NEW SPEAKER

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ทุกคนรู้จักเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ขณะเดียวกันได้รู้จักแอนโทนี่ นอร์แมน ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ทีพีไอ ปัจจุบันเขากำลังถูกตรวจสอบ ชื่อของปีเตอร์ โกธาร์ด จึงได้รับความสนใจขึ้นมาแทน

การต่อสู้ระหว่าง บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือทีพีไอกับเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ในฐานะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการทำให้ได้รับรู้ถึงความเป็นไปในหลายๆ ด้านจนกลายเป็นกรณีศึกษา ในสายตาของกลุ่มคนบางกลุ่ม

การรับรู้ในหลายเรื่องราวระหว่างทีพีไอกับเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลน เนอร์สได้ถูกส่งผ่านมาจากตัวบุคคลทั้งสองฝ่ายซึ่งในที่สุด ได้กลายมาเป็นความขัดแย้งที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติลงโดยเร็วและถือเป็นบทเรียน ของทั้งสองฝ่าย สำหรับภาพลักษณ์ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ก่อตั้งทีพีไอจนกลายเป็นธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และทุกคนรู้จักเขาและตระกูลของเขาดีมาก ขึ้นหลังจากทีพีไอขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ขณะที่ชื่อของแอนโทนี่ นอร์แมน กรรมการผู้จัดการเอ็ฟเฟ็ค ทีฟ แพลนเนอร์ส ได้รับรู้ในวงสังคมโดยกว้างก็ต่อเมื่อเข้ามามีบทบาทในปัญหาทีพีไอ และในฐานะผู้ที่ให้ข้อมูลกับมวลชนในการแก้ปัญหาทีพีไอ จนกระทั่งชื่อและภาพของเขากลายเป็นเนื้อเดียวกับชื่อบริษัท จนแยกไม่ออก

อย่างไรก็ตาม หลังจากนอร์แมนมีปัญหาต่อ กรณีการไม่มีใบอนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทย และถูกทางการไทยสอบสวน ดูเหมือนว่าชื่อของเขากำลังถูกทำให้หายออกไปจากวงสังคม

เมื่อเป็นเช่นนี้ปีเตอร์ โกธาร์ด ในฐานะผู้อำนวยการเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์สได้รับการวางตัวให้ขึ้นมาทำหน้าในฐานะเป็น Spearker แทนนอร์แมน

การเปิดตัวของโกธาร์ดอาจจะไม่หวือหวาหรือตื่นเต้น เหมือนกับผู้บริหารคนอื่นๆ เขาเพียงแค่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนที่จะรับภารกิจเต็มตัว แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาในการทำงานเพราะโกธาร์ดเป็นคนหนึ่ง ที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาทีพีไอตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น ความคิดที่มีต่อทีพีไอของโกธาร์ดจึงไม่แตกต่างไปจากนอร์แมน

"กรณีของทีพีไอเป็นปัญหาที่แก้ไขยากที่สุดกรณีหนึ่งของ โลก" โกธาร์ดเล่า "พวกเราได้ทำไปได้หลายอย่างตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการแปลงหนี้เป็นทุน 32 พันล้านบาท ทำให้หนี้ลดลงได้ประมาณ 20%"

สิ่งสำคัญที่เขามองเห็นปัญหาของทีพีไอ คือ การลดหนี้ของบริษัทลงซึ่งจะทำให้ภาระดอกเบี้ยลดลงตามไปด้วย โดยแผนการในช่วงแรกเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ตั้งใจไว้ว่าจะให้นักลงทุนเข้ามา ลงทุนในทีพีไอประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่ากว่าจะถึงช่วงระยะเวลาดังกล่าว ภาระดอกเบี้ยอาจจะสูงกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

"เราจึงคิดว่าจะให้เจ้าหนี้เข้ามาถือหุ้นในทีพีไอเลย"

อีกทั้งยังมีแผนการเป้าหมายในการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ตัวหลักทรัพย์ออกไปเพื่อนำเงินเข้ามาให้ได้ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ล่าสุดได้ขายหนี้ทีพีไอโพลีนในส่วนที่ทีพีไอเป็นเจ้าหนี้ออกไป 1,273 ล้านบาท

ในอนาคต มีแผนที่จะขายโรงไฟฟ้าออกไปซึ่งกำลังอยู่ใน ขั้นตอนการเจรจาหานักลงทุนที่สนใจ "หลายคนเข้าใจว่าทีพีไอจะต้องแตกออกเป็นธุรกิจๆ ไป" โกธาร์ดเล่า "แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เช่น การขายโรงไฟฟ้าเมื่อขายไปแล้วเขาจะต้องขายไฟฟ้า ให้กับทีพีไอ พวกเราเชื่อว่าทีพีไอไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของหรือลงทุน เองทั้งหมด แม้ว่าการเป็นเจ้าของจะสามารถควบคุมการทำงานได้แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง"

