จีอี แคปปิตอล ซื้อ เฮลเลอร์

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากล้มเหลวในการซื้อซิท กรุ๊ป และฟโนว่า กรุ๊ป เมื่อตอนต้นปีของจีอี แคปปิตอล รางวัลแห่งความสำเร็จก็มาถึงเมื่อซื้อเฮลเลอร์ ไฟแนนเชียลสำเร็จ

จีอี แคปปิตอล ธุรกิจที่ให้บริการทาง ด้านการเงินของเจเนอรัล อิเลคทริค หรือจีอี ตัดสินใจใช้เงินสดซื้อเฮลเลอร์ ไฟแนนเชียล อิงค์ (Heller Financial Inc.) ซึ่งเป็นดีลที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกหลังจากถูกซิท กรุ๊ป และฟิโนว่า กรุ๊ป ปฏิเสธ รวมไปถึงความ ล้มเหลวของจีอีในการเสนอซื้อฮันนีเวลล์ อินเตอร์เนชั่นแนล มูลค่า 43,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ จากการไม่อนุมัติของคณะกรรมการต่อต้านการผูกขาดตลาดของสหภาพยุโรป หรืออียู รายละเอียดของดีลนี้ จีอี แคปปิตอล ต้องใช้เงินสดถึง 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 53.75 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น เหตุผล ที่ตัดสินใจซื้อเฮลเลอร์ครั้งนี้เกิดจากความพยายามขยายธุรกิจบริการทางการเงิน โดยใช้เฮลเลอร์ที่มีธุรกิจหลักการเงินเชิงพาณิชย์ บริการลิสซิ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงบริการทางการเงินพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนทางในการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็กและกลางที่จีอี แคปปิตอลต้องการเป็น ผู้เล่นขนาดใหญ่มากขึ้น

"นี่คือธุรกิจเช่าซื้อที่มีขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าจะไม่ใหญ่โตมากมายแต่ก็จะช่วยเสริมขนาดธุรกิจของจีอี แคปปิตอล" Steve Ož Neil นักวิเคราะห์แห่งค่าย Hilliard Lyons ชี้

สอดคล้องกับจีอี แคปปิตอลที่คาดการณ์ว่าการรวมกิจการครั้งนี้จะช่วยสร้างรายได้ 250 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ และจะมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 3 ปีข้างหน้า และหวังว่าดีลนี้จะเสร็จสมบูรณ์ในปลายปีและสามารถตัดต้นทุนการดำเนินงาน ลงได้ 30-35%

ความเป็นห่วงและสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพนักงานของเฮลเลอร์ ก็คือ การลดจำนวนพนักงานลงหลังจากกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีอี แคปปิตอล ซึ่งวันหนึ่งในอนาคต อาจจะเกิดขึ้นกับใครบางคน

"นี่คือสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นกรณีการมีพนักงานล้นเหลือ แต่พวกเราต้องการทำงาน กับเฮลเลอร์ด้วยการรักษาพนักงานเอาไว้" Valeria Di Maria โฆษกของจีอี แคปปิตอลบอก "พวกเขาเป็นบุคลากรที่สำคัญต่อองค์กร"

บรรยากาศธุรกิจการให้บริการทางการเงินในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ค่อยสดใส หลังจากการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียและความต้องการถูกแช่แข็ง อย่างไรก็ตาม เฮลเลอร์ซึ่งยังคงมีปัญหาเล็กน้อยในธุรกิจการเงินเชิง พาณิชย์ยังสามารถรักษาผลประกอบการ ให้อยู่ในขั้นที่น่าพอใจได้

การควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทจะช่วยเสริมสร้างซึ่งกันและกันกรณีการพัฒนา และความมีระเบียบวินัยในการบริหารคุณภาพสินเชื่อโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคทางเศรษฐกิจ

"ระดับราคาที่เสนอต่อลูกค้าเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพที่สูงขึ้นในพอร์ตของเฮลเลอร์ และความแข็งแกร่งในการบริหารทีมงาน" Matthew Burnell นักวิเคราะห์ แห่งเมอร์ริลลินช์กล่าว

ทางด้าน Richard Almeida ประธาน และซีอีโอของเฮลเลอร์เล่าว่ากว่า 10 ปีที่ผ่าน มา บริษัทได้สร้างยี่ห้อและเสนอความแข็ง แกร่งในตลาดการเงิน ขนาดกลางทั้งตลาดอเมริกาและต่างประเทศ

"พวกเราเข้าใจความต้องการของลูกค้าภายใต้นวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งเรามีสินค้าและความสามารถที่เป็นสิ่งดึงดูดให้กำไรเติบโตขึ้น"

เฮลเลอร์เกิดขึ้นเมื่อปี 1919 โดย Walter Heller ที่อพยพจากเยอรมนีสู่ชิคาโก แล้วค่อยๆ เติบโตในธุรกิจบริการทางการเงินให้กับลูกค้ากิจการขนาดเล็กและกลาง

ปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ในอเมริกา ยุโรปและเอเชีย ปีที่แล้วมีรายได้ 2,037 ล้านเหรียญสหรัฐ กำไรสุทธิ 290 ล้านเหรียญ สหรัฐ สินทรัพย์ 20,016 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในประเทศไทยเฮลเลอร์เข้ามาทำธุรกิจเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมาในชื่อไทยฟาร์มเมอร์ เฮลเลอร์ แฟคตอริ่ง ร่วมกับกลุ่มธนาคารกสิกรไทยเพื่อเสนอบริการแฟคตอริ่งในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.