ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น
จำกัด (มหาชน) คือ จอมยุทธ์หมากล้อมของเมืองไทย ที่เซียนหมากล้อมทุกคนยอมสยบในฝีมือ
"โกะ" หรือ "หมากล้อม" ในภาษาไทย "เหวยฉี" ในภาษาจีน เป็นกีฬาหมากกระดานชนิดหนึ่ง ที่มีประวัติความเป็นมากว่า
3 พันปี โกะเป็น 1 ใน 4 ของศิลปะประจำชาติของจีน ซึ่งประกอบด้วย ดนตรี โครงกลอน
การวาดภาพ และหมากล้อม ชาวจีนเปรียบเทียบการเล่นโกะไว้ว่า "เสมือนการสนทนาด้วยมือ"
บางคนว่า "เหมือนฝิ่นของปัญญาชน" บางคนบอกว่าเป็น "หมากกระดาน ที่มีชีวิต"
ความสำคัญของโกะมิใช่เป็นเพียงศิลปะในการเล่นเกมกีฬา ที่ สนุก ตื่นเต้น
และท้าทายเท่านั้น แนวความคิด และปรัชญา ที่เกิดจากทักษะ และความชำนาญของผู้เล่น
เช่น การวางแผน การบริหารทรัพยากร ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ และผลตอบแทนสูงสุด
ประสบการณ์เหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านการบริหาร การปกครอง และแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างชาญฉลาด
"เรามองประเทศไทยทั้งประเทศเป็นเสมือนกระดานหมากล้อม
(โกะ) กระดานหนึ่งเร่งเปิดร้านค้าของเราในจุดยุทธศาสตร์ ที่สำคัญ"
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เคยกล่าวเอาไว้ และด้วยความ ที่มั่นใจว่า หมากล้อม
เป็นตัวแทนของสมรภูมิรบ เป็นยุทธจักรบู๊ลิ้ม ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้ทั้งทางด้านธุรกิจ และครอบครัว
เขาจึงฝึกฝน และหลงใหลมันอย่างมากๆ ในขณะเดียวกันก็ได้ทำทุกวิถีทาง เพื่อให้การเล่นกีฬาประเภทนี้แพร่หลายในเมืองไทย
จุดสำคัญ ที่ทำให้ก่อศักดิ์สนใจเล่นหมากล้อมเป็นเพราะเขาเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่เป็นเด็กชั้นประถม
และยังเป็นคนที่ชอบอ่านนิยาย และวรรณกรรมของจีนเป็นอย่างมากจนถึงทุกวันนี้
จากการอ่านทำให้เขาทราบว่าหมากล้อม เป็นศิลปะชนิดหนึ่ง ที่บรรดาบัณฑิตของจีนให้ความสนใจ
และยังเป็นกีฬาทางสมองของผู้บริหารปกครองประเทศ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น นิยมเล่นกัน
และผู้บริหารประเทศเหล่านั้น ก็จะได้แง่คิด และปรัชญาชีวิตมากมายจากการเล่นกีฬาประเภทนี้
นักเขียนชาวจีนหลายคนที่เขาชื่นชอบส่วนใหญ่จะเล่นหมากล้อมเป็นกันทุกคนด้วย
แต่ในช่วงเวลาหลายปีตั้งแต่วัยเด็กจนย่างเข้าวัยรุ่น ก่อศักดิ์รู้จักหมากล้อมจากตัวหนังสือเท่านั้น แต่ไม่เคยได้เล่นอย่างจริงจังเลย
สิ่งที่เขาเล่นได้ดีกลับเป็นหมากรุกจีน ที่เล่นกันแพร่หลายทั่วไป
"ถ้าหมากล้อมเทียบเท่ากับการเล่นโขน หรือละครในสถานที่ผู้ดีดู
