พันธวณิช เรื่องของพันธมิตร

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

16 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ได้หมายถึง การเปิดตัวตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ แต่เป็นช่วงเวลาในการเรียนรู้ของ 6 ธุรกิจของไทยในโลกใบใหม่ที่กำลังจะเข้มข้นขึ้น

ในบรรดาธุรกิจอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบของบริการบีทูบี ดูเหมือนว่าจะมีเพียงบริการของพันธวณิชของกลุ่มซีพี ที่มีข่าวคราวต่อเนื่องตลอด 9 เดือนเต็ม นับตั้งแต่เปิดตัวมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา บริการพันธวณิชก็คือ การสร้างตลาดกลางในการจัดซื้อขาย และประมูลสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ e-procurement มุ่งเน้นไปที่สินค้าประเภทอุปกรณ์สำนักงานทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นชิ้นส่วนในการผลิต ความโดดเด่นของบริการนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยีเท่านั้น จะว่าไปแล้วแต่ละรายก็มีข้อเด่นข้อด้อยที่ไม่แตกต่างมากนัก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ "พันธมิตร" ที่เข้าร่วมในตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์แห่งนี้

งานนี้ไม่เพียงแต่ซีพีจะเป็นแกนนำ แต่ยังไปดึงเอาบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี (ยูคอม) และบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น หรือทีเอ ถึงแม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนไม่มาก แต่ก็นับเป็นการร่วมมือของบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ของไทยที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

ต่างก็มองความจำเป็นในการเข้าสู่โลกการค้ายุคใหม่ ที่จะมีอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ แต่ก็เป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ สำหรับสังคมไทยที่ยังไม่ได้ผ่านการลองผิดลองถูกการเข้าร่วมกันในครั้งนี้

แรงขับดันของกลุ่มซีพีนั้นมาจากหลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจสื่อสารของทีเอ ที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจอาหารของซีพีที่จำเป็นต้องเข้าสู่มาตรฐานในระดับสากล

"ไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันภายในแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเตรียมพร้อมกับการแข่งขันในระดับโลก" ม.ล.สุภสิทธิ์ ชุมพล รองประธานกรรมการ บริษัทฟรีวิลล์ โซลูชั่นส์ บอก

กลไกจากระบบจัดซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นตลาดกลางจากระบบแค็ตตาล็อก ออนไลน์ และการประมูลออนไลน์ ไม่เพียงแต่จะทำให้ต้นทุนในการจัดซื้อลดลงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานของธุรกิจที่จำเป็นต้องตรวจสอบและโปร่งใส เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการค้าในระดับสากล เป็นสิ่งที่ซีพีจำเป็นต้องเรียนรู้

"ธุรกิจของซีพีเกี่ยวข้องกับการค้ากับต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจอาหารที่จะต้องเป็นระบบสากล เราไม่สามารถตั้งราคาแบบไม่มีหลักเกณฑ์ หรือมาตรฐาน" สารสิน วีระผล เขาเชื่อว่า ระบบ e-procurement เป็นกลไกที่จะสร้างกฎเกณฑ์เหล่านี้ขึ้น

การเปิดตัวบริการอย่างเป็นทางการที่มีขึ้นตั้งแต่บ่ายแก่ๆ ไปจนถึงช่วงค่ำของ วันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงเป็นงานระดับใหญ่ของธุรกิจอินเทอร์เน็ต จึงมีความหมายของการเริ่มต้น

ค่ำคืนนั้นไม่เพียงแต่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัททั้ง 6 นำโดยธนินท์ เจียรวนนท์ ชุมพล ณ ลำเลียง คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ชาติศิริ โสภณพนิช วิชัย เบญจรงคกุล ศุภชัย เจียรวนนท์ แกนนำขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ทั้ง 6 มากันอย่างพร้อมเพรียงใน งานเปิดตัว ที่มีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นประธานในพิธี อีกบริบทหนึ่งของธุรกิจ ที่ไม่ได้มีให้เห็นมากนัก นับตั้งแต่ฟองสบู่แตก เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

งานนี้ยังเท่ากับเป็นการตอกย้ำความร่วมมือ ที่สัดส่วนการถือหุ้นในข้อตกลง ประกอบไปด้วย 51% เป็นของกลุ่มซีพีและทีเอ เครือซิเมนต์ไทย 20% ที่เหลืออีก 4 ราย ถือกันรายละประมาณ 10% มีทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเงินทุนที่จะใช้ไปจน ถึงปีหน้า

ความคาดหวังของบรรดายักษ์ใหญ่ ทั้ง 6 ราย ที่เป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายที่นอกจากจะได้รับการสั่งซื้อสินค้าที่เป็นอุปกรณ์สำนัก งานไว้ใช้ภายใน ขณะเดียวกันพวกเขาหวังว่าสินค้าของพวกเขาจะถูกสั่งซื้อผ่านทางระบบออนไลน์ ก็คือ การเรียนรู้ระบบการจัดซื้อทางอิเล็กทรอนิกส์

นอกเหนือจากใช้ประโยชน์ภายใน รายได้หลักของบริการนี้จะมาจากส่วนแบ่งของมูลค่าในการประมูล และการซื้อขายผ่านแค็ตตาล็อก "จะกินเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่า การประมูล และการซื้อขาย อยู่ที่ประมาณ 2% ของมูลค่าสินค้า"

การคาดการณ์ที่ทำไว้ก็คือ รายได้ในส่วนนี้จะคุ้มทุนภายในปี 2003 ซึ่งหมายถึง อีก 2 ปีข้างหน้า งานเปิดตัวในครั้งนี้ ยังหมายถึงการบอกถึงความพร้อมที่จะเปิดตัวให้บริการอย่าง เป็นทางการ

การทดสอบระบบการประมูลผ่านทาง pantavanij.com มีขึ้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งหมด 7 ครั้ง รวมเป็นวงเงิน 45 ล้านบาท มาจากการประมูลเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสารของผู้ถือหุ้นทั้ง 6 รายและผู้ผลิตที่นำเสนอ

"เราประหยัดค่าใช้จ่ายจากการประมูลซื้อคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร ไปได้ 6 ล้านบาท อันนี้เป็นเรื่องจริง" ตัวแทนจากเทเลคอมเอเซียกล่าว

ขณะเดียวกัน ตัวเลขของธนาคารกรุงเทพ ค่าใช้จ่าย 10% ที่ลดลงไป เช่น เดียวกับธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ประมูลซื้ออุปกรณ์สำนักงานไป 19 ล้านบาท ถูกระบุว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่อีกรายในการทดสอบที่ผ่านมา

รายการสินค้าที่ทำเป็นแค็ตตาล็อกออนไลน์ 20,000 รายการ จากเป้าหมาย 40,000 รายการ ภายในสิ้นปี และมีผู้ซื้อและผู้ขายเพิ่มเป็น 400 ราย จาก 90 ราย ในเวลานี้

แต่ที่ผ่านมา เป็นการซื้อขายภายในประเทศ สิ่งที่พวกเขาต้องทำต่อไป ก็คือ การซื้อขายในระดับโลก นั่นก็คือ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม Global trading web association ที่มีบริษัทอย่าง บริติชเทเลคอม เอ็นทีที เซซามี จากสิงคโปร์ เป็นสมาชิกจะเป็นการเรียนรู้ในอีกขั้นหนึ่ง

เป้าหมายของพวกเขา ไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่ภายในเท่านั้น แต่เป็นตลาดกลางการค้าในระดับโลก เป็นสิ่งที่พวกเขาจะต้องเรียนรู้เป็นลำดับต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.