,000 ดอลลาร์, ค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 6.5 ดอลลาร์) ค่าแอร์ไทม์ที่นี่ตก 29.99 เหรียญ ต่อ 200 นาที และ 49.99 เหรียญ ต่อ 500 นาที หรือนาทีละ 1 เหรียญ แปลงเป็นเงินไทยตามทฤษฎีค่าเงินจริงที่กล่าวมา ยังตกนาทีละ 10 บาท

แต่เครื่องโทรศัพท์มือถือที่อื่นถือเป็นของราคาถูก ปี 95 ตอนที่โทรศัพท์บ้านเราตกเครื่องละ 50,000 บาท ที่ลอนดอนวางขายอยู่แค่เครื่องละ 100 ปอนด์ หรือตกราว 4,000 บาท ตามการแลก เปลี่ยนในตอนนั้น ส่วนเมืองไทย หลังจากเปิดตัว มาห้าหกปี ก็ยังเหลือถึงเครื่องละ 15,000-20,000 บาท มีคำอ้างว่าต้องจ่ายค่าสิทธิต่อเครื่องให้ กสท. ส่วนหนึ่ง

นิวยอร์กนั้นมีปัญหาโทรศัพท์เหมือนกรุงเทพฯ คือ เครื่องโทรศัพท์สาธารณะเสีย 1 ใน 3 เครื่อง ทั้งที่ไม่มีสัญญาณ และมีสัญญาณ แต่โทรศัพท์ไม่ติดแถมกินเหรียญ อาจเป็นการกระตุ้นความต้องการโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคบางคน ที่มีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์เกือบตลอดเวลา

อีกอย่างที่กระตุ้นให้คนนิวยอร์กใช้มือถือ คือความเท่ ทันสมัย และเห่อ เพราะฝรั่งก็มีหลายชนชั้น พวกต้องทันสมัยตลอดเวลา และพวกตามโฆษณาล่อใจ

โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งน่ารำคาญของคนที่ไม่ได้ใช้ เมื่อคนอื่นใช้ในที่สาธารณะคนที่บ้านอยู่นอกเมือง และต้องนั่งรถไฟกลับ อยากนั่งหลับก็หลับไม่ลง คนข้างๆ คุยเสียงดังอยู่กับโทรศัพท์ บางคนโทรศัพท์หาคนโน้นคนนี้ไปตลอดทาง บางทีในตู้เดียว มีเครื่องเปิดถึง 4-5 เครื่อง

การรบกวนมีมากขึ้นจนมีคนเขียนจดหมายไปคุยเล่นกับหนังสือพิมพ์ว่า น่าจะมีรถไฟขบวนปลอดโทรศัพท์มือถือเหมือนขบวนปลอดบุหรี่ คนหนึ่งเขียนไปเล่าเหตุการณ์จริงที่ประสบบนรถเมล์ หลังจากสาวนางหนึ่งโทรศัพท์มือถือไม่เลิกสร้างความรำคาญให้ผู้โดยสารสาวใหญ่อีกนาง เดินเข้าไปหาเธอล้วงหยิบกาวในถุงขึ้นมายื่นให้แล้วบอกว่า "นี่น่าจะเหมาะสำหรับใช้ติดโทรศัพท์กับหูเธอ" จากนั้นก็เดินสง่าลงรถไปท่ามกลางเสียงหัวเราะของผู้โดยสารรายอื่น

แต่ยังไม่เคยได้ยินใครบ่นเรื่องคนเสียมารยาทใช้มือถือในโรงหนัง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เมืองไทย อาจเพราะคนที่นี่เขาไม่ไร้ศิวิไลซ์กันขนาดนั้นหรือเขารู้ว่าถ้าหยิบขึ้นมาใช้ ต้องถูกฝรั่งรอบข้างรุมกันด่าเปิงทั้งโรง แต่ที่เมืองไทยมีน้อยคนที่กล้าลุกขึ้นมารักษาสิทธิไม่ให้ถูกรบกวนตอนดูหนัง

