หนทางยาวไกลสู่โรงเรียนยุคใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยเหตุจูงใจพ่อแม่เทใจเทกระเป๋า ส่งลูกหลานเรียนนอก

ชอย ไฮ ซุค (Choi Hye Sook) แยกกันอยู่กับสามี มาราวหนึ่งปีแล้ว เธอ และไฮ บิน (Hye Bin) ลูกสาววัย 17 จากบ้านที่กรุงโซลไปเช่าอพาร์ตเมนต์แบบ 1 ห้องนอน อยู่ที่ชานเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ไฮซุคเล่าว่า ลูกสาวเธอกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมริเวอร์ไซด์ และเตรียมจะสมัครเข้าเรียนต่อเป็นแพทย์ ในช่วงแรก ไฮบิน ต้องเรียนพิเศษหนักทีเดียวเพราะการเรียนการสอนเป็นภาษา อังกฤษนั้น เป็นเรื่องยาก แต่ไฮบินก็สอบได้คะแนนเฉลี่ย ระดับ B และสนุกสนานกับการเรียนวิทยาศาสตร์ในระบบ โรงเรียนที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และรู้จักแก้ปัญหาด้วยตนเอง

อันที่จริง ชีวิตครอบครัวของชอยมิได้แตกร้าว สามีของเธอยังคงทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ ในกรุงโซลและเก็บหอมรอมริบส่งเสียค่าเทอมให้ลูกสาว ค่าเล่าเรียนของไฮบินนั้นสูงถึง 8,200 ดอลลาร์สหรัฐ บวกค่าใช้จ่ายในการครองชีพอีกราว 21,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ทั้งนี้ยังไม่นับรวมค่าเล่าเรียนของบุตรสาวอีกคนหนึ่ง ที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งนอรเวย์ ทั้งหมดนี้เมื่อคำนวณ ดูแล้วคิดเป็น 70% ของรายได้ของผู้เป็นพ่อ ซึ่งแน่นอนว่า ครอบครัวนี้จะต้องแบกรับความตึงเครียดร่วมกันอยู่ไม่น้อยทีเดียว "ต้องโทษระบบการศึกษาที่เหลวไหลของเกาหลี" ชอยในวัย 49 ชี้แจง "ที่ครอบครัวเราต้องพลัดพรากกันอย่างนี้จะโทษใคร ไม่ได้เลยนอกจากรัฐบาล"

ชอยมิได้เป็นผู้เดียวที่ต้องมีชีวิตครอบครัวเช่นนี้ มีเด็กชาวเกาหลีอีกจำนวนมากที่พากันไปศึกษาเล่าเรียนยัง ต่างประเทศ เนื่องจากบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลายต่าง ไม่พอใจกับระบบการศึกษาแบบเดิมที่จัดห้องเรียนที่มีจำนวน นักเรียนต่อชั้นเรียนสูงมาก เน้นการเรียนการสอนแบบท่องจำ ยึดติดกับหลักสูตรซึ่งกำหนดขึ้นโดยข้าราชการอย่างตายตัว ที่จริงแล้ว เด็กชาวเกาหลีนั้นเก่งในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย แต่ระบบการศึกษาของเกาหลี ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่กระตุ้นให้นักเรียนมีความริเริ่ม สร้างสรรค์ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับระบบเศรษฐกิจแบบ เน้นการมีฐานความรู้ในปัจจุบัน

ปาค ซุง รก (Park Seung Rok) หัวหน้าศูนย์การศึกษา องค์กรธุรกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางด้านคลังสมองหรือ think tank และได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ กล่าวว่า "หากเราไม่มีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดริเริ่มแล้ว ต่อไปเกาหลี จะตกเป็นรองหรืออยู่แค่แนวชายขอบของการแข่งขันทางธุรกิจ" เขาให้เหตุผลสนับสนุนด้วยว่าจีนกำลังปรับปรุงตนเองให้มีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรม และกำลังจะขึ้นเทียบชั้นกับบริษัท เกาหลีในธุรกิจตั้งแต่ด้านเหล็กกล้าไปจนถึงการต่อเรือและสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ หากเกาหลีไม่พัฒนาคนให้มีขีดความสามารถ สูงขึ้นก็ย่อมเพลี่ยงพล้ำต่อจีนในที่สุด