หมากรุกจีนจะเป็นได้เพียงลิเก ที่ชาวบ้านดูเท่านั้น " ก่อศักดิ์เปรียบ
เปรยให้ฟัง แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่มีโอกาส ที่จะฝึกเล่นหมากล้อมเลย
จนวันหนึ่งในสมัยเรียนมัธยมเขาได้ไปเจอหนังสือภาษาจีนเล่มหนึ่งแนะนำเกมบนกระดาน
30 ประเภท ซึ่งมีหมากล้อมอยู่ด้วย จึงได้เริ่มหัดเล่นตั้งแต่นั้น มา แต่เมื่อเล่นไปตามทฤษฎี
แต่ไม่เข้าใจความลึกล้ำของกลยุทธ์ต่างๆ ไม่มี คู่ซ้อม ที่จะร่วมกันคิดค้นกระบวนท่าในการเดินหมาก
การดวลเม็ดหมากบนกระดานก็ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้น เร้าใจ อีกต่อไป ก็เลยหยุดเล่นนับแต่นั้น มา
เวลาผ่านไปจนถึงปี พ.ศ.2526 ก่อศักดิ์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร
รับผิดชอบการค้าระหว่างประเทศ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ประจำ ฮ่องกง
จึงมีโอกาสได้กลับมาสัมผัสกับหมากล้อม กีฬา ที่ตนเองมีความประทับใจมานานอีกครั้งหนึ่ง
เพราะนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น และจีนส่วนใหญ่จะเล่นหมากล้อมเป็น ดังนั้น แทน ที่ก่อศักดิ์จะออกรอบเล่นกอล์ฟ เพื่อสร้างสัมพันธ์ทางธุรกิจก็กลายเป็นนั่งโต๊ะเล่นโกะแทน
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้เขาก็ยังไม่ได้เล่นหมากล้อมอย่างเข้าใจ เพื่อนชาวญี่ปุ่นไม่มีใคร ที่จะให้ความสำคัญกับการสอนเขาอย่างจริงจัง
ที่สำคัญภาษาจะเป็นอุปสรรค ที่สำคัญในการสื่อสาร คนญี่ปุ่นพูดอังกฤษนั้น ฟังให้เข้าใจก็ยากมากอยู่แล้ว
ยิ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น ที่เกี่ยวกับหมากล้อมก็เพิ่มความงุนงงเข้าไปอีก และเมื่อไม่มีใครสอนเขาก็ได้มุมานะพอสมควรทีเดียว ที่จะเล่นให้เก่ง
โดยการพยายามค้นหาตำราเกี่ยวกับการเล่นหมากล้อมมาศึกษาด้วยตัวเองโดยเอาญี่ปุ่นเป็นคู่ซ้อม
"หมากล้อม 10 นาทีก็เล่นเป็นแล้ว แต่คุณต้องใช้เวลาทั้งชีวิตจึงจะเล่นให้เก่งได้"
ก่อศักดิ์อธิบายให้ฟัง และด้วยความยากของมัน ดังนั้น เรียนมา 4 ปี ก่อศักดิ์จึงได้แค่
2 คิวเท่านั้น (ผู้เล่นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มผู้เริ่มเรียนรู้ เรียกว่า
คิว จะเริ่มตั้งแต่ 15 คิว เมื่อสามารถเล่นได้แล้วพัฒนาเก่งขึ้นเรื่อยๆ เป็น
14, 13, 12 จนถึง 1 คิว ณ จุดนี้เปรียบเหมือนได้เรียนเทคนิคการเล่นต่างๆ
มาครบถ้วนแล้ว จะทำการสอบ Comprehensive เพื่อขึ้น 1 ดั้ง (ระดับอาจารย์)
จากนั้น ก็จะพัฒนาฝีมือเก่งขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2, 3, 4 จนถึง 9 ดั้ง)
"โชคดี ที่ต่อมา เพื่อนชาวญี่ปุ่นได้แนะนำผมให้รู้จักกับอาจารย์โฆษา
