ในที่สุด บริษัทบางจากปิโตรเลียม ก็ได้ตัวกรรมการผู้จัดการ ใหญ่คนใหม่
โดยคณะกรรมการบางจาก ได้มีมติแต่งตั้งให้ณรงค์ บุณยสงวน เข้ารับตำแหน่งดังกล่าว
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา
ณรงค์ เข้ารับตำแหน่งแทนศิริชัย สาครรัตนกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่คนเก่า
ที่ขอลาออก เพื่อกลับไปทำงานที่บรรษัทเงินทุน อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามเดิม
ศิริชัย เข้ามาทำงานที่บางจากได้ไม่ถึง 2 ปี โดยเป็นการเข้า มาในลักษณะขอยืมตัว
หลังจากเมื่อกลางปี 2542 โสภณ สุภาพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ร่วมก่อตั้งบางจากมาตั้งแต่ต้น
ประกาศลาออกเพื่อประท้วงนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น ที่ต้องการ ขายหุ้นของบางจากให้กับต่างชาติ
การประกาศลาออกของโสภณช่วงนั้น ทำให้เขาได้รับแรงสนับสนุนจากมวลชนในเวลาต่อมา
จนได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปัจจุบัน
การเข้ามาของศิริชัยในบางจาก สามารถลดกระแสต่อต้านนโยบายของรัฐบาลที่จะนำหุ้นบางจากออกขายให้กับต่างชาติลงไปได้ระดับหนึ่ง
เพราะเขาได้เสนอแผนระดม ทุนของบางจากใหม่ โดยการออกหุ้นขายให้กับประชาชนชาวไทย
แต่ในทางตรงข้าม แนวทางของศิริชัยในการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินของบางจาก กลับก่อให้เกิดกระแสต่อต้านภายในขึ้นอย่างค่อนข้างรุนแรง
ศิริชัย มีพื้นฐานทางด้านการเงิน เขาเป็นศิษย์เก่าแบงก์ชาติ รุ่นใกล้เคียงกับธีรชัย
ภูวนารถนรานุบาล ผู้ช่วย ผู้ว่าการแบงก์ชาติ และประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการ
ก.ล.ต. ก่อนที่จะออกไปอยู่บรรษัท
เมื่อเขาเข้ามารับรู้ข้อเท็จจริงถึงปัญหาของบางจาก แนวทาง แก้ไขที่เขามองเห็นคือต้องมีการปรับโครงสร้างของบริษัทใหม่
ด้วยการแยกธุรกิจการกลั่น และธุรกิจการจัดจำหน่าย ออกจากกัน
เพราะธุรกิจการกลั่น มีปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งในด้านภาระ หนี้สิน ต้นทุนดำเนินงาน
แต่ธุรกิจการตลาด หรือการจัดจำหน่าย ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้
แนวทางที่ศิริชัยเสนอออกมา กลับไปกระทบกับผลประโยชน์ บางอย่างของผู้บริหารที่เคยมีการวางรากฐานกันไว้ตั้งแต่เริ่มต้น
จน ถูกต่อต้าน
เมื่อศิริชัยจำเป็นต้องโบกมือลาบางจาก ภาระในการแก้ไขปัญหาของบางจาก โดยเฉพาะยอดการขาดทุนที่สูงถึงปีละกว่า
1,000 ล้านบาท จึงต้องตกอยู่กับณรงค์ ที่เข้ามารับช่วงต่อ
ณรงค์ไม่ใช่คนใหม่ ปัจจุบันเขาอายุ 52 ปี จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และเข้าทำงานกับเอสโซ่ แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) ตำแหน่งล่าสุดก่อนที่จะออกมาอยู่ที่บางจากเมื่อปี
2539 เป็นถึงผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการด้านการตลาด
เขาย้ายมาอยู่บางจากในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ดูแลกิจการโรงกลั่น
แต่ต่อมาภายหลังได้ย้ายมาดูแลงานด้าน การตลาด
ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้ที่รู้ถึงปัญหาของบางจากอย่างดีคนหนึ่ง
ก่อนการเข้ารับตำแหน่ง รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้มีนโยบายที่จะยังไม่แปรรูปบางจาก
ภายใน 3 ปี
รวมทั้งยังไม่มีการแยกกิจการโรงกลั่นกับการตลาดออกจาก กัน
การไม่แปรรูป ส่งผลต่อแผนการระดมทุนของบางจากโดยการออกหุ้นขายให้กับประชาชน
"ภายใน 3 ปีนี้ รัฐบาลประกาศแล้วว่าจะยังไม่แปรรูป บางจาก ดังนั้นเราจะต้องทำให้บางจากดีขึ้น"
สมหมาย ภาษี ประธานกรรมการบางจากกล่าว
ภารกิจแรกที่ณรงค์ต้องรีบทำ คือการหาเม็ดเงินเข้ามาแก้ไข ปัญหาการขาดทุนสะสมที่ค้างอยู่
ตลอดจนการหาแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำเงินมารีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้ที่มีอยู่เดิม
"สิ่งที่เราจะต้องทำตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้เลือดหยุดไหล" ณรงค์หมายถึงกระแสเงินสดในระบบของบางจาก
ที่ปัจจุบันมีเงินไหลออกมากกว่าไหลเข้า "ผมเชื่อว่าตามแผนของเรา ภายใน
3 ปีนี้ เลือดจะต้องหยุดไหล"
ตามแผนการภายใน 2 ปีนี้ บางจากจำเป็นต้องระดมเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงินประมาณ
6,000 ล้านบาท ซึ่งลักษณะที่ทำได้ขณะนี้คือ การออกหุ้นกู้ โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน
ซึ่ง จะทำให้บางจากสามารถระดมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติได้ถึง 2-2.5%
"กระทรวงการคลังเป็นเสมือนแม่ บางจากเป็นลูก ดังนั้นแม่จะต้องป้อนนมลูก"
เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบ
เขาเตรียมการที่จะออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทก้อนแรกในวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท
ช่วงประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่จะถึง
นอกจากปัญหาฐานะการเงินแล้ว บางจากยังมีปัญหาทั้งทางด้านการผลิต และการตลาด
ซึ่งณรงค์ได้วางแผนไว้ว่าในด้านการผลิต จะต้องลดต้นทุนให้ต่ำลงได้มากที่สุด
ด้วยการร่วมมือกับโรงกลั่นไทยออยล์ ในด้านการจัดหา และขนส่งน้ำมัน ตลอดจนปรับเปลี่ยนระบบการจัดเก็บน้ำมันสำรอง
ส่วนด้านการตลาดจะเน้นในเชิงรุก ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ ของสถานีบริการน้ำมันใหม่
สร้างปั๊มชุมชน และสร้างระบบการค้าแบบผูกพัน เช่นการออกบัตรส่วนลดบางจากเชื่อมโยงไทย
มีการมองว่าแนวทางแก้ปัญหาของบางจาก ที่ณรงค์ได้วาดหวังไว้ ในรายละเอียดแล้วไม่ค่อยแตกต่างจากแนวทางที่ศิริชัยพยายามทำในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง
แต่ศิริชัยไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เพราะมีคลื่นใต้น้ำคอยพัดมาให้สะดุดอยู่ตลอด
สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากนี้ต่อไป คือแนวทางที่ว่าจะประสบความสำเร็จได้
จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะตัวพนักงานของบางจากเอง
แต่จะได้รับมากน้อยแค่ไหน ถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ณรงค์จะต้องขบคิด