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สถาบันการศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะแบบอังกฤษหรืออเมริกัน เข้ามามีบทบาทต่อเกาหลีมากขึ้นทุกขณะ เนื่องจาก หนึ่ง ระบบการเรียนการสอนเหล่านี้มักเน้นที่ความเป็นตัวของตัวเอง และมีการจัดการศึกษาเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นทักษะที่มีแนวโน้มสำคัญยิ่งขึ้นในเกาหลี สอง การเรียนการสอนใน โรงเรียนมัธยมของออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ ไม่หนักแบบของเกาหลี ซึ่งเด็กๆ ต้องใช้เวลากับการเรียน แบบอัดแน่นใส่สมองถึงวันละ 18 ชั่วโมง ทั้งที่อยู่ในโรงเรียนและการเรียนพิเศษ สาม การเรียนโรงเรียนระดับมัธยมในต่าง ประเทศเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถ ศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องผจญกับแรงกดดัน ในการสอบเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ในประเทศ

"ระบบการศึกษาของเกาหลีมีสิ่งน่าชื่นชมอยู่มากก็จริง" คิม ฮุง จู (Kim Heung Ju) ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการ ศึกษาแห่งเกาหลี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุน จากรัฐบาล กล่าวและว่า "ปัญหาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพียงแค่หยิบ มือเดียว ที่ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด"

ที่จริง รัฐบาลเกาหลีใต้เพิ่งยอมเปิดโอกาสให้ผู้ที่อายุ ต่ำกว่า 17 ปี เดินทางออกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเมื่อไม่นาน มานี้ โดยในปี 1998 กลุ่มผู้ปกครองเพิ่งชนะการฟ้องร้องต่อรัฐบาลในประเด็นนี้ และเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง ที่รัฐบาลเพิ่งยอมให้นักเรียนระดับไฮสกูลอายุเกิน 15 ปี เดินทางไปเรียนต่อที่เมืองนอกได้ ผลก็คือ มีเด็กหนุ่มสาว นับหมื่นพากันเดินทางออกไปเรียนระดับมัธยมนอกประเทศ รวมทั้งนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยด้วย และแม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่อนุญาตให้นักเรียนที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันเข้าศึกษาใน โรงเรียนระดับมัธยม แต่ชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยก็หาช่องทาง ซิกแซ็กส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียนจนได้ หรือมิฉะนั้นก็เลือก ส่งไปเรียนที่แคนาดา ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ แทน ทั้งนี้ ค่าเล่าเรียนอาจสูงถึงราว 3,500-8,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

