ปัญหาขาดแคลนครู วิกฤติการศึกษาของอังกฤษ

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

หากเปรียบเทียบกระบวนการศึกษา เป็นประหนึ่ง จักรกลในการผลิต โดยมีบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นผลิตผลที่สำคัญของกระบวนการนี้ ครู ซึ่งถือเป็นหน่วยสำคัญที่สุดในกระบวนการศึกษา ก็คงมีฐานะไม่แตกต่างจากฟันเฟืองที่ทำหน้าที่เคี่ยวกรำให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ แต่จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อกลไกสำคัญนี้กำลังบิดเบี้ยว จนอาจเรียกได้ว่าอยู่ในสภาพที่ชำรุด

ในขณะที่นักเรียนจากประเทศในซีกโลกตะวันออกต่างพยายามดิ้นรนเพื่อหลีกหนี จากระบบการศึกษาที่เชื่อว่าล้มเหลวจนถึงกับต้องมีการปฏิรูป ด้วยการเดินทางไปศึกษา ต่อในประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรือประเทศอื่นๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความหวังที่จะได้รับการศึกษาในระดับคุณภาพที่สูงกว่านั้น ปรากฏว่าในประเทศอังกฤษ ซึ่งนับเป็นดินแดนที่มีผู้นิยมส่งบุตรหลานไปเล่าเรียนมากที่สุดแห่งหนึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์สำคัญ

การรับสมัครครูและการจูงใจให้อยู่ในอาชีพนี้ ได้กลายเป็นปัญหาหนักอกสำหรับ รัฐบาลอังกฤษมาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่า ว่าจะสามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้โดยง่าย แม้ ว่าจะมีการผลักดันมาตรการใหม่ๆ เพื่อรองรับกับปัญหานี้ก็ตามที ซึ่งผลพวงของ ความล้มเหลวจากระบบการวางแผนที่ย่ำแย่ กำลังผลิดอกออกผลโดยมีนักเรียนเป็นเหยื่อที่แท้จริง

ปัญหาภาวะขาดแคลนครูของอังกฤษ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหลังจากที่การฝึกหัดครู ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงทศวรรษที่ 1970 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นของทศวรรษที่ 1980 แล้ว ดูเหมือนว่าแนวโน้มของการถดถอยในสาขาวิชาชีพนี้กลับกลาย เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนตลอดช่วงทศวรรษที่ 1990

นักเศรษฐศาสตร์ ได้ลงมือทำการวิจัย เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และพบว่าบุคลากรผู้สอนวิชา คณิตศาสตร์ลดลงอย่างมาก ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลได้ดำเนินความพยายามที่ จะเพิ่มจำนวนนักเรียนในสถาบันฝึกหัดครูให้มากขึ้นอีก 30% ในช่วง 5 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระนั้นก็ดี เป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่สามารถปฏิบัติให้บังเกิดผลได้จริง แม้ว่ารัฐบาลพรรคแรงงานจะพยายามนำเสนอแรงกระตุ้นอื่นๆ ทั้งเงินอุดหนุนและโอกาสสำหรับโรงเรียนในการคัดเลือกและบรรจุอัตราครูก็ตาม

อาชีพครูได้กลายเป็นอาชีพที่ไม่ดึงดูด ใจหรือหากกล่าวให้ถึงที่สุด ครูได้กลายเป็นอาชีพไม่มีใครพึงปรารถนาอยากจะเป็นไปเสียแล้ว และทั่วทุกภาคส่วนของอังกฤษก็เผชิญกับปัญหาด้านคุณสมบัติของผู้ที่มาเป็น ครูไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การเปิดภาคเรียนใหม่ประจำปีการศึกษาซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนนี้ คาดว่า การขาดแคลนอัตราครูจะส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งในอังกฤษ ถูกบังคับให้ลดจำนวนวันในการเรียนการสอนลงเหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่อีกบางแห่งจะปรับชั่วโมงเรียนและวิธีอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือ มาตรฐานการศึกษาที่ลดลง เพราะโดยปกติผู้สอนในโรงเรียนของรัฐจะต้องได้รับประกาศ- นียบัตรวิชาชีพครู หรือ Post Graduate Certificate of Education (PGCE) แต่ปรากฏ ว่าปัจจุบัน โรงเรียนหลายแห่งต้องว่าจ้างบุคลากรจากสาขาต่างๆ มาทำการสอนวิชา พิเศษเฉพาะทาง เช่น เต้นรำ และพลานามัย เพื่อลดปัญหาชั่วโมงเรียนขาดหาย

