เกษียณอายุอย่างมั่นคง

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

คนวัยเกษียณจากการทำงานดูไม่ค่อยตื่นเต้นกับอนาคต เพราะสังคมภูมิภาคเอเชียเป็นสังคมแห่งการเกื้อกูล บุตรหลานต้องเลี้ยงดู ฉะนั้นการวางแผนเกษียณที่ดีที่สุด คือ การมีลูกสาวมากๆ ก็เป็นหลักประกันเพียงพอแล้ว

การเกษียณจากการทำงานเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตและนำมาซึ่งความรู้สึก หลากหลาย ทั้งความรู้สึกดีๆ ความภาคภูมิ ใจที่ได้ทำหน้าที่ของตนมาจนตลอดรอดฝั่ง ความตื้นตันใจที่มีเพื่อนร่วมงาน มีลูกน้องมา ร่วมแสดงความยินดี ความอาลัยรัก

ขณะที่บางคนกลับรู้สึกที่ไม่ดี มีความ กังวลใจด้านการเงินว่าจะใช้ชีวิตอย่างมั่นคงได้ขนาดไหน ความรู้สึกดังกล่าวอาจจะผุด ขึ้นมาในใจได้โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้มีแหล่งรายได้อื่นหรือมีลูกหลานที่มีฐานะทาง การเงินมั่นคงอุ้มชู

หลายๆ คนต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต ที่เคยสุขสบายมาเป็นการดำรงชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียร ทำอย่างไรจึงจะสามาถหลีกเลี่ยงปัญหาความกังวลด้านการเงินยาม เกษียณได้

ปัจจุบันสามารถหลีกเลี่ยงความกังวล ดังกล่าวได้และไม่ต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ หากวางแผนการลงทุนอย่างเหมาะสมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

มีคำถามเกิดขึ้นว่าควรจะมีเงินจำนวนเท่าใดในวัยเกษียณอายุจึงจะสามารถ ใช้ชีวิตได้อย่างไม่ขัดสน และเพื่อบรรลุเป้าหมายกองทุนเพื่อการเกษียณควรจะลงทุนอย่างไร

ปัจจุบันภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็น สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นคนเกษียณจากการทำงานบางคน กับเงินก้อนสุดท้ายจะไปหวังพึ่งผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารคง จะเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง

"ที่ผ่านมาสังคมไทยชอบการออมเงินกับธนาคารแต่ไม่คิดลงทุน" วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรรมการผู้จัดการ บลจ. วรรณ ชี้

ความจริงแล้วการจัดการทางการเงิน มี 2 ระดับ คือ การออมและการลงทุน แต่สำหรับคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังจัดการกับเงินของตนเองไม่ค่อยเหมาะสม สาเหตุมาจากที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงไม่แสวงหาวิธีการลงทุนอย่างอื่นนอกเหนือจากนำไปฝากธนาคาร

"พวกเขากำลังหาทางออกเมื่อถึง จุดที่อัตราดอกเบี้ยตกต่ำและเงินเฟ้อ" วิวรรณบอก

สำหรับบางคนหลังจากเกษียณไปแล้วไม่ได้นึกถึงอะไรได้แต่รอคอยให้ลูกหลาน เลี้ยงดูซึ่งไม่ใช่ความคิดที่ผิด แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าลูกหลานทั้งหลาย ไม่สามารถดูแลได้ แม้กระทั่งจะหาเลี้ยงตนเองยังลำบาก หรือไม่มีความสามารถที่จะออมเงินได้ พวกเขายังต้องการเงินเริ่มต้นจากพ่อแม่ ดังนั้นคนวัยเกษียณต้องนึกถึงตัวเองว่าจะทำอะไรบ้างกับเงินก้อนสุดท้าย ซึ่งจะต้องเลือกการบริหารเงินให้เหมาะสมว่าจะลงทุนอะไรบ้าง และต้องแยกออกมาว่าถึงประเภทของการลงทุน และความเสี่ยงที่รับได้

วรวรรณ ธาราภูมิ แห่ง บลจ.เอ็ม เอฟซี อธิบายว่าหากเป็นไปได้ คือ กันเอาไว้ใช้และ สูญเงินต้นไม่ได้ จากนั้นถ้ามีส่วนเกินนำไปหาประโยชน์จากช่องทางอื่นที่มีความเสี่ยงมากขึ้น

"การที่ไม่สูญเงินต้นคือการนำไป ฝากธนาคาร หรือหากวางแผนดีควรลงทุนพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแต่มีความเสี่ยงต่ำ"