อารียา ท่านเป็นคนไทย ที่ไปสอนหนังสืออยู่ ที่ญี่ปุ่น จนถึงทุกวันนี้อยู่ ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา
40 กว่าปีมาแล้ว ท่านจะมาเมืองไทยปีละครั้ง 2 ครั้ง เป็นคนที่เล่นหมากล้อมเก่งมาก
เป็นแชมป์จังหวัดนารา ที่ญี่ปุ่น ก็เลยโชคดี ได้อาจารย์เป็นคนสอนผม จนเข้าใจในหัวใจของหมากล้อม"
หมากล้อมมีจุดกำเนิดในประเทศจีน แต่ปัจจุบันเฟื่องฟูที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งมีคนเล่นประมาณ 10 ล้านคน และมีนักเล่นมืออาชีพประมาณ 500 คน ขณะที่ในจีนมีเพียง
200 คนเท่านั้น เป็นเพราะในญี่ปุ่นมีการจัดการแข่งขันอย่างมีมาตรฐาน และต่อเนื่องมาโดยตลอด
หลังจากนั้น ก็ได้ก่อตั้งชมรมหมากล้อมแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อปี 2536 โดยใช้ชั้น
2 ของเซเว่นอีเลฟเว่น สาขางามดูพลีเป็นที่ทำการชมรมเป็นแห่งแรก และเขาก็เป็นประธานชมรมคนแรกถึงปัจจุบัน
ขณะนี้ชมรมตั้งอยู่ ที่ชั้น 2 ของอาคารสีบุญเรือง 1 มีสมาชิกประมาณ 2,000
คน ตัวเลขยอดขายกระดานหมากล้อมในเซเว่นอีเลฟเว่น และ ที่ชมรมรวมกันประมาณ
5 หมื่นชุด หากตัวเลขนี้ไม่ผิดพลาดก็คาดว่ามีคนเล่นหมากล้อมในเมืองไทยไม่ต่ำกว่า
1 แสนคน
ส่วนตัวเขาเองมุ่งฝึกฝนจนสอบได้ขั้น 5 ดั้ง และเป็น 5 ดั้งคนเดียวของประเทศไทย
รองลงมาคือ 4 ดั้ง ซึ่งมีเพียง 2 คนเท่านั้น และเมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้เปิดตัวหนังสือชื่อ
"ท่องยุทธจักรหมากล้อม" ซึ่งเป็นการบันทึกการดวลฝีมือบนกระดานหมากล้อมของจอมยุทธ์ครั้งสำคัญทั่วโลก
หลังจากประสบ ความสำเร็จจากการเขียนหนังสือเล่มแรก "ก้าวแรกสู่หมากล้อม"
ไปแล้วก่อนหน้านี้
นอกจากงานของชมรมก่อศักดิ์ยังได้บุกเบิกเผยแพร่หมากล้อมภายในองค์กรของบริษัท
และได้ขยายเข้าสู่สถาบันการศึกษา จนได้รับการบรรจุอย่างเป็นทางการในกีฬามหาวิทยาลัยครั้ง ที่
23 เมื่อปี 2539
ทุกวันนี้ เมื่อไปติดต่อธุรกิจต่างประเทศ ไม่ว่าฮ่องกง จีน เซี่ยงไฮ้ ก่อศักดิ์จะต้องหาโอกาสไปพบกับเซียนของเมืองนั้น ๆ
หรืออาจารย์มืออาชีพ เพื่อฝึกปรือฝีมืออย่างสม่ำเสมอ
คลื่นลูกหลังไล่คลื่นลูกหน้า คนรุ่นใหม่แทน ที่คนรุ่นเก่า โลกจึงพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
เฉกเช่นกัน ยุทธจักร หมากล้อมก็ต้องมีหน่ออ่อนคอยแตกใบใหม่อยู่เสมอ
"ผมเชื่อว่าต่อไปต้องมีคนเก่งกว่าผม ความพร้อมเรื่องวัย
เป็นเรื่องสำคัญในการเล่น และผมพร้อม ที่จะสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้น เพราะผมเชื่อว่าปัญญาชนทั่วโลกในศตวรรษหน้าจะหันมาเล่นหมากล้อม"
ก่อศักดิ์ทิ้งท้ายไว้อย่างมั่นใจ