เพจเจอร์ไม่ได้เป็นที่นิยมมาก จนถึงปี 2000 ที่นี่ส่วนใหญ่ยังใช้กันแต่ระบบตัวเลข บ้างมีระบบฝากข้อความกับเครื่องอัตโนมัติ ต้องโทรเช็กข้อความแต่เพจเจอร์ระบบตัวหนังสือนั้นเพิ่งเห็นโปรโมตเมื่อต้นปีนี้เอง อเมริกาอยู่ไกลๆ ใครว่าทันสมัย ไฮเทคหนักหนา แต่ไม่ใช่เลย ราคาเครื่องเพจเจอร์ก็กลายเป็นว่าแพงระบบตัวเลขนั้นมีทั้งให้ฟรี และขายในราคา 20 เหรียญ แต่ระบบตัวหนังสือขายกันถึง 150-200 เหรียญ

โทรศัพท์บ้าน ที่นี่บริการโดยบริษัทเอกชน แบ่งเขตกันไปแต่เจ้าใหญ่ที่คลุมแทบทุกพื้นที่ในเขตนิวยอร์กและอีก 2 รัฐข้างๆ คือ เบลล์ แอตแลนติครายเดียวกับผู้ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะ

โทรศัพท์บ้านนั้นไม่ได้มีปัญหามากมายอะไร แต่เบลล์มีภาพพจน์ที่ลบจากโทรศัพท์สาธารณะอยู่มาก และการผูกขาดติดตั้งบริการท้องถิ่นในหลายเขต ก็ทำให้ผู้ใช้รู้สึกไม่มีทางเลือก

ในฐานะผู้ให้บริการท้องถิ่น ยังต้องเป็นคน ส่งบิลเก็บเงิน บางทีผู้ใช้ก็มีปัญหาเรื่องค่าทางไกล แพงเกินเหตุ เบลล์ก็ต้องตกเป็นหนังหน้าไฟ เพราะบริการทางไกลที่นี่มีหลายกระบวนการ อย่างค่าโทรศัพท์นั้นมีทั้งท้องถิ่น (Local) ในอเมริกาเหนือ (Reginal) และทางไกล (Long-Distance) ซึ่งหลังจากติดตั้งกับเบลล์แล้ว ผู้ใช้มีสิทธิเลือกบริการในอเมริกาเหนือ และทางไกลกับรายอื่น หรือเปลี่ยนบริการท้องถิ่นเป็นเจ้าอื่นก็ได้

ที่ประสบมาเอง ในฐานะผู้ใช้บริการหน้าใหม่ในขณะที่บริษัททางไกลคู่แข่งรายอื่นจะได้ชื่อเรา และโทรศัพท์มาเสนอบริการราคาถูกประเภทต่างๆ แต่บริษัทที่เราเลือกไปเพราะเห็นว่า บ้านเพื่อนเขาจ่ายถูก แค่ส่งจดหมายมาขอบคุณ กว่าที่จะเฉลียวใจก็ได้รับบิลเก็บค่าโทรศัพท์ทางไกลในเดือนแรกแพงมาก กลายเป็นว่าเราพลาดเองที่ไม่ได้ศึกษาว่าต้องเป็นฝ่ายแจ้งขอเลือกบริการแบบแพ็กเกจเอง ไม่อย่างงั้น เขาจะวางเราไว้ในอัตราแพงที่สุดของเขา

ระบบที่เมืองไทยเรายังไม่มีใช้คือ ค่าบริการทางไกลนั้นจะถูกลงมาก หากเสียค่าธรรมเนียมรายเดือน ในอัตรา 3.99-5.99 เหรียญ ต่อหนึ่งแพ็กเกจอย่างโทรศัพท์ในอเมริกาเหนือจะเหลือแค่นาทีละ 5-6 เซ็นต์จากอัตรา 20 เซ็นต์ กลางวัน และ 10 เซ็นต์กลางคืน ส่วนโทรศัพท์ทางไกล เช่น มาเมืองไทย จาก 3-4 เหรียญ เหลือ แค่นาทีละ 59 เซ็นต์เป็นต้น

ระบบบางอย่างก็ตลกแปลกๆ เรียกว่าไม่เป็นระบบ อย่างค่าใช้บริการถามเลขหมายหรือ 13 ที่นี่คือ 411 เก็บค่าบริการแพงถึง 45 เซ็นต์ต่อครั้ง ในขณะที่โทรศัพท์ถามเลขหมายจากเครื่องสาธารณะ กลายเป็นฟรี และไม่ต้องหยอดเหรียญด้วย