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในพันธบัตร ในแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งคนวัยเกษียณไม่ทุกรายที่เข้าไปลงทุนได้ ทางออกอาจจะพิจารณาเรื่องการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาล แต่ ถ้าเป็นหุ้นกู้ภาคเอกชนควรดูคุณภาพหุ้นกู้ที่กองทุนรวมเลือกลงทุน

หากนักลงทุนซื้อพันธบัตรโดยตรงและถือครบอายุจะไม่มีปัญหาเรื่องอัตราดอก เบี้ย แต่ข้อเสียคือ จะต้องเสียภาษีตามผลตอบแทนที่ได้รับและไม่มีสภาพคล่อง แต่หาก ลงทุนผ่านกองทุนรวมจะได้พันธบัตรหลายชนิด

"ข้อดี คือ ลงทุนด้วยจำนวนเงินเล็กน้อย ประหยัดภาษี ข้อเสีย คือ ช่วงพันธบัตร ยังไม่หมดอายุจะมีการ mark to market" วรวรรณบอก

ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปีให้ผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 7.2% ต่อปี ส่วนหุ้นกู้ภาคเอกชน เช่น หุ้นกู้โรงไฟฟ้าขนอมให้ผลตอบแทนประมาณ 7% ต่อปี หรือหุ้นกู้แทคที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 6.8% ต่อปี

สำหรับหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจในปัจจุบัน กลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยผันแปรต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แต่ควรลงทุนในระยะปานกลางขึ้นไป แต่หากมองหุ้นที่เติบโตดีที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ BIGC และ MAKRO

"ทุกจังหวะของเศรษฐกิจจะมีส่วนที่ไปได้ แต่ควรระลึกไว้เสมอว่าซื้อหุ้นแบบถือยาวไม่มีในบ้านเรา" วรวรรณกล่าว

อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังไม่ค่อยเข้าใจ กับการลงทุนในกองทุนรวม บางคนถึงกับมองในแง่ลบ สาเหตุเกิดจากพัฒนาการของอุตสาหกรรมกองทุนรวมซึ่งเริ่มต้นจากกองทุน หุ้นทุนเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ขณะที่กองทุนตรา สารหนี้เพิ่งเริ่มต้นในปี 2537

หากเป็นกองทุนหุ้นทุน ความกระตือ รือร้นหมดไปตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะ พวกเขาจะลงทุนก็ต่อเมื่อเห็นการเติบโตตลาด หุ้นอย่างต่อเนื่อง "ปรากฏการณ์แบบนั้นเห็น ครั้งสุดท้ายเมื่อปลายปี 2536" วิวรรณเล่า "จากนั้นได้ตั้งกองทุนตราสารหนี้ขึ้นมาและหลังวิกฤติเศรษฐกิจก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน"

หลังจากนักลงทุนไม่วางใจส่งผลให้บรรดากองทุนรวมและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พยายามแก้ภาพพจน์และกระตุ้นนักลงทุนอีกครั้ง

ล่าสุด ก.ล.ต. กำลังพิจารณากองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) คาดว่าจะออกได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่กองทุนดังกล่าวผลตอบแทนจะต่ำกว่ากองทุนชนิดอื่น ความเสี่ยงต่ำเพราะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีอายุสั้นไม่เกิน 1 ปี

"กองทุนตลาดเงินเหมาะสำหรับคนที่ย้ายงานบ่อย กิจการที่มีเงินสดหมุนเวียนระยะเวลาสั้น นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับคนที่กำลังเกษียณ เพราะมีความเสี่ยงที่ต่ำมาก โดยรูปแบบของกองทุนพวกเขาเลือกลงทุนเองได้" วรวรรณกล่าว

แต่อุปสรรคก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้นักลงทุนเข้าใจโดยเฉพาะพื้นฐานความเสี่ยงของการลงทุน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร อย่างไรก็ตามกองทุนตลาดเงินเป็นพัฒนาการอีกขั้นของตลาดทุนไทย และเป็น การเจาะตลาดรูปแบบใหม่ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม จากอดีตที่มองตลาดรวมหรือมองตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นหลัก ปัจจุบัน เริ่มสนใจนักลงทุนเป็นรายบุคคลแล้ว

"กองทุนตลาดเงินเป็นกองทุนชนิดแรกที่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย" วรวรรณชี้