บรรดาพ่อแม่ที่ทำงานกันอย่างหนักเพื่อส่งบุตรหลาน ของตนเล่าเรียนเมืองนอกนั้นก็เผชิญกับปัญหาไม่น้อยทั้งทาง ด้านสังคมวิทยาและด้านเศรษฐกิจ กลุ่มพ่อแม่เหล่านี้จึงมี การรวมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับการศึกษาในต่างแดนของลูกหลานของตน ขณะเดียวกัน บริษัท ที่ปรึกษาทางด้านการศึกษาก็ผุดขึ้น เป็นว่าเล่นในเกาหลี โดยมุ่งให้คำแนะนำ เกี่ยวกับกระบวนการด้านการตรวจคน เข้าเมืองหรือจัดทำวีซ่าการศึกษา รัฐบาลเกาหลีใต้เองก็เล็งเห็นว่า จะต้องดำเนินการบางอย่างกับแนวโน้ม ที่เกิดขึ้นนี้เช่นกัน ปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศแผนการ ปฏิรูปการศึกษา โดยจะเลิกระบบการเรียนแบบท่องจำและกระตุ้นให้เกิดการคิดริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง มากขึ้น มีการตั้งงบประมาณเพื่อการนี้ถึง 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2001-2004 โดยจะจ้างครูจำนวนถึง 23,600 คน เป้าหมายของแผนการนี้คือการลดจำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียน จากราว 43 คน ลงมาอยู่ที่ราว 35 คนหรือต่ำกว่านั้น และ จะจัดให้มีการฝึกอบรมครูให้สอนแบบเน้นการเปิดโอกาสให้ มีการอภิปรายและเปลี่ยนความคิดอย่างสร้างสรรค์ นอกจาก นั้น ในปีหน้านี้ รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีส่วนในการจัดทำหลักสูตรการเรียน การสอนและกระบวนการรับสมัครนักเรียนนักศึกษาด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม หลายคนยังตั้งข้อสงสัยกับนโยบาย ดังกล่าว เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ เปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบการศึกษาในหลายๆ ด้านมาแล้ว แต่มักเป็นไปในทางที่ต้องการเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน มากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาการศึกษาได้จริงจัง เป็นต้นว่า รัฐบาลเลิกระบบการสอบเอ็นทรานซ์หลังจากที่มีเสียงร้องเรียนกันมากว่า ระบบการสอบเอ็นทรานซ์ให้โอกาส แต่ลูกหลานของ ผู้มีรายได้สูงได้เข้าเรียน เนื่องจากสามารถจ่ายค่าเรียนพิเศษได้ นอกจากนั้น รัฐบาลยังหันไปใช้ระบบการสอบแบบเน้นข้อสอบเลือก หรือ multiple-choice เพื่อให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีความเป็นธรรมมากขึ้น ผลกลับปรากฏว่านักเรียนที่มุ่งทำข้อสอบแบบเลือกเหล่านี้ กลับมีคุณภาพทางวิชาการด้อยลง เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นต้น แต่ที่น่าหนักใจกว่านั้น ก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงการศึกษาของเกาหลีใต้นั้น ดูจะเป็นตำแหน่งที่อิงกับการเมืองอยู่มาก เพราะนับตั้งแต่ประธานาธิบดีคิม แด จุง (Kim Dea Jung) เข้ารับตำแหน่ง ผู้นำประเทศ มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงนี้ไปแล้ว ถึง 6 คนด้วยกัน

ดูเหมือนว่า ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้กำลัง ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่านี้ ทางเลือกหนึ่งที่มีการเสนอกันก็คือ การยอมให้ต่างชาติ เข้ามาจัดตั้งสถาบันการศึกษาในประเทศ เพื่อเปิดโอกาส ให้มีการแข่งขันกัน ซึ่งในโครงการนำร่องของแผนการปฏิรูป การศึกษาของรัฐบาลก็ระบุว่า จะอนุญาตให้มีการจัดตั้งสาขา ของสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของต่างชาติใน เกาหลีใต้ได้ตั้งแต่ช่วงปลายปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนในระดับ โรงเรียนนั้นยังอยู่ในขั้นการพิจารณาต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีผู้กล่าวถึงช่องทางการศึกษาใหม่ๆ ในยุคเทคโนโลยีข้อมูลด้วยว่า ในสภาพที่ครัวเรือนของ เกาหลีใต้กว่า 40% มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแบบ broadband แล้ว ต่อไปในอนาคต เด็กๆ ชาวเกาหลีใต้ อาจนั่งเรียนหนังสืออยู่กับบ้านก็เป็นได้ เพราะในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมานั้น มีเว็บไซต์ด้านการศึกษากว่า 500 เว็บไซต์ที่เปิดตัวเป็นทางเลือก ให้กับนักเรียนนักศึกษาที่สนใจ

อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าที่การปฏิรูป การศึกษาจะผลิดอกออกผล ในระหว่างนี้ คงมีพ่อแม่แบบชอย อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องอดทนมีชีวิตครอบครัว ที่ไม่แตกร้าว แต่ต้องพลัดพรากกันไป ทว่า วันหนึ่งข้างหน้า ลูกหลานชาวเกาหลีเหล่านี้ก็จะเดินทางกลับบ้านเกิดพร้อมกับ ความรู้ ความสามารถที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น

เรียบเรียงโดย เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ BusinessWeek August 27, 2001



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.