อเมริกายังมีระบบโทรศัพท์ที่อำนวยต่อการหาผลประโยชน์ของพวก 18 มงกุฎที่นิวยอร์ก คือโทรศัพท์หมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย 540 จะเป็นโทรศัพท์ที่ผู้โทรเข้าไปถูกเรียกเก็บเงินนาทีละแพงๆ โทรศัพท์พวกนี้จะถูกใช้ในโฆษณาล่อใจ ประเภทงานดี เงินดี บางรายก็มีตัวอักษรเล็กๆ บอกว่า ค่าโทรเข้านาทีละ 10 เหรียญน่ะ แต่บางรายก็ไม่บอกอะไรเลย ตาสี ตาสา ยายมี ยายมา ก็โทรเข้าไป เพื่อจะพบเครื่องรับโทรศัพท์อัตโนมัติ และเดือนต่อมาถูกบวกบิลอีก 10 เหรียญ เงินน้อยแค่นั้น ก็ไม่มีใครร้องเรียน แต่คิดดูว่าบริษัทได้เงินเท่าไร

เรื่องนี้เคยเป็นข่าวเล็กๆ แต่ไม่เห็นมีอะไรเด็ดขาด ที่อเมริกานั่นใช่ว่าผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองมากมาย แต่ที่นี่เป็นประเทศที่มือใครยาว มือใครไวก็สาวได้สาวเอง ปัญหาเยอะ อาชีพทนาย ความถึงได้รุ่งเรือง

ข่าวใหญ่ในวงการโทรคมนาคมคือ เบลล์แอตแลนติคเพิ่งซื้อบริษัทโทร GE เมื่อผนวกกันแล้วกลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ การซื้อหุ้นต่อรองกันนานแต่เจรจาสิ้นสุดลง เมื่อเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นบริษัทก็หาเรื่องใช้งบก้อนใหญ่ด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น Verizon นัยว่าเพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ ใครไม่อ่านหนังสือพิมพ์หน้าธุรกิจก็ไม่ทราบเรื่องราวอะไร งงหน่อยว่าโทรศัพท์ไปบริษัทเบลล์ทำไม กลายเป็นขอบคุณที่โทรศัพท์หาเวอริซอน จนถึงเดือนสิงหาคม จึงมีจดหมายแจ้งมายังผู้ใช้และเริ่มใช้งบโปรโมตให้ตลาดตระหนัก

ต้นเดือนสิงหาคมเวอริซอน ถูกลองของจากสหภาพแรงงานมีการประท้วงครั้งใหญ่ และยืดเยื้อถึงสองอาทิตย์เพื่อขอสวัสดิการการทำงาน ที่ดีขึ้น ตอนแรกการประท้วงสงบท้ายๆ เริ่มมีบริการขัดข้องเล็กน้อยในระยะสั้นๆ ในบางพื้นที่และคนงานสองคนที่ร่วมประท้วง พยายามตัดสายโทรศัพท์ ณ จุดหนึ่ง ปรากฏว่า ตัดผิด ไปตัดเอาสายไฟฟ้าแรงสูงเกือบถึงตายทั้งคู่

เว้นแต่การเป็นขุมทรัพย์ทางความรู้ ชุมทางวัฒนธรรมโลกของนิวยอร์กโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะในโลกดอทคอม, ความหนาวเย็น และ พิเศษสำหรับคนเอเชีย คือ อิสรภาพส่วนตัวที่ไม่ต้องเกรงใจจนกระทั่งคนข้างบ้าน นอกนั้นมีหลายอย่างที่อเมริกาให้ความรู้สึกเหมือนเมืองไทย

อย่างตอนดูข่าวนี้ต่อด้วย ข่าวรถบัสวิ่งชน บ้านคนรถชนท้ายรถคันอื่นตกเขาแล้วหนี วัววิ่งพล่านให้ไล่จับไปทั้งเมือง อย่างกับดูข่าวช่องเจ็ดสี ทีวีเพื่อคุณ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.