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านักลงทุนยังมีความกังวลต่อผลตอบแทนและความมั่นคงเช่นเดียวกับภาพที่เป็นมาตั้งแต่อดีต สิ่งที่กองทุนรวมพยายามจะอธิบาย คือ ผลตอบแทนที่ได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่มี อีกต่อไป ดังนั้นต้องทำให้รู้จักกับความเสี่ยง ซึ่งไม่มีการลงทุนชนิดใดที่ปราศจากความเสี่ยงแม้กระทั่งการฝากออมไว้กับธนาคาร

"กองทุนที่มีความเหมาะสมกับนักลงทุนไทยจะต้องมีส่วนผสมการลงทุนในตลาดเงิน ตราสารหนี้และหุ้นทุน และไม่ควร เน้นลงทุนแบบใดแบบหนึ่ง เช่น ต้องการกำไรก็ไปลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง หรือลงทุนในตลาดเงินซึ่งมีผลตอบแทนต่ำแต่มีความเสี่ยง กับอัตราเงินเฟ้อ" ดร.สมจินต์ ศร ไพศาล ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.วรรณกล่าว

เขาอธิบายต่อไปว่ากราฟชีวิตของคน มี 3 ช่วง เมื่อจบการศึกษาหรือเริ่มทำงานจะมีเงินสะสมมากกว่าค่าใช้จ่ายและรายได้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงช่วงเวลาหนึ่งรายได้จะหยุดการเติบโต ในที่สุดจะคงที่และลดลงเมื่อถึงช่วงวัยเกษียณ

"เราสามารถหาเงินจากกำลังนั้นสุดท้ายจะหยุดลง ดังนั้นหลังเกษียณไปแล้วจะลงทุนอย่างไร ซึ่งต้องเตรียมการเมื่อ 30 ปี ที่แล้วว่าอีก 30 ปีข้างหน้าเพื่อเตรียมเงินไว้เลี้ยงคนแก่และคนแก่คนนั้นก็คือตัวเราเอง"

หากพูดถึงการลงทุนเป็นเรื่องของการ วางแผน ฉะนั้นจงให้เวลากับเรื่องนี้เพราะแต่ละคนมีฐานการเงินและวัตถุประสงค์แตกต่างกัน "แต่ยังไม่สายสำหรับคนที่ยังไม่ วางแผน" วรวรรณบอก

แน่นอนความเสี่ยงมีตลอดเวลาแต่ใครก็ตามที่วางแผนตั้งแต่เริ่มต้นจะสามารถรับความเสี่ยงในช่วงเวลาที่เลวร้ายได้ ที่สำคัญ ต้องเข้าใจด้วยว่าตนเองต้องตัดสินใจลงทุนและรับผลกำไรขาดทุนเอง

นักลงทุนที่จะกำหนดเป้าหมายในการลงทุนที่ดีที่สุดคือตัวเองเพราะจะทราบความต้องการ ความกลัว ความกังวล หรือข้อจำกัดการลงทุนได้ดี แต่เนื่องจากว่าไม่ค่อยชินกับการกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นระบบ การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ลำบาก

เวลาไปพบผู้จัดการกองทุนเพื่อขอให้ วางแผนการลงทุนให้ จะพบคำถามหนึ่งจากผู้จัดการกองทุน คือ รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน หลายๆ คนคิดว่าตนเอง รับความเสี่ยงได้มาก แต่พอถามว่าหากสูญเสียเงินไปจะมีปัญหาทางการเงินหรือไม่เกือบทุกคนจะบอกว่ามี

ถ้านักลงทุนมองไกลต้องวางแผน แบบที่เงินกองทุนสามารถเติบโตได้เท่าๆ กับ อัตราเงินเฟ้อหลังเกษียณ เพื่อให้ดอกผลที่กองทุนสร้างขึ้นในแต่ละปีมีอำนาจซื้อไม่ลดลงควรเตรียมเงินให้สามารถสร้างผลตอบแทน มากกว่าที่ต้องการใช้ไว้เพื่อให้มีส่วนเหลือไป ทบกองทุนให้เติบโตบ้าง

ถ้าสามารถมีส่วนที่เหลือสมทบกองทุนให้ใหญ่ขึ้นได้สักเท่าๆ กับอัตราเงิน เฟ้อในแต่ละปีได้ก็จะดีที่สุด เพราะจะทำให้ดอกผลจากการลงทุนเพิ่มขึ้นเท่าๆ กับอัตรา เงินเฟ้อ และทำให้อำนาจซื้อไม่ลดลงตามเวลาที่เปลี่ยนไป

เงินกองทุนดังกล่าวอาจจะเป็นมรดก ที่มีค่าสูงทีเดียวสำหรับลูกหลานผู้โชคดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.