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงกรณีของโรงเรียน ระดับมัธยมศึกษาบางแห่ง ที่เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ (lab technician) ซึ่งเรียนสำเร็จมาทางด้านวิชาชีววิทยา ต้องเข้าสอนนักเรียน ในวิชาอิเล็กทรอนิกส์ อีกด้วย ภาระหนักอันเป็นผลพวงของปัญหาดังกล่าวนี้ ดูจะตกหนักอยู่ที่ครูอาจารย์ที่ยังทำการสอนอยู่ในโรงเรียนตามปกติ เพราะพวกเขาต้องสอนนักเรียนในสัดส่วนของกลุ่ม ที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงการสอนในรายวิชาที่ไม่ใช่สาขาที่พวกเขาถนัดหรือเชี่ยวชาญมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว บรรดาครูชั้นผู้ใหญ่ที่ก้าวขึ้น สู่ตำแหน่งบริหาร ซึ่งไม่มีตารางการสอนจะเป็นผู้รับภาระดังกล่าวนี้

ความขาดแคลนครูไม่ได้ส่งผลกระทบ เพียงเรื่องของจำนวนนักเรียนต่อห้องมากขึ้น เท่านั้น หากแต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อจำนวนครูในโรงเรียนต่างๆ ลดลงก็คือ การอบรมพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษากลายเป็นสิ่งที่ เกิดขึ้นได้ยากไปด้วย และนำไปสู่วงจรของการลดต่ำลงในคุณภาพการศึกษาอย่างไม่ต้องสงสัย

ขณะเดียวกัน ภาวะดังกล่าวได้ส่งเสริมให้บุคลากรด้านการศึกษาแสวงประโยชน์พิเศษ ท่ามกลางความคิดคำนึงที่เกี่ยวเนื่องอยู่เฉพาะสมการว่าด้วยชั่วโมงการ ทำงานและผลตอบแทนที่จะได้รับ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจตัวแทนและการจัดหาครูเกิดขึ้นราวดอกเห็ด ซึ่งด้วยวิธีการเช่นนี้การเรียกร้องค่าตอบแทนและเงื่อนไขต่างๆ ในระดับสูงย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าการกระทำโดยครูในฐานะปัจเจก และทำให้สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านนี้มากขึ้น แทนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายในทรัพยากรอื่นๆ

หนทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนครู และความตกต่ำของมาตรฐานการศึกษา ในประเทศอังกฤษ ที่ดำเนินมาสู่ทางแพร่งเช่นนี้ ยังไม่ปรากฏชัดว่าจะมีลักษณะเช่นไร แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนในเวลานี้ก็คือ แรงกดดัน ที่เกิดขึ้นกับบรรดาครูในสถานศึกษาแต่ละแห่งและนักเรียน ซึ่งมีฐานะเป็นผู้รับผลนี้อย่าง เต็มที่

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในการส่งบุตรหลานไปเล่าเรียน ยังต่างประเทศของผู้ปกครองชาวไทยพอสมควร เพราะคงไม่มีผู้ใดปรารถนาที่จะเผชิญกับวิกฤติการณ์ ที่ไม่แตกต่างจากการหนีเสือปะจระเข้ เช่นนี้อย่างแน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.