นอกจากนี้แผนการดั้งเดิม ก็คือ จะให้ผู้ถือหุ้นเดิมอย่างประชัย และ ดร.ประมวล เลี่ยวไพรัตน์ นั่งเป็นผู้บริหารเหมือนเดิม และทั้งสองต้องเข้ามาช่วยเหลือในการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน แต่ในที่สุดทั้งสองก็ได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมงานกับเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลน เนอร์ส

"พวกเราเข้าใจดีว่าเป็นการยากที่ทั้งสองท่านจะอยู่ต่อ" โกธาร์ดกล่าว

อย่างไรก็ดี ทั้งประชัย และ ดร.ประมวล เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยและเป็นพนักงานของทีพีไออยู่ โดยได้รับตำแหน่งที่ไม่ค่อย active รวมถึงความรับผิดชอบได้เปลี่ยนไป "แต่ก็อยากให้ทั้งสองเข้ามาร่วมงาน"

สำหรับในส่วนพนักงานของทีพีไอ โกธาร์ดบอกว่าทุกคนยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูกิจการ ที่สำคัญต้นทุนในส่วนพนักงาน มีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนด้านอื่นๆ

ขณะที่คนของทีพีไอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนการดำเนินงานสำหรับบุคลากรของเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ว่าสูงพอสมควร "มันไม่ได้แพงเลยเพราะสิ่งที่เราทำให้กับบริษัทคุ้มค่าในเชิงมูลค่า"

คำตอบเช่นนี้อาจจะมองเห็นนัยว่า คนของทีพีไอไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ "เราไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เพียงแต่พวกเขาไม่มีเทคนิคที่ทันสมัยที่สุด ดังนั้นจึง พยายามนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามา"

ท่ามกลางบรรยากาศขมุกขมัวภายในองค์กรทีพีไอนับตั้งแต่เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส ภายใต้นอร์แมนเข้ามาทำงานแก้ปัญหาให้กับทีพีไอดูเหมือนว่า ความขัดแย้งนับวันซับซ้อนทั้งเรื่องส่วนรวมและส่วนตัว

นับจากนี้ไปเมื่อโกธาร์ดเข้ามาบรรยา กาศภายในทีพีไอจะสดใสมากขึ้นหรือไม่นั้นไม่มีใครคาดเดาได้ เพราะปัญหาไม่ใช่มีเฉพาะ เรื่องการทำงานเท่านั้นแต่ความรู้สึกส่วนตัวยังเป็นอุปสรรคของทั้งสองฝ่าย

โกธาร์ดเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทางด้านการฟื้นฟู และบริหารธุรกิจในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นระยะเวลานานร่วม 15 ปี โดยได้ร่วมงานกับเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน นครซิดนีย์ บริษัทแม่ของเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส มาตั้งแต่ปี 2530

ที่ผ่านมาเขาได้ร่วมดำเนินการฟื้นฟูและบริหารธุรกิจในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวให้แก่อุตสาหกรรมการผลิต เทคโนโลยีสารสนเทศ โรงแรม การก่อสร้าง การเกษตร และสื่อสารมวลชน

ระหว่างปี 2538-2539 โกธาร์ดได้ร่วมงานกับคาร์น คอนซัล ติ้ง อิงก์ บริษัทในเครือของเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน ในกรุงนิวยอร์กเป็นระยะเวลาปีครึ่ง โดยรับผิดชอบด้านการปรับโครงสร้างทางการ เงิน การฟื้นฟูธุรกิจ การให้คำแนะนำในการดำเนินคดีความ และการให้คำปรึกษาด้านการบริหาร หลังจากเดินทางกลับจากอเมริกาเขาได้มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาธุรกิจให้บริการในการดำเนินคดีความของเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน ทั้งยังรับผิดชอบโครงการขนาดใหญ่ตลอดจนการดำเนินการวิเคราะห์ และประเมินมูลค่าธุรกิจเพื่อนำมากำหนดลักษณะและปริมาณความเสียหาย หรือนำมาใช้พิจารณาข้อฟ้องร้องในคดีต่างๆ

ส่งผลให้โกธาร์ดมีประสบการณ์ที่ครอบคลุมในอุตสาหกรรม และธุรกิจหลากหลายประเภท ตลอดจนความเข้าใจในเรื่องระบบกฎหมายโดยละเอียดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โกธาร์ดเข้ามาร่วมงานกับเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน ในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2540 โดยรับผิดชอบงานด้านการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีมูลหนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและปูนซีเมนต์

เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี และเป็นสมาชิกสมาคมการบริหารธุรกิจในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวแห่งออสเตรเลีย (The Insolvency Practitioners Association of Australia)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.